คุณธรรมข้อที่ ๖ พูดจริง ทำจริง จริงใจ
เรื่องที่ ๑
พระราชวังหลังสุดท้าย
นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียสมัยก่อนพวกมูคาล พวกอิสลาม ปกครองอินเดีย มีสถาปนิกคนหนึ่งเก่งมาก พระราชาแห่งราชวงค์มูคาล (Mughal) องค์นี้โปรดปรานสถาปนิกคนนี้มาก ให้ออกแบบวังทั้งหมด ทุกๆ หลังให้คนนี้ทำ เขาทำมาได้หลายสิบปี เขาเหนื่อยมาก ไม่ไหว อยากลาออกไปพักผ่อน จึงไปขออนุญาตพระราชาท่านก็บอกว่าน่าเห็นใจ ท่านจึงขออีกหลังเป็นหลังสุดท้าย
“ฉันขออีกหลังเดียว หลังสุดท้าย ต้องสวยที่สุดนะ ทำให้สุดฝีมือเลย เรื่องงบประมาณไม่ต้องห่วง แพงเท่าไหร่ก็เอา” พระราชาขอร้อง แต่ไม่ได้มีทางเลือกให้
เมื่อเขาไม่มีทางเลือก เขาก็ทำแบบจำใจ สถาปนิกคนนี้ก็เหมือนคนเก่งทุกคน คือเมื่อมีงานที่ตัวเองชำนาญ ถ้าผิดพลาดบกพร่องแม้แต่นิดเดียว ตัวเองรู้แล้วตัวเองรำคาญ ทั้งๆ ที่คนอื่นเขาว่าดี ดีมากๆ สวย เขาเอง เขาดูวังเก่าที่เขาเคยออกแบบไป ดูแล้วผิดไปนิดเดียวเขาก็จะรำคาญ แต่เขาก็รู้ว่าคนอื่นไม่ค่อยจะสังเกต ไม่ค่อยได้เห็น
สำหรับหลังสุดท้ายนี้ เขาเริ่มเอานิสัยไม่ค่อยจะมีฉันทะในการทำให้ดี ไม่ค่อยจะมีความจริงใจในงานที่ทำงานไม่ค่อยจะเรียบร้อย ถ้าเป็นแต่ก่อนนี้ เขาก็จะให้ทำใหม่ แต่คราวนี้ก็คิดว่าช่างมันเถอะ เป็นหลังสุดท้ายไม่มีใครเห็น ไม่มีใครดูออก มีแต่เราคนเดียวที่รู้ที่เห็น
เรื่องการสั่งของ บางทีถ้าของบางอย่างที่ควรจะใช้ต้องคอยนาน ก็สั่งของอย่างอื่นแทน เอาอย่างนี้ดีกว่า มันเร็วดี ทันใจ ก็จะมีวิธี หาทางลัดที่จะให้เสร็จ โดยปลอบใจตัวเองตลอดเวลาว่าพระราชามองไม่เห็นหรอก เขาไม่ใช่มืออาชีพ เรื่องนี้ก็มีแต่เราคนเดียวที่จะรู้ได้ ใช้ทางลัดเพื่อให้งานเสร็จเร็ว แต่ไม่ได้ตั้งใจเหมือนในอดีต
สุดท้ายงานก็เสร็จ สบาย ! ได้ปลดเกษียณแล้ว ก็เชิญพระราชามาชม พระราชาก็บอกว่าสวยมาก สถาปนิกถามพระราชาว่า
“ไม่ทราบว่าพระองค์จะให้ใครอยู่ประจำ หรือว่าจะทรงอยู่เอง พะยะค่ะ?”
“เปล่า ! หลังสุดท้ายนี้ ฉันขอให้ทำพิเศษเพื่อให้แก่เธอ เป็นการตอบแทนบุญคุณที่เธอรับใช้ฉันมาอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย”
“เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ พะยะค่ะ” สถาปนิกพยายามแสดงสีหน้าชื่นชมยินดีหลังจากนั้นสถาปนิกก็ต้องไปอยู่ เนื่องจากเป็นของพระราชทาน และจะย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ไม่ได้ กลัวพระราชาจะโกรธ
ไม่ว่าเขาจะมองไปทางไหน ก็เห็นแต่จุดผิดพลาดตรงโน้นตรงนี้ เรียกว่ารับผลกรรมตลอดชีวิต คิดว่าไม่มีใครเห็น มีแต่เราเห็น ก็เลยได้เห็นทุกวัน
ขอฝากพวกเราให้ตระหนักว่า สัจจะบารมี เป็นบารมีสำคัญที่พระโพธิสัตว์รักษาตลอดจนถึงวันตรัสรู้ การรักษาสัจจะ เป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่ดีงามของเราทุกคน