๔. การใช้กุศลมูลและอกุศลมูล เป็นแม่บทในการตัดสิน

วันที่ 08 สค. พ.ศ.2567

 

2567%20%2008%20%2008%20%20b.jpg

 

๔. การใช้กุศลมูลและอกุศลมูล เป็นแม่บทในการตัดสิน

 

       ใน กรณีที่บางเรื่องใช้หลักเกณฑ์ข้างต้นมาตัดสินแล้วยังตัดสินไม่ลง เราอาจใช้กฎเกณฑ์เพิ่มขึ้นมาอีกข้อหนึ่ง คือ ตัดสินจากกุศลมูลและอกุศลมูล โดยพิจารณาว่า “ถ้าจะทำสิ่งใดด้วยความโลภก็ดี ด้วยความโกรธก็ดี ด้วยความหลงก็ดี สิ่งนั้นเป็นความชั่วอย่าไปทำ แต่ถ้าจะทำสิ่งใดด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง อย่างนั้นเป็นเรื่องดี สมควรทำอย่างยิ่ง”


      ตรงนี้ต้องระวังศัพท์หน่อย การทำอะไรด้วยความโลภ ด้วยความโกรธด้วยความหลง เป็นความชั่ว เราเข้าใจง่าย แต่ว่าทำอะไรด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง หรือใช้ศัพท์ว่า อโลภะ อโทสะ อโมหะ คำที่อยู่ในลักษณะปฏิเสธเช่นนี้ จะทึกทักเอาว่าเป็นเรื่องดีนั้นก็ยังไม่แน่ มันอาจจะเป็นแค่เรื่องกลางๆก็ได้ เช่นคำว่า ทำอะไรอย่าเบียดเบียนกันนะ คำว่าไม่เบียดเบียนคำนี้มีความหมายกว้าง คือมีความหมายตั้งแต่เฉยๆ ทำเฉพาะเรื่องของตัวเองไม่ต้องไปเผื่อแผ่ใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ถือว่าไม่เบียดเบียน แล้วถ้ามันจะเกินดีกรีขึ้นไปสักหน่อยทางข้างความดีล่ะก็ รีบทำเข้าไปเถอะ ยิ่งเป็นเรื่องของความดียิ่งดีใหญ่เลย แม้ที่สุด ถ้าเป็นเรื่องกลางๆ ก็ยังใช้ได้ ทำเถอะ


         ยกตัวอย่างง่ายๆ  เช่น  กินข้าวด้วยกันสำรับเดียวกัน  มีกับข้าวอยู่แค่จานเดียว  นั่งกินกันอยู่  ๔  คน  แต่เราตักกับข้าวแบ่งมาคนเดียวเข้าไปตั้งครึ่งจานเสียแล้ว เหลืออีกครึ่งจานให้อีก ๓ คนไปแบ่งกัน อย่างนี้ก็ทำไม่ถูก มันเข้าข่ายโลภ ถามว่าผิดศีลหรือเปล่า ก็ไม่ได้ผิดอะไร ไม่รู้จะเอาศีลข้อไหนมาจับ แต่รู้ว่านี้เป็นความโลภ


         ตรงกันข้าม กินด้วยกัน  ๔  คนก็แบ่ง ๆ  กันไป  อาจจะเหลื่อมล้ำมากน้อยกันบ้างนิด ๆ  หน่อย ๆ  ก็ไม่น่าเกลียด  กินกันไปด้วยดี  ถือว่าอโลภะ แม้ที่สุดเราเสียสละคิดว่ากับข้าวมื้อนี้มีนิดเดียว เรากินพอประทังๆ ไปก็แล้วกัน ไม่โลภ ที่เหลือพรรคพวกจะได้แบ่งๆ กินกันให้อิ่ม อย่างนี้ถือว่าเป็น กลาง เพิ่มไปทางข้างดีแล้ว ถือว่าดีทีเดียวแหละ


       นี่ก็เป็นอีกแม่บทหนึ่งที่ใช้ในการตัดสิน   ซึ่งมีข้อสังเกตอยู่นิดหนึ่งว่า  การที่ไม่ทำด้วยความไม่โลภไม่โกรธนั้นพอง่าย  แต่ไม่ทำด้วยความหลงหรือความโง่นี้ตัดสินยาก แหม ถ้ามันฉลาดมันก็ไม่โง่นะซี เชื้อโง่เราก็ยังมีกันอยู่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น โอกาสจะผิดจะพลาดก็ยังมีอยู่อีกนั่นแหละ เหตุนี้เอง หลายๆ ครั้งเราจึงยังต้องตำหนิตัวเองว่าทำอะไรโง่ๆ ลงไป


          เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากความโง่หรือ “โมหะ” นี้ เราจึงมักใช้วิธีตัดสินดังนี้ คือ


          ๑) ศึกษาจากวิธีการที่นักปราชญ์บัณฑิตเขาทำมาแล้ว
          ๒) หาที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้รู้
          ๓) ใช้การประชุมเข้าช่วย


         เรื่องการตัดสินใจทำสิ่งใดด้วยความไม่โลภไม่โกรธไม่หลงนี้   สำหรับนักปฏิบัติซึ่งได้ฝึกสมาธิมากพอ  ก็อาจจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น  คือ ขณะทำสิ่งใดอยู่แล้วปรากฏว่าใจของตนขุ่นมัว ดวงปฐมมรรคยิ่งมัวยิ่งริบหรี่ลงไปทุกทีๆ ภายในกายก็ชักสลัวชักเลือนลาง ถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่า การกระทำนั้นชักไม่ค่อยจะดีแล้วเราอาจจะแยกการกระทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ค่อยออก แต่ว่าเมื่อเอาความสว่าง ความมืด จากภายในศูนย์กลางกายเป็นเครื่องวัดสำหรับผู้ที่เข้าถึงธรรมกายแล้ว โดยดูว่า ถ้าทำอะไรแล้วใจมันยิ่งมืดลงไปๆ ละก็ ไม่เอาแล้ว เลิกทำ ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่เข้าระดับชั่ว แค่เข้าระดับนิวรณ์ คือ ยิ่งทำยิ่งท้อแท้ ยิ่งฟุ้งซ่านรำคาญใจ ก็ไม่เข้าท่าแล้ว แต่ว่าถ้าทำแล้วใจยิ่งผ่องยิ่งใสละก็ ทำให้มากๆ เข้าไปเลย นี่ยกตัวอย่าง นี่ก็เป็นวิธีวินิจฉัยอีกวิธีหนึ่ง ที่นักปฏิบัติซึ่งเข้าถึงความสว่างภายในใช้อยู่ ซึ่งวิธีนี้ผู้ที่เข้าถึงธรรมกายแล้วจะตัดสินใจได้เร็วเป็นพิเศษ

2567%2008%2008b.jpg

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.052163549264272 Mins