วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ สาเหตุแห่งการกระทบกระทั่งกัน กับ ๓ วิธีง่ายทำให้มีความสามัคคี



               
ในสังคมปัจจุบันนี้ มีการกระทบกระทั้งกันมาก จนทำให้เกิดการแตกความสามัคคี แล้วจะทำอย่างไร เพื่อให้คนในชาติของเรามีความสามัคคีกันเจ้าค่ะ
เรื่องความสามัคคีของคนในชาตินั้น เราร้องหากันมานานแล้ว แต่ว่ามีแต่ผู้ที่ร้องหา ยังไม่มีผู้ที่ร้องเรียกให้มาช่วยกันทำสักที พราะไม่มีใครพยายามเจาะเข้าไปดูว่า ที่คนเราขาดความสามัคคีกันนั้น มีสาเหตุมาจากอะไร
 สาเหตุที่ทำให้คนแตกความสามัคคี
สาเหตุที่ทำให้คนในชาติแตกความสามัคคี โดยย่อมีอยู่ ๓ เรื่องด้วยกัน คือ

                 ๑. เรื่องผลประโยชน์ มนุษย์ในโลกนี้ส่วนมาก มีแต่คิดจะเอา ไม่ค่อยคิดจะให้ เมื่อเป็นอย่างนี้มนุษย์จึงไม่ต่างกับนกกาเท่าไร เพราะนกกาตื่นเช้าขึ้นมามันก็ร้องจ้อกแจ้กๆ เพื่อชวนกันไปหากิน พูดง่ายๆ มันชวนกันจะไปเอา ไม่ใช่ชวนกันจะไปให้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ระมัดระวังตัวให้ดี พฤติกรรมของมนุษย์ก็เป็นเหมือนอย่างกับสัตว์นั่นเอง

                 ๒. เรื่องวินัย มนุษย์ส่วนมากมักไม่ค่อยมีวินัย คือ มีนิสัยเอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ใช่มีนิสัยรักวินัย หรือนิสัยเคร่งครัดต่อวินัย จึงทำให้เป็นที่มาแห่งการกระทบกระทั่งกัน

                 ๓. เรื่องความเคารพ สาเหตุที่ทำให้มนุษย์เกิดความแตกแยกอีกประการหนึ่งก็คือ การขาดความเคารพ ขาดความเกรงอกเกรงใจ การจับถูกหายาก มีแต่คอยจ้องจะจับผิดกันทั้งนั้น

                 ถ้าไม่เชื่อตื่นเช้าขึ้นมาลองไปเปิดวิทยุหรือโทรทัศน์ดูก็ได้ แล้วจะพบว่ามีแต่เสียงวิจารณ์ จับผิดคนนั้น จับผิดคนนี้ กันตั้งแต่เช้ามืดทีเดียว
เสียงและภาพที่ได้ยินและได้เห็นนี้ ไม่ค่อยจะช่วยให้มนุษย์ในปัจจุบันคิดถึงความดีของกันและกัน มีแต่จ้องจะจับผิดกัน ก็เลยทำให้ขาดความเคารพ ขาดความเกรงใจ จากนั้นการถนอมน้ำใจกันก็หมดไป แล้วความแตกแยกก็เข้ามาแทนที่

ที่มาแห่งความสามัคคีของคนในชาติ

                 ปัญหาเหล่านี้ ปู่ย่าตาทวดของเราท่านได้สอน วิธีแก้ไขเอาไว้ให้แล้ว แต่พวกเราส่วนมากกลับมองว่า เป็นเรื่องเก่า เป็นเรื่องโบราณ เป็นเรื่องคร่ำครึไป
สิ่งที่ปู่ย่าตาทวดท่านได้สอนแล้วก็ทำให้ดูนั้น คือ

                 ประการที่ ๑ เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์คิดแต่จะเอาประโยชน์เข้าตัวเช่นเดียวกับนกกา เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เช้ามืดพอตื่นขึ้นมา แทนที่คิดจะไปกอบโกยเอาเข้ามา ก็รีบให้เสียก่อนเลย

                 ท่านพูดไว้ชัดเจนว่า "เช้าใดยังไม่ได้ให้ทาน เช้านั้นอย่าเพิ่งกินข้าว" แล้วก็รีบไปตักบาตรกับ พระภิกษุ ที่เดินบิณฑบาตผ่านหน้าบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นพระในวัดเสียก่อน

                 ส่วนพระในบ้าน ได้แก่ คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านทั้งหลาย ที่เมื่อสมัยเราเล็กๆ ท่านให้เรากินก่อน ตอนนี้ท่านแก่แล้ว เพราะฉะนั้น ก่อนเราจะกินอะไร ก็ควรจัดให้ท่านก่อนบ้าง

                 เช้าใดยังไม่ได้ให้ทาน ไม่ว่าจะเป็นพระในบ้าน หรือพระนอกบ้านก็ตาม เช้านั้นอย่าเพิ่งกินข้าว หัดเป็นคนรู้จักให้เสียก่อนอย่างนี้ แล้วเราจะไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ นี่ก็เป็นที่มาแห่งความสามัคคีของคนในชาติ ที่ปู่ย่าตาทวดของเราได้สอนเอาไว้ประการที่ ๑

                 ประการที่ ๒ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นคนไม่มีวินัย ทั้งวันเราต้องพยายามรักษาศีล ๕ ไว้ให้ดี แล้วเราจะรู้ว่าในบรรดาศีลทั้ง ๕ ข้อนั้น ศีลข้อที่รักษาได้ยากที่สุด คือข้อที่ ๔ หรือว่าห้ามพูดโกหกนั่นเอง

                 ปู่ย่าตาทวดของเราจึงสอนว่า "วันใดยังไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล วันนั้นอย่าเพิ่งออกจากบ้าน" เพราะฉะนั้น สัญญากับพระพุทธรูปบนหิ้งเสียก่อน ว่าวันนี้ เราจะรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด สัญญาแล้วจึงค่อย จากบ้านไปทำงานกัน

                 ถ้าทำอย่างนี้เป็นประจำ ความมีวินัยจะเกิดขึ้นในตัวของเราโดยอัตโนมัติ แล้วนิสัยชอบเอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่ ก็จะคลายไป นี่ก็เป็นที่มาแห่งความสามัคคีของคนในชาติ ที่ปู่ย่าตาทวดของเราสอนเอาไว้ประการที่ ๒

                 ประการที่ ๓ เนื่องจากมนุษย์จ้องจะจับผิดกัน ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเข้านอน ท่านก็เลยเตือนว่าถ้าอย่างนั้น "คืนใดยังไม่ได้สวดมนต์ภาวนา ยังไม่นึกถึงความดีของคนรอบด้าน คืนนั้นอย่าเพิ่งเข้านอน" เพราะฉะนั้น ก่อนนอนหลังจากสวดมนต์ไหว้พระเสร็จ ก็นั่งสมาธิเสียบ้าง ใจจะได้เป็นกลางๆ
                
เมื่อใจเป็นกลางๆ แล้ว นอกจากจะไม่คิดจับผิดใคร ยังคิดจับถูกจับดีแทนอีกด้วย เช่น คิดว่า คุณพ่อคุณแม่มีพระคุณกับเราอย่างไร ครูบาอาจารย์ มีพระคุณกับเราอย่างไร คิดไปจนกระทั่งว่า พระสงฆ์ องค์เจ้าและพระพุทธศาสนามีพระคุณกับเราอย่างไร

                 ก่อนนอนขอให้นึกถึงความดีของมนุษย์ทั้งโลก หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราทั้ง ๖ ทิศ เมื่อนึกถึงความดีของคนอื่นได้อย่างนี้ พลังใจที่จะสร้างความดีตามคนเหล่านั้น หรือปรับปรุงตัวเองให้ดียิ่งขึ้นจะเกิดขึ้นมา

                 ถ้าทำได้ครบทั้ง ๓ ประการนี้ ความสามัคคี จะเกิดขึ้นในทุกหย่อมหญ้า บนผืนแผ่นดินไทย ของเรา..
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 51 มกราคม ปี 2550

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล