กลางของกลาง

วันที่ 15 มีค. พ.ศ.2567

150367b01.jpg
กลางของกลาง
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

                ต่อจากนี้ขอเรียนเชิญทุกท่าน นั่งหลับตาเจริญภาวนากัน นั่งขัดสมาธิ ใครนั่งขัดสมาธิไม่ถนัดก็ให้นั่งพับเพียบ ขัดสมาธิก็ให้เอาขาขวาทับขาซ้ายให้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ทุก ๆ คน ที่นั่งพับเพียบก็เช่นเดียวกัน เอามือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ทุก ๆ คน หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดีนะ กะคะเนว่าให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก คราวนี้เราก็ปลดปล่อยวางภารกิจเครื่องกังวลใจทั้งหลายให้หมดสิ้นจากใจ ทำประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีภารกิจเครื่องกังวล ไม่เคยมีความคิดมาก่อน แล้วก็ทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใส

 

                ธรรมกายนั้นเป็นของมีจริง เป็นกายตรัสรู้ธรรมของมนุษย์ทุก ๆ คน ท่านสิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือในกลางตัวของเรา ถ้าเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุไปข้างหลังเส้นหนึ่งจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็มเหนือจุดตัดนั้นขึ้นมา ๒ นิ้วมือเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่สิงสถิตของธรรมกายซึ่งเป็นกายตรัสรู้ธรรมจะรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลายทั้งปวง ก็ต้องอาศัยกายนี้ เพราะว่าเป็นกายที่สะอาด ที่บริสุทธิ์ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสติและปัญญา จึงรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด เห็นได้ด้วยดวงตาธรรมกาย หรือเรียกว่าธรรมจักขุ ตรัสรู้ได้ด้วยญาณของธรรมกาย 

 


                ลักษณะของกายตรัสรู้ธรรมนั้นงามไม่มีที่ติ ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ งามกว่ามนุษย์เทวดาพรหมและอรูปพรหมทั้งหลาย กายท่านใสเป็นแก้ว ใสยิ่งกว่าเพชร มีรัศมีสว่างไสว สวยงามไม่มีที่ติ สิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ถ้าพอจะเทียบเคียงได้ก็คล้ายกับพระปฏิมากร แต่ว่าเกตุดอกบัวตูม แต่พระปฏิมากรซึ่งเป็นรูปเปรียบของธรรมกายนั้น ไม่เคยมีใครทำออกมาได้ใกล้เคียงเลย จึงได้แต่อุปมาว่าคล้ายกับพระปฏิมากร แต่จริง ๆ นั้นงามไม่มีที่ติ ใสเกินใส สวยเกินสวย เต็มเปี่ยมไปด้วยสติและปัญญา สมบูรณ์ทุกอย่าง สมบูรณ์ทั้งวิชชาทั้งจรณะ นั่นคือธรรมกาย มีอยู่ในกายของพวกเราทุก ๆ คน การจะเข้าถึงธรรมกายได้นั้น จะต้องถอดกายออกเป็นชั้น ๆ หลาย ๆ ชั้นเข้าไปตามลำดับ 

 


                กายธรรมเป็นกายที่ละเอียดที่สุด สะอาดที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด ก็จะซ้อนอยู่ภายใน กายที่หยาบกว่าก็อยู่ภายนอก กายธรรมซ้อนอยู่ในกลางของกายอรูปพรหม กายอรูปพรหมก็ซ้อนอยู่ในกลางของกายรูปพรหม กายรูปพรหมก็ซ้อนอยู่ในกลางของกายทิพย์ กายทิพย์ก็ซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝันที่ลักษณะหน้าตาเหมือนตัวเราท่านหญิงเหมือนท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนกับท่านชาย กายมนุษย์ละเอียดก็ซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์หยาบศูนย์กลางกายนั้นตรงกันหมด นี่ต้องซ้อนเข้าไปเป็นชั้น ๆ ดังนั้นการจะเข้าถึงธรรมกายต้องถอดกายออกให้ได้เป็นชั้น ๆ เข้าไปจึงจะเข้าถึงกายธรรมภายใน เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเอาไว้ในสติปัฏฐาน ๔ ให้ตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ ก็คือให้ถอดกายออกไปให้เป็นชั้น ๆ นั่นเอง 

 


                ถอดออกเป็นชั้น ๆ ไป กายไหนที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์ก็ปล่อยละวางไป กายไหนที่พ้นจากไตรลักษณ์ก็ให้ยึดเอาไว้ ให้อยู่ในนั้น กายที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์คือมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนก็ปล่อยวางไป กายที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา ที่ตรงกันข้ามกันก็ยึดเอาไว้ กายที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์นั้นก็มีกายมนุษย์หยาบที่เราอาศัยนั่งเข้าที่ กายมนุษย์ละเอียดที่ซ้อนอยู่ภายใน กายทิพย์ที่ซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด กายรูปพรหมที่ซ้อนอยู่ในกลางของกายทิพย์ กายอรูปพรหมที่ซ้อนอยู่ในกลางของกายรูปพรหม กายต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งสิ้น เป็นกายที่อยู่ในภพทั้ง ๓ มีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไปสู่ความเสื่อมและก็แตกสลายหายไปในที่สุด 

 


                ส่วนกายธรรมที่อยู่ภายในตั้งแต่กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดา กายธรรมพระสกิทาคา กายธรรมพระอนาคา กายธรรมพระอรหัต ล้วนแต่เป็นนิจจัง สุขขัง อัตตาทั้งสิ้น เป็นกายที่พ้นจากไตรลักษณ์ ออกนอกภพ ๓ ทั้งหมดนี้เป็นแผนผังของชีวิตของมนุษย์ทุก ๆ คน ที่เราจะต้องดำเนินจิตของเรา ปล่อยละวางสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เข้าไปสู่สิ่งที่เป็นอมตะ เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง สุขล้วน ๆ เป็นเอกันตบรมสุข และก็เป็นอัตตาตัวจริงตัวแท้ ๆ ที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มีแต่สุขล้วน ๆ มั่นคงเป็นนิรันดรทั้งนั้น แผนผังชีวิตมนุษย์จะต้องดำเนินกันไปอย่างนี้ 

 


                ส่วนผู้ที่มีความรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ ได้เข้าถึงกายไหนมีความรู้อยู่เพียงแค่กายนั้น ก็จะวนเวียนเปลี่ยนแปลงกันอยู่เฉพาะกายนั้นแหละ เช่นเราหลงเข้าใจผิดว่ากายมนุษย์หยาบที่เราอาศัยนั่งเข้าที่นี้ เป็นกายที่เป็นตัวตนที่แท้จริงให้ความสุขกับเราล้วน ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราก็ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในกายมนุษย์หยาบ ใจที่มีความรู้แค่นี้ก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้แหละ แล้วก็ทำให้เป็นเหตุให้เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป กายที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์นั่นน่ะ ไม่เคยมีความสุขที่แท้จริงเลย มีแต่ทุกข์ที่ไหลวนเวียนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความรู้วนเวียนอยู่ในกายที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์คือกายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม ชีวิตก็จะถูกความทุกข์ย่ำยีอยู่ตลอดเวลา

 


                ดังนั้นเป้าหมายของเรา เราจะต้องปลดปล่อยละวางกายต่าง ๆ ทั้งหลายทั้งมวลนี้ ให้เข้าถึงกายที่เป็นนิจจัง สุขัง อัตตา คือกายธรรมนั่นเอง แต่การที่จะปลดปล่อยจะละวางให้ได้นั้นจะต้องมีวิธี มีวิธีการ จะต้องทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านได้แนะแนวทางที่จะปลด ที่จะปล่อยวางกายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น โดยอาศัยอริยสัจ ๔ นั้นเป็นแบบเป็นแผน คือพิจารณาให้เห็นกายเหล่านี้ทั้งหลายทั้งมวลนี้ พิจารณาให้ซาบซึ้งว่าเป็นก้อนทุกข์ทั้งก้อน ตั้งแต่กายมนุษย์หยาบที่มีความทุกข์ ทุกข์ทั้งก้อนเลย ทุกข์ทั้งภายใน ทุกข์ทั้งภายนอกทุกข์ทั้งสิ่งแวดล้อม มองให้เห็นเป็นทุกข์ให้หมด 

 


                กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม ล้วนแต่มีทุกข์ แต่ว่าหยาบละเอียดกว่ากัน และก็แนะให้เห็นว่าเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์เพราะความอยาก ความอยากที่อยู่ในกายมนุษย์ มนุษย์หยาบนี่ ความอยากที่อยู่ในกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม ความอยากที่อยู่ในกายมนุษย์ มนุษย์หยาบนี่ ความอยากที่อยู่ในกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์พรหม อรูปพรหม ความอยากเป็นเหตุให้วนเวียนอยู่ในกายเหล่านี้ เป็นเหตุที่ให้วนเวียนอยู่ในภพที่กายเหล่านี้อาศัยอยู่ นี่ท่านชี้ให้เห็น จะต้องละไอ้ความอยากคือ ตัดความอยาก ความยินดีในกายเหล่านี้ ในภพเหล่านี้ ในสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกายเหล่านี้ทั้งหมด 

 


                ด้วยวิธีการทำมรรคให้เกิดคือทำหนทางให้เกิด และเป็นหนทางที่แตกต่างจากหนทางที่มีอยู่ในโลก หนทางบกทางน้ำทางเรือ ทางอากาศ หรือหนทางที่เป็นไปในภพทั้ง ๓ หนทางที่ทำให้เกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน หนทางที่จะทำให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา พรหม อรูปพรหม ให้เดินสู่หนทางแห่งพระอริยเจ้าที่เรียกว่าอริยมรรค ทำหนทางของพระอริยเจ้านี้ให้เกิดขึ้น ใจถึงจะละจะวางเหล่านี้ได้ หนทางของพระอริยเจ้าจะเกิดขึ้นนั้น จะต้องปลดต้องปล่อยต้องวางสิ่งทั้งหลายทั้งมวลในภพทั้ง ๓ นี้ หรือโดยเฉพาะในสิ่งที่เราได้รู้ได้เห็นได้สัมผัสหยาบ ๆ นี่ซะก่อน พิจารณาให้เห็นเป็นทุกข์ ใจจะได้เบื่อหน่าย 

 


                เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายความกำหนัด ความยึดมั่นถือมั่นเมื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น ใจก็หลุดพ้นจากความนึกคิดเหล่านั้น จากสิ่งที่เกี่ยวข้อง เมื่อหลุดพ้นก็จะตกศูนย์เข้าสู่ภายในกึ่งกลางกายฐานที่ ๗ เป็นใจที่บริสุทธิ์ในเบื้องต้น ความบริสุทธิ์ในเบื้องต้นนั้นก็จะปรากฏให้เราเห็น มีลักษณะเป็นดวงกลมใส ๆ เป็นดวงธรรมเบื้องต้นที่เรียกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเรียกว่าปฐมมรรคหนทางเบื้องต้นของพระอริยเจ้าหรือหนทางเบื้องต้นของอริยมรรค ดวงใส ๆ ซึ่งเป็นความบริสุทธิ์เบื้องต้น ที่เกิดจากการละวาง เพราะว่าเราเบื่อหน่ายด้วยการพิจารณาด้วยปัญญา  

 


                ความบริสุทธิ์นั้นก็จะเกิดขึ้นอย่างเล็กเท่ากับดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันปรากฏเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี่เป็นความบริสุทธิ์เบื้องต้น เป็นหนทางเบื้องต้นในการที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตไปสู่ความเป็นอริยะ คือใจของผู้ที่ประเสริฐที่ห่างไกลแล้วจากกิเลสจากอาสวะทั้งหลายทั้งมวล เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วนดีแล้ว ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้ง ๕ ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ความบริสุทธิ์ก็แจ่มจ้ายิ่งขึ้น สว่าง ใจที่สว่างนั้นเป็นใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข เต็มเปี่ยมไปด้วยสติ เต็มเปี่ยมไปด้วยปัญญา ความสว่างในเบื้องต้นนั้น เมื่อเอาใจหยุดได้ถูกส่วนเข้า ไม่ช้าก็จะขยายส่วนกว้างออกไป พอกว้างออกไปก็เห็นดวงศีล คือใจน่ะ ดวงใจดวงนี้นะ เต็มเปี่ยมไปด้วยความบริสุทธิ์ในขั้นของศีล มีความสว่างไสว มีความรู้สึกนึกคิดที่ดีงาม 

 


                เมื่อใจตั้งมั่นถูกส่วนอยู่ในกลางดวงศีล ดวงศีลก็ขยายส่วนกว้างออกไป คือใจบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ก็จะละเอียดกว่าสิ่งที่ตัวเห็นอยู่ที่ตัวเข้าถึง ดวงศีลก็ขยายส่วนกว้างออกไปก็เห็นอีกดวงหนึ่งเกิดขึ้นมา เป็นดวงสมาธิ  ดวงสมาธิเป็นเครื่องรับรองว่าใจของเรามีสมาธิ ถ้าใจไม่มีสมาธิ ดวงสมาธิไม่เกิด ถ้าสมาธิในขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิจะต้องเป็นดวง เป็นดวงใส ๆ อย่างนี้ ถ้าไม่เป็นอัปปนาสมาธิคือสมาธิที่แนบแน่นมั่นคงแล้ว ไม่เป็นดวง เป็นแต่แสงสว่างโล่ง ๆ มั่ง กว้าง ๆ มั่ง เงียบ ๆ มั่ง หรือเวิ้งว้างเหมือนอยู่ในอวกาศ หรือคล้ายกับไม่มีตัวตน หรือเงียบสงบไปเฉย ๆ เหมือนอยู่คนเดียวในโลก นั่นยังไม่ถูกส่วน ถ้าถูกส่วนแล้วจะต้องมีดวงสมาธิปรากฏขึ้นมาเอง เพราะดวงสมาธิมันมีอยู่แล้วในตัว 

 


                ถ้าเข้าถึงสมาธิที่เป็นอัปปนาสมาธิก็จะเกิดความแนบแน่นขึ้น ปรากฏเป็นดวงใส ถ้าใจละเอียดกว่านี้เข้าไปอีกก็จะเข้าถึงดวงปัญญา เป็นดวงสว่างเข้าถึงดวงปัญญานี้ ความรู้ก็จะเกิดขึ้นมาที่แนบแน่นกว่าเดิมอีก เป็นความรู้ที่ทำให้เราละวางหนักยิ่งขึ้นในสิ่งที่เราเคยติดเคยยึด ในที่สุดจิตก็จะหลุดพ้นเข้าไปสู่ภายในกลางของดวงปัญญา ปัญญานั้นก็จะขยายกว้างออกไป เข้าถึงดวงวิมุตติ วิมุตติแปลว่าหลุดพ้น หลุดพ้นจากกายหยาบ แล้วในที่สุดเข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ คือมีความเห็นแจ่มแจ้งว่าหลุดจริง ๆ เลยจากกายมนุษย์หยาบ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในกายมนุษย์หยาบ เห็นแต่เพียงกายมนุษย์หยาบเป็นเพียงเครื่องอาศัยชั่วคราว เหมือนเรือเหมือนแพ เหมือนบ้านอย่างนั้น 

 


                เมื่อหยุดถูกส่วนเข้าไปอีกในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ จะเห็นกายมนุษย์ละเอียดเกิดขึ้นมา ที่ศูนย์กลางกาย ลักษณะเหมือนตัวของเรา ท่านหญิงก็เหมือนท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนกับท่านชายน่ะ เกิดขึ้นอยู่ในภายใน ใสบริสุทธิ์ ถ้าใครได้เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างกายมนุษย์ละเอียดกับกายมนุษย์หยาบ หรือชีวิตภายในกับชีวิตภายนอก มันจะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นชัดเจน เมื่อเราได้เข้าถึงอย่างนั้นจะเกิดความพอใจในชีวิตภายใน เราจะรู้สึกพอใจ ใจเป็นสุข อยากจะอยู่กับกายมนุษย์ละเอียดซึ่งเป็นกายที่ฟ่องเบา ว่องไวละเอียดอ่อน มีความสุขกว่า สติก็ตั้งมั่นมากกว่า มีความรู้กว้างขวางกว่ากายมนุษย์หยาบ รู้กันไปอีกชั้นหนึ่งสูงกว่าอีกชั้นหนึ่ง คือรู้ทั้งหยาบแล้วก็รู้ทั้งละเอียด ในภพภูมิของกายมนุษย์ละเอียด 

 


                เรารู้เรื่องรู้ราวหมด จนกระทั่งใจได้พิจารณาเห็นกายมนุษย์ละเอียดตกอยู่ในไตรลักษณ์ ในทำนองเดียวกัน พอถูกส่วนเข้าใจก็จะปล่อยวางกายมนุษย์ละเอียด จิตก็จะสะอาดบริสุทธิ์หลุดพ้นตกศูนย์เข้าไปสู่ภายในในกลางของกายมนุษย์ละเอียดตรงฐานที่ ๗ แล้วก็จะเข้าถึงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ในทำนองเดียวกัน นี่เข้าไปอย่างนี้แหละไปเรื่อย ๆ เลยจนกระทั่งกายก็จะถอดออกเป็นชั้น ๆ ๆ เข้าไปในทำนองเดียวกัน แต่ความรู้สึกจะแตกต่างกันคือดีขึ้น ประณีตขึ้น หนักแน่นขึ้นไปเรื่อย ๆ มีความสุขเพิ่มขึ้น มีความมั่นใจในตัวเองมากเข้า ว่าหนทางในการที่เราจะหลุดพ้นจากทุกข์นั่นน่ะ เราต้องหลุดพ้นอย่างแน่นอนและเชื่อมั่นว่าหนทางที่เราเดินนี้ถูกต้อง ไม่มีความสงสัยลังเล หรือกลางแคลงใจเลย จนกระทั่งในที่สุดได้เข้าถึงกายธรรม

 


                เข้าถึงกายธรรมภายในน่ะ กายธรรมที่เป็นเป้าหมายอันสูงสุดคือกายธรรมอรหัต เป็นกายธรรมที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ ละสังโยชน์เครื่องผูกให้ติดอยู่ในภพทั้งหยาบทั้งละเอียดได้ ทั้งสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งสังโยชน์เบื้องสูงละได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือละกิเลสในตระกูลโลภะ โทสะ โมหะ ได้หมดสิ้นเชิง จิตสะอาดบริสุทธิ์ล้วน ๆ กายก็สะอาดล้วน ๆ บริสุทธิ์หมด กายธรรมอรหัตนั้นคือเป้าหมายของทุก ๆ คนในโลก กายธรรมนั้นนะหน้าตัก ๒๐ วา สวยงามไม่มีที่ติ นี่คือเป้าหมายของทุก ๆ คน เพราะฉะนั้นเราได้มาเกิดกันแต่ละภพแต่ละชาติเราจะต้องรู้ว่าเราเกิดมาทำไมอะไรคือเป้าหมายของชีวิต เป็นความรู้ที่ควรรู้ ไม่รู้ไม่ได้ ไม่รู้ก็ไม่ปลอดภัย จะทำให้เราดำเนินชีวิตผิดพลาดไปบำเพ็ญในสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่สิ่งที่ควรทำนั้นไม่ทำ นี่ความรู้อย่างนี้มีอยู่ในตัวของพวกเราทุก ๆ คน 

 


                พระพุทธเจ้าท่าน ที่ท่านสอนน่ะ ท่านไม่ได้เอาเรื่องภายนอกตัวมาเลย เอาเรื่องภายในเรื่องกายในกาย เรื่องจิตในจิต เรื่องเวทนาในเวทนา เรื่องธรรมในธรรมที่มีอยู่ภายในตัวของเราอย่างนี้ทั้งสิ้น ไม่ได้ที่ไหน เพราะฉะนั้นในการเดินเข้าสู่เส้นทางของพระอริยเจ้านั้นจะต้องเดินเข้าไปสู่ภายใน ในกลางของตัวของเราอย่างนี้แหละ ผิดจากนี้ไปเป็นผิด เพราะหนทางที่เข้าถึงกายธรรมอรหัตหรือเป้าหมายของชีวิตนั้นมีหนทางเดียว หนทางเอกสายเดียวที่มีอยู่ในกลางตัวของเรานี้เท่านั้น ขอให้ทุกคนได้ตั้งใจเอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เอาใจไปหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้นะ 

 


                ถ้าหากว่าเราไม่ทราบว่าฐานที่ ๗ อยู่ที่ตรงไหน ก็ให้สมมติว่าเราขึงเส้นเชือก สะดือทะลุหลังขวาทะลุซ้าย ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ถ้าพูดถึงฐานที่ ๗ ก็หมายถึงตรงนี้นะ แล้วสร้างมโนภาพขึ้นมาในใจว่ามีดวงแก้ว ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา เป็นดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ให้ตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ใจเราตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดเข้าไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ ภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ให้ภาวนาอย่างนี้ไปนะจ๊ะ ให้ภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าใจเราไม่อยากจะภาวนา 

 


                เมื่อใจเราไม่อยากจะภาวนา อยากจะรักษาดวงใสบริสุทธิ์ที่ศูนย์กลางกาย ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ก็ไม่ต้องภาวนาต่อ ให้รักษาดวงแก้วใสบริสุทธิ์ที่ศูนย์กลางกายให้มั่นคงนะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ หลับตาของเราเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนว่าเลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เมื่อเราปรับร่างกายของเราดีแล้ว ต่อจากนี้ก็ให้มาปรับใจของเรา ใจที่เหมาะต่อการเข้าถึงธรรมนั้นจะต้องเป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ปลอดโปร่ง ไม่มีความคิดเรื่องกังวลใจใด ๆ ทั้งสิ้น

 


                เพราะฉะนั้นให้ทุกคนปลดปล่อยวางภารกิจเครื่องกังวลใจให้หมด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียนหรือเรื่องครอบครัว หรือจะเป็นเรื่องอะไร ที่นอกเหนือจากนี้ก็ตาม ให้ปลดให้ปล่อยให้วาง ทำประหนึ่งว่าเราไม่เคยพบปะเจอะเจอเหตุการณ์เหล่านั้นมาก่อน คล้ายกับเราอยู่คนเดียวในโลก แล้วก็ลืมสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบกายของเราให้หมด ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้สดชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส อย่าส่งใจไปที่อื่น ให้ใจของเราสอดส่องไปถึงพระรัตนตรัย ที่มีอยู่ภายในตัวของเรา พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ทั้ง ๓ นั้นอยู่ในตัวของเรานี่แหละ ให้ใจจดจ่อสอดส่องเข้าไปถึง จนกระทั่งพระรัตนตรัยปรากฏขึ้นมาในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 


                ถ้าทำได้อย่างนี้ หนทางที่จะไปสู่นิพพานก็ใกล้เข้ามา ดังนั้นในวันนี้ให้ตั้งใจให้เป็นพิเศษนะจ๊ะทุก ๆ คน สำหรับท่านที่มาอย่างสม่ำเสมอแล้ว เข้าใจวิธีการปฏิบัติก็เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เลย ที่เข้าถึงปฐมมรรคแล้วก็เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงจุดกึ่งกลางของปฐมมรรค ปฐมมรรคจะเป็นดวงใสบริสุทธิ์ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านั้น นั่นแหละสำหรับท่านที่มาปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอก็ให้เอาใจหยุดนิ่ง ไปที่ศูนย์กลางของปฐมมรรค คือหนทางเบื้องต้นที่จะเข้าไปสู่นิพพานน่ะ จะเข้าอายตนนิพพานต้องเข้าทางนี้ 

        


                ให้เอาใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายตรงนั้น ที่เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดก็ให้เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายมนุษย์ละเอียด ที่เข้าถึงกายทิพย์ก็เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายของกายทิพย์ ที่เข้าถึงกายรูปพรหม ก็เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายของกายรูปพรหม ที่เข้าถึงกายอรูปพรหมก็เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายอรูปพรหม ที่เข้าถึงกายธรรมก็เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายธรรม พยายามฝึกให้ชำนาญทีเดียว หยุดให้ใจติดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางของกลาง ทำจนกว่าจะคล่อง จนกว่าจะชำนาญ ไม่ว่าจะหลับตาลืมตาก็เห็นชัดเจนเท่ากัน จะนั่งจะนอน จะยืนหรือจะเดิน ก็ให้ชัดเจนเท่ากัน ชัดยิ่งกว่าลืมตาเห็น ให้ใสยิ่งกว่าเพชร ให้สว่างยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน 

 


                พอฝึกได้ในขั้นนี้แล้วก็หัดปล่อยใจเข้าไปสู่ตรงกลาง เพราะว่าหนทางที่จะไปสู่อายตนนิพพานนั้นต้องเข้ากลางไปเรื่อย ๆ เส้นทางสายกลางที่มีอยู่ภายในตัวของเรานั่นแหละ ปล่อยใจเข้าไปตรงนั้น กลางของสิ่งที่เห็นน่ะ ที่ผุดขึ้นมาตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จะเป็นดวงธรรมอะไรก็ตาม ก็เข้ากลางอันนั้นเรื่อย ๆ ไปหรือจะจุดหมายปลายทางเป็นอายตนนิพพานน่ะ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อท่านจะเข้าอายตนนิพพานนั้น ท่านก็สอดใจเข้าไปอย่างนี้แหละ ปล่อยใจเข้าไปสู่เส้นทางสายกลางที่มีอยู่ภายในตัวของท่าน ปล่อยใจเข้าไปเรื่อย ๆ ปล่อยเข้าไปในกลางของกลาง ๆ ลงไปตามลำดับ เวลาเข้ากลางได้ถูกส่วน ภายในก็จะดูดวูบลงไป และเราจะมีความรู้สึกว่ากว้างขวางออกไปรอบตัว ไม่มีขอบเขต 

 


                ยิ่งเข้ากลางไปได้เท่าไหร่ยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้น ยิ่งใสยิ่งขึ้น ยิ่งสว่างมากเข้า และก็ยิ่งมั่นคง ยิ่งนิ่งแน่นเข้าไปเรื่อย ๆ ทั้งนิ่งและก็ทั้งแน่นอยู่ในกลางกาย คือ แน่น หมายความว่าใจมันติดอยู่กับตรงนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน ไม่แวบไปแวบมาที่อื่นเลย ยิ่งเข้ากลางยิ่งมีความสุข ยิ่งเข้ากลางยิ่งมีความรู้ตัว รู้ตัวอยู่ภายใน ความรู้ตัวมันจะมากับความสดชื่น เหมือนคนตื่นจากหลับ หายงัวเงียแล้วก็สดชื่น อันนี้เหมือนตื่นจากกิเลส จะมีความสดชื่นหายงัวเงีย คือความรู้ตัวดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ รู้ได้รอบตัว หรือเห็นได้รอบตัว ความเห็นที่เห็นได้รอบตัวเห็นแจ้ง เรารู้ได้รอบตัวนั่นก็คือปัญญา เพราะปัญญาก็แปลว่าความรู้รอบ รู้ได้รอบตัว รู้ได้รอบด้าน รู้พร้อมรู้ยิ่ง แทงตลอดไปหมดเลย 

 


                เนี่ยถ้าเข้ากลางถูกแล้วมันจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีตัน เหมือนโดดลงไปในบ่อที่ไม่มีก้นอย่างนี้น่ะ มันไปเรื่อย ๆ ยิ่งกว้างขวางเหมือนออกทะเลลึก ความรู้ต่าง ๆ ก็จะยิ่งหลั่งไหลออกมา จิตก็จะยิ่งมีพลัง พลังที่จะเอาชนะกิเลส ชนะอาสวะทั้งหลายทั้งมวล แล้วมองเห็นกิเลสเห็นอาสวะได้ ลักษณะมันเป็นยังไง ธาตุธรรมมันชนิดไหน สียังไง เวลาเข้ามาห่อหุ้มดวงจิต ทั้งหุ้มทั้งเคลือบน่ะ ทั้งเอิบอาบ ทั้งซึมซาบเข้าไปในใจน่ะ ทั้งปนเป็น สวมซ้อนไป ร้อยตรงกลางของใจเรานะ กระทั่งเป็นอันเดียวกับของเค้าเลยนะ ของกิเลส ทำให้มีความคิด คำพูด การกระทำก็เป็นของเค้าไปหมด ก็จะเห็นได้ด้วยธรรมกาย และก็รู้ได้ด้วยญาณของธรรมกาย เนี่ยเข้ากลางแล้วจะรู้เห็นอย่างนั้น 

 


               รู้เห็นว่าเนี่ย เป็นต้นเหตุของความทุกข์ เห็นได้ชัดเจนทีเดียวแล้วก็จิตจะมีพลังที่จะขจัดต้นเหตุของความทุกข์เนี่ย ของกิเลสของอาสวะเครื่องหมักดองใจ ให้มันหมดไปนะ สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษเลย ไม่ใช่มีเหมือนไม่มี มันไม่มีจริง ๆ เลยน่ะ คือสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษเลย กิเลสอาสวะเช่นความโลภก็หมดไปเลย ไม่มีเหลือ ไม่ใช่เหลือบ้างเหมือนไม่มี ไม่ใช่อย่างนั้น โลภก็ไม่มี โกรธ ไม่มี หลงก็ไม่มี เราจะเห็นว่าตัวโลภมันเป็นยังไง ต้นเหตุน่ะ กระแสมันเป็นยังไง สียังไง มาหุ้มใจแล้วเราเป็นยังไง เห็นชัด ทำไมเค้าถึงเรียกว่าเครื่องหมักดองใจ มันดองคล้าย ๆ เอาผักไปดอง แต่เดิมมันมีรสอย่างหนึ่ง เมื่อไปดองด้วยรสเค็ม หมักดองหนักเข้าไอ้ความเค็มนั้นก็ซึมเข้าไปในผักนั้นน่ะ ดองด้วยความหวาน ความหวานก็ซึมแช่อิ่มไปอย่างนั้น 

 


                อันนี้เหมือนกัน ใจก็เหมือนผัก กิเลสมันก็เหมือนกับน้ำตาล น้ำปลาอะไรอย่างนั้น ความเค็มความหวานน่ะ แต่นี่เค้าดองด้วยความโลภ ดองด้วยความโกรธ และก็ต้องด้วยความหลง ลักษณะสีมันไม่เหมือนกันน่ะ แต่มันคล้าย ๆ กัน ที่เกิดขึ้นมาหุ้มใจเนี่ย ธรรมชนิดนี้บางทีพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่ากัณหธรรม ธรรมคำเรียกกัณหธรรม ธรรมมันสีดำ เราจะเห็นได้ด้วยธรรมกายเลยว่ากระแสมันสีมันดำ มันหุ้ม เป็นธาตุธรรมชนิดหนึ่ง หุ้ม ทั้งหุ้มทั้งเคลือบเลย เอิบอาบซึมซาบปูนเป็น แล้วบังคับจนกระทั่งใจเราสิ้นพลังที่จะคิดทำความดี รู้ว่าดีแต่มันทำไม่ไหว แต่ในเวลาเดียวกันก็เติมไปเรื่อย ๆ สิ่งอะไรไม่ดีก็ทำลงไป แล้วก็ติดไปเลย ติดตรงกลางใจที่เรียกว่าติดใจน่ะ เอาความโลภเข้าไปติดอยู่ตรงใจเลย ทั้งหุ้มทั้งเคลือบติดอยู่เป็นอันเดียวกันหมด คิดเรื่องอื่นไม่ออกนอกจากเรื่องอย่างนั้นน่ะ เรื่องที่เค้าต้องการให้คิด ก็จะเห็นได้ด้วยธรรมกาย 

 


                การเห็นแจ้งอย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา แปลว่า วิแปลว่าวิเศษ แปลว่าแจ้ง แปลว่าต่าง ปัสสนาแปลว่าการเห็น เห็นได้วิเศษทีเดียว เห็นได้แจ่มแจ้ง แตกต่างจากตามนุษย์ที่เห็น คือเห็นได้ด้วยธรรมกาย เห็นธรรมชนิดนี้เลย สาวต่อไปอีกไปเรื่อย ๆ ปล่อยลงไปเรื่อยๆ ก็จะพบต้นเหตุไปเรื่อย ๆ เลย เหตุที่จะมาถึงตรงนี้ ที่จะมาเป็นผลเข้ามาหุ้มเรา ให้มีความโลภก็ดี มีความโกรธก็ดี มีความหลง หลงทางของนิพพาน ไปนิพพานไม่ถูก หลงลืมว่าเราเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายชีวิต หลงไหลในเบญจกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์นะ หลงใหลติดไปเลย หลงลืม หลงทางหลงผิด นี่มันติดอยู่ตรงนั้นนะ เห็นได้ด้วยธรรมกายทั้งหมด ถ้าเข้าถึงธรรมกายแล้วไม่หลงทาง ไม่หลงผิด ไม่หลงใหล และก็ไม่หลงลืม เห็นหนทางถูกต้อง ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ว่าเห็นไปตามความเป็นจริง 

 


                ความเป็นจริงจะเห็นได้เมื่อเข้าถึงของจริง จะเห็นได้ด้วยตาธรรมกาย ธรรมกายถึงจะเห็นของจริง และก็เห็นไปตามความเป็นจริง เห็นได้ด้วยธรรมกาย ส่วนตามนุษย์นั้นน่ะเห็นยังไม่จริง เพราะฉะนั้นรู้ก็ยังรู้ไม่จริง และก็ไม่รู้ว่าตัวน่ะ ไม่รู้จริง เป็นความไม่รู้ที่ซ้อนไม่รู้น่ะ มันหุ้มกันอยู่เป็นชั้น ๆ กันเข้าไปอย่างนั้น พอถึงธรรมกายสนุกทีเดียว ไปสอดส่องดูนะ สาวไปเรื่อย ๆ สาวเข้าไปเรื่อย ๆ เลย ไอ้ความโลภมาจากตรงไหน ความโกรธมันมาจากตรงไหน ก่อนที่มันจะมาหุ้มตรงนี้นะ ไอ้ความหลงมันจะมาตรงไหน จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเข้าถึง เห็นได้รอบตัวทีเดียว ซ้ายขวาหน้าหลังล่างบนเห็นได้รอบทีเดียว ตรงกลาง ตรงริม ตรงข้างก็เห็นไปในเวลาเดียวกัน ตรงระหว่างหัวต่อของทุก ๆ กายน่ะ เห็นหมดเห็นทะลุหมด สว่างเกิดขึ้นมาอย่างนั้น 

 


                เมื่อเราเห็นอย่างนี้ไปตามความเป็นจริงแล้ว การวางเข็มทิศชีวิตก็จะเริ่มขึ้นตรงนี้แหละ สัมมาทิฏฐิก็จะเกิดขึ้น คือมีความคิดมีความเห็นที่ถูกเห็นถูกแล้วตอนนี้ พอเห็นถูก คิดถูก พูดถูก ทำถูก ก็ตามมาเรื่อย ๆ หรือเดินตามรอยอริยมรรคที่ถูกก็ตามไปเรื่อย ๆ เลย เข้าไปตามลำดับจนกระทั่งกิเลสอาสวะที่หุ้มอยู่ในกายต่าง ๆ นะ กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหมกายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดา กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคา หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ก็เข้าถึงกายธรรมอรหัตเป็นพระอรหันต์ มันต้องปล่อยเข้าไปอย่างนั้น ตรงกลางของกลางละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ เข้าไปตามลำดับ

 


                สำหรับท่านที่มาใหม่นะจ๊ะ ทางเดินของใจเรานี่ มีทั้งหมด ๗ ฐาน ฐานที่ ๑ อยู่ปากช่องจมูก ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่เพลาตาตรงหัวตา ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ ในระดับเดียวกับหัวตาของเรา ฐานที่ ๔ อยู่ตรงเพดานปากช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ในกลางท้องในระดับเดียวกับสะดือของเรา ถ้าเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุหลังไปเส้นหนึ่ง ขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดตรงนี้แหละเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่ที่สำคัญที่สุด 

 


                ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ สำหรับท่านที่มาใหม่ให้จำเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ นี่แหละเป็นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน จะเข้าถึงกายในกายที่อยู่  ภายใน ต้องเอาใจของเราน่ะ มาตั้งเอาไว้อยู่ที่ตรงนี้ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ยกถอยหลังจากฐานที่ ๖ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้สมมติสร้างมโนภาพขึ้นมาในใจ ว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้ มีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ มีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาเป็นดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้นึกถึงดวงแก้วที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างง่าย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงภาพบ้านของเรา หรือคนที่เรารัก 

 


                ให้นึกถึงดวงแก้วนั้นอย่างง่าย ๆ แล้วก็นึกอย่างสบาย ๆ นึกให้มันเพลิน ๆ เหมือนเรานึกถึงเพลง นึกถึงธรรมชาติ หรือนึกถึงของที่เรารัก ให้นึกอย่างสบาย ๆ และก็ทำใจเย็น ๆ ทำใจเย็น ๆ ให้มีความสุขกับการนึกคิดถึงดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ให้โตเท่ากับแก้วตา เป็นดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ไม่มีรอยตำหนิ โตเท่ากับแก้วตา แก้วตาของเราน่ะ ให้ใสบริสุทธิ์ นึกถึงความเป็นจริงของเพชรนะจ๊ะ ว่ามันใสมันบริสุทธิ์อย่างไรน่ะ เราก็นึกไปอย่างสบาย ๆ น่ะ แล้วก็ทำใจเย็น ๆ นึกให้ต่อเนื่องกันไปอย่าให้ขาดตอน ให้ต่อเนื่องกันไปเลยอย่าให้ขาดตอน เป็นดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวโตเท่ากับแก้วตา 

 


                พร้อมทั้งบริกรรมภาวนาในใจ ให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้วที่อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ๆ ให้ภาวนาอย่างนี้นะ ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับนึกถึงภาพดวงแก้ว เมื่อไหร่มีความรู้สึกว่าไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากจะวางใจให้หยุดนิ่งอยู่ที่จุดกึ่งกลางของดวงแก้วที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อเกิดความรู้สึกอย่างนี้ก็ให้หยุดคำภาวนา รักษาแต่ภาพดวงแก้วหรือรักษาให้ใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเดียวนะ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว สำหรับท่านที่มาใหม่ก็ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ ท่านที่มาปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอก็ให้วางใจไปที่จุดกึ่งกลาง ดังที่ได้แนะนำมาแล้วนะจ๊ะ

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.039088614781698 Mins