การอ่านกับการเทศน์

วันที่ 19 สค. พ.ศ.2567

การอ่านกับการเทศน์

 

670819_b160.jpg
           

                 ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งในเรื่องภาษาคือการออกเสียงภาษาหรือที่เรียกเป็นวิชาการว่า “การอ่าน” ส่วนใหญ่เกิดจากการออกเสียงไม่ถูกตามหลักภาษาและตามความนิยมของภาษา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการอ่านภาษาไทยเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากย์วิจารณ์กันมาโดยตลอด ด้วยความวิตกห่วงใยว่าคนไทยสมัยนี้นอกจากจะอ่านภาษาไทยไม่ค่อยได้แล้วยังอ่านไม่ค่อยถูกด้วย และมิใช่เป็นเฉพาะในหมู่คนไทยที่มีการศึกษาน้อยหรือที่อยู่ในชนบทเท่านั้น

                 แม้ผู้มีการศึกษาดี มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง มีหน้ามีตาในสังคม โดยที่สุดแม้เป็นผู้ประกาศข่าวทางสื่อต่างๆก็เป็นเช่นเดียวกัน การอ่านผิดอ่านเพี้ยนมีปรากฏให้ได้ยินบ่อยครั้งจนชินกันไปหรือไม่รู้สึกว่าอ่านผิด บางคำกลายเป็นอ่านถูกในเวลาต่อมาก็มีเมื่อเป็นดังนี้ จึงมีความพยายามให้คนไทยอ่านภาษาไทย ออกเสียงภาษาไทยให้ถูกต้องกันทุกวิถีทาง ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่การอ่านผิดออกเสียงผิดก็ยังคงมีให้ได้ยินกันอยู่เสมอสำหรับในการเทศน์นั้น

                 การอ่านการออกเสียงถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะมองข้ามเสียหาได้ไม่ เพราะการเทศน์คือการแสดงธรรม ซึ่งหมายถึงการสื่อความธรรมไปสู่ผู้ฟังด้วยการออกเสียง จะเป็นการเทศน์แบบปากเปล่าก็ตามแบบอ่านคัมภีร์ก็ตาม ล้วนต้องออกเสียงทั้งสิ้นออกเสียงนั้นจึงส่งผลกระทบไปถึงความเข้าใจและความรู้สึกของผู้ฟังด้วยหากออกเสียงผิดหรือเพี้ยนไปก็ทำให้เข้าใจเนื้อความผิดไปได้ หรือทำให้มองว่าผู้เทศน์ด้อยความรู้ด้านภาษา ไม่คงแก่เรียนจริง เลยไม่อยากฟังต่อไปก็เป็นได้

 

สาเหตุที่ทำให้อ่านออกเสียงผิด
                การอ่านผิดหรือการออกเสียงผิดนั้นถือว่าเป็นความบกพร่องทางการสื่อสารอย่างหนึ่ง เพราะทำให้เข้าใจผิดได้ เป็นต้นว่าออกเสียง ร ล ไม่ถูก ทำให้ผู้ฟังเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง เช่น ต้องการบอกว่าเด็กชายแดงเป็นเด็กที่รักแมวชอบแมว แต่ออกเสียงไปว่า “เด็กชายแดงลักแมว” ก็อาจทำให้คนฟังที่ไม่รู้จักเด็กชายแดงมาก่อนเข้าใจผิดไปว่าเป็นเด็กหัวขโมยไปการอ่านการออกเสียงผิดนั้นเกิดจากสาเหตุหลายประการด้วยกันเป็นต้นว่า


(๑) ความเคยชิน คือพูดหรือออกเสียงเช่นนั้นมาแต่เกิด ได้ยินได้ฟังกันมาเป็นปกติ ทำให้ไม่รู้สึกเฉลียวใจว่าผิด
 

(๒) ความไม่รู้ คือไม่รู้ว่าที่อ่านหรือออกเสียงไปนั้นผิด เพราะไม่เคยได้ศึกษา ไม่เคยมีใครทักท้วงหรือบอกให้ฟังว่าผิดอย่างนั้นอย่างนี้ต้องอ่านต้องออกเสียงอย่างนั้นอย่างนี้
 

(๓) ความไม่สงสัย คือเชื่อโดยสนิทใจว่าอ่านหรือออกเสียงกันมาถูกต้อง ไม่มีความสงสัยว่าอ่านหรือออกเสียงอย่างอื่น
 

(๔) ความไม่แสวงหา คือมีความมักง่าย ไม่เห็นความสำคัญ แม้จะรู้ว่าอ่านผิดออกเสียงผิด หรือมีผู้บอกให้รู้ว่าผิด แต่ไม่สนใจชวนขวายหาวิธีอ่านวิธีออกเสียงที่ถูกต้อง ปล่อยให้ผิดไปตามเดิม
 

(๕) ความไม่คิดปรับปรุงตัวเอง คือไม่คิดที่จะพัฒนาตัวเองในด้านการอ่านการออกเสียง โดยเห็นว่าไม่จำเป็นหรือไม่สำคัญที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเองในเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าไม่ทำให้ตัวเองดีขึ้นหรือเลวลงได้ผู้ประกอบด้วยสาเหตุเหล่านี้แม้เพียงประการใดประการหนึ่งที่ทำให้อ่านไม่ถูก ออกเสียงไม่ถูกไปตลอดชีวิต ไม่คิดที่จะแก้ไขพัฒนาในเรื่องการอ่านการออกเสียง มักเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย มิใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร ใครๆ เขาก็อ่านผิดออกเสียงผิดกันทั่วบ้านทั่วเมือง เลยกลายเป็นผู้หนึ่งในจำนวนคนทั่วบ้านทั่วเมืองนั้นไปโดยปริยาย เหมือนพวกคอสุราที่มักอ้างว่าใครๆ ก็ดื่มกันทั่วไปไม่เห็นแปลก ตัวเองเลยตกอยู่ในจำนวนคนทั่วไปนั้นด้วยอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเพราะไม่คิดจะถอนตัวประการใด

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.045275247097015 Mins