วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ คุณค่าการบวชในพระพุทธศาสนา ตอนที่ ๑

พระธรรมเทศนา



คุณค่าการบวชในพระพุทธศาสนา

ตอนที่ ๑

เรียบเรียงจากโอวาทพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

          การบวช คือ การสละชีวิตในทางโลกเข้าสู่ชีวิตในทางธรรม เพื่อฝึกฝนอบรมกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ด้วยการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การทำพระนิพพานให้แจ้ง เพื่อกำจัดทุกข์ให้หมดสิ้นไป (ไม่ว่าจะเป็นการบวชช่วงสั้นหรือบวชตลอดชีวิตก็ตาม)

ทุกข์ที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้น

           ตลอดระยะเวลา ๙ เดือนที่อยู่ในครรภ์ของแม่ เราได้รับอาหารจากสายรกของแม่ ได้รับการปกป้องดูแลจากแม่ด้วยชีวิต แต่ทันทีที่เราถูกตัดสายสะดือคลอดออกจากครรภ์ ของมารดา เราต่างตกอยู่ในภาวะวิกฤตคับขันดุจเดียวกันทั้งสิ้น และสิ่งแรกที่ต้องรีบทำ ก็คือ พึ่งตนเองให้เร็วที่สุดด้วยการหายใจด้วยตัวเอง เพื่อเติมธาตุลมให้กับชีวิต ถ้าวินาทีนั้น เรา หายใจด้วยตัวเองไม่เป็น เราก็ต้องตาย

           วินาทีแรกเกิดนั้น คือ ภาวะที่อ่อนแอที่สุด ยากจนที่สุด และโง่เขลาที่สุด ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันเลย

          ภาวะคับขั้นทั้ง ๓ ประการนี้ สามารถทำให้เราตายได้ตลอดเวลา ยิ่งกว่านั้น ยังได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาประจำชีวิต ๓ ประการ อีกด้วย

          ๑. ปัญหาจากการดำรงชีพ เช่น ปัญหาจากการแสวงหาทรัพย์ไม่เป็น ปัญหาจากความเป็นหนี้ ปัญหาจากสภาพดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย เป็นต้น
          ๒. ปัญหาจากการอยู่ร่วมกัน เช่น ปัญหาจากการเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาจากการเบียดเบียนรังแก ปัญหาจากการฉกชิงวิ่งราว ปัญหาจากการก่ออาชญากรรม เป็นต้น
          ๓. ปัญหาอำนาจกิเลส เช่น ปัญหาจากความโลภโมโทสัน ปัญหาจากความอาฆาตพยาบาท ปัญหาจากความลุ่มหลงมัวเมา เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้เอง ชีวิตของคนเราที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จ ต้องประสบความทุกข์ ยากลำบากสารพัด จนย่ำแย่แก้ไม่ตกกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะไม่สามารถแก้ไขกำจัดปัญหาประจำชีวิตทั้ง ๓ ประการนี้ได้นั่นเอง

พระบรมครูผู้ชี้ทางกำจัดทุกข์

          บุคคลที่สามารถกำจัดปัญหาประจำชีวิตทั้ง ๓ ประการได้หมดสิ้นนั้น มีเพียง มหาบุรุษเอกท่านเดียวในโลก นั่นคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทรงกำจัดกิเลส อันเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งปวงได้หมดสิ้นเด็ดขาดด้วยการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างสละชีวิตเป็นเดิมพัน

          หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงชักชวนให้ผู้อื่นปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามมา ยังผลให้มีผู้คนจำนวนมากกำจัดปัญหาประจำชีวิตทั้ง ๓ ประการนั้นตามพระองค์ไปได้สำเร็จ ชาวโลกจึงพากันยกย่องว่า พระองค์ทรงเป็น "พระบรมครูŽ "

          ศิษย์สาวกที่บรรลุธรรมตามคำสอนของพระองค์ จึงมีทุกระดับชนชั้น ตั้งแต่กษัตริย์ ขุนนาง พ่อค้า ประชาชน ไม่ยกเว้นแม้แต่คนยากจนเข็ญใจ ทุกคนล้วนมีสิทธิเสมอภาคในการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามพระองค์ไปได้ทั้งสิ้น

คุณสมบัติของผู้บรรลุธรรม

          ในการสอนนั้น พระพุทธองค์ทรงทราบดีว่า บุคคลที่จะปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้เต็มที่นั้น จะต้อง "ออกบวช"Ž และต้องฝึกตัวเองให้เป็น "ผู้มีคุณสมบัติ ๕ ประการ ที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม"Ž ได้แก่

          ๑. เป็นผู้มีศรัทธา หมายถึง ผู้ที่ยึดเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นแบบ การกำจัดทุกข์อย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันไว้ประจำใจของตน เพื่อให้เกิดเป้าหมาย เกิดกำลังใจ ที่จะศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระองค์ท่านด้วยความเคารพเลื่อมใสอย่างอุทิศ ชีวิตเป็นเดิมพัน

          ๒. เป็นผู้มีอาพาธน้อย หมายถึง ผู้ที่รู้ประมาณในการใช้สอยปัจจัย ๔ ให้เหมาะสมกับวัยและสุขภาพของตน รวมถึงรู้จักการดูแล ๕ ห้องชีวิต ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว ห้องอาหาร ห้องทำงาน ให้มีความสะอาด เป็นระเบียบ ไม่รกหู ไม่รกตา ไม่รกใจ และไม่ทำลายสุขภาพของตนตามพระธรรมวินัย

          ๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวด-ไม่มีมารยา หมายถึง ผู้ที่ไม่มีข้อแม้เงื่อนไขในการฝึกอบรมตนตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด โดยเป็นผู้มีสัจจะต่อหน้าที่ สัจจะต่อการงาน สัจจะต่อวาจา สัจจะต่อบุคคล สัจจะต่อศีลธรรม จึงจะสามารถทำให้ความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ อันเป็นต้นทางแห่งการบรรลุอริยสัจ เกิดขึ้นในตนได้สำเร็จ

          ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร หมายถึง ผู้ที่หมั่นแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีของตนเองให้หมดไป หมั่นพัฒนานิสัยที่ดีให้เพิ่มพูนในตน และหมั่นกลั่นใจให้ผ่องใสเป็นปกติ เช่น มีความตรงต่อเวลาในการทำกิจวัตรต่าง ๆ ทั้งตื่นนอนตรงเวลา ทำงานตรงเวลา รับประทานอาหารตรงเวลา ทำความสะอาดตรงเวลา เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด ก็คือ หมั่นเจริญภาวนาตรงเวลา โดยไม่มีข้อแม้เงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น



          ๕. เป็นผู้มีปัญญาในการกำจัดทุกข์ หมายถึง ผู้ที่มีความใฝ่ในการศึกษาพระธรรม-วินัย ทั้งภาคปริยัติ ภาคปฏิบัติ ภาคปฏิเวธ เพื่อจะได้มีปัญญาในการสอนตนเอง มีปัญญาแก้ไขนิสัยไม่ดีของตนเอง และมีปัญญาประเมินผลการเจริญภาวนา ของตนเองว่ามีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด ซึ่งจะต้องปฏิบัติไปจนกว่าจะสามารถมองเห็นใจของตนเอง มองเห็นกิเลสที่หุ้มใจ มองเห็นกิเลสถูกกำจัดออกไป และใจหลอมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับความบริสุทธิ์ของนิพพาน จึงจะถือว่าเป็นการจบการศึกษาในพระพุทธศาสนา

          คุณสมบัติทั้ง ๕ ประการนี้ พระพุทธองค์ถึงกับรับรองว่า หากพระองค์เป็นผู้ฝึกอบรม ด้วยพระองค์เอง ถ้าสอนตอนเช้า ก็จะบรรลุธรรมตอนเย็น ถ้าสอนตอนเย็น ก็จะบรรลุธรรม ตอนเช้า สอนไม่เกินครึ่งวัน ก็จะบรรลุธรรมตามพระองค์ไปได้ และนั่นหมายความว่า ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา จะได้คุณค่าจากพระพุทธศาสนามากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับว่า บุคคลนั้น ๆ ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองให้ได้คุณสมบัติที่เอื้อต่อการบรรลุธรรมทั้ง ๕ ประการ ได้มากได้น้อย ได้ช้าได้เร็วนั่นเอง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล