การบูชาข้าวพระ

วันที่ 01 พค. พ.ศ.2567

010567b01.jpg
การบูชาข้าวพระ
๔ กันยายน ๒๕๓๗
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย...พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้ายกับเรานอนหลับนะจ๊ะ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา ให้หลับพอสบาย ๆ คล้ายกับเรานอนหลับนะจ๊ะทุก ๆ คน ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดีกะคะเนว่าเลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย เมื่อเราขยับเนื้อขยับตัวของเราดีแล้ว จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่าท่าที่เรานั่งนี้มันมั่นคง นั่งแล้วสบายไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเกร็งหรือเครียดกล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลายกันดีแล้ว 

 


                ต่อจากนี้ก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใส ให้ไร้กังวลจากภารกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว เรื่องการศึกษาเล่าเรียน เรื่องธุรกิจการงาน เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ที่นอกเหนือจากนี้นะจ๊ะ ให้ปลอดกังวลให้หมด ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ใจของเราจะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ ซึ่งจะเกิดจากการบูชาข้าวพระกันในวันนี้ ก่อนที่เราจะบูชาข้าวพระ ก็ให้ทุกคนชำระกายวาจาใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้เหมาะสมที่จะรองรับพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๓ อย่างนี้เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของเราจะต้องทำใจของเราให้ใสให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ จนกระทั่งเข้าถึงสรณะภายใน เพราะการบูชาข้าวพระเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นได้ยากในโลก

 


                บูชาข้าวพระก็คือ บูชาข้าวพระพุทธเจ้า ซึ่งมีวิธีอยู่ ๒ แบบ แบบที่ ๑ คือวิธีบูชาแบบขอถึง แบบที่ ๒ คือวิธีบูชาข้าวพระแบบเข้าถึง วิธีขอถึงก็คือ เราจัดเตรียมเครื่องไทยธรรมมีอาหารหวานคาวของเราให้เรียบร้อย นำไปถวายเป็นพุทธบูชาที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา โดยมีพุทธปฏิมากรเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ชำระกายวาจาใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ผ่องใส กล่าวคำบูชาข้าวพระ หลังจากนั้นก็ทำใจให้สงบซักพักหนึ่ง จึงกล่าวลาอาหารหยาบ ขอส่วนที่เป็นมงคลอันนี้ ที่เป็นเครื่องไทยธรรมให้ถึงแก่ตัวของเรา และสมาชิกภายในครอบครัว วิธีนี้เรียกว่าวิธีบูชาข้าวพระแบบขอถึง คือทำจิตให้เป็นกุศลนึกถึงพระพุทธเจ้า นึกว่าท่านยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ถ้าหากพระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ก็เอาอาหารมื้อนี้แหละถวายเป็นพุทธบูชาแด่ท่าน แต่ว่าเมื่อท่านดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็เอาพุทธปฏิมากรเป็นตัวแทน พุทธปฏิมากรท่านก็เป็นตัวแทน แล้วเราก็นึก ๆ ขอถึงอย่างนั้น นี่ก็มีอานิสงส์ส่วนหนึ่ง เพราะจิตเป็นกุศล ยึดพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เจริญพุทธานุสสติ 

 


                ส่วนแบบที่ ๒ หรือวิธีที่ ๒ คือวิธีที่เราจะทำกันในวันนี้ เป็นวิธีบูชาข้าวพระแบบการเข้าถึง เข้าถึงก็คือ เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของตัวเรา ของมนุษยชาติทั้งหลาย ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อเข้าถึงสรณะภายในคือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะแล้ว จึงจะน้อมนำเอาเครื่องไทยธรรมคืออาหารหวานคาวที่เป็นของหยาบ น้อมไว้ในกลางพุทธรัตนะคือพระธรรมกาย จนกระทั่งกลั่นกายกลั่นใจของเราเนี่ย ให้มีความสะอาด มีความบริสุทธิ์ มีความละเอียดดีแล้ว ตรวจตราดูจนกระทั่งเห็นพระธรรมกายนี้ ใสบริสุทธิ์ละเอียด สุกใสสว่าง ทั้งชัด ทั้งใส ทั้งสว่างทั้งเข้ากลางคล่อง กายใหญ่โตขึ้นไปตามลำดับ มองเห็นเครื่องไทยธรรมของเรา ซึ่งอยู่ในกลางท่านได้ชัดเจนแจ่มใสยิ่งกว่าลืมตาเห็น คำว่ายิ่งกว่าลืมตาเห็นก็เหมือนกับเอากล้องจุลทัศน์มองดูวัตถุแล้ว มีกำลังขยายหลาย ๆ เท่า เพราะตามนุษย์มองเห็นได้เท่าเดียว และถ้าตามนุษย์ผ่านกล้องขยาย ก็จะมองเห็นได้เป็นร้อยเป็นพันเท่า มองให้เห็นเครื่องไทยธรรมเหล่านั้นน่ะ ชัดยิ่งกว่าลืมตาเห็นอย่างนี้ ใสสว่าง เห็นในกลางท่านน่ะ ไม่ใช่หมายถึงเห็นแบบเราชะโงกมอง หรือเปิดฝาขวดโหลมองลงไปในนั้น หรือชะโงกมองลงไปในตุ่มน้ำ ไม่ใช่อย่างนั้นนะจ๊ะ 

 


                ใจของเราต้องหลุดร่อนจากกายหยาบ จนกระทั่งไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกาย คล้าย ๆ กายมนุษย์เป็นทางผ่านของใจเราเข้าถึงธรรมกาย เปลี่ยนสภาวะการเห็นด้วยมังสะจักษุ ซึ่งเห็นได้ด้านเดียว มาเป็นการเห็นได้รอบด้านรอบตัว ทุกทิศทุกทาง เหมือนเราเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งทั้งหลายว่าชัดเจนแจ่มใสมีความละเอียดดีแล้ว จึงน้อมนำเครื่องไทยธรรมที่มีความละเอียด เท่ากับธรรมกายที่ละเอียดนั้น ปรับอายตนะความละเอียดภายในให้ตรงกับอายตนนิพพาน เมื่อมีความละเอียดเท่ากันก็ดึงดูดขึ้นไป สู่อายตนนิพพาน มองเห็นพระธรรมกายของพระพุทธเจ้า เต็มอายตนนิพพาน ซึ่งเป็นที่โล่งว่างไม่มีอะไรกำบัง มีแต่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายเต็มไปหมด ที่ท่านดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 

 


                ถอดขันธ์ทั้ง ๕ ตั้งแต่ขันธ์ ๕ ของกายมนุษย์หยาบ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม จนกระทั่งเข้าผ่านกายธรรมโคตรภู พระโสดา พระสกิทาคาพระอนาคา เหลือแต่กายธรรมพระอรหัตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เข้าสู่อายตนนิพพานอย่างนี้เรียกว่าดับขันธ์น่ะ ถอดออกเป็นชั้น ๆ ถึงกายธรรมอรหัต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กิเลสอาสวะเข้าไปครอบงำไม่ได้ หลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะทั้งมวล เข้าถึงตัวจริงของท่าน ถึงตัวตนที่แท้จริง เข้าถึงความเป็นจริงเป็นอิสระ มีความบริสุทธิ์ล้วน ๆ เข้าสู่อายตนนิพพาน นั่งสงบนิ่งไม่หวั่นไหว ไม่มีการยืน ไม่มีการเดิน ไม่มีการนอน มีแต่อริยาบถที่นั่งสงบนิ่ง เข้านิโรธสมาบัติอยู่ตลอดเวลา เพราะภารกิจอื่นของท่านไม่มีแล้ว ร่อนออกหมดแล้ว หลุดพ้นจากภาวะที่จะต้องมีกิจกรรมแล้ว เข้าไปสู่ภาวะที่หยุดนิ่ง สงบ เสวยสุข บรมสุขในอายตนนิพพาน

 

 

                เราจะนำเครื่องไทยธรรมดังกล่าวที่กลั่นจนกระทั่งบริสุทธิ์ละเอียดเท่ากับในอายตนนิพพานนะ ไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่ พระธรรมกายของพระพุทธเจ้า ทั้งหมดทุกพระองค์ มากกว่าเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรทั้ง ๔ นี่คือข้ออุปมาก็คือ มากจนกระทั่งนับกันไม่ไหว จะนับจะประมาณมิได้ เต็มไปหมดเลยในอายตนนิพพาน บูชาอย่างนี้เรียกว่าบูชาแบบเข้าถึงพระรัตนตรัย ไปถึงตัวจริงของท่าน บูชาแบบเข้าถึงแต่ไม่ได้หมายถึงว่า พระพุทธเจ้า ที่อยู่ในอายตนนิพพานนะ ซึ่งพ้นจากกิเลสอาสวะแล้วท่านจะเสวยอาหารที่เป็นของละเอียดนี้ แบบพระสงฆ์ฉันอาหารหรือแบบที่สมัยที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่

 

 

                เพราะฉะนั้นท่านก็รับด้วยอาการแห่งอริยะ ดุษฎีคือนิ่งสงบนิ่งเฉย ๆ แล้วกระแสธารแห่งบุญ ปุญญาภิสันธาร กระแสธารแห่งบุญ ท่อธารแห่งบุญเกิดขึ้นจากการที่เราได้ถวายสิ่งอันควรนี้ตัดขาดจากใจ ให้เป็นสิทธิ์ เป็นสิทธิ์ของผู้รับ มหากุศลก็บังเกิดขึ้นเป็นกระแสธารแห่งบุญ บังเกิดขึ้นมาจรดที่ศูนย์กลางกายของเราตรงฐานที่ ๗ เป็นดวงบุญที่มีความสว่างโพลงยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ดวงบุญที่อยู่ในกลางกายมีลักษณะกลมรอบตัว ใสสะอาดบริสุทธิ์ ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายเราทุก ๆ กาย ในกลางกายมนุษย์ กายทิพย์ พรหม และอรูปพรหม ตลอดจนกระทั่งถึงกายธรรม สุกใสสว่างดวงบุญนี้ เป็นต้นเหตุแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตของเราตั้งแต่เป็นปุถุชนจนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า

 

 

                หมายถึงว่าบุญนี้จะส่งผลตลอดเส้นทางแห่งการสร้างบารมีของเรา ไม่ว่าเราจะไปอยู่ในภพภูมิไหนก็ตาม จะมาเกิดเป็นมนุษย์ บุญนี้ก็จะส่งผลในมนุษย์ ให้เป็นผู้สมบูรณ์ไปด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกอย่างไปเลย เมื่อไปเกิดเป็นทิพย์ก็จะส่งผลให้มีสมบัติอันเป็นทิพย์ในสุคติโลกสวรรค์ หรือถ้าไปเกิดเป็นพรหมก็ให้มีความสุข ให้มีความสุขในสุคติภพของรูปพรหม ถ้าจะไปเกิดเป็นอรูปพรหม ก็จะส่งผลให้มีความสุขในอรูปภพ ส่งผลจนกระทั่งถึงภาวะสุดท้าย คือให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แทงตลอดในความรู้ของพระบรมศาสดา บรรลุวิชชา ๓, อภิญญา ๖, จตุปฏิสัมภิธาญาณ ๔ เป็นพระอรหันต์หมดกิเลสเข้าสู่อายตนนิพพาน กระแสธารแห่งบุญจะส่งผลกันไปอย่างนี้นะจ๊ะ  

 


                วันนี้ที่เราเดินทางมาจากทั่วประเทศ มาเตรียมตัวเตรียมใจกันอยู่ที่นี่เพื่อจะน้อมนำเครื่องไทยธรรมทั้งหลาย ถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธรรมกาย ของพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน นับว่าเป็นบุญลาภของพวกเราทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดเลยแม้แต่เดือนเดียว ไม่ว่าจะมีภารกิจอะไรก็ตาม จะเจ็บจะป่วยจะไข้อย่างไรก็ตาม ไม่ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอุปสรรค ให้โอกาสแก่ตัวเองมาสร้างบารมีอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นดวงบุญที่บังเกิดขึ้นจากการบูชาข้าวพระนี้ก็จะติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ กระทั่งเข้าสู่อายตนนิพพาน จะเป็นผู้ที่มีบุญมาก มีสมบัติมาก ๆ ทั้งรูปสมบัติ ทั้งทรัพย์สมบัติ ทั้งคุณสมบัติ มากพอที่จะเป็นอุปกรณ์ที่จะสร้างบารมีอย่างสะดวกสบาย กระทั่งเข้าสู่อายตนนิพพาน

 


                เพราะฉะนั้นเป็นบุญลาภของผู้ที่ได้มีโอกาสมาบูชาข้าวพระกันอย่างนี้ ที่ว่ายากก็เพราะว่าการเข้าถึงพระรัตนตรัยในเบื้องต้นนั้น จะต้องถอดกายออกเป็นชั้น ๆ พระรัตนตรัยเป็นกายที่ละเอียดซ้อนอยู่ในกลางกายของเรานี้แหละ เป็นชั้น ๆ กันไป ตั้งแต่ในกลางกายหยาบ มนุษย์หยาบของเรานี้ มีกายมนุษย์ละเอียด ในกลางกายมนุษย์ละเอียดก็มีกายทิพย์ ในกลางกายทิพย์ก็มีกายรูปพรหม ในกลางกายรูปพรหมก็มีกายอรูปพรหม ในกลางกายอรูปพรหมจึงจะเข้าถึงกายธรรม กายธรรมมีลักษณะคล้ายกับพุทธปฏิมากร แต่ว่าสวยงามมาก งามไม่มีที่ติ ใสเป็นแก้ว เกตุดอกบัวตูม นั่งขัดสมาธิอยู่ในกลางกายของกายอรูปพรหม

 

 

                เพราะฉะนั้นจะต้องถอดกายออกเป็นชั้น ๆ จากกายมนุษย์หยาบเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ถอดจากกายมนุษย์ละเอียดเข้าถึงกายทิพย์ ถอดกายทิพย์เข้าถึงกายรูปพรหม ถอดกายรูปพรหมเข้าถึงกายอรูปพรหม ถอดกายอรูปพรหมออกจึงจะเข้าถึงกายธรรม ยากอย่างนี้เห็นไม้จ๊ะ ว่าจะต้องถอดกายออกกันเป็นชั้น ๆ อย่างนี้ การจะถอดกายได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเบื้องต้นนั้น เราจะต้องฝึกใจของเราที่แวบไปแวบมาให้หยุดนิ่งอยู่ที่กลางกายฐานที่ ๗ ต้องหยุดให้ถูกส่วนที่เดียว พอหยุดถูกส่วนแล้วจึงจะเข้าถึงดวงปฐมมรรค ถึงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นธรรมเบื้องต้น เป็นต้นทางที่จะเข้าถึงกายธรรม 

 


                เห็นดวงใสสะอาดบริสุทธิ์กลมรอบตัว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ต้องหยุดนิ่งจนกระทั่งเห็นดวงธรรม เข้าถึงดวงธรรม ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานน่ะ ชัดใสแจ่ม แจ่มเหมือนเราดึงของที่อยู่ที่มืดออกมากลางแจ้งน่ะ เห็นชัดเจนแจ่มใสทีเดียว ชัดใสแจ่มเป็นดวงใสสว่าง และก็จะต้องทำใจหยุดอย่างนี้เข้าไปเรื่อย ๆ หยุดในกลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เข้าถึงอีกดวงธรรมหนึ่งคือดวงศีล มีลักษณะเป็นดวงกลมใสรอบตัวเหมือนกัน หยุดกลางดวงศีลเข้าถึงดวงสมาธิหยุดกลางดวงสมาธิเข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่กลางดวงปัญญาเข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติเข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ จึงจะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด

 

 

                ดวงธรรมต่างๆ ก็มีชื่อเรียกกันไปตามความบริสุทธิ์ของใจเรา แต่ละดวงก็กลมรอบตัวเหมือนกันน่ะ แต่ว่าใสกว่า สว่างกว่า บริสุทธิ์กว่าซ้อนกันอยู่ภายใน มีความละเอียดกว่ากัน ดวงที่ละเอียดกว่าก็ซ้อนอยู่ในกลางดวงธรรมที่หยาบกว่า เพราะฉะนั้นซ้อนกันเข้าไปอย่างนี้ เห็นไม้จ๊ะ กว่าจะเข้ากายภายในแต่ละกายต้องผ่านดวงธรรมไปตามลำดับอย่างนี้ไปก่อนเพราะฉะนั้นหยุดจึงเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้น ตั้งแต่ยังไม่เห็นอะไรเลย นั่งมืด ๆ มองไม่เห็นอะไรเลย หยุดอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพอถูกส่วนก็จะเข้าถึงดวงธรรมไปตามลำดับ และสุดกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะจึงจะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด และก็เข้าไปในทำนองเดียวกันอย่างเนี้ยะ ไปเรื่อย ๆ หยุดเข้าไปในกลางกายใหม่ก็จะเห็นดวงธรรมอย่างนี้แหละ ไปตามลำดับจนกระทั่งถึงกายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กระทั่งถึงกายธรรมหยุดเป็นตัวสำเร็จ

 

 

                หยุดให้ถูกต้องแล้วก็จะถูกส่วนเอง จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรม หยุดเป็นตัวสำเร็จ คือนอกจากวิธีอื่น ที่นอกเหนือจากหยุดนี้แล้วไม่สำเร็จ จะต้องฝึกใจของเราเนี่ย ให้หยุดอย่างเดียว  เพราะพอหยุดถูกส่วนแล้ว สิ่งที่ปกคลุมจิตอยู่ ครอบงำจิตอยู่คือความมืด มืดด้วยอวิชชาต่าง ๆ ทำให้เราไม่รู้อะไรไปตามความเป็นจริงเลย พูดง่าย ๆ ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่ามีดวงธรรมซ้อนกันอยู่ ไม่รู้ว่ามีกายซ้อนกันอยู่ ไม่รู้ว่ามีกายที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของเราอยู่ภายใน ไม่รู้เส้นทางของพระอริยเจ้า ไม่รู้หนทางแห่งการดับทุกข์ จนกระทั่งไม่รู้ถึงอายตนนิพพาน ไม่รู้อะไรเลย เพราะว่าอวิชชานั้นครอบงำเราอยู่ ครอบงำอย่างนี้ ห่อหุ้มกันบังคับบัญชากัน จนกระทั่งเราไม่รู้อะไรเลยนี่มานับภพนับชาติไม่ถ้วน ดังนั้นหยุดจึงเป็นตัวสำเร็จ เมื่อใจของเรารวมหยุดพอถูกส่วน พอถูกส่วนดีแล้วเนี่ย สิ่งที่ปกคลุมทำความมืดให้เกิดขึ้นแก่จิตก็ถูกทำลายไป 

 


                เมื่อปกคลุมดวงจิตของเรานี่ที่ห่อหุ้มเอาไว้น่ะ พอถูกทำลายไปเนี่ย ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของจิตของดวงธรรมนั้นก็ปรากฏเกิดขึ้นมาเป็นความสว่าง เหมือนเมฆที่ถูกลมพัดให้ผ่านพ้นจากดวงจันทร์ เพราะฉะนั้นแสงสว่างแห่งดวงจันทร์ หรือแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์จึงปรากฏเกิดขึ้นมาได้ตามความเป็นจริง เมื่อปรากฏเกิดขึ้นมาได้ตามความเป็นจริง ความแจ่มแจ้งก็บังเกิดขึ้น คือเห็นอะไรได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นหยุดจึงเป็นตัวสำเร็จ ถ้าเราไม่หยุด สิ่งที่หุ้มดวงจิตนี้จะไม่ถูกทำลาย เราก็จะอยู่ในความมืดกันอยู่เรื่อยไป เหมือนเราเดินในที่มืด เมื่อเดินในที่มืดแล้วโอกาสหลงทางนี้มีถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ทีเดียว ยิ่งถ้าหากว่ามืดมิด ยิ่งหลงทางทีเดียวเลย ถ้าหากว่ามืดมากก็หลงทางน้อยลงมาหน่อย ถ้าหากว่ามืดมั่ง หลงทางก็น้อยลงมาอีก ถ้ามืดหมดก็หมดหนทางไปเลย 

 


                เพราะฉะนั้นหยุดจึงเป็นตัวสำเร็จ ที่จะทำลายสิ่งที่หุ้มดวงจิตหุ้มดวงธรรม หุ้มกายต่าง ๆ ความไม่รู้จริงอันใดก็หมดสิ้นไป เกิดความสว่างบังเกิดขึ้นในกลางนั้น ตั้งแต่ความสว่างน้อย ๆ เหมือนดวงดาวในอากาศ ที่เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่าของเราน่ะ แล้วก็สว่างเพิ่มขึ้นเหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ กระทั่งสว่างมากเหมือนพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน แจ่มแจ้งหมดเลย เห็นความเป็นจริงหมดเลย เมื่อเห็นความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือ การตั้งเป้าหมายของชีวิตก็จะเดินไปสู่เป้าหมายที่แท้จริง ถูกวัตถุประสงค์ของการมาบังเกิดเป็นมนุษย์ เราจะเข้าถึงความสุขที่แท้จริงที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน และจะเข้าไปสู่แหล่งของสติของปัญญา ของความรู้อันบริสุทธิ์ ของทะเลแห่งความรู้ที่ไม่มีขอบเขต 

 


                เป็นความรู้ที่คู่ความสุข เป็นความสุขที่คู่กับความบริสุทธิ์บังเกิดขึ้นในทันทีที่ความมืดถูกทำลายไป เราจะนั่งยิ้มนั่งครึ้มอยู่คนเดียว มีความสุขสดชื่นจนกระทั่งอุทานว่า "สุขจริงหนอ" สุขที่เราได้แสวงหาอยู่นั้นบัดนี้เราได้พบแล้วเมื่อความมืดถูกทำลายไปแล้วก็สุขยิ่งขึ้นไปตามลำดับของการหยุดนิ่งของใจเรา ยิ่งหยุดในหยุดเข้าไปอีกกระทั่งถึงกายธรรม พอถึงกายธรรมเข้า ความรู้สึกของเราจะเปลี่ยนแปลงไปทันที เราจากผู้ไม่รู้ก็จะเป็นผู้รู้ จากผู้ที่หลับก็จะกลายเป็นผู้ที่ตื่นจากผู้ที่มีความทุกข์ก็จะมีความสุขเบิกบานออกจากที่แคบไปสู่ที่กว้างเป็นอิสระเพราะฉะนั้น หยุดจึงเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ ผู้ที่กล่าวถ้อยคำนี้คือหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ค้นพบด้วยตัวของท่านเอง ตรงกับคำสอนของพระบรมศาสดา ที่ได้ทรงตรัสกับท่านองคุลีมาลว่าสมณะหยุด แต่ว่าไม่มีใครที่จะมาอธิบายให้แจ่มแจ้ง 

 


                จนกระทั่งการบังเกิดขึ้นของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ คำว่าหยุดนี้จึงถูกเปิดเผยและก็ขยายต่อ ๆ มากระทั่งบัดนี้ ดังนั้นหยุดจึงเป็นตัวสำเร็จ หยุดเป็นตัวสำเร็จ ใจที่หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นตัวสำเร็จ หยุดเหมือนรถที่วิ่ง ถูกแตะเบรก เหยียบเบรกจนมิด ทั้งเบรกมือเบรกเท้า นิ่งสนิทไม่เคลื่อนไหว อาการของใจไม่เหลียวแลไปที่อื่นเลย ใจหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่มีสิ่งไรที่จิตจะแสวงหาที่จะเรียนรู้ ที่จะน่ารู้ต่อไปอีกแล้วในโลก ในโลกนี้ไม่มีอะไรน่ารู้ ไม่มีอะไรน่าแสวงหา เพราะฉะนั้นจึงหยุดได้สนิทไม่เคลื่อนไม่เหลียวแลเลย ไม่วอกแวก สนิทนิ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับศูนย์กลางกายถูกส่วนเข้า ก็เข้าถึงดวงธรรมดังกล่าว สว่างกันอย่างนี้นะจ๊ะ 

 


                ทีนี้ปัญหาก็มีอยู่ว่าทำอย่างไรใจเราถึงจะหยุดและพบแสงสว่าง พบความสุข พบความรู้แจ้ง พบความบริสุทธิ์อยู่ที่ตรงนี้ว่า ทำอย่างไรใจจะหยุด สำหรับท่านที่ได้ทำผ่านมาแล้วนั่นน่ะ บางท่านได้ผ่านความทุกข์ทรมาน จากการที่ใจไม่หยุดเนี่ยมานาน ซึ่งพอจะสรุปได้ก็มีอยู่ ๒ ประเด็น คือประเด็นที่ ๑ พวกที่เป็นนักปฏิบัติ รักการปฏิบัติ อยากได้ธรรมะ อยากเข้าถึงธรรม อยากพบพระธรรมกาย เพราะรู้ว่าดี อยากเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงอย่างแรงกล้า ก็นั่งกันอย่างเอาจริงเอาจัง เอากันเป็น เอาเป็นเอาตายทีเดียว นั่งกันไปจริงจังซึ่งภาษาสมัยนี้เรียกว่าลุ้นมั่ง เร่งมั่ง เพ่งมั่ง จ้องมั่ง ลุ้นเร่งเพ่งจ้อง ลุ้นเร่งเพ่งจ้อง จะเอาจริงเอาจังกันเพื่อจะให้เข้าถึงให้ได้ ใจซึ่งปกติเป็นของละเอียด ไม่ชอบบังคับ ชอบการประคอง เมื่อถูกการลุ้นเร่งเพ่งจ้องด้วยวิธีการหยาบ ๆ 

 


                เพราะความคุ้นเคยกับชีวิตในโลกนี้ที่ถูกหล่อหลอมว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ต้องมีการแข่งขัน มีคู่แข่งและก็มีคู่แค้นเพราะฉะนั้นจะเอาชนะได้ก็ต้องแข่งให้ได้ ต้องลุ้นกัน ต้องเร่งกันไป ทำกันไปอย่างนี้เรื่อย ๆ เกิดความเคยชินและนำวิธีการอย่างนี้มาปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ ไม่เคยพบความสุขที่จากการปฏิบัติธรรมเลย ไม่รู้จักใจหยุดว่าเป็นอย่างไร ไม่เคยพบแสงสว่าง ไม่มีประสบการณ์ใหม่ ๆ มีแต่ประสบการณ์เก่า ๆ คือ ความเซ็ง ความเครียด ความเบื่อ ความกลุ้ม วนเวียนกันอยู่ในใจตลอดเวลา เกิดความท้อแท้และท้อถอยต่อเนื่องกันมาหลาย ๆ ครั้ง จนกระทั่งแทบจะเลิกละ ละทิ้งการปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่รักการปฏิบัติมาก บางทีแทบจะยอมแพ้ บางครั้งเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจก็มี นึกถึงบุญวาสนาของตัวเองว่าคงมีน้อยจึงไม่อาจที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน เกิดความรู้สึกอย่างนี้วนเวียนอยู่ในจิตใจ ทุกครั้งที่นั่งและเกิดความทุกข์โทมนัส ทุกครั้งที่ได้ยินผู้อื่นปฏิบัติได้ผล 

 


                อีกประเภทหนึ่งก็คือประเภทที่ ปล่อยใจเลื่อนลอยไม่มีสติ ให้ใจเคลิบเคลิ้มฟุ้งซ่านกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เอาจริงเอาจังกัน ๒ ประเภทนี้นี่แหละที่ปฏิบัติไม่ได้ผล เพราะฉะนั้นพรรษานี้นะจ๊ะ อากาศกำลังดีนับตั้งแต่วันบูชาข้าวพระวันนี้เป็นต้นไป ให้ปรับปรุงวิธีใหม่ ๆ นะจ๊ะ วิธีการที่ถูกต้องนำไปสู่ประสบการณ์ที่สมบูรณ์ นำไปสู่การหยุดนิ่งที่สมบูรณ์ วิธีการที่ถูกต้องนำไปสู่การหยุดนิ่งที่สมบูรณ์ ประสบการณ์ที่สมบูรณ์ วิธีการที่สมบูรณ์นำไปสู่ประสบการณ์ที่ถูกต้อง วิธีการที่ถูกต้องนำไปสู่ประสบการณ์ที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรจะหันมามองกันก็คือว่า เราได้ทำถูกวิธีแล้วหรือยัง ถ้ายังก็รีบปรับปรุงใหม่ แทนที่จะน้อยเนื้อต่ำใจ หรือจมอยู่ในความทุกข์ทรมานอย่างนั้นนะจ๊ะ นี่หลวงพ่อได้พูดถึงสำหรับผู้ที่ปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอแล้วไม่เคยพบแสงสว่าง ดวงธรรมหรือประสบการณ์ใหม่ ๆ เลย ก็ให้แก้ไขนะจ๊ะ 

 


                โดยใช้คำพูดที่เล่น ๆ ว่า ลุ้นจำลาก่อน ว่าต่อจากนี้ไป พอกันทีสำหรับลุ้นเร่งเพ่งจ้อง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นก่อนที่จะบูชาข้าวพระ สำหรับท่านที่มาใหม่ให้เริ่มวางใจให้หยุดนิ่งนะจ๊ะ ทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เลย ฐานที่ ๗ ก็คือตำแหน่งที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยการสมมติเอาเส้นด้าย ๒ เส้นขึงให้ตึงจากสะดือทะลุหลังเส้นหนึ่ง จากขวาทะลุซ้ายไปอีกเส้นหนึ่ง นึกตามไปนะจ๊ะสำหรับท่านที่มาใหม่ ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ นั้นเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือโดยประมาณนะจ๊ะ ถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกันแล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือนั่นแหละตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่หยุดใจของเรา เป็นที่เอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ 

 


                เมื่อหลวงพ่อพูดถึงฐานที่ ๗ สำหรับท่านที่มาใหม่ก็หมายเอาตรงนี้นะจ๊ะ ฐานที่ ๗ จะอยู่ที่ตรงนี้เนี่ย แต่ในแง่ของการปฏิบัติจริง ๆ อย่าไปกังวลมากเกินไป เพราะถ้าใจไม่หยุดจริง เราจะไม่เห็นฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นเราก็ได้แต่ว่าทึกทักเอา คาดคะเนเอานะจ๊ะ ว่าฐานที่ ๗ นี้อยู่ในกลางท้องของเราที่เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ทึกทักอย่างนี้ไปก่อน แล้วก็วางใจของเราให้หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้น่ะ เอาใจของเรามาหยุดอยู่ที่ฐานที่ ๗ หยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างสบายๆ ถ้าสามารถนึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใส ๆ ได้หรือพระแก้วใส ๆ ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราสามารถนึกได้ก็นึกน้อมเอามาตั้งไว้ตรงนี้นะจ๊ะ คือนึกถึงดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว อยู่ที่กลางท้องของเราตรงฐานที่ ๗ หรือถ้าเราถนัดจะนึกองค์พระ เราก็เอาองค์พระเป็นบริกรรมนิมิต นึกถึงภาพท่านอยู่ที่กลางท้องของเรานะจ๊ะ ให้ท่านนั่งขัดสมาธิ หันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเราน่ะ นึกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือถ้ามีให้ดูทั้ง ๒ อย่างก็ดูไปทั้ง ๒ อย่างเลยน่ะ นึกอย่างนี้นะจ๊ะ  

 


                เป็นดวงแก้วใส ๆ หรือพระแก้วใส ๆ ชอบอย่างใดก็เอาอย่างนั้น ชอบองค์พระก็นึกองค์พระชอบดวงแก้วก็นึกดวงแก้ว นึกอย่างสบาย ๆ ทำใจเย็น ๆ นึกอย่างสบาย ๆ ทำใจเย็น ๆ ถ้าใจฟุ้งก็ภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ถ้าฟุ้งก็ให้ภาวนาสัมมาอะระหังอย่างนี้นะจ๊ะ ถ้าไม่ฟุ้งก็ไม่ต้องภาวนา นึกถึงดวงแก้วหรือองค์พระอย่างเดียว นึกอย่างสบาย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ คล้ายกับการนึกถึงดอกบัวหรือดอกกุหลาบ หรือการนึกถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือน้ำค้างปลายยอดหญ้า นึกอย่างสบาย ๆ อย่างนี้นะจ๊ะ นึกไปเรื่อย ๆ สบาย ๆ ใจเย็น ๆ สบาย ๆ ให้สังเกตดูว่าเวลาเรานึกแล้วมันไม่ตึง ว่าร่างกายไม่เกร็งไม่ตึงแสดงว่านึกอย่างสบาย ๆ การเห็นภายในกับการเห็นภายนอกในเบื้องต้นจะแตกต่างกัน การเห็นภายนอกด้วยตาเนื้อนั้น เวลาเราลืมตาเห็นวัตถุจะเห็นได้ชัดเจนทันทีเลย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ 

 


                แต่การเห็นภายในนั้นเป็นการเห็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ เห็น ค่อย ๆ ชัด ค่อย ๆ บังเกิดขึ้น การเห็นชนิดนี้นี่เราไม่ค่อยคุ้นกัน พูดง่าย ๆ คือไม่ค่อยคุ้นเคยกับสิ่งที่ค่อย ๆ เห็นค่อยๆ ชัด แล้วเรามักจะรำคาญ หงุดหงิด ทนไม่ค่อยได้กันในสภาพที่ค่อย ๆ เห็น ค่อย ๆ ชัด เพราะเราคุ้นจากการชัดเจนทีเดียว จากการลืมตาเนื้อดูวัตถุสิ่งของ แต่เราไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากค่อย ๆ ดู ค่อย ๆ ทำใจให้หยุดนิ่งไป และการเห็นก็จะค่อย ๆ เห็น ค่อย ๆ ละเอียด ค่อย ๆ ชัด มันต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่างนี้นะจ๊ะ ดังนั้นเราจะมาเร่งรีบแบบทางโลกนั้นไม่ได้ ถ้าขืนทำอย่างนี้เสียเวลาเปล่า ไม่บังเกิดผลแล้วแถมทำให้เกิดความทุกข์ทรมานด้วย

 


                ดังนั้นวิธีทำของเราคือค่อย ๆ ดู ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ นึกด้วยใจที่เยือกเย็นอย่างสบาย ๆ เช่นถ้าเราชอบดวงแก้ว เราก็ค่อย ๆ นึกว่าดวงแก้วน่ะ สภาพความเป็นจริงน่ะเป็นอย่างไร กลมรอบตัว ใสเหมือนอะไรน่ะ ใสเหมือนกระจก ใสเหมือนน้ำ ใสเหมือนน้ำแข็ง ใสเหมือนเพชร เราก็ค่อย ๆ นึกไป ค่อย ๆ คิดไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ มันก็ การเห็นก็จะค่อย ๆ เห็นตั้งแต่ลัว ๆ ลาง ๆ คุ่ม ๆ ค่ำ ๆ จนกระทั่ง ชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดเต็มที่เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วนน่ะ ก็จะเห็นดวงใสแจ่มอยู่กลางท้อง คล้ายเป็นก้อนวัตถุที่ตั้งอยู่ในกลางท้องน่ะ ชัด ใส แจ่ม นี่ค่อย ๆ เห็น ค่อย ๆ เป็น จะเป็นอย่างนี้นะจ๊ะ

 

 

                องค์พระก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราถนัดองค์พระ ก็ค่อย ๆ นึกองค์พระ มีรูปร่างยังไงน่ะ ท่านนั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา ใสอย่างไรน่ะ ก็ค่อย ๆ ใส นึกถึงความใสของพระแก้วน่ะ ตั้งแต่ใสขุ่น ๆ จนกระทั่งใสเหมือนน้ำแข็ง ใสเหมือนกระจก ใสเหมือนเพชร ก็ต้องค่อยนึกค่อยคิดกันไปอย่างนี้ อย่างใจเย็น ๆ ถ้าทำได้อย่างนี้หลวงพ่อเชื่อว่า ภายในพรรษานี้เราจะต้องสมความปรารถนากันอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าใครถนัดนึกถึงดวงแก้วก็นึกอย่างนี้นะจ๊ะ ใครถนัดนึกองค์พระก็นึกองค์พระไป  

 


                แต่ถ้าใครไม่ถนัดทั้ง ๆ ที่รู้ว่าลุ้นไม่ดี เร่งไม่ดี แล้วเวลาจะนึกถึงภาพทีไร อดที่จะเค้นภาพออกมาไม่ได้ เค้นเป็นภาพดวงแก้ว เค้นเป็นภาพองค์พระเกิดขึ้นมา ถ้าหากเรามีนิสัยอย่างนี้นะจ๊ะ เลิกไม่ได้ ก็ให้ทำแค่ทำใจให้หยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ ให้หยุดนิ่งอยู่ที่กลางกายอย่างสบาย ๆ แล้วก็ภาวนาสัมมาอะระหัง เรื่อย ๆ ไปอย่างใจเย็น ๆ มีอะไรให้ดูก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น เช่นมีความมืดให้ดูก็ดูไป ดูความมืดไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ถ้าหากความมืดเปลี่ยนเป็นความสลัว มีความสลัวให้ดูก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น แต่จากความสลัวมาเปลี่ยนเป็นแสงสว่างน้อย ๆ เหมือนตอนตี ๕ ในฤดูร้อนน่ะ มีความสว่าง สาง ๆ ให้ดูก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ถ้าหากมีความสว่างขนาดดวงอาทิตย์ตอน ๖ โมงเช้าให้ดู มีความสว่างขนาด ๖ โมงเช้าให้ดูก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ทำกันอย่างนี้นะจ๊ะ 

 


                เมื่อเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว ก่อนจะบูชาข้าวพระก็ขอให้ทุกคนทำใจให้หยุดให้นิ่งเฉยอย่างสบาย ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กันทุก ๆ คนนะจ๊ะ อย่าลืมมีอะไรให้ดูก็ดูไปดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ตั้งแต่ความมืดไปสู่ความสว่าง หรือวัตถุสิ่งของจะเป็นคนเป็นสัตว์เป็นสิ่งของ เป็นอะไรที่นอกเหนือจากดวงแก้วหรือองค์พระให้ดูที่กลางกายน่ะ มีอะไรให้ดูก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ไม่ช้าสิ่งที่เราดูนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงไปเอง จนกระทั่งถึงจุดที่ใจเราหยุดนิ่งถูกส่วน เราก็จะเข้าถึงดวงธรรมภายในเองกันทุก ๆ คนนะจ๊ะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะ 


 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.033673866589864 Mins