การศึกษาเรื่องผลกระทบจากการล่วงละเมิดศีล ข้อที่ ๕ ที่มีต่อสังคมไทย (ตอนที่ ๑)

วันที่ 07 สค. พ.ศ.2547


 

โดย พระมหาสำรวย ญาณสํวโร (พินดอน) พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๔๒

 

.....” จากสภาพของสังคมไทยในปัจจุบัน ถ้ามองในแง่มุมหนึ่ง จะพบเข้าว่าระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคมขาดความแน่นอน หรือความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายบ้านเมือง หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ขาดผู้นำที่เป็นแบบอย่างได้อย่างแท้จริง ทำให้เกิดความสับสนในพฤติกรรมของคนในสังคม เพราะการแสดงออกย่อมขัดแย้งกับอุดมการณ์หรือนโยบายอยู่เนือง ๆ ในขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ส่วนหนึ่งที่เป็นการทำลายวัฒนธรรมไทย ก็มีปรากฏให้เห็นอยู่แทบทุกวัน อาทิ การโฆษณาเหล้ายี่ห้อดีดี หลากรส หลายรูปแบบ และค่านิยมของคนส่วนหนึ่งพากันเสพยาบ้า ซึ่งจากที่เชื่อว่าเป็นยาขยัน ตลอดถึงภาพล่อแหลมต่าง ๆ ที่ถ่ายโฆษณาทั้งทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสิ่งอื่น ๆ แม้แต่บทละครโทรทัศน์ ก็ยังแสดงถึงการเชิญชวนในการเสพหรือการดื่มสุราและเมรัยอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้สื่อหรือชี้ให้เห็นโทษของสิ่งเสพย์ติดเหล่านั้นเลย ตรงกันข้ามกลับเป็นการให้สื่อชักจูงและโน้มน้าวให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม น่ายกย่องเอาอย่างเสียอีก

พฤติกรรมดังกล่าวมานี้ จึงก่อให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนเป็นปัญหาต่าง ๆ ตามาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางอาชญากรรม การทำลายล้าง การปล้นชิงทรัพย์สิน การทำความผิดทางเพศ การโกหกหลอกลวง ฯลฯ ล้วนแต่เป็นการประพฤติผิดในเรื่องการละเมิดศีล ๕ ทั้งสิ้น เพราะคนยึดเอาประโยชน์ตนและพวกพ้องเป็นใหญ่ ไม่ใส่ใจพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น ในเรื่องผลกระทบต่อส่วนรวม ด้วยความเห็นผิดเป็นชอบ ในขณะที่สังคมเปลี่ยนแปลงไป โดยไม่เข้าใจในหลักศีลธรรม และมองเห็นความสำคัญของศีลธรรม ละเลยมนุษยธรรม คือธรรมสำหรับมนุษย์ ได้แก่ ศีล ๘ ศีล ๕ ฯลฯ

เป็นมุมมองของท่านผู้ทำการวิจัยท่านนี้ ที่เจาะจงให้ความสำคัญเกี่ยวกับระหว่างสังคมกับศีล ๕ โดยสรุปที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ประสงค์จะศึกษาค้นคว้าขอบข่ายและความหมายของสุราเมรัยและมัชชะ ( สิ่งเสพย์ติดให้โทษ) แรงจูงใจในการเสพ ผลกระทบที่มีต่อสังคมไทยปัจจุบัน ตลอดจนพุทธวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๕ ตามหลักพุทธธรรม

เพื่อหาคำตอบปัญหาในเรื่องความเสื่อมโทรมของสังคมที่เกิดจากการล่วงละเมิดศีล ๕ โดยเฉพาะข้อที่ ๕ ที่ว่า การล่วงละเมิดศีลข้อ ๕ คือ การดื่มสุราเมรัยและของเมาเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ซึ่งในข้อห้ามของศีลข้อนี้ ครอบคลุมถึงยาเสพย์ติดทุกชนิดด้วย ว่าจะมีผลกระทบต่อสังคมมากน้อยเพียงไร และนำผลที่ได้มากจากการวิจัย ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมสืบไป

โดยสรุปการวิจัยออกเป็น ๕ ประเด็นคือ

๑. ปัญหาที่มีต่อสังคมไทยมากที่สุดในปัจจุบัน ก็คือปัญหาสิ่งเสพย์ติดที่ระบาดอยู่ในสังคมไทย ในเรื่องนี้ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุผล ที่ยอมรับข้อเท็จจริงคือ เป็นเพราะขาดหลักธรรมข้อปฏิบัติสำหรับมนุษย์ อันเรียกว่าศีลนั้นโดยเฉพาะศีลข้อที่ ๕ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดซึ่งว่าด้วยเรื่องสุราเมรัยและของเมา โดยเห็นคุณโทษว่าสุราเมรัยและของเมานั้น เป็นสิ่งที่มีอันตราย เป็นข้อห้ามโดยส่วนเดียวเป็นพิษร้ายแก่สังคมมีโทษทำลายสุขภาพกายและสุขภาพจิต

๒. ความหมายของสุราเมรัยและของเมา โดยทั่ว ๆ ไป หมายถึง ของเมาทุกชนิด น้ำเมากลั่นแล้วและยังไม่ได้กลั่น หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ตลอดถึงสิ่งเสพย์ติดทุกชนิดใช้การเสพโดยการดื่มกิน ที่มีปรากฏอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม เมื่อกล่าวถึงประโยชน์สุราหรือสิ่งเสพย์ติดนั้น อาจนำมาใช้เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ หรือปรุงอาหารเพื่อชูรสด้วย ดังที่จะเห็นได้จากความหมายในมงคลสูตรว่า “ การสำรวมจากการดื่มน้ำเมาเป็นมงคล” หมายถึงการให้มีความระมัดระวังมีความรอบคอบ พิจารณาสิ่งนั้นก่อนแล้วจึงบริโภค หรือใช้ให้ถูกวิธี

กรรม กล่าวคือ การกระทำเพราะการดื่มสุราเมรัยนี้ เป็นเหตุแห่งความเมา ความเมา เป็นเหตุแห่งการกระทำอกุศลกรรมบถ และอกุศลกรรมให้เกิดขึ้นนั้น ย่อมทำหน้าที่ให้สำเร็จกัมมกิจเป็นเพรากรรมที่ทำหน้าที่ให้ไปเกิดในนิรยภูมิ ด้วยอำนาจการดื่มสุราเมรัยแล้วกระทำทุจริตกรรมลง แต่หากมิกระทำทุจริตกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่อาจำสู่นรกภูมิได้ และเพราะการทำทุจริตกรรมให้สำเร็จลงกล่าวคือ ดื่มสุราแล้วกระตุ้นใจกล้า สามารถกระทำทุจริตกรรมสำเร็จลง ย่อมไปเกิดในนรกภูมิ หลังตายแล้ว

ส่วนมากการดื่มสุราเมรัยของบุคคลทั้งหลาย โดยทั่ว ๆ ไป สามารถแบ่งออกได้ตามผลแห่งดื่มที่จะประมวลมา ๔ ประการคือ

๑. ดื่มสุราที่ผสมอยู่ในยา หรืออาหาร

๒. ดื่มสุราอย่างเดียว โดยคิดเป็นยา

๓. ดื่มสุรา เพราะชอบ จัดเป็นกาเมสุมิจฉาจาร

๔. ดื่มสุรา เพื่อกระตุ้นให้ใจกล้าหาญ สามารถกระทำทุจริตได้

ผู้วิจัย ได้สรุปหลักเกณฑ์การตัดสินศีลข้อสุราเมรัยมัชชะ โดยแบ่งออกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วดังต่อไปนี้

ก. หลักพระวินัยที่ทรงแสดงไว้ในสุราปานสิกขาบท อันเป็นข้อห้ามมิให้ล่วงละเมิดโดยปรับอาบัติแก่ภิกษุผู้กระทำผิด เป็นอาบัติปาจิตตีย์และแก่สามเณรให้ถึงความขาดจากความเป็นสามเณรและถือเป็นโทษที่ชาวโลกติเตียน ที่เรียกว่า โลกวัชชะ

ข. หลักธรรมที่ทรงแสดงไว้ในพระวินัยเรียกว่า มหาปเทศ ๔ ( ข้ออ้างใหญ่ ๔ ประการ) ที่ถือว่าเป็นหลักการพิจารณาตามเกณฑ์การตัดสินที่ทันกาลที่สุด เพราะมิได้ระบุความผิดไว้เป็นหลักในการตัดสิน แต่ให้ใช่วิจารณญาณเหมาสม หรือสมควรหรือไม่ อย่างไร โดยจักพิจารณาความสมเหตุสมผลของเวลา และสถานที่นั้น ๆ อันถือเป็นข้อปฏิบัติโดยอนุโลมและปฏิโลม

อ้างอิง สำรวย ญาณสํวโร, ( พินดอน) พระมหา, การศึกษาเรื่องผลกระทบจากการล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๕ ที่มีต่อสังคมไทย , วิทยานิพนธ์ พุทธศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒.

 

 

สุมินต์ตรา

 

 


ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.042708535989126 Mins