เรื่องเ่ด่น :
อุบลเขียว
|
|
ความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนา ระหว่างประเทศไทยกับประเทศศรีลังกามีมาช้านาน นับตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ในสมัยสุโขทัย เป็นต้นมา มีการส่งพระภิกษุมาสืบทอดพระศาสนาซึ่งกันและกัน ก่อเกิดเป็นคณะสงฆ์ไทย และพระภิกษุลังกาวงศ์สืบเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา ประเทศในแถบเอเชียเผชิญกับศึกสงครามมากมาย ถูกรุกรานโดยยุคล่าอาณานิคม ทำให้พระพุทธศาสนาต้องประสบกับภาวะวิกฤต ครั้งแล้วครั้งเล่า เหล่าบรรพชนต่างรักษาพระพุทธศาสนา ไว้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิต แต่หลายประเทศต้องสูญเสียแผ่นดินพุทธ ดั้งเดิมไป แม้ว่าหลายประเทศจะผ่านพ้นมาได้ แต่ความเสียหายที่ฝังรากลึกเกิดขึ้นในจิตใจ นั้นยากจะเยียวยา ส่งผลให้ชาวพุทธต่างตระหนักถึงความสำคัญ ของการรวมกลุ่มพุทธบริษัท ๔ ทั่วโลก เพื่อธำรงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้ตั้งมั่น
จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง องค์กรยุวพุทธสงฆ์โลก หรือ WBSY เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๗ ณ เมืองกาฎมัณฑุ ประเทศเนปาล ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นิมิตหมายแห่งความเป็นสิริมงคล บนแผ่นดินที่ก่อกำเนิดพระพุทธศาสนา
องค์กรยุวพุทธสงฆ์โลก ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกที่นับถือพระพุทธศาสนาในหลากหลายนิกาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน อาทิ ประเทศศรีลังกา อินเดีย ภูฐาน มองโกเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และประเทศไทย
มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายชาวพุทธทั่วโลกให้รวมเป็นหนึ่ง เพื่อสร้างผู้นำชาวพุทธที่เข้มแข็ง และยังสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่สังคมโลก มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยจัดให้มีการประชุมยุวพุทธสงฆ์โลกเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้ ได้จัดการประชุมยุวพุทธสงฆ์โลก(WBSY) ครั้งที่ ๓ ขึ้น ที่ประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่๒-๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ นอกจากจะมีการขึ้นพูดสุนทรพจน์ โดยตัวแทนประเทศต่างๆ แล้ว ยังมีพิธีมอบรางวัลผู้นำชาวพุทธ ที่มีผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาดีเด่นในระดับโลกอีกด้วย หรือ Universal Peace Award ซึ่งจะมอบรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพียงรางวัลเดียวเท่านั้น เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง ที่พระพุทธศาสนาเข้าสู่ปีพุทธศักราชที่ ๒๕๕๐
ประธานาธิบดีศรีลังกา นายมหินธา ราชปักษา ถวายรางวัลพระธรรมทูตระดับโลก แด่พระภาวนาวิริยคุณ
ซึ่งผู้นำชาวพุทธจากประเทศต่างๆ มีความเห็นพ้องกันว่า รางวัลอันทรงเกียรตินี้ ควรมอบถวายแด่ พระราชภาวนาวิสุทธ์ ประธานมูลนิธิธรรมกาย แห่งประเทศไทย ซึ่งมีผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวพุทธทั่วโลก มานานกว่า ๓๐ ปี และรางวัลพระธรรมทูตดีเด่นระดับโลก หรือ World Dhammaduta Award มอบถวายแด่ พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย
พิธีเปิดจัดขึ้น ณ หอประชุม ดัดลี่ เสนานายะกะ เซ็นทรัล คอลเลจ ชมวีดิทัศน์ความเป็นมาขององค์กรยุวพุทธสงฆ์โลก หรือ WBSY พิธีจุดเทียนประทีป ต่อด้วยการสวดมนต์ ๓ นิกาย
วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ณ ทำเนียบรัฐบาลศรีลังกา เป็นการประชุม ในหัวข้อเรื่อง " ขันติธรรม และความสมานฉันท์ " ซึ่งมีผู้แทนชาวพุทธขึ้นพูดแสดงความคิดเห็นจากหลายประเทศ
ทั้งนี้ ท่านประธานาธิบดีศรีลังกา นายมหินธา ราชปักษา ประธานในพิธีได้ถวายพระธรรมทูตระดับโลก แด่พระภาวนาวิริยคุณ วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย จากนั้น พระภาวนาวิริยคุณ กล่าวสุนทรพจน์ เรื่อง การรวมใจพุทธบริษัท ๔ เพื่อความมั่นคงของบวรพุทธศาสนา เนื้อความโดยย่อ ดังนี้
"...ปัจจุบัน เราต่างทราบกันดีว่า โลกเราเดือดร้อนอย่างหนักด้วยไฟกิเลส นอกจากธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีอะไรจะสามารถช่วยโลกใบนี้ให้เย็นลงได้ การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นการเกิดพลังในการนำพุทธธรรมไปดับไฟกิเลสให้มอดดับลงเร็วยิ่งขึ้น
ชาวพุทธทั้งหลาย หมดเวลาต่างคนต่างทำงานกันแล้ว พุทธบริษัททั้ง ๔ ไม่ว่าจะอยู่ในนิกายใด หรือประเทศไหน ต่างต้องร่วมใจกัน ย้อนกลับไปศึกษาคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างจริงจัง เพื่อจะได้เข้าใจคำสอนได้ตรงกัน แล้วนำคำสอนของพระพุทธองค์ไปเผยแผ่ให้กับชาวโลกต่อไป
ที่ผ่านมา เรามาประชุมกันเพียงเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในการเผยแผ่เท่านั้น วันนี้ถึงเวลาต้องทุ่มเททำงานให้เป็นประวัติศาสตร์ชีวิต ในการเกิดมาสร้างบารมีของทุกท่าน จงเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำไปเผยแผ่อย่างเต็มกำลัง
ถ้าพุทธบริษัททั้ง ๔ ช่วยกันอย่างนี้ ในชีวิตของพวกเราก็จะทันเห็นโลกสงบร่มเย็น กลับมาอีกวาระหนึ่ง ดังเช่นสมัยพุทธกาล..."
จากนั้นเดินทางไปสักการะปูชนียสถานที่สำคัญของประเทศศรีลังกา อาทิ นมัสการพระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาสูงสุดของชาวศรีลังกา ตลอดจนวัดวาอาราม และโบราณสถานสำคัญต่างๆ
สำหรับการถวายรางวัลแด่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือ Universal Peace Award อย่างเป็นทางการนั้น ทางรัฐบาลศรีลังกา จะส่งผู้แทนมาถวายในวันมาฆบูชา ตรงกับวันเสาร์ที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐
นิมิตหมายแห่งความรักอันแท้จริงระหว่างมวลมนุษยชาติ มีอานุภาพแผ่ขยายผ่านขอบเขต ของเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ ทำให้วันนี้เราทุกคนเริ่มมองเห็นอนาคต ที่งดงามร่วมกันในวันข้างหน้า ที่มุ่งศึกษาคำสอนดั้งเดิม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน คือ แนวทางแห่งสันติภาพที่แท้จริง ที่จะยังสังคมโลกให้บังเกิดสันติสุขตราบนานเท่านาน