ประเภทของภาษา
ภาษาที่ใช้สื่อสารสำหรับถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ตลอดถึงความต้องการของคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งนั้น แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆได้ ๓ ประเภท คือ
(๑) ภาษาพูด
(๒) ภาษาเขียน
(๓) ภาษาเฉพาะ
ภาษาพูดคืออะไร
ภาษาพูด คือภาษาหรือถ้อยคำที่ใช้พูดสื่อสารกันตามปกติ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาษาปาก ได้แก่คำที่เปล่งออกจากปากไปเป็นเสียงและมีความหมาย ซึ่งผู้ฟังที่มีประสาทหูดีได้ยินแล้วสามารถรู้ได้ว่านั่นคือคำพูดของผู้ที่เปล่งออกไป ภาษาพูดในโลกมีมากมายหลายภาษาจนไม่อาจรู้ได้ว่ามีเท่าไร และไม่เคยมีผู้ใดสำรวจแล้วทำสถิติไว้ เพราะคนกลุ่มหนึ่งหรือถิ่นหนึ่งก็มักจะมีภาษาเป็นของตัวเอง บางกลุ่มบางถิ่นมีภาษาที่ใช้สื่อสารกันหลายภาษาก็มี บางกลุ่มบางถิ่นแม้จะอยู่ใกล้ชิดติดกันกับกลุ่มหรือถิ่นอื่น แต่ไม่อาจสื่อสารกันด้วยภาษาพูดก็มี ในถิ่นเดียวกันพูดภาษาเดียวกันแต่สำเนียงต่างกันก็มี ดังนั้น ภาษาพูดในโลกนี้จึงมีหลากหลายจนไม่อาจนับคํานวณได้ ถึงภาษาในประเทศไทยก็มีจำนวนมากและแตกต่างกันไปเช่นกัน แม้ภาษาพูดในประเทศไทยจะมีมาก แต่อาจแยกได้เป็น ๒ อย่างคือ ภาษากลาง กับ ภาษาถิ่น
ภาษากลาง คือภาษาที่ใช้พูดกันเป็นส่วนกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาราชการหรือภาษาที่ใช้ศึกษาเล่าเรียนกันทั้งประเทศ ภาษากลางเช่นนี้จะมีสำเนียงที่ตายตัว มีหลักเกณฑ์เช่นอักษร ไวยากรณ์ วิธีออกเสียงวิธีเขียนที่ตายตัว สามารถใช้พูดจาสื่อสารกันได้ทั้งประเทศ แต่ภาษากลางนี้คนที่อยู่ในถิ่นภาคกลางซึ่งพูดจากันด้วยภาษากลางเป็นปกติ หรือคนถิ่นอื่นแต่ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือตามระเบียบบังคับเท่านั้นจึงจะสามารถพูดได้ดีและออกสำเนียงได้ถูกต้อง หาไม่แล้วมักจะออกเสียงเพี้ยนไปตามพื้นเพเดิมที่คุ้นเคยมาแต่เกิดภาษาถิ่น คือภาษาที่ใช้พูดกันเฉพาะถิ่นเฉพาะที่ โดยภาพรวมก็ได้แก่ภาษาเหนือ ภาษาอิสาน ภาษาใต้ นั่นเอง ภาษาในแต่ละแห่งนั้นมีสำเนียงแตกต่างกันเป็นอย่างมาก และทุกภาคมีคำใช้เฉพาะของตัวเองบางภาคมีอักษรเป็นของตัวเองมาแต่เดิม และในแต่ละภาครวมทั้งภาคกลางด้วยยังมีคำและสำเนียงเพี้ยนกันไปบ้าง โดยที่สุดแม้ในจังหวัดเดียวกันก็ยังมีคำพูดและสำเนียงที่แตกต่างกันเสียด้วยซ้ำไปแต่แม้คำและสำเนียงจะแตกต่างกันอย่างไร ส่วนใหญ่ก็พอจะพูดสื่อสารให้เข้าใจกันได้ในหมู่คนไทย นอกจากคำที่เป็นภาษาถิ่นนั้นๆจริงๆ ซึ่งก็ต้องแปลเป็นภาษากลางอีกทอดหนึ่ง แต่ก็ถือว่าเป็นความงดงามทางภาษาไปอีกแบบหนึ่งภาษาเขียนคืออะไรภาษาเขียน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาษาหนังสือ คือภาษาหรือถ้อยคำที่นำมา
เขียนเป็นตัวหนังสือหรือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านรู้เรื่องแทนคำพูด ภาษาเขียนแม้จะเป็นภาษาที่ใช้แทนคำพูด แต่คำพูดทุกคำก็ไม่อาจจะนำมาเขียนเป็นภาษาเขียนได้ทั้งหมด ภาษาเขียนนั้นนิยมกันว่าต้องเป็นภาษาสุภาพ ไม่หยาบโลน ไม่เป็นคำพื้นบ้านเพราะคำบางคำแม้จะมีความหมายอย่างเดียวกันแต่ใช้ในภาษาพูดอย่างหนึ่ง ใช้ในภาษาเขียนอย่างหนึ่ง ดังตัวอย่างเช่น
ภาษาพูด ภาษาเขียน
หมา สุนัข
วัวควาย โคกระบือ
ขี้ เยี่ยว อุจจาระ ปัสสาวะ
ตีน เท้า
หัว ศีรษะ
กินข้าว รับประทานอาหาร
กินน้ำ ดื่มนํ้า
ภาษาพูดเหล่านี้แม้อาจใช้เป็นภาษาเขียนด้วยก็ได้ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และมีความจงใจที่จะใช้เพื่อให้ตรงกับเนื้อเรื่อง เช่นใช้ในนวนิยายหรือวรรณคดีเป็นต้น ถ้าหากเป็นการแสดงธรรมหรือเขียนหนังสือธรรมตามปกติ ใช้ภาษาเขียนได้เป็นดี จะไม่ทำให้บทเทศนาและบทเขียนด้อยไปด้วยที่นิยมนำภาษาพูดมาใช้เป็นภาษาเขียนดาดดื่นนอกจากนวนิยายแล้วก็มีหนังสือพิมพ์รายวันทั่วไป โดยเฉพาะในรายการเสนอข่าวที่เกิดขึ้นประจำวันและเขียนอย่างรวดเร็วแบบรวบรัด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะต้องการสื่อให้เห็นได้ทันทีโดยไม่ต้องนึกตีความอีกว่าหมายถึงอะไร หรือเพราะภาษาพูดสามารถสื่อความได้ง่ายกว่าภาษาเขียน จึงไม่ค่อยพิถีพิถันเป็นทางการแบบภาษาเขียนมากนัก ยกเว้นคอลัมน์ที่เป็นหลักเช่นบทบรรณาธิการซึ่งใช้ภาษาเขียนได้อย่างสละสลวย ถูกต้องชัดเจนสามารถเป็นแบบอย่างภาษาเขียนได้เป็นอย่างดี
ภาษาเฉพาะคืออะไร
ภาษาเฉพาะ คือภาษาที่ใช้สื่อสารกันเฉพาะกลุ่มบุคคลเช่น ภาษามือ ภาษาใบ้ ภาษารหัส ภาษาภาพ เพราะเป็นภาษาที่รู้กันในกลุ่มของบุคคลผู้ใช้โดยเฉพาะ คนทั่วไปอาจจับความหมายได้บ้างเป็นบางอย่างเท่านั้น แต่ไม่อาจรู้และเข้าใจได้ทั้งหมดหากไม่ได้ศึกษาหรือฝึกฝนมาโดยตรงการสื่อธรรมด้วยภาษาเฉพาะเช่นนั้นย่อมเป็นการยากสำหรับผู้ถ่ายทอดทั่วไป
แต่หากมีศรัทธาและวิริยะฝึกฝนเรียนรู้วิธีการจนสามารถถ่ายทอดให้กลุ่มบุคคลที่ต้องใช้ภาษาเฉพาะเข้าใจธรรมได้ ก็นับเป็นกุศลมหาศาลแน่แท้ยังมีภาษาเฉพาะอีกประเภทหนึ่งคือภาษาที่ใช้เฉพาะกลุ่มบุคคลหรือเฉพาะงานเฉพาะกิจ เช่น ภาษาแพทย์ ภาษากฎหมาย ภาษาวิทยาศาสตร์ เป็นต้น โดยที่สุดแม้ภาษาศาสนาก็นับเข้าอยู่ในประเภทภาษาเฉพาะเช่นนี้ ทั้งนี้เพราะกลุ่มบุคคล กลุ่มงาน และกลุ่มกิจการเหล่านี้มีศัพท์ที่ใช้โดยเฉพาะและมีความหมายเฉพาะของตน เวลาสื่อไปถึงคนกลุ่มอื่นงานอื่นต้องแปล ต้องตีความ หรือต้องขยายความเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน
ที่รู้กันทั่วไปอีกทอดหนึ่งในภาษา ๓ ประเภทนี้ ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเทศน์ก็คือภาษาเขียนเป็นหลัก เพราะทำให้เรื่องที่แสดงหรือเขียนมีน้ำหนัก น่าฟัง น่าอ่าน จับหู กินใจ และจับประเด็นได้ง่ายกว่าภาษาพูดและภาษาเฉพาะ ด้วยว่าผู้ใช้ภาษาเขียนมักจะพิถีพิถันคัดกรองเลือกใช้คำและประโยคภาษามาดีพอสมควรแล้ว ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาด้านภาษาของผู้ใช้ด้วยว่าอยู่ในระดับใดภาษาเทศน์จำต้องพิถีพิถันมากกว่าภาษาเขียนที่ใช้ในสื่อหนังสืออื่นอย่างเช่นนวนิยายหนังสือพิมพ์หรือบทความต่างๆ
แม้ว่าจะเป็นภาษาเขียนเหมือนกันก็ตาม เพราะภาษาเทศน์นอกจากจะต้องมีเนื้อหาสาระที่ผู้ฟังผู้อ่านเข้าใจความหมายหรือรู้เรื่องว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ยังต้องมีความสละสลวย นิ่มนวล ฟังแล้วไม่สะดุดหู ดูแล้วไม่สะดุดตา ชวนฟังชวนอ่าน และนิ่มหูเย็นตาด้วย สำคัญที่สุดก็คือต้องเรียกศรัทธาได้ ต้องรักษาศรัทธาไว้ได้ จึงเป็นการยากที่จะใช้ภาษาเทศน์ให้ดีได้ แต่ก็จำเป็นในเมื่ออาสาเข้ามารับภาระที่จะต้องแสดงธรรมเพื่อเผยแผ่ศาสนา ภาระที่จะเป็นทูตนำศาส์นแห่งธรรมเข้าไปสู่สมองและจิตใจของผู้ฟังผู้อ่านแล้วการเป็นนักเทศน์ นักเขียนธรรมะ วัดความเป็นเลิศกันโดยอาศัยมาตรวัดคือการใช้ภาษานี้เอง