:มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

ลำดับเรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

มงคลชีวิต 38 ประการ มงคล ที่ 12 เลี้ยงดูบุตร

 

มงคล ที่ ๑๒ เลี้ยงดูบุตร

มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 

ต้นไม้ถ้าลูกมันรสไม่ดี ก็มีแต่คนจะโค่นต้นทิ้ง

ไม่มีใครคิดจะบำรุงรักษาไว้ ตรงข้ามถ้าลูกมันรสดี ทั้งหวานทั้งมัน

เจ้าของก็อยากใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดิน ทะนุถนอมให้คงต้นอยู่นานๆ

ต้นไม้จะอายุยืนได้รับการบำรุงรักษาดีเพียงไร ขึ้นอยู่กับลูกของมัน

คนเราก็เช่นกัน ถ้าลูกทำดี คนทั้งหลายก็ชมมาถึงพ่อแม่ว่าเลี้ยงลูกดี

ความสุขกายสบายใจก็ติดตามมาเพราะลูก

บุญกุศลความดีก็ไหลมาเพราะลูก แต่ถ้าลูกทำชั่วช้าเลวทราม

คนทั้งหลายก็แช่งด่ามาถึงพ่อแม่ด้วยเหมือนกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ว่า สิริมงคลของคนที่เป็นพ่อแม่อยู่ที่ลูก

และในทางตรงข้าม ถ้าไม่ป้องกันแก้ไขให้ดีแล้ว

อัปมงคลก็จะมาจากลูกนั่นเหมือนกัน

 

ทำไมจึงต้องเลี้ยงดูบุตร ?

            วันหนึ่งเราต้องแก่และตาย สิ่งที่อยากได้กันทุกคน คือความปีติ ความปลื้มใจไว้หล่อเลี้ยงใจให้สดชื่น  ความปลื้มปีติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้เห็นผลแห่งความดี  หรือผลงานดีๆ ที่เราทำไว้  ยิ่งผลงานดีมากเท่าไร  ยิ่งชื่นใจมากเท่านั้น  แล้วอายุจะยืนยาว  สุขภาพจะแข็งแรง

            สุดยอดผลงานของนักปฏิบัติธรรม คือการกำจัดกิเลสในตัวให้หมด

            สุดยอดผลงานของชาวโลก คือการมีลูกหลานเป็นคนดีไว้สืบสกุล

            ถ้าลูกหลานเป็นคนเลว มันช้ำใจยิ่งกว่าถูกใครจับใส่ครกโขลกเสียอีก

            เลี้ยงสุนัขแล้วกัดสู้สุนัขคนอื่นไม่ได้ยังเจ็บใจ

            เลี้ยงลูกแล้วดีสู้ลูกคนอื่นไม่ได้มันจะช้ำใจสักแค่ไหน

 

ความหวังของชาวโลก

            ๑.        บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักเลี้ยงตอบแทน

            ๒.        บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักทำกิจแทนเรา

            ๓.        วงศ์สกุลของเราจักดำรงอยู่ได้นาน

            ๔.        บุตรจักปกครองทรัพย์มรดกแทนเรา

            ๕.        เมื่อเราละโลกไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้

            เพราะปรารถนาฐานะ ๕ ประการนี้  บิดามารดาจึงอยากได้บุตร

 

บุตรแปลว่าอะไร ?

            บุตร มาจากคำว่า ปุตฺต แปลว่า ลูก  มีความหมาย ๒ ประการ คือ

            -           ผู้ทำสกุลให้บริสุทธิ์

            -           ผู้ยังหทัยของพ่อแม่ให้เต็มอิ่ม

           

ประเภทของบุตร

            ประเภทของบุตรแบ่งโดยความดีในตัวได้เป็น ๓ ชั้น ดังนี้

            ๑.        อภิชาตบุตร  คือบุตรที่ดีมีคุณธรรมสูงกว่าบิดามารดา  เป็นบุตรชั้นสูง  สร้างความเจริญแก่วงศ์ตระกูล

            ๒.        อนุชาตบุตร  คือบุตรที่มีคุณธรรมเสมอบิดามารดา  เป็นบุตรชั้น กลาง  ไม่พอรักษาวงค์ตะกูลไว้ได้

            ๓.        อวชาตบุตร คือบุตรที่เลว มีคุณธรรมต่ำกว่าพ่อแม่ เป็นบุตรชั้นต่ำ นำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล

 

องค์ประกอบให้ได้ลูกดี

            ๑.        ตนเองต้องเป็นคนดี พ่อแม่ที่ทำบุญมาดีจึงจะได้ลูกดีมาเกิด เหมือนต้นไม้พันธุ์ดีก็ย่อมมีลูกพันธุ์ดี เด็กที่เกิดในท้องแม่จะมีคุณธรรมในใจที่ติดตัวมาในระดับใกล้  เคียงกับของพ่อแม่ในขระที่เด็กมาเกิด   ดังนั้นพ่อแม่ที่ต้องการได้ลูกดี ก็ต้องขวนขวายสร้างความดีไว้มากๆ  ยิ่งพ่อแม่สร้างบุญมากเท่าไร  โอกาสที่จะได้ลูกดีก็มากเท่านั้น

            ๒.        การเลี้ยงดูอบรมดี ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดต่อไป

 

วิธีเลี้ยงดูลูก

            การเลี้ยงดูลูกมีอยู่ ๒ ทาง  คือการเลี้ยงดูลูกทางโลกและการเลี้ยงดูลูกทางธรรม  ซึ่งพ่อแม่ควรจะเลี้ยงดูลูกให้พร้อมบริบูรณ์ทั้ง ๒ ทาง

มงคล ที่ ๑๒ เลี้ยงดูบุตร

 

วิธีเลี้ยงดูลูกทางโลก

            กันลูกออกจากความชั่ว กัน หมายถึง ป้องกัน กีดกัน คือไม่เพียงแต่ห้าม หากต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ลูกตกไปสู่ความชั่ว ซึ่งประเด็นสำคัญคือ จะต้องกันลูกให้ห่างจากคนพาลเกเร อย่าให้ลูกไปคบเพื่อนที่จะชักนำลูกไปในทางเสื่อมเสียได้  โดยพ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกพาเพื่อนมาเที่ยวบ้านบ้าง ให้การต้อนรับดูแล ในฐานะที่พ่อแม่เป็นผู้ใหญ่ผ่านโลกมามาก เมื่อตั้งใจสังเกต ก็จะพอดูนิสัยของเพื่อนลูกแต่ละคนออก หากเห็นว่าเพื่อนของลูกคนใดมีลักษณะส่อนิสัยเป็นคนพาล ก็แนะนำให้ลูกออกห่างเสียแต่เนิ่น ๆ อย่าไปคบหาเป็นเพื่อนสนิท เดี๋ยวจะติดเชื้อพาลมาด้วย  ซึ่งถ้าพ่อแม่ไม่ใส่ใจให้ความสำคัญเรื่องเพื่อนของลูก ปล่อยให้ลูกไปคบคนเกเรจนสนิทชิดเชื้อกันแล้วพ่อแม่จะมาห้ามคบภายหลังก็จะทำได้ยาก และการกันลูกออกจากความชั่วก็ยากจะประสบความสำเร็จ

            การกันลูกออกจากความชั่ว จะต้องทำตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ นอกจากเรื่องเพื่อนแล้ว ควรให้ลูกอยู่ห่างจากสื่อทุกชนิดที่สร้างตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูก เช่น โฆษณายาฆ่ายุง ภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่เห็นความรุนแรง  เป็นต้น  อย่าใช้โทรทัศน์เลี้ยงลูกแทน หากจะดูโทรทัศน์ พ่อแม่ก็ควรเลือกรายการที่ดี มีประโยชน์แล้วชวนลูกดู จนเด็กคุ้นเคยกับสิ่งดี ๆ และไม่ชอบข้องเกี่ยวกับสิ่งไม่ดีทั้งหลาย

            การกันลูกจากความชั่วนี้ บางครั้งพ่อแม่กับลูกก็พูดกันไม่เข้าใจ สาเหตุของความไม่เข้าใจกันนั้นมักจะเกิดจากการขัดกันอยู่ ๓ ประการคือ
            -           ความเห็นขัดกัน

            -           ความต้องการขัดกัน

            -           กิเลส

            ความเห็นขัดกัน คือของสิ่งเดียวกันแต่เห็นกันคนละทาง มองกันคนละแง่ เช่น การเที่ยวเตร่ เด็กวัยรุ่นมักจะเห็นว่าดี เป็นการเข้าสังคม ทำให้กว้างขวางทันสมัย แต่ผู้เป็นพ่อแม่กลับเห็นว่า การเที่ยวเตร่หามรุ่งหามค่ำนั้น มีผลเสียหายหลายประการ เช่น อาจเสียการเรียน อาจประสบภัย อาจใจแตก เพราะถูกเพื่อนชักจูงไปให้เสีย ครั้นห้ามเข้าลูกก็ไม่พอใจ หาว่าพ่อแม่หัวเก่าล้าสมัย

            เรื่องนี้ถ้าจะพูดด้วยความเป็นธรรมแล้ว ลูกควรจะรับฟังความเห็นของ พ่อแม่ด้วยเหตุผลง่ายๆ ๒ ประการ  คือพ่อแม่ทุกคนหวังดีต่อลูก ๑๐๐ % และ พ่อแม่ย่อมมีประสบการณ์รู้ทีได้ทีเสียมามากกว่า เราแน่ใจหรือว่าความรักของเพื่อนตั้งร้อยที่ล้อมหน้าล้อมหลังอยู่นั้น  รวมกันทั้งหมดแล้วจะมากและบริสุทธิ์ ๑๐๐ %  เหมือนความรักในดวงใจของพ่อแม่  คนเราทุกคนเคยเห็นผิดเป็นชอบมาก่อน  เมื่อยังเป็นเด็กอมมืออยู่นั้น  เราเคยเห็นว่าลูกโป่งอัดลมใบเดียวมีค่ามากกว่าธนบัตรใบละร้อยใช่ไหม?  จิตใจที่อยู่ในวัยเยาว์ก็ย่อมเยาว์ตามไปด้วย ดังนั้นเชื่อฟังคำว่ากล่าวตักเตือนของพ่อแม่ไว้เถิดไม่เสียหลาย ส่วนพ่อแม่เองเมื่อจะห้ามหรือบอกให้ลูกทำอะไร ก็ควรบอกเหตุผลด้วย  อย่าใช้แต่อารมณ์

            ความต้องการขัดกัน คือคนต่างวัยก็มีรสนิยมต่างกัน ความสุขของคนแก่คือชอบสงบ หาเวลาพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่ความสุขของเด็กหนุ่มสาวมักอยู่ที่ได้แต่งตัวสวยๆ ไปเที่ยวเตร่นอกบ้าน ข้อนี้ขัดแย้งกันแน่ ลูกกับพ่อแม่จึงต้องเอาใจมาพบกันที่ความรัก ตกลงกันที่มุมรักระหว่างพ่อแม่กับลูก รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวตามสมควร การเลี้ยงลูกที่กำลังโตเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น เหมือนการเล่นว่าวโต้ลม  ผ่อนไปนิด ดึงกลับมาหน่อย  จึงจะเป็นผลดี

            กิเลส ถ้าทั้ง ๒ ฝ่าย มีความโกรธ มีทิฏฐิ ดื้อดึง ดื้อด้าน หลงตัวเอง หรือมีกิเลสอื่นๆ ครอบงำอยู่แล้วก็ยากที่จะพูดกันให้เข้าใจ  ต้องทำใจให้สงบและ พูดกันด้วยใจที่เป็นธรรม ด้วยเหตุด้วยผล พ่อแม่ต้องฝึกตนให้เป็นคนมีคุณธรรม และสอนลูกให้เป็นคนดีมีเหตุผลตั้งแต่ยังเล็ก ปัญหาข้อนี้ก็จะเบาบางลง

            ๒.        ปลูกฝังลูกในทางดี หมายถึง ให้ลูกประพฤติดีมีศีลธรรม พ่อแม่ต้องพยายามเล็งเข้าหาใจของลูก เพราะใจเป็นตัวควบคุมการกระทำของคน ที่ว่าเลี้ยงลูกให้ดี  คือทำใจของลูกให้ดีนั่นเอง

            สิ่งของนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท  คือของกินกับของใช้  สำหรับของกินทุกคนต้องกินเหมือนกันหมด เพื่อให้ร่างกายเติบโตคงชีวิตอยู่ได้ ส่วนของใช้นั้น ต่าง คนต่างมีตามความจำเป็น  เช่น ชาวนาก็ต้องมีจอบมีไถ เสมียนก็ต้องมีปากกา

            สมบัติทางใจก็มี ๒ ประการ เหมือนกัน

            -           ธรรมะ            เป็นอาหารใจ

            -           วิชาความรู้       เป็นเครื่องมือของใจ

            ตามธรรมดาร่างกายคน ถ้าขาดอาหารแล้วก็จะเสียกำลัง ใจคนก็เหมือนกัน ต้องมีธรรมะให้พอเพียง อาหารทางกายกินแทนกันไม่ได้ ไม่เหมือนของใช้ มีดเล่มเดียวใช้กันได้ทั้งบ้าน เรื่องของใจก็เหมือนกัน ใจทุกดวงต้องกินอาหารเอง คือทุกคนต้องมีธรรมะไว้ในใจตนเอง จะถือว่าใจพ่อแม่มีธรรมะแล้ว ใจลูกไม่ต้องมีไม่ได้ ส่วนวิชาความรู้เปรียบเสมือนของใช้ ใครจะใช้ความรู้ทางไหนก็หาความรู้เฉพาะทางนั้น ขาดเหลือไปบ้างยังพออาศัยผู้อื่นได้ ใจที่ขาดธรรมะเหมือนร่างกายที่ขาดอาหาร ใจที่ขาดวิชาความรู้เหมือนคนที่ขาดเครื่องมือทำงาน

            พ่อแม่ต้องปลูกใจลูกให้มีทั้ง ๒ อย่าง  จึงจะเป็นการปลูกฝังลูกในทางดี ซึ่งทำได้โดย

            ๑.        กระทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก

            ๒.        เลือกคนดีให้ลูกคบ

            ๓.        หาหนังสือดี สื่อดีๆ ให้ลูกดู

            ๔.        พาลูกไปหาบัณฑิต เช่น พระภิกษุ ครูบาอาจารย์ที่ดี

            ๓.        ให้ลูกได้รับการศึกษา ภารกิจข้อนี้ความชัดอยู่แล้ว คือให้ลูกได้เล่าเรียน เพื่อให้มีความรู้สามารถช่วยตัวเองต่อไปได้

            พ่อแม่สมัยนี้ควรจะติดตามดูแลลูกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ควรติดต่อกับทางโรงเรียนอยู่เสมอ ขอทราบเวลาเรียน ผลการเรียน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เด็กอ้างว่าทางโรงเรียนเรียกร้องด้วย พ่อแม่ที่มีลูกไปเรียนไกลบ้านต่างจังหวัด และขาดผู้ดูแลที่ไว้วางใจได้ ควรจะเป็นห่วงลูกให้มาก หากไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรให้เด็กอยู่หอพัก เว้นแต่จะเชื่อใจเด็กได้ และต้องหาพอพักที่มีระเบียบข้อบังคับเคร่งครัดด้วย

            ๔.        จัดแจงให้ลูกแต่งงานกับคนดี  ความหมายในทางปฏิบัติมีอยู่ ๒ ขั้นตอน คือ

            ๔.๑.    พ่อแม่ต้องเป็นธุระในการแต่งงานของลูกให้คำแนะนำและช่วยเหลือ

            ๔.๒.    พ่อแม่ต้องพยายามให้ลูกได้คู่ครองที่ดี

            ในข้อที่ ๔.๒  อาจมีความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกอยู่ไม่น้อย  คล้ายกับการกันลูกจากความชั่ว แต่การขัดแย้งกันในเรื่องคู่ครองมักจะแรงกว่า ควรจะทำความเข้าใจกันให้ดี  ปัญหาสำคัญมีอยู่ ๒ ข้อ คือ

            ๔.๒.๑.               พ่อแม่แทรกแซงความรักของลูก  มีผลดีหรือเสียอย่างไร?

            ๔.๒.๒.   ใครควรเป็นผู้ตัดสินการแต่งงานของลูก

            ปัญหาข้อแรก ถ้าคิดดูโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นว่าผลดีมีมากกว่าผลเสีย จะมีผลเสียอยู่เฉพาะในรายที่พ่อแม่ขาดจิตวิทยาและชอบทำอะไรเกินกว่าเหตุเท่านั้น แต่การร่วมมือกันเป็นของดีแน่ ความจำเป็นอยู่ที่ว่า ลูกยังอยู่ในวัยเยาว์ รู้จักโลกน้อย มองโลกในแง่ดีเกินไป อาจตัดสินใจผิดพลาดได้ และความผิดพลาดในเรื่องคู่ครองนั้นมีผลมาก แก้ยาก

            ปัญหาข้อที่สอง ใครควรเป็นผู้ที่ตัดสินการแต่งงานของลูก เช่น ควรแต่งงานหรือยัง? ควรแต่งกับใคร? ทางที่ประเสริฐที่สุด คือปรึกษาหารือและตกลงกัน พ่อแม่ควรเป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่เจ้ากี้เจ้าการจนเกินงาม ต้องให้ลูก       ได้แต่งงานกับคนที่เขารัก เพราะความรักเป็นมูลฐานของการสมรส ฝ่ายลูกเลือก ใครก็ต้องให้พ่อแม่เห็นชอบด้วย เพราะการทำให้ท่านสุขใจนั้นเป็นความกตัญญูกตเวทีของเรา และจะเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่ครอบครัวสืบไป แต่ถ้าหากเป็นไปเช่นนั้นไม่ได้  พ่อแม่ควรจะถือหลักว่า

            “คนที่เราไม่ชอบแต่ลูกรัก ดีกว่าคนที่เรารักแต่ลูกไม่ชอบ”

            คิดเสียว่าเขาเป็นเนื้อคู่กัน เว้นแต่คนที่ลูกปลงใจรักเป็นคนเลว หลอกลวง จะชักนำลูกเราไปในทางเสีย อย่างนี้ต้องห้าม แม้ว่าลูกจะรักก็ตาม

            ๕.        มอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงกาลอันสมควร เมื่อถึงเวลาควรให้จึง ให้ ถ้ายังไม่ถึงเวลาอันควรให้ก็อย่าเพิ่งให้ เช่น ลูกยังเยาว์ยังไม่รู้ค่าของทรัพย์  ก็ควรรอให้เขาเติบโตเสียก่อนจึงให้ ถ้าลูกยังประพฤติชั่ว เช่น หมกมุ่นอยู่ใน           อบายมุข  ก็รอให้เขากลับตัวได้เสียก่อนแล้วจึงให้  ดังนี้เป็นต้น

            การทำธุระเกี่ยวกับทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นก่อนตาย เป็นการชอบด้วยพุทธประสงค์ วงศ์ตระกูลก็มีความสงบสุขต่อไป รายใดที่พ่อแม่ไม่ทำพินัยกรรมไว้ให้เรียบร้อย  ปล่อยให้ลูกๆ จัดการกันเอง  ก็มักเกิดเรื่องร้าวฉานขึ้นในวงพี่ๆ น้องๆ จนถึงกับฟ้องร้องขึ้นศาลกันก็มี พี่น้องแตกความสามัคคี ทรัพย์สินก็เสื่อมหายลง  เป็นเรื่องที่น่าสลดใจยิ่งนัก

 

วิธีเลี้ยงดูลูกในทางธรรม

            ๑.        พาลูกเข้าวัดเพื่อศึกษาหาความรู้ทางพระพุทธศาสนา

            ๒.        ชักนำลูกให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน

            ๓.        ชักนำให้ลูกทำบุญ เช่น ตักบาตร รักษาศีล เป็นต้น

            ๔.        ชักนำให้ลูกทำสมาธิภาวนา

            ๕.        ถ้าลูกเป็นชายให้บวชเป็นสามเณร หรือเป็นพระภิกษุ แล้วเข้าปฏิบัติ

                         กรรมฐาน  รวมทั้งศึกษาพระปริยัติธรรม

 

ความสำคัญของความอบอุ่นในวัย ๐ – ๓ ขาบ*

            จากผลการวิจัยทางการเพทย์พบว่า การเลี้ยงดูลูกด้วยน้ำนมแม่อย่างน้อย ๖ เดือนขึ้นไปและความอบอุ่นของทารกในวัย ๐-๓ ขวบ มีความสำคัญต่อพฤติกรรมของเด็กเมื่อโตขึ้นอย่างมาก จากการศึกษาจิตใจเด็กพบว่า เด็กที่ได้กินนมแม่นาน ๖ เดือนขึ้นไป จะมีจิตใจร่าเริงอยู่เสมอ น้อยครั้งที่จะมีอารมณ์โมโหฉุนเฉียวและถึงมีก็ไม่นาน ใบหน้าจะงดงาม ยิ้มสวย ยิ้มเก่ง แววตาของเด็กมีประกายของความสุข มองดูแววตาสดใส ผิดกับเด็กที่กินนมขวดแบบตรงกันข้าม จิตแพทย์อธิบายว่า ความสุขของเด็กที่พบได้ในเด็กกินนมแม่นั้น เกิดจากการที่แม่ได้อุ้มโอ๋ประคองกอดเด็กไว้แนบอก มีการถ่ายทอดความรู้สึกทางผิวหนัง ทางประสาทหูและประสาทตา หูเด็กได้ยินเสียงเต้นของหัวใจแม่ และได้ยินเสียงหายใจในอกของแม่ สิ่งเหล่านนี้รวมกันเป็นองค์ประกอบสัมผัสให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นเป็นสุขขึ้นมา แล้ะผันแปรกลายเป็นความเมตตาและความไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งจะพบได้ในเด็กที่ได้กินนมแม่นาน ๖ เดือนขึ้นไป เด็กจะกินนมอย่างพอใจ สุขใจและยิ้ม อารมณ์ดี  ไม่มีความรู้สึกขาดแคลนใดๆ เกิดขึ้นจิตใจจะมั่นคง รู้จักเหตุผลและรู้จักรอคอย นั่นคือ รู้จักอดทนต่อทุกสถานการณ์ได้ดียิ่ง สิ่งเหล่านี้จะมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลยในเด็กที่กินนมขวดนิสัยขาดเมตตาและเห็นแก่ตัวจะพบได้สูงในเด็กกินนมขวด

            สมองคนทุกคนได้รับข้อมูลทั้งชั่วและดี รวมกันอัดไว้แน่นตอนช่วงอายุ ๐-๓ ขวบ ข้อมูลก่อน ๓ ขวบที่สองเก็บไว้นั้น เปลี่ยนแปลงได้ยาก มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นเช่นนี้จริง เช่น คนกลัวแมว คนกลัวฟ้าร้อง คนกลัวความสูง ส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์ที่เกิดในวัย ๐-๓ ขวบ และจะแก้นิสัยเหล่านี้ได้ยาก ดังนั้น การจะสอนคนให้เป็นคนดีต้องสอนตั้งแต่ก่อน ๓ ขวบ นิสัยดี ๆ นั้นจะได้ฝังแน่นติดตัวเด็กไปตลอด เด็กเล็กที่กินนมแม่จะได้ข้อมูลที่ดีฝังในสมองในเรื่องของความเมตตาและความไม่เห็นแก่ตัว เด็กกินนมแม่เหล่านี้ ถ้าไม่ขาดแม่ในช่วงชีวิต ๐-๓ ขวบจะเป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตดีเยี่ยม

 

ข้อเตือนใจ

            ๑.        รักลูกแต่อย่าโอ๋ลูก อย่าตามใจลูกเกินไป เพราะจะทำให้เด็กเสียนิสัย  เหตุที่พ่อแม่ตามใจลูกเกินไป มักเป็นเพราะ

            -           รักลูกมากเกินไป รักมากจนไม่กล้าลงโทษสั่งสอน

           -            ไม่มีเวลาอบรม รู้สึกเป็นความผิดของตัว ที่ไม่มีเวลาให้ลูกจึงปลอบประโลมตนเองด้วยการตามใจลูก ซึ่งเป็นวิธีแก้ที่ผิด

            ๒.        อย่าเคร่งระเบียบจนเกินไป  รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว

            ๓.        ให้ความอบอุ่นแก่ลูกให้เพียงพอ  ไม่ว่างานจะยุ่งมากเพียงไร ก็ต้องหาเวลาให้ลูก  มิฉะนั้นจะต้องน้ำตาตกในภายหลัง

            ๔.        เมื่อเห็นลูกทำผิด ควรตำหนิทันทีเพื่อจะได้แก้ไขทันท่วงที แต่ต้องใช้เหตุผลอย่าใช้อารมณ์  และเมื่อเห็นลูกทำดีก็ชมเพื่อให้เกิดกำลังใจ

            ๕.        ต้องฝึกให้ลูกทำงานตั้งแต่ยังเล็ก การปล่อยให้เด็กอยู่อย่างสบายเกินไปทุกอย่าง  มีคนรับใช้  มีเวลาว่างมากเกินไป  จะกลับเป็นผลเสียต่อเด็ก โตขึ้นจะช่วยตัวเองไม่ได้

            ๖.        การเลี้ยงลูก ให้แต่ปัจจัย ๔ ยังไม่พอ  จะต้องให้ธรรมะแก่ลูกด้วย

 

อานิสงส์การเลี้ยงดูบุตร

            ๑.        พ่อแม่จะได้ความปีติภาคภูมิใจเป็นเครื่องตอบแทน

            ๒.        ครอบครัวจะสงบร่มเย็นเป็นสุข

            ๓.        ประเทศชาติจะมีคนดีไว้ใช้

            ๔.        เป็นต้นแบบที่ดีงามของสังคมสืบไปตลอดกาลนาน

                                                            ฯลฯ

            “บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมปรารถนาอภิชาตบุตร อนุชาตบุตร ไม่ปรารถนาอวชาตบุตรผู้ตัดสกุล บุตรเหล่านี้แล มีพร้อมอยู่ในโลก บุตรเหล่าใดเป็นอุบาสก มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ บุตรเหล่านั้น ย่อมไพโรจน์ในบริษัททั้งหลาย เหมือนพระจันทร์พ้นจากก้อนเมฆ ไพโรจน์อยู่"

ขุ. อิติ. ๒๕/๒๕๒/๒๘๐

 

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

มงคลชีวิต

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

มงคลชีวิต 38 ประการทั้งหมด

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล