บทความพิเศษ
เรื่อง : บ.ธรรมาวุธ
ชาวไทยภูเขาทุกเผ่ามีความยึดมั่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวในหมู่ชนเผ่าโดยแสดงออกอย่างชัดเจน ในรูปของเครื่องแต่งกาย ภาษาพูด ขนบธรรมเนียมและประเพณี ส่วนใหญ่นับถือผีและปฏิบัติตามพิธีกรรมที่ยึดถือมาช้านานดังนั้น ผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญ ทางสังคมของชาวเขาก็คือ "หมอผี"ทุกๆ หมู่บ้านมักจะมีหมอผีอยู่ประจำหมู่บ้านบางหมู่บ้าน ที่มีขนาดใหญ่ๆ ก็อาจมีหมอผี อยู่หลายคน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรก็จะให้หมอผีทำพิธีให้ ซึ่งจะมีพิธีกรรมของการเลี้ยงผี ที่ต้องมีการเซ่นไหว้ด้วยการ เชือดไก่และการต้มเหล้า จากความเชื่อดังกล่าว นอกจากจะทำให้ก่อกรรมปาณาติบาต และผิดศีล ข้อ ๕ แล้ว ยังจะก่อให้เกิด ความสูญเสียถึงชีวิต ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะรักษาโรคไม่ถูกหลัก สาธารณสุข
ถนนพุทธวิถี
จากอำเภอท่าสองยางสู่อำเภออมก๋อย
ปัจจุบันมีหน่วยงานของคณะพระธรรมจาริก ได้เดินทางไปเผยแผ่ธรรมะ นำความรู้ที่ถูกต้อง ไปแนะนำสั่งสอน และทำหน้าที่พัฒนาจิตใจควบคู่กับการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การขุดถนนพุทธวิถี ที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากถึง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนำโดยพระเดชพระคุณพระพิศาล ประชานุกูล และโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุน จากพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อ ธัมมชโย) ทั้งในเรื่องเครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ และ การส่งหน่วยแพทย์ จากชมรมรัตนเวชในอุปถัมภ์พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ไปทำการตรวจรักษาโรคแก่ชาวปวาเก่อญอ จนกระทั่งการขุดถนน สำเร็จสมบูรณ์
และที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีพุทธบุตรทีมงานพระบนดอย ได้ทำหน้าที่พัฒนาจิตใจควบคู่กับ การพัฒนาในด้านต่างๆ กับชาวดอย อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีสื่อการสอนธรรมะทั้งเรื่องพุทธประวัติและกฎแห่งกรรมต่างๆ ของโรงเรียน อนุบาลฝันในฝันวิทยาเป็นอุปกรณ์สำหรับการสอนธรรมะแก่ชาวไทยภูเขาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ ชาวไทยภูเขาหันมา นับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก
ชาวพุทธ ๒,๐๐๐ ครอบครัว
กว่า ๕,๐๐๐ คน แสดงตนเป็นพุทธมามกะ
ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ อาศรมพระธรรมจาริกบ้านผาปูน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ของชาวพุทธภูเขากว่า ๒,๐๐๐ ครอบครัว ในพิธีแสดงตนครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ชาวภูเขาหลายเผ่า ทั้งเผ่ากะเหรี่ยง เผ่ามูเซอ เผ่าม้ง เผ่าลัวะ เป็นต้น โดยชาวดอยแต่ละหมู่บ้านทั่วทั้งอำเภอ ได้ทยอยเดินทางออกจากบ้านของตนตั้งแต่เช้า บ้างก็เดิน เท้าข้ามหุบเขาแสนไกล บ้างก็นั่งรถปิกอัพเดินทาง มากับเพื่อนบ้าน ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงหลาย สิบคนเดินทางมาช่วยจัดเตรียมงานตั้งแต่เช้าตรู่
ภาคสายร่วมฟังการเสวนาเรื่องพระพุทธศาสนา กับวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน โดยมีตัวแทนของพระสงฆ์ ตัวแทนหน่วยงานราชการและตัวแทนผู้นำ หมู่บ้านร่วมกันเสวนา โดยในภาคบ่ายหลังพักรับประทานอาหาร มีการแสดงดนตรีประจำเผ่า
จากนั้นพิธีที่ทุกคนต่างรอคอย คือ พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะก็ได้เริ่มขึ้น โดยมีตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนยุวพุทธฯ อำเภออมก๋อย เป็นผู้นำในการกล่าว ซึ่งพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง ได้รับความเมตตาจาก พระครูสุนทรวิภาต เจ้าคณะอำเภออมก๋อย เป็นประธานสงฆ์ พร้อมมีตัวแทนจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน โดยพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ประธานมูลนิธิธรรมกาย ได้มอบองค์พระประจำครอบครัวจำนวน ๒,๐๐๐ องค์ ให้แก่ผู้แสดงตน โดยมี พระครูปลัดภูเบศ ฌานาภิญฺโญ เป็นตัวแทนถวายองค์พระแด่ประธานสงฆ์ในพิธี
วันรับพระพุทธเจ้าเข้าบ้าน
วันวิเศษของชีวิต
หลังเสร็จสิ้นพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ชาวพุทธ ๒,๐๐๐ ครอบครัวที่มาร่วมงาน ได้ทยอยขึ้นรับองค์พระ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แสดงถึงความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ วันนี้ถือเป็นวันวิเศษของชีวิต วันที่ได้อัญเชิญพระประธาน อันเป็นตัวแทนของพระสัมมา สัมพุทธเจ้าเป็นพระประจำบ้าน ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่นับจากนี้ไป ชาวไทยภูเขาเหล่านี้จะได้นำหลักธรรม คำสอนของพระพุทธองค์ไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวประจำใจต่อไป
วันนี้ผู้คนจากหลายเผ่าพันธุ์ได้มารวมพลังเป็นหนึ่ง นับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของชีวิต ไม่หลงเดินทางผิด ไปนับถือสิ่งที่ไม่เอื้อต่อการหลุดพ้น ใดๆ เพราะบัดนี้พระรัตนตรัยได้สถิตอยู่แล้วในหัวใจ ของชาวพุทธบนยอดดอย เป็นดั่งตะวันบนดอยที่ส่องแสงนำทางแก่ลูกหลานชาวดอยให้ดำเนินชีวิต ไปอย่างถูกต้องดีงามจากรุ่นต่อรุ่น...ไปตราบนานเท่านาน