วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เรียนอย่างไรให้มีความสุขในมหาวิทยาลัย

ทันโลกทันธรรม

เรื่อง พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโณ (M.D., Ph.D.)
จากรายการทันโลกทันธรรม ออกกากาศทางช่อง DMC

 



 

เรียนอย่างไรให้มีความสุขในมหาวิทยาลัย

...................................................

          ขณะนี้อยู่ในช่วงเปิดเทอมใหม่ บรรยากาศทุกอย่างยังสดใส มีน้องใหม่เข้ามาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มากมาย บรรยากาศในรั้วมหาวิทยาลัยสำหรับน้องใหม่ แต่ละคนก็คงเป็นบรรยากาศที่ตื่นตา ตื่นใจ เพราะต่างจากชีวิตในโรงเรียนประถมหรือมัธยมมาก เมื่อก่อนถึงเวลาก็ต้องไปโรงเรียน อาจารย์ ก็เช็คชื่อ ต้องเข้าห้องเรียน โดดไม่ได้ เลิกเรียนก็กลับบ้าน การแต่งกายก็มียูนิฟอร์ม ทุกอย่างชัดเจน

          แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย ชีวิตก็เป็นอิสรเสรีมากขึ้น ตลอด ๕ วัน มีชั่วโมงเรียนไม่เต็มวัน ต่างจากในโรงเรียน บางทีก็มีชั่วโมงว่าง สัปดาห์หนึ่ง เรียนประมาณ ๒๐ ชั่วโมง เพราะความจริงแล้วเขาหวังให้เอาชั่วโมงว่างไปค้นคว้าด้วยตนเอง ไม่ใช่เรียน ในลักษณะป้อนให้อย่างเดียวเหมือนในโรงเรียน แต่ว่าตัวของนักศึกษาเองรู้สึกว่ามีชั่วโมงว่างเกิดขึ้น ชีวิตเสรีกว่าเก่า จะเข้ามหาวิทยาลัยหรือจะเดินออกก็ไม่มี ใครคอยเช็คชื่อ จะเข้าเรียนหรือไม่ก็แล้วแต่ความพอใจ จะโดดเรียนก็ได้ แต่ถึงเวลาก็สอบให้ได้ก็แล้วกันชีวิตเปลี่ยนไปมาก ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายสำหรับ บางคน

          อาตมามีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง อยู่คณะวิศวะฯ จุฬาฯ เข้าจุฬาฯ รุ่นเดียวกัน อยู่โรงเรียนเตรียมฯ ก็เรียนมาด้วยกัน พอเข้าจุฬาฯ อาตมาอยู่คณะแพทย์ฯ แต่ก็ไปซ้อมกีฬา ซ้อมวิ่งด้วยกัน ชีวิตเสรีมาก เทอมแรกเขาก็เลยใช้ความเสรีอย่างเต็มที่ ทั้งที่เดิมเป็นเด็กเรียนดี แต่ผลการสอบเทอมแรกออก มาปรากฏว่าได้เกรด ๐.๗ เจ้าตัวเห็นใบเกรดแล้วช็อกเลย ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ ญาติพี่น้องทุกคนช็อกหมด ถ้าไม่แก้ไขตรงนี้ถูกรีไทร์แน่นอน เพราะว่าเกรด ที่ถือว่าผ่านต้อง ๒.๐๐ ขึ้นไป ถ้าหากสิ้นปีแรกใครได้เกรดต่ำกว่า ๒ ก็ถือว่าติดโปรเบชั่น (probation) ถ้าต่ำกว่า ๑.๗๕ ก็ซ้ำชั้น ถ้าต่ำกว่า ๑.๕ ก็จะถูกรีไทร์ คือ ไล่ออกจากมหาวิทยาลัย

          เกรดเทอมแรกออกมา ๐.๗ ต่ำกว่า ๑.๕ ตั้งเยอะ มีสิทธิ์ถูกรีไทร์สูงมาก ถ้าเทอม ๒ ไม่รีบแก้ตัว เอาเกรดเฉลี่ยดึงขึ้นมาให้ได้จะต้องเสร็จแน่นอน เขาเลยหยุดการเล่นทุกอย่าง แล้วกลับเข้า ห้องเรียนและทุ่มเทให้การเรียนเต็มที่ เทอม ๒ ได้เกรด ๓.๔ รวม ๒ เทอม เฉลี่ยกันแล้วได้ประมาณ ๒.๑ ก็พอรอดตัวไปได้ พ้นรีไทร์ พ้นโปรเบชัน นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่หวาดเสียวมาก

          ถ้าใครเจอเทอมแรก ๐.๗ แล้วช็อก เทอม ๒ ยังช็อกต่อ ก็คงจะถูกรีไทร์ให้ออกจากมหาวิทยาลัย อนาคตเปลี่ยนไปหมดเลย จากที่ภูมิใจเข้าวิศวะฯ จุฬาฯ ได้เพียงปีเดียวทุกอย่างเหมือนตกจากฟากฟ้า ลงมาที่พื้น ไม่เหลืออะไรเลย

          เพราะฉะนั้น ขอฝากน้องใหม่หรือแม้พี่เก่าบางคนก็ตาม อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยอย่าเพลินเกินไป ตอนนี้ถือว่าเราโตแล้ว ไม่มีครูบาอาจารย์มาจ้ำจี้จำไช เหมือนสมัยอยู่ประถม มัธยม เราจะต้องจ้ำจี้จ้ำไชตัวเอง ต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องมีวินัยในการศึกษา เล่าเรียน ถึงเวลาเรียนก็เรียน ถึงคราวว่างจะเล่นก็เล่น รับผิดชอบตัวเองให้ได้ แยกให้ออก

          แต่มีประสบการณ์ที่เคยเจอมาด้วยตัวเอง คือ นิสิตนักศึกษาชมรมพุทธฯ จะมีลักษณะแปลกจากคนอื่น ๆ นิดหนึ่ง ถ้าหากเป็นนิสิตนักศึกษาทั่วไป คนไหนที่ชอบโดดเรียนจนติดเป็นนิสัย เกรดก็มักจะรั้งท้ายปลายแถว หนึ่งกว่า ๆ สองนิด ๆ แล้วมักจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แต่ของนิสิตนักศึกษา ชมรมพุทธฯ จะไม่ใช่ บางครั้งถ้าช่วงที่กิจกรรมกำลังหนักเต็มที่ เกรดอาจจะตกลงมานิดหนึ่ง แต่ถ้าปลอดกิจกรรมเมื่อไร เกรดพร้อมจะพุ่งขึ้นไปทันที เพราะแม้จะมีช่วงขาดเรียนอยู่บ้าง ก็ไม่ใช่ขาดไปเที่ยวเตร่เฮฮา แต่ไปช่วยกันทำงานที่สร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนนิสิตนักศึกษาและเยาวชน เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ

          อาตมาเองตอนเรียนอยู่ปี ๓ คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นปีแรกที่มีการจัดนิทรรศการร่วมกันระหว่างชมรมพุทธศาสตร์ ๖ สถาบัน โดยจัดที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชื่อนิทรรศการคนไทยต้องรู้ เนื่องจากเป็นครั้งแรกและเป็นนิทรรศการที่ใหญ่ต้องเตรียมงานมากถึง ๒ สัปดาห์เต็ม ๆ ตั้งแต่ช่วงเตรียมงานจนกระทั่งเสร็จงาน อาตมาไม่ได้เหยียบเท้าเข้าไปที่คณะแพทย์ฯ เลย แม้แต่ก้าวเดียว เรียกว่าโดดเรียน ๒ สัปดาห์เต็ม ๆ เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ แต่อาตมาก็ตัดใจ เพราะว่า งานรออยู่ และมีความสำคัญมาก แล้วเราคำนวณ ทุกอย่างเสร็จแล้วว่า อย่างไรการเรียนของเราก็ไปได้ ช่วง ๒ สัปดาห์นั้นไม่ห่วงเรียนเลย ไปลุยงานเต็มที่ มีคนมาชมงานประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ถือว่าประสบ ความสำเร็จมาก ถึงเวลาประชุมสรุปงาน พอแนะนำ ตัวเสร็จเรียบร้อย นักศึกษาชมรมพุทธฯ รามคำแหง หลายคนแปลกใจ นึกว่าอาตมาก็เป็นนักศึกษารามคำแหงด้วย เพราะเห็นขลุกอยู่ด้วยกันตลอด พอบอกว่ามาจากจุฬาฯ เขาก็แปลกใจ

          แต่พอเสร็จงานแล้ว เก็บงานเรียบร้อยก็กลับเข้าห้องเรียน เหลือเวลาอีก ๗ วัน จะสอบมิดเทอม ก็ไปยืมสมุดเพื่อนมาถ่ายเอกสาร ชอร์ตโน้ตที่อาจารย์ เลกเชอร์เอาไว้ขอมาดูทั้งหมด รวบรวมหนังสือที่จะต้องอ่านทั้งหมดว่ามีเท่าไร แล้ววางแผนว่า ๗ วันนี้จะทำอย่างไร แล้วก็ไปสอบ เรียนอย่างนี้มาตลอด ก็เลยไม่ได้เกียรตินิยม ได้เกรดแค่ ๓ กว่านิดหน่อย แต่ไม่ถึงขั้นเกียรตินิยม แค่พอเอาตัวรอดได้ แต่ถ้าหากตอนอยู่วอร์ด กิจกรรมไม่หนักมากนัก คะแนน ก็พร้อมจะพุ่งขึ้นมาท็อปได้เหมือนกัน ลักษณะของนิสิตนักศึกษาชมรมพุทธฯ จะเป็นอย่างนี้

          แต่นั้นเป็นสมัยเมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว เป็นยุค บุกเบิกของชมรมพุทธศาสตร์ คนช่วยงานยังไม่ค่อย มาก เลยต้องรับงานหนัก เพราะกำลังขยายงานใหญ่ เป็นงานระดับประเทศ แต่ช่วงหลังมีคนช่วยงานมาก ขึ้น สามารถแบ่งงานกันได้ ก็เลยไม่หนักเหมือนเก่า เห็นรุ่นหลัง ๆ หลาย ๆ คน มารายงานตัวรับปริญญา เอาปริญญามาให้ดู ก็เห็นว่าชาวชมรมพุทธฯ ได้เกียรตินิยมเยอะ อันดับ ๑ ก็มี เหรียญทองก็มี เหรียญเงินก็มี เห็นแล้วก็ชื่นใจว่าอย่างนี้ใช้ได้ ได้ทั้งวิชาความรู้ ได้ทั้งกิจกรรม และได้ฝึกตัวเอง ด้วยการทำงานจริงไปด้วย อย่างนี้เป็นประโยชน์มาก

          ก็ให้พวกเราทุกคนสร้างวินัยในการศึกษาเล่าเรียนให้ดี ถึงเวลาเรียนก็เรียน ถึงเวลาทำกิจกรรม ก็ทำ เวลาเรียนไม่ห่วงกิจกรรม เวลาทำกิจกรรมก็ไม่ห่วงเรื่องเรียน จัดสรรเวลาให้ดี แล้วการศึกษาของเราจะไปได้

          ประการที่ ๒ ชีวิตในมหาวิทยาลัย นอกจาก เรื่องการศึกษาเล่าเรียนแล้ว ยังมีเรื่องของเพื่อน ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ เพราะคนที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเป็นวัยรุ่น อายุประมาณ ๑๘-๒๓ ปี เป็นวัยที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องการเพื่อน ต้องการสังคม ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าไปในมหาวิทยาลัย แรก ๆ เขาจะมีการรับน้อง ปฐมนิเทศที่หอประชุมใหญ่ เสร็จแล้วพี่ ๆ แต่ละคณะก็มารอรับขวัญน้อง ทำพิธีรับน้องใหม่

          ตอนอาตมาเป็นน้องใหม่ ก็มีคนมารับน้องเราเหมือนกัน แต่ว่าเขารับในเชิงสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ดี ไม่ได้มีอะไรรุนแรงเหมือนปัจจุบัน พออยู่มาจนเป็นพี่เก่าแล้วก็ดูแลน้องแบบเดียวกัน รับน้องแล้วก็ แนะนำให้คำปรึกษา เพื่อให้เขาประสบความสำเร็จ ในการศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย

         พออยู่คณะแพทย์ฯ ปีสูง ๆ ปี ๔ ปี ๕ เริ่มฝึกงานรักษาคนไข้ เราจะรู้เลยว่าในช่วงรับน้องใหม่ ของคณะ เช่น คณะวิศวะฯ นิสิตคณะแพทย์ฯ ที่อยู่ เวรห้องฉุกเฉิน จะต้องตั้งหลักเตรียมรับ ต้องเตรียม กลูโคสเป็นบ้อง ๆ เลย ที่เรียกเป็นบ้อง ๆ ที่จริงก็คือ เข็มฉีดยาเล่มโต ๆ เล่มหนึ่งที่จุกลูโคสเข้มข้นได้ตั้ง ๕๐ ซีซี พอดึก ๆ ประมาณ ๔-๕ ทุ่ม จะมี น้องใหม่วิศวะฯ ที่ถูกรุ่นพี่มอมเหล้าจนกระทั่งเมาไม่ได้สติ กึ่ง ๆ จะช็อก ถูกหามมาส่งโรงพยาบาล พอมาถึงหมอก็จะฉีดกลูโคสเข้าเส้นเลือด เพราะว่ากลูโคสจะทำให้สร่างเมาได้ พอกลูโคสเข้าเส้นเลือด คนไข้ที่เมาไม่ได้สติก็จะเริ่มสร่างเมา กลูโคสที่ฉีดเข้า ไปจะป้องกันไม่ให้ช็อกหรือเกิดอันตรายที่ร้ายแรง

        มีเพื่อนอาตมาอีกคนหนึ่งเข้าวิศวะฯ เหมือน กัน เดิมก็เรียนดี เทอมแรกไม่หนักขนาดคนแรก ได้เกรดประมาณสองนิด ๆ แต่ต่อมาเกเร ดื่มเหล้า เมายา เกรดก็เหลือ ๑.๘, ๑.๙, ๒.๑ ประมาณนี้ เรียน ๕ ปีจบ ไปทำงานก็ไม่ใคร่จะประสบความสำเร็จ เพราะติดนิสัยเป็นคนขี้เมาไปแล้ว อยู่โรงเรียนเตรียมฯ ไม่เคยดื่มเหล้าเลย ดื่มครั้งแรกตอนรับน้องใหม่ ถูกรุ่นพี่คะยั้นคะยอก็เลยดื่ม ต้องเฮฮาเข้ากับรุ่นพี่และเพื่อน ๆ พอดื่มบ่อย ๆ ก็ติดเป็นนิสัย สุดท้าย ชีวิตก็เปลี่ยนไป เห็นแล้วยังนึกเสียดาย น่าจะปรับปรุงแก้ไขวิธีรับน้องใหม่ ซึ่งเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้คงมีหลายสถาบันที่ปรับปรุงดีขึ้นแล้ว ถ้าหากที่ไหนยังมีอย่างนี้อยู่ขอให้เปลี่ยนเถิด ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย มีแต่โทษ

          มีบางคนบอกว่าน่าจะยกเลิกการรับน้องใหม่ ไปเลย ก็ขอให้แยกระหว่างคำว่า  การรับน้องใหม่Ž กับ วิธีรับน้องใหม่Ž ว่าไม่เหมือนกัน การรับน้องใหม่เป็นคำนาม หมายถึงเรื่องการรับน้องใหม่ทั้งหมด อันนี้อาตมาคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี ไม่เสียหาย แต่วิธีรับน้องใหม่ซึ่งเป็นคำกริยา หมายถึงว่า ในการรับน้อง เราจะทำอย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นข่าวครึกโครมในสื่อมวลชน มักจะเป็นปัญหาวิธีรับน้องใหม่มากกว่า

        ในทางสงฆ์ก็มีการรับน้องใหม่ตั้งแต่บวชเลย พอพระอุปัชฌาย์บวชพระใหม่เสร็จ ก็รับศิษย์ใหม่หรือรับน้องใหม่ด้วยการให้โอวาทก่อน คือ บอก อกรณียกิจ ๔ อย่าง ที่พระใหม่ทำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง จะได้ไม่พลาด แล้วพระพี่เลี้ยงก็ต้องคอยดูแลแนะนำสั่งสอนตลอด นุ่งห่มจีวรทำอย่างไร ทำวิกัปผ้า อย่างไร พระวินัย ๒๒๗ ข้อ มีอะไรบ้าง การรับน้อง ของพระมีถึง ๕ ปี คือ ช่วงเป็นพระนวกะ ๕ พรรษา แรก เป็นวิธีการที่ดี ผลก็คือ ถ้าทำตามแล้วเราจะเป็นพระภิกษุที่มีคุณภาพในพระพุทธศาสนา

          เหมือนกันการรับน้องใหม่ ถ้าทำถูกวิธี คือ รุ่นพี่คอยดูแลรุ่นน้องอย่างดี ก็จะทำให้น้องใหม่ที่เติบโตขึ้นมาในรั้วมหาวิทยาลัยกลายเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป ปัญหาคือวิธีการ ขอให้ปรับแก้วิธีการ แล้วทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยดี

          ก็ขอให้นิสิตนักศึกษาใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยทุกคนมีวินัยในการศึกษาเล่าเรียน ควบคุมเรื่องเวลา ของตัวเองให้ดีเป็นประการแรก อีกประการหนึ่ง คือ เรื่องการคบเพื่อน ขอให้คบเพื่อนที่ดี การรับน้องใหม่ ไม่ใช่ของเสียหาย แต่วิธีการรับน้องต้องถูกต้อง แล้ว ถ้าหากเราไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีวิธีการรับน้องที่ยังไม่ค่อยถูกต้อง หากมีรุ่นพี่จะเอาเหล้ามาให้ดื่ม อาตมาขอแนะนำวิธีการที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยเคยใช้มาแล้ว สมัยเป็นนิสิตที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อรุ่นพี่เอาเหล้ามาให้ดื่ม ท่านตอบ สั้น ๆ ว่า ผมรักษาศีลครับŽ พี่ที่กำลังเมาแทบสร่างเมาเลย

          ก่อนที่หลวงพ่อทัตตชีโวจะมาพบหลวงพ่อ ธัมมชโยท่านก็ดื่มเหล้าหนักเหมือนกัน เจอกันครั้งแรก ท่านเอาแก้วเหล้ายื่นให้เลย แต่หลวงพ่อธัมมชโยท่าน บอกว่า ไม่ครับพี่ ผมรักษาศีลŽ หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านบอกว่า ท่านแทบสร่างเมาเหมือนกัน ไม่กล้าคะยั้นคะยอต่อ เราลองเอาไปใช้ดูบ้างก็ได้ ถ้าเรารักษาศีลจนกระทั่งเป็นปกติ แค่กล่าวสั้น ๆ จะมีอานุภาพทีเดียว

          นอกจากนี้ ยังมีนิสิตคณะสัตวแพทย์ฯ จุฬาฯ ๒ ท่าน เป็นรุ่นน้องอาตมา ไปอบรมธรรมทายาทภาคฤดูร้อนที่วัดพระธรรมกาย หลังอบรมเสร็จก็ตั้งใจรักษาศีล ๕ ตลอด แต่เรียนอยู่คณะสัตวแพทย์ฯ ต้องมีการทดลอง โดยเฉพาะในปีสูง ๆ ปี ๕ ปี ๖ จะต้องมีการฆ่าสัตว์ทดลอง ทั้งคู่ก็เลยไปหาอาจารย์ บอกว่าจะขอจบ ๔ ปี ขอแค่วิทยาศาสตรบัณฑิต ๔ ปีก็พอ สัตวแพทยศาสตรบัณฑิตไม่เอาแล้ว

          พอนิสิต ๒ ท่านนี้ไปหาอาจารย์เพื่อขอจบเพราะว่ากลัวผิดศีล อาจารย์จึงเอาเรื่องเข้าที่ประชุม ผู้บริหารว่านิสิตจะขอจบ ๔ ปี ขออนุมัติจากคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยด้วย ที่ประชุมถามเหตุผล คณะบดีคณะสัตวแพทย์ฯ ก็ตอบว่า นิสิตเขารักษาศีลŽ ที่ประชุมก็อนุมัติเป็นเอกฉันท์

          ทั้งสองท่านนี้ก็เลยรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต แล้วมาเป็นอุบาสกที่วัดอยู่ประมาณ ๑๐ ปี แล้วบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนามาจนกระทั่ง ๑๐ พรรษากว่า ๆ แล้ว คือ พระสุรัตน์ อคฺครตโน และพระสุทธิชัย สุทฺธิชโย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของวัด ของพระศาสนาทั้งคู่ในปัจจุบัน นี้คือ อานุภาพของศีล อย่าว่าแต่เพื่อน ๆ หรือรุ่นพี่เลย แม้ครูบาอาจารย์ ก็ยังยอมรับ ขอให้เราตั้งใจรักษาศีลจริง ๆ จะไปอยู่ที่ใดก็แล้วแต่ สิ่งแวดล้อมจะไม่เป็นอุปสรรคต่อ การตั้งใจทำความดีของเราเลย แล้วเราจะใช้ชีวิตใน รั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข สำเร็จการศึกษา เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล