แต่ว่าอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า ในเรื่องของความรู้ธรรมะกับความรู้วิชาการทางโลก ..อย่าเอาไปปนกัน ผู้ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมในทางโลก ไม่ได้หมายความว่าจะมีสติปัญญาเฉียบแหลมในทางธรรม ตรงนี้ต้องชัด ๆ ก่อนเป็นประการที่ ๑
ประการที่ ๒ แม้ผู้ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีความเข้าใจในเรื่องทางธรรมเหมือน ๆ กัน ก็อย่าเพิ่งทึกทักว่าจิตใจของเขาจะเป็นธรรมเหมือนกัน เพราะว่าความรู้ความเข้าใจธรรมะมีหลายระดับ
ความรู้ในระดับที่เข้าใจ ระดับที่ใช้ตรึกตรอง พินิจพิจารณา แล้วเข้าใจเหตุผลว่า สิ่งนั้นเป็น อย่างนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ ที่เกิดกรรมดีอย่างนั้นขึ้น เพราะได้ไปทำอย่างนั้น ๆ เอาไว้ แล้วผลจึงส่งให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มองทะลุปรุโปร่งเข้าใจหมด นี้เป็นเพียงระดับเข้าใจ ยังไม่เกิดผลดีอย่าง แท้จริง ที่จะเกิดผลดีอย่างแท้จริงขึ้นมาได้อยู่ที่ได้นำธรรมะที่ศึกษาดีแล้วไปปฏิบัติจนกระทั่งกลาย เป็นนิสัย ทั้งเนื้อทั้งตัวกลายเป็นธรรมะขึ้นมา ไม่ใช่แค่รู้ แค่ท่องจำ เอาไปสอบ เอาไปเทศน์ นั้นเป็นคนละระดับกัน
ก็อยากจะให้กำลังใจ ให้ความเข้าใจกับท่านผู้ถามว่า ท่านผู้พิพากษาเหล่านั้น สติปัญญาของท่านอาจจะเฉียบแหลมในระดับเดียวกับเรา หย่อนกว่า หรือมากกว่าเราก็ตาม แต่ว่าสติปัญญาของท่านถูกทุ่มเทนำไปใช้ในเรื่องของการพิพากษา หรือเรื่องของคดีความเป็นหลัก หรือบางท่านอาจจะมีความเฉียบแหลมในเรื่องทางธรรมมากกว่าเราหรือเท่ากับเรา แต่ว่านั้นเป็นความเข้าใจธรรมะ ท่านจะก้าวล่วงไปถึงขนาดฝึกธรรมะหรือนำธรรมะนั้น ไปฝึกปฏิบัติให้เป็นนิสัยใจคอในชีวิตประจำวันได้แล้วหรือยัง ตรงนี้ไม่แน่ อาจจะยังไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น ในเมื่อเราได้ เราก็มีสิทธิ์ที่จะเทศน์ ที่จะบรรยายให้ท่านฟังได้อีกเหมือนกัน
" ..ในโลกนี้ การได้ยินได้ฟังธรรมะจากผู้ที่ปฏิบัติธรรมตัวจริง เป็นมงคลอย่างยิ่ง หาฟังได้ไม่ง่าย.. "
สมมติว่าท่านก็นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ไม่ได้น้อยกว่าเรา อาจจะดีกว่าเราด้วย เพราะท่านเป็นผู้พิพากษา แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร เพราะว่าท่านที่มีความรู้ทางธรรมอย่างดี และปฏิบัติธรรมอย่างดีนั้น อย่าว่าแต่จะฟังธรรมะจากผู้ที่มีธรรมะเสมอกันกับท่านเลย แม้หย่อนกว่าท่าน ท่านก็ยินดีที่จะฟัง เพราะว่าในโลกนี้ การได้ยินได้ฟังธรรมะจากผู้ที่ปฏิบัติธรรมตัวจริง เป็นมงคลอย่างยิ่ง หาฟังได้ไม่ง่าย
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณโยมมั่นใจในความรู้ธรรมะและการปฏิบัติธรรมของตัวเองว่าไม่ผิดพลาด ก็ไปบรรยายให้ท่านฟัง ท่านก็จะชื่นใจ การที่เราไปบรรยายให้ท่านเหล่านี้ฟัง จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวล ดีเสียอีก ถ้าเราเกิดมีอะไรผิดพลาด ท่านจะได้ช่วยตักเตือนหรือชี้แนะให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งก็เป็นบุญของเรา
ถ้าเรามองความจริงของโลกอย่างนี้ แล้วเข้าใจความเมตตากรุณา ความยุติธรรมของท่านผู้พิพากษาตามความเป็นจริงอย่างนี้ คุณโยมไม่ต้องกลัว อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราจะต้องเตรียมตัวก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ถ้าจะแนะนำธรรมะข้อใดกับใคร เราต้องปฏิบัติธรรมะ ข้อนั้นให้ได้เสียก่อน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวไปพูดผิดพลาดเข้าจะยุ่ง
ประการแรก เขาโต้แย้งมาเราก็เสียหายหน้าแตก หรือถ้าเขาไม่รู้ เขาเชื่อเราทั้ง ๆ ที่เรา พูดผิด เขาก็นำธรรมะข้อนั้นไปปฏิบัติแบบผิด ๆ เมื่อไปปฏิบัติแบบผิด ๆ บาปก็เกิดกับเขา เมื่อบาปเกิดกับเขา เขาก็ตกนรกทั้งเป็น ตายไปก็ตกนรกจริง ๆ แล้วลึกด้วย
ประการที่ ๒ เรื่องที่คุณโยมจะนำไปพูด ให้คัดเฉพาะที่เราปฏิบัติได้จริง เมื่อเป็นอย่างนี้พูด ๑๐๐ ครั้ง ก็ถูกทั้ง ๑๐๐ หน ไม่มีคลาดเคลื่อน ได้บุญทั้งผู้พูด ได้บุญทั้งผู้ฟัง ในเรื่องนี้หลวงพ่อได้รับคำแนะนำจากคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง อาจารย์ของหลวงพ่อ เมื่อหลวงพ่อบวชพรรษาแรก มีญาติโยมมาขอร้องให้เทศน์ ก็ไม่รู้จะเทศน์เรื่องอะไรดี โดยเฉพาะเขาไม่ได้กำหนดหัวข้อมาอย่างชัดเจน ก็เลยไปปรึกษาขอบิณฑบาตความรู้จากคุณยาย คุณยายตอบชัดเลยว่า "ท่านก็ถามตัวเองสิ ตั้งแต่เข้าวัดปฏิบัติธรรม ตั้งแต่มาเจอยาย ตั้งแต่มาบวช ได้ปรับปรุงแก้ไขนิสัยตัวเองให้ดีขึ้นในเรื่องใดบ้าง อย่างไรบ้าง ไปนึกทบทวนให้ดี พอทบทวนเสร็จเรียบร้อยแล้วว่าเราเคยแก้ไขเรื่องนี้ แก้อย่างนี้แล้วทำให้เราดีขึ้นได้ ก็นำเรื่องนั้นแหละไปเทศน์ รับรองจะต้องถูกใจเขา เพราะว่าไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหน ๆ กิเลสที่มีอยู่ในใจคนก็มี ๓ ตัวเหมือนกัน คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง"
เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดในสิ่งที่ถูก อย่างไรก็ต้องถูกใจเขาวันยังค่ำ และจะเกิดประโยชน์ แน่ ๆ กับผู้ฟัง และเป็นการทบทวนความดีของเราด้วย บุญก็จะเกิดด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย คุณยายท่านให้คำแนะนำหลวงพ่อมาอย่างนี้ แล้วหลวงพ่อก็ทำอย่างนี้มาตลอดชีวิตของความเป็นพระ ก็ไปทดลองทำดูเถิด ขอการันตีว่าได้ผล
|