:มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

ลำดับเรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

มงคลชีวิต 38 ประการ มงคล ที่ 28 เป็นคนว่าง่าย

 

 มงคล ที่ ๒๘  เป็นคนว่าง่าย

มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 

คนเป็นอัมพาต

แม้จะมีของดีวางอยู่รอบตัว

ก็ไม่อาจหยิบฉวยนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ฉันใด

คนหัวดื้อว่ายาก

แม้จะมีครูอาจารย์ดีวิเศษแค่ไหน

ก็ไม่สามารถถ่ายทอดเอาวิชา คุณความดี มาใส่ตัวฉันนั้น

 

คนว่าง่าย คือ ใคร ?

            คนว่าง่ายสอนง่าย  คือคนที่อดทนต่อคำสั่งสอนได้ เมื่อมีผู้รู้แนะนำพร่ำสอนให้ ตักเตือนให้โดยชอบธรรมแล้ว ย่อมปฏิบัติตามคำสอนนั้นด้วยความเคารพอ่อนน้อม ไม่คัดค้าน ไม่โต้ตอบ ไม่แก้ตัวโดยประการใดๆ ทั้งสิ้น

            คนบางคน อดทนอะไรได้สารพัด ทนแดดทนร้อน ทนความลำบากตรากตรำ  ป่วยไข้ไม่สบายแค่ไหนก็ไม่เคยบ่น แต่ทนไม่ได้เมื่อมีใครมาแนะนำสั่งสอนตักเตือน จะเกิดความรู้สึกคับแค้น โต้ตอบหักล้างขึ้นมาทันที เพราะเขามีเชื้อหัวดื้อ  ว่ายากสอนยากอยู่ในตัว


หากว่าเดิมเป็นคนโง่อยู่แล้ว  ก็สุดแสนจะเข็น

หากว่ามีความฉลาดอยู่บ้าง  ก็แสนจะตะบึงตะบัน

กลายเป็นคนอัมพาตทางใจ  รับคุณความดีจากใครไม่ได้

ดังนั้น เราจงมาเป็นคนว่าง่ายสอนง่ายกันเถิด

 

ลักษณะของคนว่าง่าย

            คนว่าง่ายสอนง่ายมีลักษณะที่สังเกตได้อยู่ ๑๑ ประการ คือ

            ๑.        ไม่กลบเกลื่อนเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือน ไม่แก้ตัว ไม่บิดพลิ้ว ยอมรับฟังด้วยความเคารพ

            ๒.        ไม่ยอมนิ่งเฉยเมื่อถูกตักเตือน พยายามปรับปรุงแก้ไขปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น

            ๓.        ไม่มีจิตเพ่งคุณเพ่งโทษผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือไม่คอยจับผิดท่าน แต่รับฟังโอวาทด้วยดี

            ๔.        เอื้อเฟื้อต่อคำสอนและต่อผู้สอนเป็นอย่างดียิ่ง คือยอมทำตามคำสอนนั้นและเชื่อฟังผู้สอนอย่างดี ทำให้ผู้สอนมีเมตตาเกิดกำลังใจที่จะสอนต่อๆ ไปอีก

            ๕.        เคารพต่อคำสอนและต่อผู้สอนเป็นอย่างดียิ่ง  ตระหนักดีว่าผู้ที่เตือนคนอื่นนั้น นับว่าเสี่ยงต่อการถูกโกรธมาก ดังนั้นการที่มีผู้ว่ากล่าวตักเตือนเรา แสดงว่าเขาจะต้องมีคุณธรรม มีความเสียสละ มีความเมตตาปรารถนาดีต่อตัวเราจริงๆ จึงต้องมีความเคารพต่อคำสอนและตัวผู้สอนเป็นอย่างดียิ่ง

            ๖.        มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอย่างดียิ่ง ไม่แสดงความกระด้างกระเดื่องโอหัง  คิดว่าตัวเองดีอยู่แล้ว เก่งอยู่แล้ว

            ๗.        มีความยินดีปรีดาต่อคำสอนนั้น ถึงกับเปล่งคำว่า สาธุ สาธุ สาธุ รับฟังโอวาทนั้น คือดีใจอย่างยิ่งว่าท่านกรุณาชี้ข้อบกพร่องของเราให้เห็น จะได้  รีบแก้ไข  เหมือนท่านชี้ขุมทรัพย์ให้  จึงเปล่งวาจาขอบคุณไม่ขาดปาก

            ๘.        ไม่ดื้อรั้น  คือไม่ดันทุรังทำไปตามอำเภอใจทั้งๆ ที่รู้ว่าผิด  แต่ทำไปตามความถูกต้อง  เมื่อผิดก็ยอมแก้ไขปฏิบัติไปตามสมควรแก่ธรรม

            ๙.        ไม่ยินดีในการขัดคอ ไม่พูดสวนขึ้นทันที  มีความประพฤติชอบเป็นที่พอใจ  เป็นที่ปราถนา

            ๑๐.      มีปกติรับโอวาทเอาไว้ดีเยี่ยม ตั้งใจฟังทุกแง่ทุกมุมไม่โต้ตอบ  ยิ่งไปกว่านั้นยังปวารณาตัวไว้อีกว่า  ให้ว่ากล่าวสั่งสอนได้ทุกเมื่อ  เห็นข้อบกพร่อง ของตนเมื่อใดก็ให้ตักเตือนได้ทันที

            ๑๑.      เป็นผู้อดทน แม้จะถูกว่ากล่าวสั่งสอนอย่างหยาบคายหรือดุด่าอย่างไรก็ไม่โกรธ  อดทนได้เสมอ  เพราะนึกถึงพระคุณของท่านเป็นอารมณ์

            โดยสรุปลักษณะคนว่าง่ายสอนง่าย  สรุปโดยย่อได้ ๓ ประการ คือ

            ๑.        รับฟังคำสั่งสอนด้วยดี ไม่กลบเกลื่อน ไม่แก้ตัว ไม่เถียง ไม่ขัดคอ ไม่โต้กลับ ไม่จ้องจับผิดท่าน

            ๒.        รับทำตามคำสั่งสอนด้วยดี ไม่ดื้อรั้นดันทุรัง ไม่รีรอ ไม่อิดออด กระบิดกระบวน

            ๓.        รับรู้คุณผู้สอนอย่างดี ไม่โกรธ ไม่คิดลบหลู่คุณท่าน อดทนได้แม้ถูกว่ากล่าวสั่งสอนโดยหยาบคาย  ไม่ว่าผู้สอนนั้นจะ

            -           เป็นผู้ใหญ่กว่า ซึ่งเราทำใจยอมรับได้ง่าย

            -           เป็นผู้เสมอกัน ซึ่งเราทำใจยอมรับได้ยากขึ้น

            -           เป็นผู้น้อยกว่า ซึ่งเราทำใจยอมรับได้ยากที่สุด

ประเภทของคนว่าง่าย

            โดยทั่วไปเรามักเข้าใจกันว่า คนที่เชื่อฟังผู้อื่น ไม่เถียง ทำตามที่ท่านสั่งสอน คือคนว่าง่าย ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะคนที่มีลักษณะดังกล่าวยังอาจแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท  ตามสาเหตุที่ทำให้เป็นคนว่าง่ายนั้น ดังนี้

            ๑.        ว่าง่ายเพราะเห็นแก่ได้ คือคนที่เห็นแก่อามิสรางวัล จึงว่าง่าย              เช่น ลูกเชื่อฟังพ่อแม่เพราะอยากได้มรดก ลูกน้องเชื่อฟังเจ้านายเพราะอยากได้รางวัล  พวกนี้เป็นคนว่าง่ายเทียม  จัดเป็นพวก คนหัวประจบ

            ๒.        ว่าง่ายเพราะขาดความเชื่อมั่นในตนเอง คือไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ใครบอกให้ทำอะไรก็ทำ ชวนเรียนหนังสือก็เรียน ชวนไปเที่ยวก็ไป ชวนดื่มเหล้าก็ดื่ม ชวนเล่นการพนันก็เล่น ชวนไปวัดก็ไป ดึงไปไหนก็ไปด้วย เป็นพวกที่เรียกกันว่า คนหัวอ่อน เป็นคนว่าง่ายเทียมอีกเหมือนกัน  จัดเป็นพวก คนโง่

            ๓.        ว่าง่ายเพราะเห็นแก่ความดี คือคนที่ยึดถือธรรมะเป็นใหญ่ เห็นแก่ธรรมจึงว่าง่าย ต้องการปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น เมื่อมีผู้ว่ากล่าวตักเตือน ชี้ข้อบกพร่องให้จึงพร้อมรับฟังด้วยดี ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ใหญ่กว่า หรือเด็กกว่าก็ตาม  จัดเป็นพวก คนว่าง่ายที่แท้จริง

 

เหตุแห่งความว่ายาก

            สาเหตุที่ทำให้คนเราว่ายากสอนยาก มีอยู่ ๑๖ ประการ คือ

            ๑.        มีความปรารถนาลามก เช่น อยากรวยจึงไปค้าฝิ่น ค้าเฮโรอีน เล่นการพนัน ใครห้ามก็ไม่ฟัง อยากได้ยศได้ตำแหน่งสูงๆ จึงทับถมเพื่อนร่วมงาน  กลัวเขาได้เกินหน้า ใครตักเตือนก็ไม่ฟัง

            ๒.        ชอบยกตนข่มท่าน  หลงตัวเองว่าวิเศษกว่าคนอื่น  ไปถึงไหนๆ ก็คิดแต่ว่าตนเก่ง  ใครๆ ก็สู้เราไม่ได้  ทำให้เกิดความทะนงตน ดื้อ ใครเตือนก็ไม่ฟัง

            ๓.        มีนิสัยมักโกรธ พอมีใครเตือนใครสอนอะไรก็โกรธขึ้นมาทันที พอเตือนครั้งสองครั้งก็มีอาการขึ้นมาทีเดียว “รู้แล้วน่ะ มาพูดเซ้าซี้อยู่ได้ เดี๋ยวไม่ทำเลย”แล้วก็หน้าหงิกหน้างอ หน้านิ่วคิ้วขมวด  คนพวกนี้ ว่ายาก

            ๔.        มีนิสัยผูกโกรธ  คือไม่ใช่โกรธธรรมดาแต่ใครทำให้โกรธหน่อยก็เก็บ ผูกติดเอาไว้ในใจเป็นปีๆ เลย คนพวกนี้ยิ้มไม่ค่อยเป็น หน้าบึ้งทั้งวัน ใครเตือนเข้าหน่อยเหมือนจะแยกเขี้ยวเข้าไล่งับทีเดียว ไม่ย่อมรับฟัง

            ๕.        มีความรังเกียจเหยียดหยามเพราะฤทธิ์โกรธ คือไม่ใช่แค่หน้าบึ้งเฉยๆ แต่พอโกรธ ใครเตือนทำให้ไม่พอใจแล้วก็แสดงอาการรังเกียจเหยียดหยามทันที เช่น กระทืบเท้าปังๆ กระแทกประตูโครมคราม สะบัดหน้าหนี      ถ่มน้ำลาย ฯลฯ

            ๖.        คิดต่อว่าต่อขาน คือพอมีใครมาตักเตือนเข้าแล้ว ก็เกิดอาการคันปากยิบๆ ขอให้ได้ต่อปากต่อคำแล้วจึงจะสมใจ เช่น ไปวัดมีคนเตือนให้แต่งตัวให้เรียบร้อย ก็ตอบทันทีว่า “หนักหัวใคร”เป็นเสียอย่างนั้น ชอบพูดคำที่ทำให้ใกล้ต่อความโกรธ  ไม่รับฟังคำแนะนำตักเตือน

            ๗.        คิดโต้แย้ง  คือเมื่อมีผู้แนะนำตักเตือนให้เห็นข้อบกพร่องของตนแล้ว ก็รีบโต้แย้งแก้ตัวทันที เช่น ไปหาผู้ใหญ่แล้วแต่งตัวไม่เรียบร้อย พอมีคนเตือนเข้าก็แย้งทันทีว่า “ชอบแต่งตัวตามสบาย ไม่เสแสร้งแกล้งทำ”เป็นเสียอย่างนั้น

            ๘.        คิดตะเพิด คือไม่สงบปากสงบคำรับเอาคำแนะนำจากผู้หวังดี แต่กลับพูดจาระรานเขา เช่น “คุณนี่ วันๆ ดีแต่นั่งจับผิดชาวบ้านเขาหรือไง” ตะเพิดเขาส่งไปเลย

            ๙.        คิดย้อน คือนอกจากไม่ฟังแล้วยังพูดย้อนให้เขาเจ็บใจ เช่น “คุณไม่ต้องมาสอนฉันหรอกน่า ฉันรู้จักเอาตัวรอดได้ ไปสอนสามีคุณลูกคุณเถอะไป๊”พูดย้อนเขาได้แล้วจึงจะสะใจ

            ๑๐.      คิดกลบเกลื่อน  คือพอมีใครพูดถึงข้อบกพร่องของตัวก็พูดกลบเกลื่อน เฉไฉออกไปเรื่องอื่น  ไม่ยอมรับ กลัวเสียหน้า

            ๑๑.      คิดนอกเรื่อง คือเมื่อมีคนเตือนแล้ว กลับมองเจตนาเขาไปอีกแง่หนึ่ง ว่าเขาเตือนเพื่อหวังผลประโยชน์ กลายเป็นคนมองคนในแง่ร้าย จึงไม่ยอมรับฟัง

            ๑๒.     คิดปิดบังซ่อนเงื่อน คือเมื่อไปทำอะไรผิดมาแล้วไม่ยอมเปิดเผย จึงกลายเป็นคนมีชนักติดหลัง ใครพูดอะไรนิดหน่อยก็หวาดสะดุ้ง เกรงเขาจะรู้ความผิดของตัว จึงมีใจขุ่นอยู่เสมอ ไม่เป็นอันตั้งใจฟังอะไรได้ กลายเป็นคนว่ายากสอนยาก

            ๑๓.     คิดลบหลู่ตีเสมอ คือเป็นคนไม่มีความกตัญญู ใครทำความดีไว้กับตัว ก็พยายามลบหลู่ตีเสมอเหยียบย่ำเขาลงไป เพราะเกรงจะเสียเกียรติจะติดหนี้บุญคุณเขา

            ๑๔.     คิดริษยาเห็นแก่ตัวจัด คือเป็นคนใจแคบ ใครมาแนะนำอะไรก็รับไม่ได้  เกรงว่าเขาจะเหนือกว่าตัว  เกรงว่าเขาจะดีกว่าตัว

            ๑๕.     มีนิสัยโอ้อวด ไปไหนๆ ก็คุยอวดว่าตัวดี ตัวเก่ง พอคุยอวดบ่อยๆ เข้าก็จะเกิดความรู้สึกลึกๆ ในใจว่า  ตัวเองเก่งแล้ว  จึงไม่ยอมฟังคำเตือนของใคร

            ๑๖.      เป็นคนกระด้างมีมานะมาก   เป็นคนชนิดคอกระด้าง  คางแข้ง  มีทิฏฐิ  ใครมาแนะนำตักเตือนอะไรก็รับได้ยากจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านขึ้นทันทีคอแข็งเชิดหน้า  ใจปิดไม่ยอมรับฟัง

มงคล ที่ 28 เป็นคนว่าง่าย  มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

วิธีฝึกให้เป็นคนว่าง่าย

            เมื่อเราทราบแล้วว่าที่เราเป็นคนว่ายากก็เพราะนิสัยไม่ดีทั้ง ๑๖ ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว  ดังนั้นเพื่อจะให้เป็นคนว่าง่าย  เราก็ต้องกำจัดนิสัยที่ไม่ดี        ทั้ง ๑๖ ประการนั้นให้ทุเลาเบาบางและหมดไปจากใจ  ซึ่งทำได้ดังนี้

            ๑.        หมั่นนึกถึงโทษของความเป็นคนหัวดื้อว่ายาก ว่าทำให้ไม่สามารถรับเอาความดีจากใครๆ ได้  เหมือนคนเป็นอัมพาต แม้มีของดีรอบตัวก็หยิบเอามาใช้ไม่ได้  ถ้า หัวดื้อมากๆ ลงท้ายก็ไม่มีใครอยากสอนอยากเตือน  ต้องโง่ทั้งชาติทำผิดเรื่อยไป

            ๒.        ฝึกให้เป็นคนมากด้วยเคารพ  มองคนในแง่ดี   ใครมาแนะนำตัดเตือนเราไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม   นึกขอบคุณเขาในใจ  เพาระแสดงว่าเขามีความปรารถนาดีต่อเราจึงได้มาเตือน    ไม่ว่าเรื่องที่เตือนนั้นจะถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ก็ตามให้รับฟังไว้ก่อน   ไม่ด่วนเถียงหรือนึกดูหมิ่นเหยียดหยามเขาหมั่นนึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า  “ผู้ชี้โทษคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้”

            ๓.        ฝึกการปวารณา คือการออกปากยอมให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตน ไม่ว่าผู้นั้นจะมีอายุมากกว่า เท่ากัน หรือน้อยกว่าก็ตาม ตัวอย่างเช่น พระภิกษุมีวินัยอยู่ข้อหนึ่งว่า ในวันออกพรรษาให้มีการประชุมกันของพระภิกษุ ทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยในวันนั้นพระทุกรูปจะกล่าวคำปวารณากัน คืออนุญาตให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตัวเองได้  เรียกว่า วันมหาปวารณา  หลักการนี้สามารถ นำมาใช้กับคนทั่วไปได้ด้วย  เช่น  นำมาใช้ในหน่วยงานต่างๆ  หรือในครอบครัว  ซึ่งเมื่อทำบ่อยๆ แล้ว จะเกิดความเคยชิน เป็นนิสัย  เป็นการฝึกให้เป็นคนว่าง่าย สอนง่าย

            ๔.        ต้องฝึกสมาธิให้มาก เพื่อให้ใจผ่องใส หนักแน่น สามารถตรองตามคำแนะนำสั่งสอนของผู้อื่น มีใจสงบเยือกเย็นพอที่จะพิจารณาข้อบกพร่องของตนเอง  และปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคนหัวดื้อ

            คนหัวดื้อในโลกนี้  อาจแบ่งใหญ่ๆ ได้เป็น ๓ ประเภท คือ

            ๑.        ดื้อเพราะความโง่หรือความขี้เกียจ  จัดเป็นพวกดื้อด้าน

            ๒.        ดื้อเพราะทิฏฐิมานะหลงตัวเองว่ารู้แล้ว  จัดเป็นพวกดื้อดึง

            ๓.        ดื้อเพราะโทสะโกรธง่าย  จัดเป็นพวกบ้า

            ในการปกครองคนหัวดื้อก็มีข้อพึงสังวรอยู่คือ

            ๑.        พวกดื้อด้าน คือดื้อเพราะฤทธิ์โง่หรือขี้เกียจนั้น พวกนี้ชอบรับคำสั่ง คือมีอะไรก็ส่งไปให้ทำได้ แต่ไม่ชอบฟังคำสอน เพราะฟังไม่รู้เรื่องบ้าง ขี้เกียจฟังบ้าง

            ๒.        พวกดื้อดึง พวกนี้มีแววฉลาดอยู่เหมือนกัน แต่ว่ายังไม่เฉลียวรู้แค่จุดใดจุดหนึ่ง ก็คิดว่าตัวเองรู้หมดแล้ว คือไม่รู้ว่าตัวยังไม่รู้ เวลาใช้งาน  คนพวกนี้อย่าไปบังคับ อย่าไปสั่งอย่างเดียว เขาจะไม่ค่อยยอมรับ ต้องค่อยๆ สอน  ค่อยๆ อธิบายให้เข้าใจ  พูดให้เข้าใจถึงประโยชน์ของงานที่ทำ  ถ้าไม่ใช่คนที่ทิฏฐิมากจนเกินไปก็จะเข้าใจและรับไปทำได้ แต่ถ้าใครหลงตัวจัดมาก พูดอย่างไรก็ไม่ฟังก็ต้องปล่อยไป

            ๓.        พวกบ้า คือพูดอะไรผิดหน่อยก็โกรธ ฉุนเฉียวปึงปัง พวกนี้ยาก จะเอามาใช้ประโยชน์ได้ รังแต่จะทำให้หมู่คณะแตกแยกรวนเร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของจิตแพทย์จัดการดีกว่า

            นอกจากนี้ยังมีข้อน่าสนใจอยู่อีกหน่อยว่า ในการปกครองพวกคนดื้อดึงนั้น ถ้าหากว่ากล่าวสั่งสอนในขั้นแรกแล้วเขายังไม่ฟังจะทำอย่างไร คำตอบก็คือ ในขั้นที่สองก็ให้ลงโทษ อาจพักราชการ ตัดเงินเดือน หรืออะไรก็แล้วแต่ความเหมาะสม ถ้าหากว่ายังไม่เชื่อฟัง ในทางพระพุทธศาสนามีวิธีแก้อยู่อีกอย่างหนึ่งคือ ท่านใช้คำว่า ลงพรหมทัณฑ์ บางแห่งเขาเรียก คว่ำบาตร ดังมีตัวอย่างเรื่องในสมัยพุทธกาล ดังนี้

            นายฉันนะซึ่งเป็นคนตามเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งทรงม้ากัณฐกะออกบรรพชา ภายหลังนายได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุและเป็นคนหัวดื้อมาก เพราะถือตัวว่าเคยเป็นคนใกล้ชิด ใครจะสอนจะเตือนอย่างไรก็ไม่ฟัง พระอานนท์ จึงกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าจะทำอย่างไรดี พระบรมศาสดาจึงทรงแนะนำว่า เมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วให้ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ คือให้ภิกษุทุกรูปเลิกยุ่งเกี่ยวกับพระฉันนะ  ให้ทำเหมือนกับว่าไม่มีพระฉันนะอยู่ในโลก พระฉันนะอยากจะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำ ไม่มีใครยุ่งเกี่ยว ไม่มีใครพูดคุยด้วย ต่อจากนั้นไม่กี่วัน หลังจากไม่มีใครสนใจใยดีด้วย กลายเป็นตัวประหลาดในท่ามกลางหมู่สงฆ์ พระฉันนะก็รู้สึกสำนึกตัว สารภาพผิดต่อหมู่สงฆ์และเลิกดื้ออีกต่อไป

            การที่ทุกคนเลิกเกี่ยวข้องด้วย  ไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น เรียกว่า ลงพรหมทัณฑ์

            เพราะฉะนั้นถ้าในที่ทำงานไหน หรือตามโรงเรียน ตามบ้าน ถ้าเกิดมีลูกดื้อขึ้นมา ว่ายากสอนยากนัก พ่อแม่อาจจะลองลงพรหมทัณฑ์ลูกบ้างก็ได้ แก้โรคดื้อได้ชะงัดนัก แต่ว่าถ้าเกิดพ่อดื้อหรือว่าแม่ดื้อขึ้นมา ลูกขืนไปลงพรหม-ทัณฑ์ก็มีหวังโดนตะพด  ต้องดูให้พอเหมาะพอควรเป็นกรณีๆ ไป

 

อานิสงส์การเป็นคนว่าง่าย

            ๑.        ทำให้เป็นที่เมตตาอยากแนะนำพร่ำสอนของคนทั้งหลาย

            ๒.        ทำให้ได้รับโอวาท อนุสาสนี

            ๓.        ทำให้ได้ธรรมะอันเป็นที่พึ่งแก่ตน

            ๔.        ทำให้ละโทษทั้งปวงได้

            ๕.        ทำให้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงได้โดยง่าย

                                    ฯลฯ

 

“บุคคลควรเห็นผู้มีปัญญา

ที่คอยกล่าวคำขนาบ ชี้โทษของเราให้เห็น

ว่าเป็นดุจผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้

ควรคบกับบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น

เพราะเมื่อคบแล้ว

ย่อมมีแต่ดีฝ่ายเดียว ไม่มีเลวเลย”

ขุ. ธ. ๒๕/๑๖/๒๕

 

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

มงคลชีวิต

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

มงคลชีวิต 38 ประการทั้งหมด

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล