พวกเราที่เข้าวัดปฏิบัติธรรมกันมาตลอด ถึงแม้จะมีความรู้ทางโลก และทางธรรมมามาก เพียงใดก็ตาม แต่เมื่อได้ลงมือศึกษา พระไตรปิฎกแล้วจะพบว่า แม้เราจะศึกษามาอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว เมื่อจะนำความรู้ที่ได้ มาใช้ในภาคปฏิบัติ เรายังมืดแปดด้าน เพราะคำแต่ละคำที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก หรือที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของ พระพุทธศาสนานั้น ล้วนเป็นถ้อยคำที่ลึกซึ้ง มีความหมายได้หลายนัย ถ้าหากว่าเราเอาความรู้ทั้งหมด ของเราที่มีอยู่ไปวินิจฉัย แล้วนำมาสู่การปฏิบัติ ยังยากที่จะบังเกิดผลได้
หลักในการศึกษาธรรมะ
ด้วยเหตุนี้เองการที่ผู้ใดผู้หนึ่ง จะศึกษาธรรมะให้ได้เข้าใจลึกซึ้ง ชัดเจน และสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติ ให้เกิดผลได้จริงแล้ว เรื่องสำคัญคือ "ต้องได้ครูดี"
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เมื่อยังแสวงหาอยู่ ยังหาทางตรัสรู้ ก็ยังต้องมีครู แม้ครูอาฬารดาบสกับครูอุทกดาบส จะไม่สามารถนำท่านไปถึงพระนิพพานได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ได้ช่วยย่นระยะเวลาให้พระองค์ท่านได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักเอาไว้ ๔ ข้อด้วยกันในการศึกษาธรรมะ เรียกว่า วุฒิธรรม ๔ ได้แก่
๑. สัปปุริสสังเสวะ คือ ต้องหาครูดีให้พบ ถ้ายังไม่พบครูดี แม้ได้อ่านธรรมะก็จะเป็นเพียง ผ่านตาแต่ไม่ผ่านใจ หรือผ่านใจแต่ความหมายอาจ ผิดเพี้ยน ลึกซึ้งไม่พอที่จะนำไปปฏิบัติได้
๒. สัทธัมมัสสวนะ คือ ฟังคำครูให้ชัดเจน
๓. โยนิโสมนสิการ คือ ตรองคำครูให้ลึกซึ้ง
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ คือ ทำตามครูให้ครบ
การค้นพบวิชชาธรรมกาย ของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ
ในยุคตั้งแต่หลังพุทธกาลจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ไม่มีหลักฐานปรากฏไว้เลยว่า มีพระอาจารย์ท่านใด ได้บันทึกวิธีปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงพระธรรมกายเอาไว้เป็นตำรับตำรา มีแต่คำว่า "ธรรมกาย" ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก แต่ไม่มีใครเข้าใจเพราะไม่มีคำอธิบายว่า "ธรรมกายคืออะไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร มีความสำคัญอย่างไรกับมนุษย์เรา"
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านไปค้นเจอคำว่า "ธรรมกาย" โดยเอาชีวิตของท่านเป็นเดิมพัน ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรม ตามที่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก รวมทั้งได้ครูบาอาจารย์ พระอุปัชฌาย์ของท่านปูพื้นฐานธรรมะ ให้ความเข้าใจถูกแก่ท่านเป็นจุดเริ่มต้น ในระดับหนึ่ง แล้วท่านก็ค้นคว้าต่อไปด้วยตัวท่านเอง ด้วยความเพียรอย่างไม่ลดละ จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายในตัว
พวกเราเป็นหนี้พระคุณของ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ เป็นอย่างยิ่งทีเดียว ถ้าท่านไม่นำวิชชาธรรมกาย ที่ค้นได้มาสอน เราก็คงไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา ในเชิงปฏิบัติอย่างนี้ อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า ความสำคัญในการจะเข้าถึงธรรม ศึกษาธรรมะแล้วไม่ผิดเพี้ยน คือจะต้องได้ครูดีมาสอนให้ตั้งแต่ต้น เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ วัดปากน้ำค้นวิชชาธรรมกายได้แล้ว ท่านไม่ค้นได้เปล่า แต่ท่านได้เมตตานำวิชชาธรรมกาย ไปสอนให้ ผู้อื่น เพื่อให้ได้รู้จักวิชชาธรรมกาย ตามท่านไปด้วย
อัจฉริยะในการสอนสมาธิ
ในเรื่องวิธีการสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ โดยเฉพาะการสอนภาคปฏิบัติ ซึ่งท่านมีหลักการในการสอนไม่เหมือนใคร ถ้าพวกเราสังเกตพระอาจารย์ที่อบรมสั่งสอน การฝึกสมาธิตามสำนักต่างๆ เมื่อถึงคราวจะอบรมสั่งสอน ลูกศิษย์ลูกหาให้ทำสมาธิ นิยมที่จะพาลูกศิษย์ ไปร่ำเรียนสมาธิกันในป่า เพื่อต้องการให้กายวิเวกตั้งแต่เริ่มต้น แล้วจะได้จิตวิเวกตามมา
แต่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านสอนในบ้านในเมือง เรียนกันเต็มศาลา สอนทีเป็นร้อย เป็นพัน จะมากันเป็นหมื่น เป็นแสน ก็สามารถทำสมาธิร่วมกันได้ นี้ก็เป็นอัจฉริยะ ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ในการสอนลูกศิษย์
เทคนิคประเภทนี้หาได้ยาก แต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ก็ได้พัฒนา เอาไว้ให้พวกเรา ท่านทำได้อย่างนี้เพราะท่านมีความละเอียดลออใน การสอนทุกขั้นตอน จนกระทั่งวางเป็นระบบได้ เมื่อมีระบบ ระเบียบ มีขั้นตอน วิธีการ ชัดเจนแล้ว มีคนมากก็เหมือนคนน้อย สงบ ไม่วุ่นวาย เพราะแต่ละคนรู้จักวิธีการ และรู้จักหน้าที่ของตัวเอง
|
พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า นอกจากจะละเอียดลออแล้ว หลวงปู่ท่านยังติดตาม ขนาบแล้วขนาบอีกไม่มีหยุด ถึงเวลานั่งสมาธิต้องนั่ง ถึงเวลาสวดมนต์ต้องสวด ถึงเวลาฟังเทศน์ต้องฟัง ถึงเวลาฉันก็ต้องฉันพร้อมกัน จากการเคี่ยวเข็ญกันอย่างนี้ทำให้ทั้งพระ สามเณร รวมทั้งอุบาสก อุบาสิกา และแม่ชี เข้าถึง พระธรรมกายในตัวกันเป็นจำนวนมาก
เมื่อถึงคราวปฏิบัติธรรม พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไปค้นเอาวิชชาธรรมกาย ย้อนกลับมาให้พวกเรา ถึงคราวจะอบรมลูกศิษย์ก็วางระเบียบเอาไว้ชัดเจน ข้อประพฤติปฏิบัติทุกขั้น ทุกตอนละเอียดถี่ยิบกำหนดเอาไว้ให้ จึงทำให้สามารถปฏิบัติธรรม รวมกันได้เป็นหมู่คณะ ไม่กระทบกระทั่งกัน และเนื่องจากการปฏิบัติธรรม นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องเคี่ยวเข็ญกัน ขนาบแล้วขนาบอีกไม่มีหยุด
พระเดชพระคุณหลวงปู่ก็ขนาบไม่ยั้งเหมือนกัน ท่านทำของท่านมาอย่างนี้
คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ก็เป็นท่านหนึ่งที่ได้รับการเคี่ยวเข็ญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกสมาธิ วิชชาธรรมกาย ตลอดจนกระทั่งการบริหารด้านต่างๆ
คุณยายอาจารย์ก็ได้รับการถ่ายทอดมา จากพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ เราจึงได้มีวัดพระธรรมกาย สำหรับปฏิบัติธรรมร่วมกันอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้
กุศโลบายให้กำลังใจ
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านมีวิธีให้กำลังใจพระภิกษุ สามเณร และญาติโยมที่มาทำบุญ เพื่อให้มีความเพียรในการปฏิบัติธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป คือ เมื่อญาติโยมมาทำบุญเลี้ยงพระเสร็จ ท่านจะให้สามเณร และแม่ชีที่เข้าถึงพระธรรมกาย นั่งสมาธิตรวจดูดวงบุญ วัดบุญด้วยญาณธรรมกาย แล้วจึงประกาศให้ญาติโยมรู้
ถ้าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ท่านให้อาราธนาพระธรรมกาย ไปตามกายละเอียด ของผู้ที่เสียชีวิตให้มาอนุโมทนาบุญ ที่เป็นเทวดานางฟ้าได้อนุโมทนาบุญ แล้วก็ยิ่งได้บุญทับทวีขึ้นไปอีก ทำให้มีรัศมีสว่างไสวมากขึ้น ความสุขที่เป็นทิพย์ก็ทับทวีนับกันไม่ไหวทีเดียว
ส่วนที่จับพลัดจับผลูไปเป็นเปรตหรือตกนรก ก็ได้อาศัยบารมีธรรมของพระธรรมกาย ทำให้ความทุกข์ระงับไปชั่วคราว พอลูกหลานอุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลไปให้ ก็พ้นจากสภาพนั้น ไปเป็นเทวดา นางฟ้ากันในทันทีทันใด
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านเอาผู้ที่ปฏิบัติ ได้จริงมาใช้งานละเอียดอย่างนี้ และถือเป็นพยานในพระพุทธศาสนาไปในตัว ทำให้ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และแม่ชีมีกำลังใจที่จะปฏิบัติธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะเห็นว่าธรรมะช่วยตัวเอง และผู้อื่นได้จริง ญาติโยมที่มาทำบุญก็ปลื้มปีติ ที่ได้ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ
ภารกิจสำคัญของลูกหลานหลวงปู่
นอกจากนี้ พระเดชพระคุณหลวงปู่ วัดปากน้ำยังได้ทุ่มเทเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ไปยังต่างประเทศอีกด้วย มีบันทึกในประวัติ พระพุทธศาสนาของประเทศไทย ที่สำคัญมากนั่นคือ มีชาวยุโรป ชาวอเมริกา เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุไทยครั้งแรก ในยุคของพระเดชพระคุณหลวงปู่ วัดปากน้ำนี่เอง และตรงนี้หลวงพ่ออยากฝากไว้ หลวงปู่ท่านสั่งไว้ก่อนที่ท่านจะลาโลกว่า ชาวโลกที่บารมีแก่กล้าพอที่จะ เข้าถึงพระธรรมกายได้ยังมีอีกมาก ถ้าไม่มีใครไปสอนวิชชาธรรมกายให้ ก็จะดำเนินชีวิตผิดพลาด และจะตกนรกไปอีก เพราะความที่ไม่รู้ว่า อะไรคือบุญ อะไรคือบาป แต่หากมีใครไปชี้แจงแสดงธรรม ไปสอนวิชชาธรรมกายให้แล้ว ด้วยบุญในตัวที่เขาสั่งสมมา จะทำให้เข้าถึง พระธรรมกายได้
เพราะฉะนั้น เมื่อเราศึกษาประวัติของ พระเดชพระคุณหลวงปู่ครั้งใด เราก็จะได้เห็นภาพการทำงานของท่านอย่างชัดเจนว่า
๑. ท่านทุ่มชีวิตเป็นกัลยาณมิตรให้กับตัวเอง คือท่านเคี่ยวเข็ญตัวท่านเอง จนกระทั่งเข้าถึง พระธรรมกาย และแตกฉานวิชชาธรรมกาย ได้อย่างยอดเยี่ยม
๒. ท่านทุ่มชีวิตบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรให้กับชาวโลก คือท่านชักชวนผู้อื่นให้มา ประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงพระธรรมกายไปพร้อมๆ กัน แตกฉานวิชชาธรรมกายตามท่านไป
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ได้ทุ่มชีวิตทั้งค้นคว้าวิชชาธรรมกาย และทุ่มชีวิตขยายวิชชาธรรมกาย มาตลอดชีวิตอย่างนี้ เพื่อให้ชาวโลกเข้าถึงพระธรรมกายในตัว แล้วผลของการทุ่มชีวิตของท่านนี้เอง ได้ส่งผลต่อชาวโลกมาเป็นลำดับๆ จนกระทั่งทำให้พวกเราและชาวโลกรุ่นหลังได้มีโอกาสรับรู้ถึงความจริงของชีวิตว่า ทุกคนในโลกนี้มีพระธรรมกายอยู่ในตัว และรู้ว่างานที่แท้จริงของชีวิต คือ งานบำเพ็ญภาวนาจนกระทั่งเข้าถึง พระธรรมกาย
|
เพียงพระคุณตรงนี้ของพระเดชพระคุณ หลวงปู่ท่าน ก็ยากจะหาสิ่งใด มาบูชาตอบแทน พระคุณของท่านได้หมดสิ้น เพราะในยุคสมัย หลังจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว
การจะหาบุคคลที่ทุ่มชีวิตบำเพ็ญภาวนา จนกระทั่งเข้าถึงธรรมอันลึกซึ้ง ของพระพุทธองค์ และมีเมตตาให้การแนะนำ สั่งสอนผู้อื่นให้รู้ธรรมะ ตามไปด้วยนั้น เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า การงมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก
การบูชาตอบแทนพระคุณของท่าน ด้วยการที่พวกเราช่วยกัน หล่อรูปเหมือนท่าน ด้วยทองคำหนักหนึ่งเท่าครึ่ง ขององค์จริง เพื่อกราบไหว้บูชา ก็ยังรู้สึกบูชาได้ไม่เท่ากับพระคุณของท่านที่มีต่อ พวกเรา การบูชาที่เราจะต้องทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ก็คือ การทุ่มเททำภาวนา และทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับชาวโลก เพื่อสืบสานมโนปณิธานของท่าน ให้สำเร็จให้จงได้ ยิ่งเราทุ่มชีวิตทำหน้าที่สองประการนี้ตามท่านไปมากเท่าไร ก็จะมีผลช่วยทำให้ สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเราดีขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย และนั่นย่อมทำให้โอกาส ที่เราจะเข้าถึงธรรมที่ลึกซึ้ง ขึ้นไปก็จะง่ายยิ่งขึ้นไปอีก เป็นการใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ในโลกนี้ทำประโยชน์สูงสุด ให้บังเกิดขึ้นทั้งต่อตนเอง และผู้อื่นได้อย่างเต็มที่เต็มกำลัง ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่า ไม่ว่าเกิดไปกี่ภพกี่ชาติ เราก็จะมีโอกาสได้เกิดมา สร้างบารมีกับพระเดชพระคุณ หลวงปู่วัดปากน้ำอย่างแน่นอน และก็จะเป็นโอกาส ให้เราได้มาบำเพ็ญภาวนาศึกษาวิชชาธรรมกาย กับท่านต่อไปอีกอย่างตลอดรอดฝั่งทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะไปถึงเป้าหมายสูงสุดในการบำเพ็ญบารมีของพวกเรา คือ ที่สุดแห่งธรรม