เข้าถึงธรรมกาย

วันที่ 18 กพ. พ.ศ.2567

นิมิต, ดวงแก้ว, องค์พระ, เข้าถึงธรรมกาย, การสร้างบารมี,  บุญ, ศูนย์กลางกาย, ธรรมกาย, ดวงตาเห็นธรรม, บริสุทธิ์, กิเลสอาสวะ, ความสุขภายใน, บรรลุมรรคผล, นิพพาน, อายตนนิพพาน,
พระธรรมเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖

เข้าถึงธรรมกาย

 

               มันก็เป็นธรรมดา ฤดูร้อนมันก็เป็นอย่างนี้ แต่อย่าให้ใจของเราน่ะเร่าร้อนตามไปด้วย เมื่อไหร่เรามีความยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา เมื่อนั้นไอ้ความรู้สึกอบอ้าวก็จะแลบเข้าไปถึงใจ จะทำให้ใจไม่สงบระงับ เพราะฉะนั้นวันนี้ดีแล้วที่อากาศอบอ้าวอย่างนี้ เราจะได้รู้จักปลด รู้จักปล่อยรู้จักวางความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า ในร่างกายของเราซะบ้าง นี้แหละเป็นต้นทางที่จะเข้าถึงพระนิพพาน เป็นทางหลุดทางพ้น ถ้ารู้จักปลดรู้จักปล่อย รู้จักวาง แม้เป็นเพียงชั่วขณะที่เราจะได้นั่งหลับตาเจริญภาวนาแสวงหาบุญหากุศลก็ตาม มันก็จะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปในภพเบื้องหน้า และได้ชื่อว่าเราได้เริ่มรู้จักคำว่าชัยชนะในการที่จะปลด จะปล่อย จะวางความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะฉะนั้นจะต้องค่อย ๆ หัดปลด หัดปล่อย หัดวาง เอาตอนนี้แหละ ตอนที่อากาศกำลังอบอ้าวอย่างนี้ ปล่อยวางซะ อย่าไปกังวล 

 

                ถ้าเราวางตัวของเราได้ ไอ้ที่เราเคยเข้าใจว่าของ ๆ เราก็จะค่อย ๆ วางได้ มันต้องรู้จักปล่อยวางจากจุดนี้ซะก่อน การรู้จักอย่างนี้แหละได้ชื่อว่าใจของเรามีที่ตั้ง มีสติ มีปัญญา มีความเต็มเปี่ยมแล้ว จึงจะปล่อยวางได้ เพราะว่าปกติใจเรากับขันธ์ห้า มันยึดมั่นถือมั่นกันมาอย่างนี้นับภพนับชาติไม่ถ้วน จึงเป็นเหตุให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดมาจนกระทั่งบัดนี้แหละ เพราะฉะนั้นเอาตอนนี้นะ เป็นอากาศดีเหลือเกิน แล้วพูดไปตามความเป็นจริงแล้ว ไอ้ความอบอ้าวแค่นี้น่ะ ถ้าจะเทียบกับความทุกข์ที่เราเคยประสบมาน่ะ ไม่ต้องพูดถึงชาติในอดีต ไอ้ที่ตกในนรกหรือในวัฏฏสงสารที่มีความทุกข์ ไปเป็นเปรตบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นอสุรกายหรือสัตว์นรก นั่นเราจะยังไม่พูดถึงสิ่งเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่เราก็เคยผ่านกันมาแล้ว ความทุกข์เหล่านั้นน่ะ มากมายก่ายกองนัก เรามามองดูความทุกข์ตั้งแต่เราเกิด เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ที่เราพอเห็นได้ จนกระทั่งบัดนี้ที่เรามานั่งเนี่ย ที่มันทับถม ยุบคลุมเข้ามาในกายในใจของเราน่ะมากมายกว่าความอบอ้าวเยอะแยะ 

 

                เพราะฉะนั้นอบอ้าวนี่ถ้าเทียบกับความทุกข์ที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องเล็กน้อย เหมือนน้ำเพียงหยดเดียว ในท้องทะเลมหาสมุทร มันหยดเดียวมันนิดเดียวจริง ๆ เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลมัน ปล่อยมันไปเลยนะ ปล่อยไป รู้จักปลด รู้จักปล่อย รู้จักวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น จะเป็นยังไงก็เฉย รักษาใจให้ผ่องใส ให้เยือกเย็น ไม่ยินดียินร้ายอะไร ปล่อยมันไป ปล่อยวางสบาย ๆ แล้วก็พิจารณาสักหนึ่งหรือสองนาทีว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ จะมีชีวิตก็ตาม ไม่มีชีวิตก็ตาม จะเป็นอะไรก็ตาม เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่เที่ยง เป็นทุกข์

 

                  เป็นอนัตตา คือมันจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครในโลกที่จะไปบังคับบัญชาให้มันคงที่ ไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครเลยในโลกนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นของธรรมดา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไปหมด ดังนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ควรที่จะไปยึดเอาเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างจริงจัง เพราะสิ่งเหล่านี้เนี่ย มันเป็นแค่เครื่องอาศัย ที่เราได้มาเกิดในโลกนี้เนี่ย แค่เครื่องอาศัยเท่านั้น มันไม่ใช่ที่พึ่ง ไม่ใช่ที่ระลึก ที่เมื่อเรายึดเราเกาะแล้วจะช่วยให้เราพ้นจากทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันมีข้อบกพร่องในตัว มีความแก่ ความเจ็บความตาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาน่ะ เป็นอยู่อย่างนี้แหละ สิ่งที่มีลักษณะอย่างนี้

 

                   ถ้าใครขึ้นไปยึดเอาไว้ ก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ จะเป็นตัวเราก็ดี ทรัพย์สมบัติของเราก็ดี ลูกหลานเหลน ใครต่อใครก็ตาม ตึกรามบ้านช่อง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างนี้ ให้รู้จักคิดกันนะ ใช้เวลา ๑ หรือ ๒ นาที เพื่อที่เราจะได้รู้จักปลด รู้จักปล่อย รู้จักวางให้มันหมดสิ้นเชื้อจากใจ ใจจะได้ไม่เหลียวซ้ายแลขวา ไม่วอกแวก ไม่ซัดส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อใจไม่วอกแวก ไม่ซัดส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน ก็จะสงบจะระงับ ก็จะหยุดจะนิ่ง หยุดนิ่งของใจนั่นแหละคือต้นทางที่จะเข้าถึงธรรมะภายในตัวของเรา ซึ่งเป็นเครื่องพ้นจากทุกข์ ถ้าใจยังวอกแวก ยังฟุ้งซ่าน ยังแวบไปแวบมา เพราะคิดว่าไอ้สิ่งต่าง ๆ ที่เราเคยเจอะเคยเจอน่ะ เป็นสิ่งที่จะให้ความสุขแก่เราอย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่คงที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา เป็นตัวเป็นตน ใจเราถึงจะได้แวบไปติดอย่างนั้น เมื่อไปอย่างนั้นมันก็ไปติดอยู่ภายใน เมื่อติดอยู่ภายในเราก็เข้าไม่ถึงธรรม เมื่อเข้าไม่ถึงธรรมก็มีทุกข์อยู่ร่ำไป เป็นอยู่อย่างนี้

 

                    เพราะฉะนั้นหัดปลด หัดปล่อย หัดวางกันทุก ๆ คน ให้วางกัน ให้ดีนะ ปลด ปล่อยวาง สบาย ไม่อาลัยอาวรณ์ ไม่เสียดายอะไรทั้งนั้น ทำตัวว่า เราประหนึ่งเราอยู่คนเดียวในโลก มาคนเดียวไปคนเดียว ปล่อยวางจะได้ปลอดโปร่ง แล้วก็สังเกตดูซิว่า ที่เราคิดอย่างนี้มันปลอดโปร่งดีจริงมั้ย เบาสบายมั้ย ถ้าเบาสบาย เอาล่ะต่อจากนี้ไป เราจะได้เริ่มศึกษากิจในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของชีวิตที่จะให้เราพ้นจากทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงคือสิ่งทั้งหลายทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำไมจึงต้องสอนอย่างนี้ สอนอย่างนี้ก็เพื่อที่จะให้เราปล่อยวางในสิ่งเหล่านี้ที่ไร้สาระ แล้วแสวงหาสิ่งที่เป็นของจริงท่านใช้คำว่าสัทธรรม สัทธรรมภายในตัว ให้แสวงหาของที่เป็นจริง 

 

                  สัทธรรมก็แปลว่า ธรรมที่เป็น ที่เป็นของจริงมีชีวิตมีจิตใจ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของพวกเราทั้งหลาย เป็นเกาะเป็นที่พึ่ง เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา ถ้าพึ่งสิ่งนี้แล้วจะพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นท่านสอนอย่างนั้นก็เพื่อที่จะให้ทิ้งในสิ่งไม่เป็นสาระแล้วแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระ ที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา นี่ที่ท่านสอนนั้นหมายเอาอย่างนี้นะแล้วสิ่งที่เป็นที่พึ่งที่ระลึก ที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา อยู่ที่ตรงไหน อยู่ในตัวของพวกเราเนี่ย ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก ของเราอยู่ตรงนี้แหละ อยู่ภายใน ภายในตัวของเรา อยู่ตรงไหนที่ว่าภายใน อยู่ตรงศูนย์กลางฐานที่ ๗ นั่นแหละเป็นที่ตั้งของสัทธรรม ธรรมที่เป็น มีชีวิตจิตใจคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง 

 

                  เมื่อเข้าถึงธรรมอันนี้ได้แล้วจะพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย สัทธรรมก็คือธรรมกายนั่นเอง เข้าถึงธรรมกาย ถ้าเข้าถึงธรรมกายได้ ก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย มีความสุขกายสบายใจ กายก็เบาใจก็เบา เบิกบาน แจ่มใส สดชื่นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเลย ธรรมกายอยู่ภายในตัวตรงฐานที่ ๗ ของทุก ๆ คนที่นั่งเข้าที่อยู่นี่แหละ ธรรมกายอยู่ภายในตัวตรงฐานที่ ๗ นั่นแหละคือเป้าหมายของชีวิตที่เราเกิดมาต้องการแสวงหาสิ่งนี้ ถ้ายังไม่ถึงธรรมกาย ใจของเราก็จะเป็นทุกข์ ไม่มีความสุข เหมือนเราว่ายอยู่ในกลางทะเล ในท้องทะเลมหาสมุทร ว่ายอยู่ในทะเลเนี่ย ตัวเปล่า ๆ ว่ายกันไป คนที่ว่ายอยู่ในทะเลเนี่ย มองไม่เห็นฝั่ง ย่อมมีความสะดุ้งกลัวภัย กลัวภัยจากคลื่น จากลม จากสัตว์น้ำจากการจมน้ำตาย สะดุ้งหมด ว่ายไปก็สะดุ้งหวาดเสียว 

 

                  แต่เห็นเกาะอยู่ข้างหน้าเมื่อไรล่ะก็ ใจก็จะชื้น ใจก็จะร่าเริง มีกำลังใจ เมื่อว่ายขึ้นเกาะได้แล้ว ความสุขก็เกิดขึ้นเพราะเราพ้นจากภัยทั้งหลาย มีความอิ่มอกอิ่มใจเบิกบานใจ แล้วไม่อยากจะลงจากเกาะเพราะขึ้นเกาะได้แล้ว ไม่ต้องไปเสี่ยงภัยจากจมน้ำตาย จากสัตว์ร้าย จากคลื่นจากลม เราก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังไม่ถึงเกาะไม่ถึงที่พึ่ง ก็เหมือนกับว่ายอยู่ในทะเลอย่างงั้นแหละ มีความทุกข์กายทุกข์ใจไม่มีที่สิ้นสุดอะไรคือเกาะอะไรคือที่พึ่ง ธรรมกายนั่นแหละเป็นเป็นที่พึ่ง เมื่อเราฝึกฝนอบรมใจของเราให้เข้าถึงธรรมกายได้ ได้ชื่อว่าขึ้นเกาะ เพราะใจเราอยู่ในกลางธรรมกายเนี่ย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พอขึ้นได้แล้วมีความสุขอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเลย และใจก็ไม่อยากออกจากธรรมกาย อยากจะอยู่ที่ตรงนี้ 

 

                 ว่าอ้อ สิ่งที่เราแสวงหามาตลอดตรงนี้เอง ธรรมกายนี่เองที่แสวงหา พอเข้าถึงได้แล้วก็มีความสุข มีความสดชื่น มีความเบิกบานใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเลย แต่การที่จะเข้าถึงธรรมกายได้จะต้องฝึกใจของเราให้หยุด ถ้าใจไม่หยุดเป็นไม่เข้าถึงเข้าไม่ถึงธรรมกายอย่างเด็ดขาด แล้วหยุดต้องหยุดให้ถูกส่วนที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ หยุดอยู่ตรงนี้ที่เดียว หยุดอยู่ที่อื่นละก็เป็นผิดหมด เข้าไม่ถึงธรรมกาย เพราะธรรมกายเกิดขึ้นที่เดียวที่ฐานที่ ๗ ตรงศูนย์กลางน่ะ ฐานที่ ๗ เกิดขึ้นอยู่ที่ตรงนี้ เราจะต้องเอาใจของเรามาฝึกให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ตรงนี้ หยุดนิ่งตรงนี้ได้ เข้าถึงธรรมกายได้เมื่อนั้น จำเอาไว้ให้ดีนะ

 

                 วันนี้เป็นวันอาทิตย์ต้นเดือน เราจะนำดอกไม้ธูปเทียน อาหารหวานคาวไปถวายเป็นพุทธบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว มีพระธรรมกายปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน การจะไปให้ถึงเข้าถึงได้ก็ต้องเข้าถึงธรรมกาย จึงจะน้อมนำสิ่งเหล่านี้ไปได้ ถ้าเข้าไม่ถึงธรรมกายการทำอย่างนี้ ก็อยู่ใน ก็เป็นสิ่งเหลือวิสัยว่าทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะฝึกฝนใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงธรรมกายกันให้ได้ทุก ๆ คนทีนี้การฝึกใจให้หยุดนิ่งที่ฐานที่ ๗ สำหรับท่านที่มาใหม่ต้องรู้จักว่าฐานที่ ๗ อยู่ที่ตรงไหน ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่หัวตา ที่เพลาตา ตรงจุดที่น้ำตาไหล ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางถูกศีรษะ ในระดับเดียวกับเพลาตา ฐานที่ 4 อยู่ที่ปากช่องเพดานปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ตรงปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ในระดับเดียวกับสะดือ 

 

                สมมติว่าเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุหลังไปเส้นหนึ่ง ขวาทะลุซ้ายไปอีกเส้นหนึ่ง ตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง เราเรียกว่าศูนย์กลางกายหรือกลางกั๊กฐานที่ ๖ ฐานที่ ๖ อยู่ที่ตรงจุดตัดตรงนี้แหละ ฐานที่ ๗ เหนือจากจุดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน นำไปทาบอยู่ที่ตรงจุดนี้ เหนือขึ้นมาสองนิ้วมือนั่นแหละเราเรียกว่าฐานที่ ๗ เป็นฐานที่ตั้งใจของเรา เราจะต้องเอาใจของเรามาหยุดมานั่งอยู่ที่ตรงนี้ ใจที่แวบไปแวบมา เอามาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้นะ นี่รู้จักฐานที่ ๗ แล้วนะ เหนือจากจุดตัดขึ้นมา ๒ นิ้วมืออยู่ที่ตรงนี้ เราก็เอาใจของเรามาหยุดนิ่ง หยุดในหยุด หยุดในหยุด หยุดนิ่งเฉย อยู่ตรงฐานที่ ๗ 

 

                 กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ กำหนดเป็นดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อยของเรา กำหนดเป็นดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อยของเรากำหนดให้ดวงแก้วนี้เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กำหนดนึกง่าย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง ให้ใสที่สุดเท่าที่จะใสได้ คล้าย ๆ กับเพชร เพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว ไม่มีขีดไม่มีข่วน ไม่มีไฝฝ้า ไม่มีรอยตำหนิ กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อยของเรา กลมทีเดียวนะ ให้หยุดนิ่ง หยุดในหยุด หยุดในหยุด 

 

                   หยุดนิ่งที่ฐานที่ ๗ เอาใจของเราตรึกนึกถึงความใส คือค่อย ๆ พยายามนึกถึงความใส นึกเบา ๆ ง่าย ๆ นึกถึงความใสของบริกรรมนิมิตตรงนี้นะ แล้วใจก็หยุดเข้าไปในกลางความใส คือหยุดลงไปตรงจุดกึ่งกลางของดวงแก้วที่เราสมมติเข้าไปเนี่ย หยุดในหยุด ๆ ให้นิ่งเฉย พร้อมกับบริกรรมภาวนาในใจของเราเบา ๆ ภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ อย่างนี้นะ ให้คำภาวนาสัมมาอะระหัง ดังออกมาจากศูนย์กลางของบริกรรมนิมิตดวงแก้ว ตรงฐานที่ ๗ ให้ดังต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ให้ภาวนาไปอย่างนี้นะ 

 

                 จะภาวนาไปกี่ครั้งก็ภาวนาไปเถอะ จะร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้งก็ภาวนาไป แต่ว่าให้คำภาวนาของเราเนี่ยต่อเนื่องออกมาจากศูนย์กลางฐานที่ ๗ เราภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าใจจะหยุด ใจจะนิ่งใจหยุดนิ่งสังเกตจากอะไร สังเกตดูว่าใจน่ะไม่อยากจะภาวนา และก็ไม่มีความนึกคิดอื่นเข้ามาแทรกอยากจะวางเฉย ๆ อยู่ตรงฐานที่ ๗ อยู่ในกลางบริกรรมนิมิต อยากจะอยู่เฉย ๆ หรือลืมคำภาวนาไป นั่นแหละวางคำภาวนาแล้ว ใจหยุดแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ให้ประคอง ประคับประคองใจที่หยุดที่นิ่ง ที่ไม่มีคำภาวนานะ ประคองไปเรื่อย ๆ ประคองไปเรื่อย ๆ อย่าเร่งร้อน อย่าใจร้อน ให้เยือกเย็น ประคองเฉย 

 

                 พอถูกส่วนขึ้นมาน่ะ พอถูกส่วนเข้า ใจมันไม่ไปไหนน่ะ มันจะอยู่ตรงนั้น ก็จะเห็นดวงใสแจ่ม ใสเหมือนเพชรทีเดียวนะ เกิดขึ้นนิ่ง ไม่ว่อกแวก ไม่ไปไหนเลย หยุดนิ่งพร้อมกับความรู้สึกที่เบากาย เบาใจ มีความสุขเยือกเย็นอยู่ภายในตัว มันเย็น ๆ อยู่ภายใน นั่นแหละประคองเอาไว้ให้ดีทีเดียว หลับตาก็เห็น ลืมตาเห็น นั่งเห็น นอนเห็น ยืนเห็น เดินให้เห็นอยู่ตลอดเวลา นี่แหละคือต้นทางที่จะเข้าถึงธรรมกายล่ะ จะต้องประคองกันเอาไว้ให้ดีทีเดียวนะ สัมมาอะระหัง ๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ

 

                  สำหรับท่านที่เคยกำหนดเป็นพระแก้วใส ๆ เราจะกำหนดเป็นพระแก้วใส ๆ ก็ได้ เห็นบางส่วนก็ไม่เป็นไร เห็นส่วนไหนเราก็มองส่วนนั้น เห็นได้ทั้งองค์เราก็มองทั้งองค์ แต่ให้มองไปที่ปลายเกตุของท่าน ให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ปลายเกตุ นี่สำหรับท่านที่เคยกำหนดเป็นพระแก้วนะ ท่านที่ไม่เคยกำหนดเป็นพระแก้วก็ให้กำหนดเป็นดวงแก้วใส ๆ แล้วก็ภาวนาไป สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาให้ต่อเนื่องกันไป จนกว่าใจจะหยุด จนกว่าใจจะนิ่ง ให้ทำอย่างนี้กันทุก ๆ คนนะ ก่อนที่เราจะบูชาข้าวพระ เอาล่ะต่างคนต่างทำกันเงียบ ๆ สัมมาอะระหัง ๆ พวกเราก็เอาใจของเราน่ะให้หยุดในหยุด ๆ ๆ ๆ นิ่งในนิ่ง ๆ ลงไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กันทุก ๆ คน 

 

           หยุดให้สนิทที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นทางไปสู่พระนิพพาน ทางหลุดทางพ้น ทางเดินของพระอริยเจ้า พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายอาศัยเส้นทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ที่เรียกว่าเอกายนมรรค หนทางเดียว เป็นทางที่ก้าวล่วงจากความทุกข์โศก โรคภัยต่าง ๆ เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว เราก็เอาใจหยุดในหยุด ๆ ๆ นิ่งในนิ่ง วางเบา ๆ ทุก ๆ คนนะ วางใจเบา ๆ อยู่ที่ตรงเนี้ย คุ้ม ๆ ค่ำ ๆ มันมืดก็เอาใจวางอยู่ที่ตรงเนี้ย มองอะไรไม่เห็น ศูนย์กลางกายไม่เห็น ฐานที่ ๗ ไม่เห็น ไม่เป็นไร เราก็ต้องนึก สมมติประคองใจของเราว่าใจมาหยุดอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ คิดแค่นี้พอ ไม่ต้องไปสงสัยว่ามันตรงหรือไม่ตรง ใช่หรือไม่ใช่ ตราบใดใจมันยังหยุดไม่นิ่ง เราจะเห็นฐานที่ ๗ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องอาศัยคาดคะเนสมมติเอาว่าใจของเรามาอยู่ตรงฐานที่ ๗ ในตัวแค่นี้พอ ไม่ต้องสงสัยต่อนะ แล้วก็หยุดให้นิ่ง มืดก็อยู่ที่ตรงเนี้ย

 

                 สำหรับบางคนที่มีความปลอดโปร่งภายใน เริ่มจะรู้แล้วว่าตัวเป็นโพรง คือใจมันเริ่มสงบ เริ่มจะสงบจากอารมณ์ภายนอก ก็จะมีความรู้สึกคล้าย ๆ คล้ายกับว่ามันจะเห็นทางเดิน รู้สึกไม่อึดอัด เหมือนที่เราเริ่มต้นใหม่ ๆ เพราะฉะนั้นคนที่ใจปลอดโปร่ง ก็จะกำหนดเห็นฐานที่ ๗ ได้ง่ายขึ้น คือรู้สึกมีความมั่นใจขึ้นว่าตรงเนื้ยฐานที่ ๗ ก็เอาใจไปหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ทำตามขั้นตอนนะจ๊ะ ทีนี้สำหรับบางคนที่หยุดดีกว่านี้เข้าไปอีก ก็จะเริ่มเห็นนิมิตแวบไปแวบมา องค์พระก็ดี หรือดวงแก้วใส ๆ ก็ดี มันเริ่มวน ๆ อยู่แถว ๆ เนี้ย อยู่ในกลางท้องเริ่มรู้สึกมีวัตถุเป็นรูปคล้าย ๆ องค์พระ คล้าย ๆ ดวงแก้ววน ๆ อยู่ข้างใน ถ้าได้แค่นี้น่ะ เราก็หยุดอยู่แค่นี้ หยุดอยู่แค่นี้แหละ หยุดอยู่ที่ดวงแก้วหรือองค์พระได้ที่มันวน ๆ อยู่

 

                 ถ้าหยุดสนิทกว่านี้เข้าไปอีกสำหรับบางท่าน นิมิตก็จะนิ่งจะเห็นใส เห็นได้ชัดเจน คล้าย ๆ เราดึงของจากที่มืดมาสู่ที่แจ้ง รอบ ๆ นิมิตนั้นมันมืด แต่ตรงกลางนิมิตสว่าง ถ้าเห็นดวงหรือพระใส ๆ อยู่ที่ตรงนี้ รอบ ๆ มืด ที่ตรงกลางสว่าง แต่นิมิตนั้นนิ่ง ไม่มีคำภาวนาเหลืออยู่เลย ได้แค่นี้เราก็หยุดอยู่แค่นี้ ทำตามขั้นตอนนะจ๊ะ หยุดอยู่แค่นี้ หยุดเฉย ๆ รับรองคุณยายท่านเอาดอกไม้ธูปเทียนอาหารหวานคาวไปบูชาได้ถึงพุทธเจ้าอย่างแน่นอน แต่ให้หยุดตามขั้นตอนที่ว่านี้ก่อน ทีนี้บางคนหยุดได้ดีกว่านี้ มีความรู้สึกสดชื่นภายใน ปลอดโปร่ง ตัวรู้สึกขยายสูงขึ้นมั่ง ใหญ่ขึ้นมั่ง วูบวาบเหมือนจะตกจากที่สูงมั่ง นิมิตใสสว่าง คล้าย ๆ ลืมตาเห็น ถ้าหยุดได้แค่นี้ เห็นแค่นี้ก็หยุดอยู่ที่ตรงนี้แหละ

 

                 หยุดนิ่งเฉย สบาย ๆ หยุดอยู่ที่ตรงนี้น่ะ หยุดในหยุด ๆ หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ทีนี้บางคนเห็นได้ละเอียดลงไปกว่านี้เข้าไปอีก เห็นชัดใสแจ่มทีเดียว นิมิตก็สว่าง รอบ ๆ ก็สว่าง ตรงกลางก็สว่าง มันสว่างไปรอบตัวทีเดียว เอาเห็นได้แค่นี้ก็หยุดอยู่แค่นี้ตรงนี้ หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง ใสในใส ๆ เอาหยุดอยู่ตรงนี้นะ หยุดนิ่งเฉย ไม่ต้องภาวนาแล้ว หยุดนิ่ง เดี๋ยวเราก็บูชาข้าวพระกันได้ เอ้าใครหยุดละเอียดไปกว่านี้อีก เข้ากลาง เห็นตรงกลาง เห็นฐานที่ ๗ ชัดเป็นช่องโล่ง ๆ เล็กนิดนึงเท่ากับปลายเข็ม ก็เอาใจสอดเข้าไปในนั้น นี่สำหรับคนที่ละเอียดก็สอดเข้าไป พอถูกส่วนก็โล่งว่างออกไปเลยเหมือนโยนก้อนหินลงไปในน้ำ ใจเราเหมือนก้อนหิน น้ำเหมือนศูนย์กลางกาย ไอ้วงของน้ำที่มันกระจายก็เหมือนกับดวงธรรมที่ขยายออก โล่งออกไป กว้างออกไป ยิ่งกว้างใจก็ยิ่งเบิกบาน ยิ่งสดชื่น เอ้า ถ้าหยุดได้แค่นี้เห็นแค่นี้ ก็หยุดอยู่ตรงนี้ 

 

                    บางคนละเอียดกว่านี้เข้าไปอีก เห็นกายข้างใน เห็นตัวเองนั่งอยู่ นั่งขัดสมาธิอยู่ภายในใสทีเดียวน่ะ นั่งยิ้มได้ อยู่ข้างในน่ะ ใจเบิกบานมันครึ้มอยู่ข้างใน เอาเห็นได้แค่นี้ก็หยุดเข้าไปในกลางกายของตัวเราที่เห็นข้างในเรียกว่ากายฝันหรือกายมนุษย์ละเอียด หยุดลงไปทีเดียวนะ เอ้าหยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง หยุดนิ่งลงไปหยุดอยู่ตรงเนี้ย เอ้าบางคนละเอียดกว่านี้เข้าไปอีก ละเอียดกว่านี้เข้าไปก็เห็นกายภายใน เห็นกายในกาย ภายใน ในกายภายใน คือในกลางกายของตัวเองเห็นตัวเอง แล้วในกลางกายข้างในของกายตัวเรา ที่เรียกว่ามนุษย์ละเอียด ในนั้นเห็นอีกกายหนึ่งเกิดขึ้นมาเป็นกายทิพย์ สวยงาม สวยงามมาก เกิดขึ้น เอาหยุดได้แค่นี้ก็เห็นแค่นี้ก็หยุดแค่นี้

 

                   แล้วก็หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง นี่ทำไปอย่างนี้นะ เห็นกายไหน หยุดเข้าไปกายนั้น จะเห็นเป็นช่อง สนุกสนานทีเดียว เห็นอย่างนี้ละสนุก เบิกบานทีเดียว สดชื่น ไม่ช้าจะเข้าถึงกายธรรมล่ะ ถ้าเห็นอย่างนี้ ก็รู้สึกเบิกบาน รู้สึกสดชื่น เราก็หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง รู้สึกชีวิตเริ่มมีคุณค่าขึ้น เริ่มมีความสุขมากเข้า เริ่มรู้สึกว่า โอ้สิ่งที่เราแสวงหามาตั้งแต่เกิดนะ ว่าเราขาดแคลนอะไรไปสักอย่างหนึ่ง อยากจะเติมให้มันเต็ม จะได้มีความสุขมากขึ้น เพิ่งพบวันนี้เอง นั่งอยู่หน้าหลวงพ่อเนี่ย วันอาทิตย์ต้นเดือนโอ้โห เห็นใสแจ่ม รู้สึกสงบขึ้น มีความเบิกบานมีความชุ่ม นั่งครึ้มอยู่ภายในตัว มีความสุข 

 

                โอ้ สุขอย่างนี้ไม่เคยได้ยินได้พบมาก่อนเลย ความสุขแผ่ซ่านไปทั่วทั้งเนื้อทั้งตัว เนื้อหนังมังสาทุกขุมทุกขนมันแผ่ซ่านไปหมด เย็นฉ่ำ อยู่ภายในทีเดียวนะ เย็น สบายอกสบายใจ บอกไม่ถูก แต่ก่อนนึกว่าดูหนังแล้วสนุก ไปเที่ยวไปเตร่นึกว่าจะสนุก นึกว่าจะให้ความสุข เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานนึกว่าเอ้อ มันจะให้ความสุข มีสมบูรณ์ด้วยลาภ ด้วยยศ ด้วยตำแหน่ง ด้วยคนสรรเสริญเยินยอยกย่อง โอ้ ไม่เท่ากับสุขอย่างนี้เลยเนี่ย สุข มีความสุขสดชื่นเบิกบาน ทั้งเนื้อทั้งตัวไม่มีความทุกข์ เข้าไปเจือเลย ปวดก็ไม่ปวด เมื่อยก็ไม่เมื่อย ไม่เป็นอะไรเลย ปลอดโปร่ง เนื้อตัวเหมือนจะละเอียดอ่อน บางเท่ากับอากาศยังงั้นน่ะ มีความเย็นฉ่ำอยู่ข้างใน เอ้าหยุดได้แค่นี้เห็นแค่นี้ก็หยุดแค่นี้ หยุดในหยุด ๆ ๆ ลงไป

 

               ใครที่เข้าถึงพระธรรมกายในตัว เราก็หยุดเข้าไปในกลางธรรมกาย พระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ท่านก็นั่งขัดสมาธิเหมือนกับเราอย่างนี้แหละ แต่เป็นพระเป็นนะ มีชีวิตมีจิตใจ ใสเป็นแก้ว ไม่ใช่แก้วทึบ ๆ อย่างที่ตั้งอยู่บนโต๊ะหมู่บูชานี้หรอกนะ เหมือนเนื้อหนังมนุษย์อย่างนี้แหละ แต่ว่าสวยงามประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ พร้อมด้วยลักษณะที่เป็นมงคลต่าง ๆ ลักษณะน้อยใหญ่สวยงามไม่มีที่ติ เป็นกายมาตรฐานของมนุษย์ในโลก เราจะดูว่าใครสวยใครงามเนี่ย เอามาเทียบกับธรรมกาย ธรรมกายนี่ไม่มีขาดไม่มีเกิน แต่มนุษย์ในโลก ไม่เกินก็ขาด มีอยู่ ๒ อย่าง ไม่สมบูรณ์เลย นี่ที่ว่าสวย ๆ งาม ๆ 

 

                    พอมาถึงธรรมกายแล้วไปกันคนละเรื่อง นี่เพราะเราไม่เคยเห็นกายมาตรฐาน ก็เลยบอกว่าคนโน้นงามคนนี้งาม คนนั้นสวยคนนี้สวย ใจก็ไปยึดมั่นถือมั่น งมอยู่ในกายมนุษย์ ไอ้ที่มีความเปื่อยเน่างั้นน่ะ ไม่รู้จักที่สวยงามจริง ๆ อยู่ภายในตัว เห็นอย่างนี้แล้วก็ มีความสุขไม่ติดอะไรเลยในโลก ใจมีความมั่นคง เหมือนขึ้นเกาะแล้วตอนนี้ เห็นกายมาตรฐานสวยงาม สวยงามไม่มีที่ติอยู่ภายใน งามจริงๆ เห็นแล้วก็ชื่นอกชื่นใจ เห็นอย่างหนึ่งได้อย่างหนึ่ง เป็นอย่างหนึ่ง เห็นธรรมกาย แต่รักษาไม่ได้เดี๋ยวก็หาย ยังเสื่อมได้ ได้ธรรมกายนั่นน่ะนานเข้าไปหน่อยมั่นคงขึ้น ถ้าเป็นธรรมกายละก็หลับตาเห็น ลืมตาเห็น นั่งเห็น นอนเห็น ยืนเห็น เดินเห็นทุกอิริยาบถ เห็นใสแจ่มใสว่าง มีความสุขสดชื่น เดินกลางแดดร้อนเปรี้ยง ๆ เหงื่อจะออกแค่ไหนข้างในเย็น ร้อนข้างนอก ข้างในเย็น ร้อนนอกแต่เย็นใน มันเย็นฉ่ำ มีความสุขอยู่กับธรรมกายอย่างงั้นแหล่ะ ใจไม่อยากไปไหนเลย เหมือนได้อาหารที่อร่อย ๆ รับประทานแล้วก็อยากจะไปทานอีก ใจก็เหมือนกัน 

 

                    เมื่อเข้าถึงธรรมกายนี่ มันก็มีรสอร่อยในการเข้าถึง เขาเรียกรสแห่งธรรม รสที่เข้าถึงธรรมกาย รสแปลว่าวิสัยแห่งความยินดี คือสิ่งที่ทำให้เกิดความยินดี เกิดความพอใจอย่างสูงสุด อย่างมากอย่างมหาศาลแล้วไม่อยากไปที่ไหน ติดอยู่ที่ตรงเนี้ย นี่ถ้าเราถึงตรงนี้นะ ก็หยุดอยู่ที่ตรงนี้ เอาหยุดในหยุด หยุดในหยุด หยุดอยู่ในเนี้ย สำหรับคนที่เข้าถึงธรรมกายก็หยุดนิ่งใส เบิกบานสบาย เอาล่ะนะ คราวนี้เราหยุดตามขั้นตอนแล้วนะ แนะตั้งแต่เบื้องต้นตั้งแต่มืด ๆ เรื่อยเข้าไปเลยแน่ะ จนกระทั่งถึงธรรมกายแล้ว เวลาเรามีน้อย เราก็หยุดนิ่ง นึกเอาอาหารหวานคาวทั้งหมด ดอกไม้ธูปเทียน อาหารหวานคาวที่เรานำกันมาวันนี้นะ 

 

                  จะทำบุญใหญ่ล่ะ มหัคตกุศลเกิดขึ้น จะเอาดอกไม้ธูปเทียน อาหารหวานคาวถวายพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน เราก็เอาสิ่งเหล่านั้นนะมาไว้ที่ศูนย์กลางกายศูนย์กลางกายนี่แหละอยู่อย่างหนึ่ง อะไรก็ตามถ้ามันมาตก ถ้ามาน้อมที่ศูนย์กลางได้ส่วนถูกส่วน มันใสหมด ใสเป็นเพชรทีเดียว ใสสว่าง ใสยิ่งกว่าเพชรน่ะ ไม่ทราบจะเรียกว่าอะไร มันไม่มีตัวอย่างในมนุษย์ มันใสเกินใส สวยเกินสวย งามไม่มีที่ติเลยเนี่ย สวยงามสว่างอยู่ภายในอย่างงั้นน่ะ อาหารหวานคาวใส เราก็นึกน้อมมานะ ไม่ต้องลังเล ไม่ต้องไปคลางแคลง ปล่อยใจตามที่แนะนำให้หยุดให้ดี เอ้าหยุดในหยุด ๆ ๆ นิ่งในนิ่งนิ่งให้ดีนะ นิ่งให้ดี หยุดนิ่งเฉย ปล่อยสบาย ๆ ปล่อยใจ 

 

                  คุณยายก็คุมอาหารหวานคาวเหล่านี้นะของพวกเราทุกคน อุตส่าห์เสียสละทรัพย์ ตื่นกันแต่เช้าทำอาหาร บางคนก็เตรียมตั้งแต่เมื่อวานนี้ หวังจะมาเอาบุญใหญ่ เพราะการถวายวัตถุทานเครื่องไทยธรรม ไปถึงพระพุทธเจ้านี่ ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่เคยมีใครรู้จัก เพราะว่าพุทธเจ้าท่านดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว จะถวายหน้าโต๊ะหมู่บูชานั่นก็แค่ขอถึง ถวายยังไม่ถึง ถึงจริง ๆ เนี่ยถึงได้ยาก เพราะฉะนั้นทุกคนอยากจะได้บุญใหญ่ ไม่เคยได้ยินไม่เคยได้ฟังว่าจะถวายถึงพระพุทธเจ้าได้ยังไง เป็นเรื่องที่อัศจรรย์ทีเดียว เพราะฉะนั้นถึงได้มาประชุมกันวันเนี้ย สละภารกิจน้อยใหญ่ทั้งหมด จะมาเอาบุญใหญ่บุญน่ะถ้าเห็นแล้วจะเกิดขึ้นจากการถวายเครื่องไทยธรรมไปถึงอายตนนิพพาน เกิดขึ้นมหาศาลทีเดียว ต้องเห็นได้ด้วยธรรมกาย 

 

                  ถ้าทำธรรมกายให้เป็นกันทุกคนล่ะก็จะเห็นหมด เห็นแล้วจะปลื้มใจ จะมีความสุขกายสบายใจทีเดียว แล้วจะมองย้อนหลังได้เลยว่า โอ้ บุญที่เราทำมาตั้งแต่ก่อนโน้นที่ยังไม่ถึงธรรมกายนะ ยังไม่รู้จักหนทางที่จะเข้าถึง ยังไม่รู้จักว่าวิธีจะทำบุญยังไง ทำก็ทำกันตาม ๆ กันไปหยั่งงั้น บุญมันก็หก ๆ หล่น ๆ น่ะเห็นชัดทีเดียว เห็นชัด กับไอ้ตอนที่เข้าถึงธรรมกายแล้วนี่ บุญมันได้มากกว่ากันเนี่ย เหมือนน้ำในมหาสมุทรเข้าถึงทะเลบุญ ไอ้แต่ก่อนเหมือนน้ำหยดเดียวในมหาสมุทร เห็นแล้วก็เสียดายโอกาสว่า รู้อย่างนี้แต่ก่อนนั้นทำธรรมกายให้เป็นเสียก็ดีล่ะ เราจะได้บุญใหญ่ เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ มันลำบากยากเข็ญเหลือเกิน เพราะว่าบุญเราน้อย ช่วงของอายุของมนุษย์ก็สั้น เพราะฉะนั้นโอกาสไหนที่จะทำน้อยได้ผลมากก็ควรจะรีบตักตวง พอเห็นอย่างนี้เข้าก็จะปลื้มใจ 

 

                   ในเวลาเดียวกันก็เสียดายโอกาสที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นธรรมกายนี่คือหัวใจของการสร้างบารมี พระพุทธเจ้าของเราทุก ๆ พระองค์ท่านมาหยุดอยู่ที่ธรรมกายโคตรภูอยู่ตรงนี้แหละ แล้วก็อาศัยธรรมกายโคตรภูสร้างบารมี จึงเป็นพระพุทธเจ้าเป็นบรมครูของเราได้  เราลูกศิษย์ท่านก็ต้องทำให้เหมือนครูของเราให้ได้ ต้องให้หยุดให้ได้ ต้องให้เหมือนทีเดียว ถึงธรรมกายเมื่อไหร่ล่ะก็เลิกเบียดเบียนกัน เลิกรบราฆ่าฟัน มีแต่การให้รู้สึกว่ายิ่งให้ ยิ่งมีความสุข ไม่อยากจะเบียดเบียนใครเลย อยากจะให้อย่างน้อยก็ความปรารถนาดีกับทุก ๆ คนที่เราพบปะพูดจากัน อยากจะให้ ยิ่งให้ยิ่งมีความสุข ถ้าคนทั้งโลกเห็นอย่างนี้ได้ล่ะก็เลิกเบียดเบียน เลิกรบราฆ่าฟันกัน มีความสุขกายสบายใจ นี่แหละคือเป้าหมายของชีวิต เพราะฉะนั้นเราก็หยุดในหยุด ๆ

 

                     คุณยายก็คุมทีเดียวนะ เอาอาหารหวานคาวของพวกเราเนี่ยไปถวายพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน ถวายให้ทั่วถึงหมด คุมกันไปให้หมดเลย ถวายหมดสุดสุดญาณ พระพุทธเจ้าท่านมีมากมายที่เข้านิพพานไปแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย มีธรรมกายปรากฏโตเท่ากัน สวยงามมาก มีชีวิตจิตใจเหมือนอย่างเราแต่ว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่า บริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีกิเลสอาสวะ ไม่มีกิจจะต้องทำอะไรนอกจากเข้านิโรธสมาบัติ เสวยวิมุตติสุขภายใน เพราะฉะนั้นอาหารหวานคาวที่เราเพิ่งไปถวายดอกไม้ธูปเทียน ไม่ใช่หมายความว่าท่านจะฉันอะไรหรอกนะ มันเป็นพุทธบูชา มันเป็นบุญกิริยา บุญของเรา ถ้าเข้าไปถึงท่านได้ กระแสบุญก็เกิดขึ้น หลั่งไหลท่วมท้นผ่านเข้ามาภายในตัวของเรา มารวมเป็นดวงใสสว่างทีเดียวน่ะ 

 

                 ไปถวายเท่าไหร่ก็ไม่หมดพระพุทธเจ้าสักทีนึง ทับทวีไปเท่าไหร่ก็ยังไม่หมด มันก็ได้แค่สุดรู้สุดญาณของเราที่เราเข้าถึง ไปแค่ไหนก็มีพุทธเจ้ายิ่งใสขึ้น ยิ่งสว่างขึ้นมากมายก่ายกองทีเดียวเนี่ย มากกว่าเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรทั้งสี่ นี่ทับทวีกันมาขนาดนี้ หลายสิบปีแล้ว ไปยังไม่สุดพระพุทธเจ้าเลย สุดเมื่อไหร่ล่ะ มนุษย์เลิกเกิดแก่เจ็บตาย เลิกเบียดเบียนกัน เลิกรบราฆ่าฟันกัน เลิกทะเลาะเบาะแว้งกัน แม้แต่ตัวของเราเองก็เลิก เลิกทุกข์เลิกยากเลิกจนซะที มีความสุขสดชื่น นี่ยังเข้าไปไม่ถึง ยังไม่สุด เพราะฉะนั้นนี่เราก็น้อมกันขึ้นไปถวายพุทธเจ้า สุดรู้สุดญาณให้มากที่สุดเท่าที่เราจะมากได้ มากมายก่ายกอง เพราะฉะนั้นพวกเราก็หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่งให้ดีทีเดียวนะ 

 

                 ก็ขอบุญขอบารมีของพระองค์ท่าน ให้บุญบารมีที่เกิดขึ้นจากการถวายวัตถุทานขาดจากใจแด่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับพระองค์ไม่ถ้วน ให้เป็นเครื่องสนับสนุนให้เราเป็นผู้บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ ให้บริสุทธิ์หมด สะอาดทั้งธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ บริสุทธิ์ผ่องใส ให้ได้สำเร็จมรรคผล ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ให้สมบูรณ์ ให้ได้ผลบุญในปัจจุบันนี้ ท่านที่เป็นนักธุรกิจก็ให้ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม มีปัจจัยเกิดขึ้นมาก็มาช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แล้วก็ให้บรรลุมรรคผลนิพพานไปด้วย ท่านที่รับราชการก็ให้ช่วยกัน ช่วยกันรับราชการส่งเสริมสนับสนุนให้บ้านเมืองของเราอยู่เย็นเป็นสุขกันไป แล้วก็ให้บรรลุมรรคผลนิพพานไปด้วย ท่านที่เป็นนักศึกษาก็ให้ศึกษาได้ทะลุปรุโปร่งหมด แตกฉานหมดจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาสมความปรารถนา และก็ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องตามคำสอนของ พระบรมศาสดา ให้พ้นจากกิเลสจากอาสวะทั้งหลายนี้ ก็อธิษฐานไป ขอศีลขอพรไป 

 

                คุณยายก็คุมบุญให้ติดที่ศูนย์กลางกายทุก ๆ คน พวกเราก็ตั้งอกตั้งใจกันให้ดีนะ นึกอธิษฐานจิตตามใจชอบกัน คุณยายก็คุมคําอธิษฐานด้วย ขอพระพุทธเจ้าด้วย แล้วทับทวีอาหารทิพย์ สั่งจักรพรรดิให้มาแจกจ่ายในภพทั้งสาม อย่างที่เราได้เคยทำเอาไว้ แล้วก็เอาไปไว้ที่วิมานของพวกเราทุก ๆ คน ละโลกแล้วเรายังไม่ไปพระนิพพาน ก็จะได้ไปพักกลางทางที่สวรรค์ชั้นไหน เราจะได้ไปเสวยผลบุญในสวรรค์ชั้นนั้น บุญในมนุษย์ถ้ารองรับไม่พอเนี่ย ก็ขึ้นไปสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช จาตุมหาราชรองรับบุญเราไม่ได้ เพราะบุญเรามากว่า ชั้นดาวดึงส์รองรับ ดาวดึงส์รองรับไม่ได้ก็ยามารองรับ ก็มันก็เป็นชั้น ๆ ไปอย่างนี้ คุณยายคุมให้ดีนะคุมหมด พวกเราก็ตั้งใจให้ดีทุก ๆ คน ทำจิตใจให้ผ่องใสให้เบิกบานกันนะจ๊ะ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010119358698527 Mins