:มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

ลำดับเรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

มงคลชีวิต 38 ประการ มงคล ที่ 29 เห็นสมณะ

มงคล ที่ ๒๙  เห็นสมณะ

มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

                                                           

เด็กต้องการตัวอย่างที่ดี

จากพ่อแม่ครูอาจารย์ฉันใด

ชาวโลกทั้งหลายก็ต้องการตัวอย่างที่ดี

จากสมณะฉันนั้น

 

ทำไมจึงต้องเห็นสมณะ ?

            ความสุขทั้งหลายในโลกนี้มีอยู่ ๒ ประเภท คือ

            ๑.        ความสุขที่ต้องอิงวัตถุกามหรือกามสุข เป็นความสุขทางเนื้อหนัง เช่น  ได้เห็นรูปส่วย ได้ฟังเพลงเพราะๆ ได้กลิ่นหอมๆ ได้กินอาหารอร่อยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล ฯลฯ  จัดเป็นความสุขภายนอกที่เห็นกันได้ง่าย

            ๒.        ความสุขที่ไม่ต้องอิงวัตถุ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการเจริญ         ภาวนาให้ใจสงบและเกิดปัญญา เป็นความสุขของผู้เข้าถึงธรรม จัดเป็นความสุข ภายใน เมื่อเทียบกันแล้ว ความสุขภายในอันเกิดจากความสงบนั้นเป็นสุขที่เลิศกว่าอย่างเทียบไม่ได้  แต่เห็นและเข้าใจได้ยากกว่า

            ความสุขภายในนั้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะเราคาดคะเนไม่ได้ เป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติธรรม ยังไม่เคยพบกับความสุขชนิดนี้ ก็จะไม่คุ้น แม้อ่านจากตำราก็ยากจะเข้าใจ เช่น พระท่านบอกว่าผู้ที่รักษาศีลแล้วจะมีจิตที่ร่าเริงแจ่มใส ถ้าคนยังไม่เคยปฏิบัติธรรมจะนึกค้านทันทีว่าคนรักษาศีลจะร่าเริงได้อย่างไร จะทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็ต้องคอยระวังกลัวจะผิดศีล สู้คนไม่มีศีลไม่ได้ จะดื่มเหล้าก็ดื่มได้ จะเที่ยวก็เที่ยวได้  เห็นพวกขี้เมาร้องรำทำเพลง เชียร์มวยแทงม้าส่งเสียงกันอึงคะนึงร่าเริงสนุกสนานกว่าตั้งเยอะ แล้วมาบอกว่ารักษาศีลแล้วจิตจะร่าเริงแจ่มใส อย่ามาหลอกกันให้ยากเลย เราไม่ยอมเชื่อหรอก

            ต่อเมื่อใดได้พบคนที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้ได้ เห็นคนที่รักษาศีลมาแล้วอย่างดีเยี่ยม หน้าตาท่านก็ผ่องใส ไม่บึ้งไม่ตึง พูดจาก็ไพเราะ ถึงได้เชื่อว่า เออจริง คนที่รักษาศีลมาแล้วอย่างดี เขาร่าเริง แต่ร่าเริงอีกอย่าง ไม่เหมือนที่เราเคยเห็น ไม่เหมือนที่เราเคยรู้จัก ถึงแม้ยังไม่ปักใจเชื่อแต่อย่างน้อยก็คิดที่จะทดลองทำตาม แม้ไม่ได้ทำตามอย่างน้อยก็ฉุกคิดถึงการทำความดีบางอย่างขึ้นมาได้

            คนที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้ได้ คือสมณะ ซึ่งถ้าใครได้เห็นแล้วจะเกิดแรงบันดาลใจให้คิดถึงธรรม เหมือนระเบิดที่จุดชนวนแล้วย่อมแสดงอานุภาพออกมาเต็มที่ สติปัญญา ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ จะได้รับการกระตุ้นจากการเห็นสมณะให้นำมาใช้สร้างความดีได้เต็มที่

 

สมณะ คือ ใคร ?

            สมณะ แปลว่า ผู้สงบ หมายถึง บรรพชิตที่ได้บำเพ็ญสมณธรรม ฝึกฝนตนเองด้วยศีล สมาธิ ปัญญา มาแล้วอย่างเต็มที่ จนกระทั่งมีกาย วาจา ใจ สงบแล้วจากบาป  สมณะทุกรูปจึงต้องเป็นบรรพชิต  แต่บรรพชิตบางรูปอาจไม่ได้เป็นสมณะก็ได้

            “คนเราไม่ใช่จะเป็นสมณะเพราะหัวโล้น  คนที่ไม่ทำกิจวัตร  มีแต่พูดพล่อยๆ  มีความริษยากัน เป็นคนละโมบ จะจัดเป็นสมณะได้อย่างไร

            คนที่เราตถาคตเรียกว่า สมณะ นั้น  จะต้องเป็นผู้ระงับจากการทำบาปน้อยใหญ่เสีย”

ขุ. ธ. ๒๕/๒๙/๕๐

 

มงคล ที่ ๒๙  เห็นสมณะ มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า มงคลชีวิต พม.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

           

ลักษณะของสมณะ

            ๑.        สมณะต้องสงบกาย คือมีความสำรวม ไม่คะนอง ไม่มีกิริยาร้าย เช่น ทุบตี ชกต่อย ฆ่าฟัน สะพายดาบ พกมีดพกปืน เดินขบวน หรือเฮโล   ยกพวกเข้าชิงดีชิงเด่น แย่งที่อยู่ที่ทำกินกัน อันเป็นกิริยาของคนไม่สงบ คนที่เป็นสมณะไม่ว่าจะเข้าที่ไหนจะอยู่ที่ไหน  ย่อมจะไม่ทำความชอกช้ำแก่ใคร

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชมพระโมคคัลลานะในเรื่องนี้ว่า ท่านแม้จะมีฤทธิ์เดชมาก แต่ไม่ว่าจะไปที่ใดก็ไม่เคยทำความช้ำชอกแก่ตระกูลนั้นเลย จะบิณฑบาตรับของถวายอะไรก็ตาม ก็คอยดูว่าเขาจะเดือดร้อนไหม รับแต่พอประมาณ เปรียบเหมือนแมลงภู่บินเข้าสวน ดูดเกสรดอกไม้จนอิ่มหนำสำราญ แต่ไม่เคยทำความช้ำชอกให้แก่ดอกไม้เลย

            นอกจากนี้แล้วสมณะยังต้องคำนึงถึง สมณสารูป  คือจะทำอะไรต้องให้ควรแก่สมณวิสัย

            ๒.        สมณะต้องสงบวาจา คือไม่เป็นคนปากร้าย ไม่นินทาว่าร้ายใคร ไม่ยุยงใส่ร้ายป้ายสีกัน จะเป็นระหว่างพระกับพระ หรือพระกับฆราวาสก็ตาม จะทำไปโดยอ้างคณะ อ้างนิกาย อ้างวัด อ้างพวกไม่ได้ทั้งนั้น มีแต่วาจาที่เป็นอรรถเป็นธรรม ไม่ใช่วาจาเหมือนคมหอกคมดาบ แม้การพูดให้คนอื่นกระดากขวยเขิน  เช่น พูดจาเกาะแกะผู้หญิงเล่นสนุกๆ ก็ผิดสมณสารูป

            ๓.        สมณะต้องสงบใจ คือทำใจให้หยุดนิ่งเป็นสุขอยู่ภายใน สงบจากบาปกรรม ตรึกนึกถึงธรรมเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทำเป็นสงบแต่เปลือกนอกเหมือนเสือเฒ่าจำศีล จิตใจของสมณะที่แท้ย่อมเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ไม่เป็นภัยต่อผู้ใด

            การที่มีความสงบกาย วาจา ใจ  ทั้ง ๓ ประการนี้  ส่งผลให้สมณะมีความสง่างามอยู่ในตัว 

มีคำอยู่ ๒ คำที่ใช้ชมความงามของคน  คือถ้าชมชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไปเราใช้คำว่า สวยงาม  แต่ถ้าจะชมสมณะเราใช้คำว่า สง่างาม เป็นความงามที่สง่า และยังมีความสงบเสงี่ยมอยู่ในตัว ทั้งสง่างามและสงบเสงี่ยม แต่ไม่จ๋อง ไม่กระจอกงอกง่อย เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณธรรมที่ตนเองปฏิบัติอยู่  มีความอิ่มเอิบอยู่ในธรรม  เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประพฤติดีปฏิบัติชอบ

            “สมณะจึงเป็นมาตรฐานความประพฤติของชาวโลกทั้งหลาย”

 

ลักษณะของสมณะในเชิงปฏิบัติ

            ๑.        สมณะต้องไม่ทำอันตรายใคร ไม่ว่าทางกายหรือทางวาจาก็ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร  แม้ในความคิดก็ไม่คิดให้ร้ายใคร

            ๒.        สมณะต้องไม่เห็นแก่ลาภ  ดำรงชีพอยู่เพียงเพื่อทำความเพียร  มีความสันโดษ  ไม่เป็นคนเห็นแก่กิน  เห็นแก่ปากแก่ท้อง

            ๓.        สมณะต้องบำเพ็ญสมณธรรม พยายามฝึกฝนตนเอง ไม่เอาแต่           นั่งๆ นอนๆ แต่บำเพ็ญกิจวัตรของสมณะ เช่น การสวดมนต์ทำวัตร การศึกษาพระธรรมวินัย กิริยามารยาทต่างๆ ตั้งใจฝึกฝนอย่างเต็มที่

            ๔.        สมณะต้องบำเพ็ญตบะ คือทำความเพียรเพื่อกำจัดกิเลส เป็นทหารในกองทัพธรรมอย่างเต็มที่ ตั้งใจรบเอาชนะกิเลสให้ได้ ไม่ว่าจะโดยการเดินจงกรม ทำสมาธิ อยู่ธุดงค์ ก็ตาม

 

ชนิดของการเห็นสมณะ

            การเห็นของคนแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ

            ๑.        เห็นด้วยตา เรียกว่า พบเห็น คือเห็นถึงรูปร่าง ลักษณะกิริยามารยาทอันสง่างาม และสงบของท่าน

            ๒.        เห็นด้วยใจ เรียกว่า คิดเห็น คือนอกจากจะเห็นตัวท่านซึ่งเป็นสมณะบุคคลแล้ว ยังพิจารณาตรองดูด้วยใจ จนสามารถคาดคะเนได้ถึงคุณธรรมภายใน ที่ทำให้ท่านสงบเสงี่ยม แต่สง่างามอย่างน่าอัศจรรย์ หรือเรียกว่าเห็นถึงสมณธรรมของท่าน

            ๓.        เห็นด้วยญาณ เรียกว่า รู้เห็น คือไม่ใช่เป็นเพียงการคิดคาดคะเนถึงคุณธรรมของท่านเท่านั้น แต่เห็นด้วยญาณทัศนะ เห็นด้วยปัญญาทางธรรม ทีเดียวว่า ท่านมีคุณธรรมมากเพียงใด เป็นการเห็นของผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาดีแล้ว จนเข้าถึงธรรมกายในตัว แล้วอาศัยญาณทัสนะมองทะลุเข้าไปในใจคนอื่นได้  การเห็นชนิดนี้ชัดเจนถูกต้องแน่นอนไม่มีการผิดพลาด

 

กิจที่ควรทำเพื่อให้เกิดประโยชน์

จากการเห็นสมณะ

            ในการเห็นสมณะนั้น ถ้าหากเห็นเพียงชั่วขณะ เช่น เห็นท่านเดินผ่านไป หรือเราเผอิญเดินไปเห็นท่านแล้วก็ผ่านเลยไป อย่างนั้นได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ เพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่จากการเห็นสมณะ  พึงกระทำดังนี้

             ๑.        ต้องเข้าไปหา หมายถึง หมั่นเข้าใกล้ ไปมาหาสู่ท่าน เห็นคุณค่าในการเห็นสมณะ แม้งานจะยุ่งเพียงไรก็พยายามหาเวลาเข้าไปหาท่านเสมอ เพื่อรับการถ่ายทอดคุณธรรม

            ๒.        ต้องเข้าไปบำรุง หมายถึง เข้าไปช่วยทำกิจของท่าน เช่น ปัดกวาดเช็ดถูกุฏิ  จัดหาปัจจัย ๔ ไปถวายท่าน  ท่านจะได้ไม่มีภาระมาก  และจะได้มีเวลามีโอกาสได้สนทนาธรรมกันมากขึ้น

             ๓.        ตามฟัง  หมายถึง ตั้งใจฟังคำเทศน์คำสอนของท่านด้วยใจจดจ่อ

         ๔.        ตามระลึกถึงท่าน หมายถึง เมื่อพบท่านได้ฟังคำสอนของท่านแล้วก็ตามระลึกถึง ทั้งกิริยามารยาทของท่าน นำคำสอนโอวาทของท่านมาไตร่ตรองพิจารณาอยู่เสมอ

            ๕.        ตามดูตามเห็น หมายถึง ดูท่านด้วยตาเนื้อของเราด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างหนึ่ง และตามดูท่านด้วยความคิดและปัญญาทางธรรม ให้เห็นตัวสมณธรรมของท่านอีกอย่างหนึ่ง  เห็นท่านทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น  ไม่ดื้อรั้น

 

เหตุที่ชาวโลกอยากให้สมณะ

หรือพระมีศีลไปเยี่ยมบ้าน

            เมื่อสมณะหรือพระผู้มีศีลบริสุทธิ์เข้าสู่สกุลใด มนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก  ด้วยฐานะ ๕ ประการ ดังนี้

            ๑.        จิตของเขาย่อมเลื่อมใสเพราะได้เห็นสมณะ  เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า  ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อสวรรค์

            ๒.        เขาย่อมพากันต้อนรับกราบไหว้ ให้อาสนะแก่สมณะซึ่งเข้าไปสู่สกุล  เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการเกิดในสกุลสูง

            ๓.        เขาย่อมกำจัดมลทินคือความตระหนี่เสียได้ ในสมณะซึ่งเข้าไปสู่สกุล เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้เกียรติศักดิ์อันยิ่งใหญ่

            ๔.        เขาย่อมแจกจ่ายทานตามสติกำลังในสมณะผู้เข้าไปสู่สกุล เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า  ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้โภคะใหญ่

            ๕.        เขาย่อมไต่ถาม สอบสวน ฟังธรรม จากสมณะซึ่งเข้าไปสู่สกุล เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า  ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้ปัญญาใหญ่

 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อพบสมณะ

            ๑.        ถ้าไทยธรรมมีอยู่  พึงต้อนรับด้วยไทยธรรมนั้นตามสมควร

            ๒.        ถ้าไทยธรรมไม่มี  พึงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์

            ๓.        ถ้าไม่สะดวกในการกราบก็ประณมมือไหว้

            ๔.        ถ้าไหว้ไม่สะดวกก็ยืนตรง  หรือแสดงความเคารพด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น หลีกทางให้

            ๕.        อย่างน้อยที่สุด ต้องแลดูด้วยจิตเลื่อมใส

 

อานิสงส์การเห็นสมณะ

            ๑.        ทำให้ได้สติ ฉุกคิดถึงบุญกุศล

            ๒.        ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดีตามท่าน

            ๓.        ทำให้ตาแจ่มใสดุจแก้วมณี

            ๔.        ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท

            ๕.        ชื่อว่าได้บูชาพระรัตนตรัยอย่างยิ่ง

            ๖.        ทำให้ได้สมบัติ ๓ คือมนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ โดยง่าย

            ๗.        ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย

                                    ฯลฯ

 

ตัวอย่างอานิสงส์การเห็นสมณะ

            พระสารีบุตรสมัยที่ยังเป็นกุลบุตรชื่อ อุปติสสะ เกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง ได้ศึกษาศิลปวิทยาการทางโลกมาจนจบวิชา ๑๘ ประการ  หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วต้องการแสวงหาโมกขธรรม จึงออกบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก เพราะขณะนั้นยังไม่พบพระพุทธศาสนา ศึกษาจนหมดแล้วก็ยังไม่สามารถปราบกิเลสในตัวได้  จึงออกท่องเที่ยวไปโดยหวังว่าอาจพบพระอรหันต์ในโลกนี้

            อยู่มาวันหนึ่งไปพบพระอัสสชิ ซึ่งเป็นพระอรหันต์แล้ว กำลังเดินบิณฑบาตอยู่ เห็นท่านมีผิวพรรณผ่องใส กิริยามารยาทงดงาม ท่าทางสงบสำรวม เกิดความเลื่อมใสจึงติดตามไปและจัดที่นั่งให้ฉันอาหาร รอจนท่านฉันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เข้าไปกราบเรียนถามท่านว่า

            “ท่านขอรับ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณก็บริสุทธิ์ ท่านตั้งใจบวชอุทิศใคร  ใครเป็นศาสดาของท่าน  ท่านชอบใจธรรมของใคร?”

            พระอัสสชิตอบว่า

            “พระมหาสมณะผู้เป็นบุตรศากยราช ผู้ออกบวชจากศากยตระกูลนั้น มีอยู่ เราตั้งใจบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นศาสดาของเรา  เราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น”

            พระสารีบุตรถามต่อว่า

            “ศาสดาของท่านมีปกติสอนอย่างไร?”

            พระอัสสชิตอบว่า

            “เราเป็นผู้บวชใหม่อยู่ เพิ่งเข้าสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นาน ไม่อาจแสดงธรรมให้พิสดารได้ แต่เราพอจะแสดงได้เฉพาะความย่อ

            ธรรมเหล่าใดเกิดขึ้นแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น  พระมหาสมณะมีปกติตรัสสอนอย่างนี้”

            พระสารีบุตรท่านฟังแล้วตรองตาม ก็ได้เข้าถึงธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบันอยู่ตรงนั้นเอง

            พวกเราฟังดูแล้วเป็นอย่างไร ธรรมที่พระอัสสชิทรงแสดง ฟังแล้วก็งั้นๆ ไม่ค่อยเข้าใจ  ไม่ค่อยซาบซึ้งเท่าไร  เพราะภพในอดีตพบเห็นสมณะมาก็มาก แต่ยังไม่ค่อยได้ใส่ใจ แค่พบเห็นด้วยตาเนื้อ ยังไม่ได้คิดเห็นด้วยใจ หรือรู้เห็นด้วยญาณทัสนะถึงคุณธรรมของท่าน

            แต่พระสารีบุตรท่านไม่ใช่อย่างเรา  ท่านเห็นสมณะข้ามภพข้ามชาติมามาก เห็นแล้วก็ไม่ใช่เพียงแค่พบเห็น แต่พยายามทั้งคิดเห็นรู้เห็นถึงคุณธรรมของท่าน พยายามตรึกตรองให้เข้าใจให้ได้ มาในภพนี้ พระอัสสชิเทศน์เพียงสั้นๆ ย่อๆ เท่านี้ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน  นี่คืออานิสงส์ของการเห็นสมณะทั้งภพในอดีตและภพชาติปัจจุบัน

            นอกจากนี้เราลองสังเกตถึงคุณธรรมของท่านทั้งสองต่อไปอีก พระสารีบุตรก็เป็นคนรู้จักกาลเทศะ รอปรนนิบัติจนพระอัสสชิฉันภัตตาหารเสร็จแล้วจึงได้ถามธรรมะ พระอัสสชิเองก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเต็มที่ ตนเองเป็นถึงพระอรหันต์แล้ว แต่ก็ยังถ่อมตนว่ายังเป็นผู้บวชใหม่อยู่ เพิ่งเข้าสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นาน  ยังไม่อาจแสดงธรรมโดยพิสดารได้  ได้แต่แสดงแบบย่อๆ

            เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคน ใครที่นึกเอาว่าตนเองเก่งนักเก่งหนา วางก้ามวางโตน่ะ ลองถามตัวเองดูก่อนเถอะว่า คุณธรรมในตัวนั้นมีขนาดไหน  เก่งกล้าสามารถจริงแล้วหรือถึงได้อวดเบ่งอย่างนั้น  อย่าเลย  มาฝึกฝนตนเองให้มีคุณธรรมจริง  แต่ไม่อวดตัวอวดเบ่งอย่างพระอัสสชิ และให้มีความเคารพรู้จักเห็นสมณะอย่างพระสารีบุตรกันเถิด

 

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

มงคลชีวิต

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

มงคลชีวิต 38 ประการทั้งหมด

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล