ภาษากับการเทศน์ (รูปแบบการเทศน์)

วันที่ 14 สค. พ.ศ.2567

ภาษากับการเทศน์
รูปแบบการเทศน์

670814_b148.jpg


                   วิธีการเทศน์ที่หมายถึงการแสดงธรรมโดยผู้เทศน์นั่งอยู่บนธรรมาสน์นั้น ที่นิยมกันมี ๒ รูปแบบคือ เทศน์ปากเปล่า กับ เทศน์อ่านคัมภีร์ ทั้งสองแบบนี้มีข้อแตกต่างและข้อดีข้อด้อยดังนี้

                    เทศน์ปากเปล่า เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เทศน์ปฏิภาณ คือการเทศน์แบบกลอนสดไม่มีตัวบทให้เห็น ต้องอาศัยปฏิภาณไหวพริบคิดสำนวนเนื้อหาและถ้อยคำเทศน์ในขณะนั้น ไม่มีเวลาพอที่จะไตร่ตรองว่าคำไหนเหมาะหรือไม่เหมาะ ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ชำนาญในการเทศน์ เทศน์บ่อยจนเคยชินว่าคำไหนควรไม่ควรจึงจะเทศน์แบบนี้ได้

                  แต่การเทศน์แบบนี้จะมีข้อเสียอยู่บ้าง คือย่อมเป็นไปได้มากที่อาจมีภาษาถ้อยคำที่ไม่เหมาะไม่ควรดังแสดงไว้แล้วข้างต้นหลุดจากปากออกมาบ้างโดยไม่ตั้งใจ และถ้อยคำสำนวนก็มักจะเป็นภาษาพูดมากว่าภาษาเขียนการเทศน์ปากเปล่านั้นส่วนใหญ่จะเทศน์กันพอเป็นกิริยาบุญหรือพอเป็นพิธี เช่นเทศน์ในงานศพ ในงานบวช หรือเทศน์ในวันพระ เทศน์แล้วก็แล้วกันไป ไม่ค่อยมีผู้สนใจจะจดจำจริงๆ และจะฟังกันพอเป็นกิริยาบุญพอเป็นพิธี

                 สำหรับผู้เทศน์นั้นอย่างดีก็ได้รับยกย่องว่าเทศน์เก่งเทศน์ปากเปล่าได้ ทั้งเทศน์แบบนี้จะไม่มีอะไรเหลือไว้เป็นหลักฐานพอให้ถือเป็นแบบเป็นแนวได้ ทุกอย่างที่เทศน์ไปย่อมกลายเป็นอากาศธาตุไปหมดเมื่อเทศน์จบ นอกจากจะมีการบันทึกเสียงไว้เท่านั้นจึงจะยังอยู่ แต่เมื่อต้องการนำมาพิมพ์เผยแพร่ ต้องคัดลอกมาตรวจตราเลือกคัดจัดสำนวนภาษากันใหม่ให้เป็นภาษาเขียนหรือภาษาหนังสืออีกครั้ง เพราะภาษาพูดนั้นไม่อาจนำมาพิมพ์ตรงๆได้ทั้งหมดการเทศน์ปากเปล่านี้ย่อมเหมาะสำหรับผู้ฝึกหัดเทศน์ เพื่อฝึกฝนความกล้าและประสบการณ์ และจะนำไปสู่การเทศน์อ่านคัมภีร์แบบแต่งเองเทศน์เองได้ดีในโอกาสต่อไป

                  เทศน์อ่านคัมภีร์ คือ เทศน์โดยอ่านข้อความที่แต่งแล้วเขียนหรือพิมพ์ไว้ในคัมภีร์ หากเป็นคัมภีร์ที่ท่านผู้รู้แต่งไว้แล้วก็เพียงอ่านไปตามนั้นให้ถูกต้องให้ถูกจังหวะตามหลักการเทศน์เท่านั้นเป็นใช้ได้ แต่หากเป็นกรณีที่แต่งเองเทศน์เอง คือผู้เทศน์มีความรู้ความสามารถในการแต่งเทศน์ด้วย ก็พึงหลีกเลี่ยงภาษาถ้อยคำต้องห้ามข้างต้น เพราะมีเวลาพิจารณาเลือกคัดใช้ถ้อยคำสำนวนที่เหมาะสม มีเวลาสำหรับปรับเปลี่ยนถ้อยคำสำนวนให้ลงตัว โดยใช้ภาษาที่ดีที่สุด สละสลวยที่สุด หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม หาภาษาถ้อยคำอื่นที่มีความหมายอย่างเดียวกันมาแทน เป็นต้น

                ทำได้ดังนี้บทเทศน์เรื่องนั้นก็จะงดงาม สละสลวย ไพเราะน่าฟัง สมบูรณ์ด้วยพยัญชนะและอรรถะอันเป็นหลักสำคัญของการแสดงธรรม ทั้งยังได้รับยกย่องว่าเป็นบทเทศน์ที่ดี เป็นแบบอย่างแก่นักเทศน์รุ่นหลังได้ด้วย ซึ่งจะนำความภาคภูมิใจในผลงานของตนมาให้แก่ผู้เทศน์ตลอดไปการแต่งเทศน์แล้วไปอ่านเวลาเทศน์นั้นย่อมดีกว่าเทศน์ปากเปล่า ย่อมได้เนื้อหาสาระครบถ้วนสมบูรณ์และกระชับกว่า สำนวนภาษาก็ไพเราะสละสลวยกว่า ทั้งยังมีต้นฉบับเหลือไว้เป็นแบบอย่างเป็นแนวศึกษาต่อไปได้ด้วยในงานสำคัญๆ เช่นงานของผู้ใหญ่ งานเกี่ยวกับพระราชพิธี งานเทศน์เผยแพร่ออกอากาศ เป็นต้น นิยมเทศน์แบบอ่านคัมภีร์ ไม่นิยมเทศน์แบบปากเปล่า

                 เพราะงานเช่นนั้นมิใช่งานที่จะสุกเอาเผากิน แต่เป็นงานที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะการมีเทศน์ในงานนั้นเท่ากับว่าผู้จัดให้ความสำคัญแก่พระธรรม และมีความรู้สึกว่าผู้เทศน์คือผู้แทนพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดงธรรมให้ผู้คนในงานฟัง ยิ่งให้ความสำคัญและทำให้ขลังศักดิ์สิทธิ์มากเท่าไร ย่อมเป็นผลดีต่อพระพุทธศาสนามากเท่านั้นเพราะฉะนั้น หากไม่จำเป็นจริงๆ ทั้งมีเวลามากพอ ฟังเทศน์แบบอ่านคัมภีร์ที่ตัวเองแต่งเอง ไม่ฟังเทศน์แบบปากเปล่าจนเคยชิน แม้จะช่ำชองหรือเทศน์เก่งอย่างไร ก็ได้ประโยชน์ระยะสั้นแค่นั้น เทศน์ปากเปล่า ๑๐๐ กัณฑ์ แต่หายไปเป็นอากาศธาตุหมด ก็สู้เทศน์แบบอ่านคัมภีร์ที่แต่งไว้เป็นต้นฉบับแค่ ๑๐ กัณฑ์ไม่ได้ เพราะเทศน์แล้วไม่หายไปไหนยังเป็นผลงานที่ดำรงคงอยู่ได้ตลอดไป แม้ผู้เทศน์จะหาชีวิตไม่แล้วไปนานเท่าไรก็ตาม

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.032134715716044 Mins