:มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

ลำดับเรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

มงคลชีวิต 38 ประการ มงคล ที่ 16 ประพฤติธรรม

 

มงคล ที่ ๑๖  ประพฤติธรรม

มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 

ไม้จันทร์แม้แห้ง  ยังไม่สิ้นกลิ่นหอม

อ้อยแม้ถูกหีบ  ยังไม่สิ้นรสหวาน

เกลือแม้ถูกสะตุ  ยังไม่สิ้นรสเค็ม

บัณฑิตแม้ตกทุกข์  ยังไม่เลิกประพฤติธรรม

 

การประพฤติธรรม คือ อะไร ?

            การประพฤติธรรม คือการประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของความถูกต้องและความดี ทั้งปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดีสมกับที่เกิดเป็นคนและให้มีความเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง

            เราจะเห็นได้ว่า การประพฤติธรรมนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ เป็นมงคลที่ ๑๖  ก่อนมงคลที่ ๑๗ และ ๑๘  คือการสงเคราะห์ญาติและการ ทำงานไม่มีโทษ

            เหตุที่พระองค์ทรงวางลำดับมงคลว่าด้วยการประพฤติธรรมไว้ตรงนี้ ก็เพราะในการสงเคราะห์ญาติและการทำงานไม่มีโทษ ซึ่งเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น  เราต้องมีการทำงานติดต่อกับคนจำนวนมาก  ซึ่งมีอัธยาศัยต่างๆ กันไป ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดีแล้ว โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันก็มีมาก โอกาสที่เราจะทำให้งานเสียเพราะขาดความเป็นธรรมก็มีมากเช่นกัน

            ดังนั้น ก่อนทำงานเพื่อส่วนรวมจึงต้องประพฤติธรรม เพื่อเป็นการ               ปรับปรุงตนให้พร้อมที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างผาสุก ไม่นำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งได้แก่การประพฤติปฏิบัติตน ๒ ลักษณะควบคู่กันไป ได้แก่

            ๑.        ประพฤติเป็นธรรม

            ๒.        ประพฤติตามธรรม

            ประพฤติเป็นธรรม  คือมีความเที่ยงธรรม เป็นความถูกต้องและเป็นความดี

            ความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคมนั้น ขึ้นอยู่กับหลักธรรมอย่างหนึ่งคือ “ความเป็นธรรม” สังคมใดก็ตามแม้จะมีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์มั่งคั่งบริบูรณ์ แต่ถ้าขาด “ความเป็นธรรม” เสียอย่างเดียว  สังคมนั้นก็จะมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย

            เพราะขาดความเป็นธรรม  ครอบครัวจึงแตกสลาย

            เพราะขาดความเป็นธรรม  บ้านเมืองจึงเกิดปฏิวัติรัฐประหาร

            เพราะขาดความเป็นธรรมธรรม  สงครามระหว่างประเทศจึงเกิดขึ้น

            ความเป็นธรรม คือการกระทำที่ชอบด้วยเหตุผล เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกหนทุกแห่ง มีบางคนเข้าใจว่า ความเป็นธรรมก็คือความยุติธรรมเป็นเรื่องมาจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้ให้ ตนเป็นผู้รับ ความเข้าใจเช่นนี้ผิด อันที่จริงความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องให้แก่กัน

มงคล ที่ 16 ประพฤติธรรม มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

            เราจึงต้องฝึกตนเองให้เป็นคนที่ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างชอบด้วยเหตุผล มีความเป็นธรรมไม่ลำเอียงเพราะอคติ ๔ ประการ  ดังต่อไปนี้

            ๑.        ไม่ลำเอียงเพราะรัก เช่น ถึงจะรักนาย ก มากเพียงใดก็ตาม แต่ถ้า ไม่มีผลงานดีเด่นก็ต้องยกย่องคนอื่นที่มีความสามารถดีกว่าขึ้นมา ไม่เห็นแก่หน้า ข้อนี้รวมถึงการไม่เป็นคนโลภ ไม่รักทรัพย์สมบัติมากจนยอมเสียความเป็นธรรม

            ๒.        ไม่ลำเอียงเพราะชัง  คือถึงจะเกลียดหรือไม่ชอบใครเป็นเรื่อง     ส่วนตัว ก็ไม่นำมาปนกับงานซึ่งเป็นเรื่องส่วนรวม หากเขาทำความดีก็ต้องปูนบำเหน็จรางวัลให้เช่นเดียวกับคนอื่น ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

            ๓.        ไม่ลำเอียงเพราะหลง คือเป็นคนมีปัญญา หูตากว้างไกล รู้เท่าทันคน ไม่โง่  ใครๆ ไม่สามารถหลอกลวงได้  ไม่เป็นผู้ใหญ่ชนิดลงโทษผู้น้อยโดยที่ไม่ได้ไต่สวนความผิดให้ชัดเจนก่อน  เป็นต้น

            ๔.        ไม่ลำเอียงเพราะกลัวภัย คือมีใจอาจหาญไม่หวั่นไหว ไม่เกรงต่ออิทธิพลมืดใดๆ ถึงจะถูกขู่ทำร้ายก็ไม่ยอมเสียความเป็นธรรม เพราะมีความรักธรรมยิ่งกว่าชีวิต

            คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้  คนทุกคนจำเป็นต้องมี  มิฉะนั้นโลกนี้ก็จะวุ่นวาย  โดยเฉพาะผู้นำทุกท่านจะต้องปลูกฝังคุณสมบัติดังกล่าวนี้ ให้เกิดขึ้นในใจตนอย่างเต็มเปี่ยม เพื่อไม่ให้เป็นที่ติฉันได้ในภายหลัง

 

“ผู้ใดไม่ละเมิดความยุติธรรม

เพราะความรัก ความชัง ความโง่เขลา และความกลัว

ยศของผู้นั้น ย่อมเด่นดุจดวงจันทร์

เปล่งแสงสว่างในข้างขึ้นทุกค่ำคืน”

(อคติสูตร)  องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๘/๒๓

 

            ประพฤติตามธรรม คือการประพฤติปฏิบัติตนตามธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน ฝึกฝนอบรมตนเองให้คุณธรรมในตัวสูงขึ้นประณีต    ขึ้นตามลำดับ ได้แก่ การปฏิบัติตามหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ดังนี้

            ๑.    เว้นจากการฆ่าสัตว์ คือไม่ฆ่าสัตว์ นับตั้งแต่ฆ่าคนทั่วไป ฆ่าสัตว์ ที่มีคุณ และฆ่าสัตว์อื่นๆ

            เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้  ต้องการให้ทุกคนรู้จักแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ไม่ใช่โดยวิธีฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งเสีย เพราะการฆ่านั้น ผู้ฆ่าย่อมเกิดความทารุณโหดร้ายขึ้นในใจ ทำให้ใจเศร้าหมองและตนก็ต้องรับผลกรรมต่อไป และต้องคอยหวาดระแวงว่าญาติพี่น้องเขาจะมาทำร้ายตอบเป็นการแก้ปัญหาซึ่งจะสร้างปัญหาอื่นๆ  ต่อมาโดยไม่จบสิ้น

            ๒.        เว้นจากการลักทรัพย์ คือไม่แสวงหาทรัพย์มาโดยทางทุจริต เช่น

            ลัก                   =          ขโมยเอาลับหลัง

            ฉก                   =          ชิงเอาซึ่งหน้า

            กรรโชก            =          ขู่เอา

            ปล้น               =           รวมหัวกันแย่งเอา

            ตู่                      =          เถียงเอา

            ฉ้อ                   =          โกงเอา

            หลอก             =           ทำให้เขาหลงเชื่อแล้วให้ทรัพย์

            ลวง                 =           เบี่ยงบ่ายลวงเขา

            ปลอม             =           ทำของที่ไม่จริง

            ตระบัด            =          ปฏิเสธ

            เบียดบัง          =          ซุกซ่อนเอาบางส่วน

            สับเปลี่ยน       =          แอบเปลี่ยนของ

            ลักลอบ            =          แอบนำเข้าหรือออก

            ยักยอก            =          เบียดบังเอาของในหน้าที่ตน

            เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต  ซึ่งจะทำให้ใช้ทรัพย์ได้เต็มอิ่มไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน

            ๓.        เว้นจากการประพฤติผิดในกาม คือไม่กระทำผิดในทางเพศ ไม่ ลุอำนาจแก่ความกำหนัด เช่น การเป็นชู้กับสามีภรรยาคนอื่น การข่มขืน การฉุดคร่าอนาจาร

            เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนมีจิตใจสูง เคารพในสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม

            ๔.        เว้นจากการพูดเท็จ คือต้องไม่เจตนาพูดให้ผู้ฟังเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง  ซึ่งรวมถึงการทำเท็จให้คนอื่นหลงเชื่อรวม ๗ วิธีด้วยกัน คือ

            พูดปด                       = โกหกซึ่งๆ หน้า

            ทนสาบาน                = อ้างสิ่งต่างๆ ทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อ

            ทำเล่ห์กระเท่ห์         = ทำกลอุบายหรือเงือนงำอันอาจทำในคนอื่นหลงเข้าใจผิด

            มารยา                     =  เช่น เจ็บน้อยทำเป็นเจ็บมาก

            ทำเลศ                      = ทำทีให้ผู้อื่นตีความคลาดเคลื่อนเอาเอง

            เสริมความ                = เรื่องนิดเดียวทำให้เห็นเป็นเรื่องใหญ่

            อำความ                    = เรื่องใหญ่ปิดบังไว้ให้เป็นเรื่องเล็กน้อย

            การเว้นจากพูดเท็จต่างๆ เหล่านี้ หมายถึง

            -           ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งตน กลัวภัยจะมาถึงตนจึงโกหก

            -           ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งคนอื่น รักเขาอยากให้เขาได้ ประโยชน์จึงโกหก หรือเพราะเกลียดเขา อยากให้เขาเสียประโยชน์จึงโกหก

            -           ไม่ยอมพูดเท็จเพราะเห็นแก่อามิสสินบน เช่น อยากได้ทรัพย์สิน เงินทองสิ่งของ จึงโกหก

            เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนมีความสัตย์จริงกล้าเผชิญหน้ากับความจริงเยี่ยงสุภาพชน ไม่หนีปัญหา หรือหาประโยชน์ใส่ตัวด้วยการพูดเท็จ

            ๕.        เว้นจากการพูดส่อเสียด คือไม่เก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ ด้วยเจตนาจะยุแหย่ให้เขาแตกกัน ควรกล่าวแต่ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี

            เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการไม่ให้คนเราหาความชอบด้วยการประจบสอพลอ ไม่เป็นบ่างช่างยุ ต้องการให้หมู่คณะสงบสุขสามัคคี

            ๖.        เว้นจากการพูดคำหยาบ คือไม่พูดคำซึ่งทำให้คนฟังเกิดความ    ระคายใจ ครูดหู และส่อว่าผู้พูดเองเป็นคนมีสกุลต่ำ ได้แก่

            คำด่า              =           พูดเผ็ดร้อน แทงหัวใจ พูดกดให้ต่ำ

            คำประชด        =          พูดกระแทกแดกดัน

            คำกระทบ        =          พูดเปรียบเปรยให้เจ็บใจเมื่อได้คิด

            คำแดกดัน       =          พูดกระแทกกระทั้น

            คำสบถ            =          พูดแช่งชักหักกระดูก

            คำหยาบโลน   =          พูดคำที่สังคมรังเกียจ

            คำอาฆาต        =          พูดให้หวาดกลัวว่าจะถูกทำร้าย

            เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนเป็นสุภาพชน รู้จักสำรวมวาจาของตน  ไม่ก่อความระคายใจแก่ผู้อื่นด้วยคำพูด

            ๗.        เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ  คือไม่พูดเหลวไหล  ไม่พูดพล่อยๆ สักแต่ ว่ามีปากอยากพูดก็พูดไปหาสาระมิได้ แต่พูดถ้อยคำที่มีสาระ มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง ถูกกาลเวลา มีประโยชน์

            เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อถ้อยคำของตน

            ๘.        ไม่โลภอยากได้ของเขา คือไม่เพ่งเล็งที่จะเอาทรัพย์ของคนอื่นในทางทุจริต

            เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเราเคารพในสิทธิข้าวของของผู้อื่น มีจิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่านไหวกระเพื่อมไปเพราะความอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น ทำให้มีใจผ่องแผ้ว มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม

            ๙.        ไม่พยาบาทปองร้ายเขา คือไม่ผูกใจเจ็บ ไม่คิดอาฆาตล้างแค้น ไม่จองเวร  มีใจเบิกบาน  แจ่มใสไม่ขุ่นมัว  ไม่เกลือกกลั้วด้วยโทสะจริต

            เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเรารู้จักให้อภัยทาน ไม่คิดทำลาย  ทำให้จิตใจสงบผ่องแผ้วเกิดความคิดสร้างสรรค์

            ๑๐. ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม  คือไม่คิดแย้งกับหลักธรรม  เช่น มีความเห็นที่เป็น สัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ คือ

            ๑.        เห็นว่าการให้ทานดีจริง ควรทำ

            ๒.        เห็นว่ายัญที่บูชาแล้วมีผล คือ เห็นว่าการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นเป็นสิ่งดี ควรทำ

            ๓.        เห็นว่าการบูชาบุคคลที่ควรบูชาดีจริง ควรทำ

            ๔.        เห็นว่าผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วดีจริง

            ๕.        เห็นว่าโลกนี้มีจริง

            ๖.        เห็นว่าโลกหน้ามีจริง

            ๗.        เห็นว่ามารดามีพระคุณต่อเราจริง

            ๘.        เห็นว่าบิดามีพระคุณต่อเราจริง

            ๙.        เห็นว่าสัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมีจริง (นรกสวรรค์มีจริง)

            ๑๐       เห็นว่าสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฎิบัติชอบหมดกิเลสแล้วสอนผู้อื่น ให้รู้แจ้งตามมีจริง

            เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเรามีพื้นใจดี มีมาตรฐานความคิดที่ถูกต้อง ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง มีวินิจฉัยถูก มีหลักการ   มีแนวความคิดที่ถูกต้อง  ส่งผลให้ความคิดในเรื่องอื่นถูกต้องตามไปด้วย

 

“เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง

ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น

หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

เพิ่มพูนไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย”

องฺ. เอก. ๒๐/๑๘๒/๔๐

 

            คุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้  คนทุกคนจำเป็นต้องฝึกให้มีในตน  โดยเฉพาะผู้นำ ผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม จะต้องฝึกให้มีในตนอย่างเต็มที่ จึงจะทำงานได้ผลดี

            “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม บุคคลใด หวังความสุข หวังความเป็นใหญ่  หวังความก้าวหน้า  ต้องประพฤติธรรม”

 

อานิสงส์การประพฤติธรรม

            ๑.        เป็นมหากุศล

            ๒.        เป็นผู้ไม่ประมาท

            ๓.        เป็นผู้รักษาสัทธรรม

            ๔.        เป็นผู้นำพระพุทธศาสนาให้เจริญ

            ๕.        เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า

            ๖.        ไม่ก่อเวรก่อภัยกับใครๆ

            ๗.        เป็นผู้ให้อภัยแก่สรรพสัตว์

            ๘.        เป็นผู้ดำเนินตามปฏิปทาของนักปราชญ์

            ๙.        สร้างความเจริญความสงบสุขแก่ตนเองและส่วนรวม

            ๑๐. เป็นผู้สร้างทางมนุษย์ สวรรค์ พรหม นิพพาน

ฯลฯ

 

“ธมฺมจารี สุขํ เสติ

การประพฤติธรรม นำสุขมาให้”

ขุ. ธ. ๒๕/๒๓/๓๗

 

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

มงคลชีวิต

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

มงคลชีวิต 38 ประการทั้งหมด

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล