วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ปัญหาวัดร้าง

พระธรรมเทศนา
เรื่อง : ปัญหาวัดร้าง

 



 

ปัญหาวัดร้าง

ตอนที่ ๔ (จบ)
เรียบเรียงจากโอวาทพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

๘. ความหมายที่แท้จริงของวัดในสมัยพุทธกาล

        ๘.๑ วัดคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

       จากธรรมะบรรยายที่ผ่านมาทั้งหมด ท่านผู้อ่านย่อมเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า วัดในสมัย พุทธกาลนั้น เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งประจำแว่นแคว้นและเขตคามต่างๆ เนื่องจากเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้บางวัดจะมิได้เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ แต่ก็เป็นที่อยู่ของพุทธสาวกผู้สืบทอดโลกุตรธรรม ซึ่งเป็นพระธรรมคำสั่งสอนอันประเสริฐสุด ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรดาพุทธสาวกเหล่านั้น ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากที่เป็นพระอรหันต์ ผู้ทรงคุณวิเศษ แม้พุทธสาวกที่ยังมิได้บรรลุอรหัตผลแต่ก็เป็นพระอริยบุคคลระดับต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณธรรมความดีเหนือกว่าฆราวาสทั้งปวง ด้วยเหตุนี้ วัดในสมัยพุทธกาล จึงเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านทั้งหลายยกย่องเทิดทูนไว้ในฐานะที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นที่อยู่ของบุคคลศักดิ์สิทธิ์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสำคัญ

        ๘.๒ วัดคือสถานศึกษา  

          สาเหตุแท้จริงที่ชาวบ้านยกย่องเทิดทูนวัดไว้ในฐานะที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็เพราะ ตนได้รับความอนุเคราะห์เกี่ยวกับโลกุตรธรรมจากพระพุทธองค์ และจากพระภิกษุสงฆ์สาวก ทั้งหลาย สำหรับผู้มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธองค์ แม้เพียงครั้งเดียวก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลระดับต่าง ๆ ได้ ส่วนผู้ฟังธรรมจากพุทธสาวก แม้ไม่บรรลุอริยมรรคอริยผล ก็เกิดปัญญาสามารถตั้งตนอยู่ในสัมมาทิฐิอยู่เสมอ ยังผลให้สามารถครองชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ห่างไกลจากความทุกข์ ความเดือดร้อน เพราะอวิชชาที่ติดตัวติดใจมาตั้งแต่เกิด

          ดังนั้น ฆราวาสทั้งหลายในสมัยพุทธกาล จึงเห็นพ้องต้องกันว่า วัด คือ สถาบันการศึกษาวิชาชีวิตที่สำคัญสำหรับชุมชน จำเป็นที่ทุก ๆ คนจะต้องช่วยกันอุปถัมภ์ค้ำชูด้วยความกตัญญูกตเวทีสูงสุดทั้งต่อสถานที่และบุคลากร คือบรรดาพระพุทธสาวกผู้ให้ การศึกษาอบรม พระธรรมคำสั่งสอนอันประเสริฐ

        ๘.๓ วัดคือสถานที่ปฏิบัติธรรม

          พระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อคนเรา ก็ต่อ เมื่อได้นำความรู้ภาคทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติจริง และการศึกษาภาคปฏิบัติที่นำไปสู่ความรู้จริง รู้แจ้ง ก็คือ การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘

          การที่ฆราวาสจะประสบสัมฤทธิผลในการศึกษาและปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ก็จำเป็นต้องมีครูดี และสถานที่ที่เป็นสัปปายะ ครูดีผู้สอนมรรคมีองค์ ๘ ก็มีแต่พระพุทธสาวกผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมเท่านั้น และสถานที่ที่เป็นสัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมอยู่ใกล้ครูดีก็มีแค่วัดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ฆราวาสทั้งหลายในสมัยพุทธกาลจึงเห็นพ้องต้องกันว่า วัด คือ สถานที่ปฏิบัติธรรมที่อำนวยผลเลิศที่สุด ดังนั้นชาวพุทธเหล่านั้นจึงมีความเคารพรัก และหวงแหนวัดเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันทำนุบำรุงวัดให้เจริญรุ่งเรือง ในฐานะที่เป็นสถานศึกษาและปฏิบัติธรรม ตกทอดไปถึงลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นเล่าเรื่อยไป

          แท้ที่จริงงานทำนุบำรุงวัดของฆราวาส ก็คือการทำนุบำรุงสงฆ์ทั้งด้านปัจจัย ๔ ความ สะดวกสบายเกี่ยวกับการศึกษา และปฏิบัติธรรมของสงฆ์เองรวมถึงการเข้ามา บรรพชาอุปสมบทเป็นทายาททางธรรม ผู้สืบทอดโลกุตรธรรมของพระพุทธองค์อีกด้วย

          กล่าวได้ว่า ความหมายที่แท้จริงของวัดในสมัยพุทธกาลนั้น ถ้ามองในแง่ที่เป็นเหตุ อาจให้คำจำกัดความได้ใน ๓ ลักษณะดังกล่าวแล้ว คือ

          ๑. วัด คือ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์
          ๒. วัด คือ สถานศึกษา
          ๓. วัด คือ สถานที่ปฏิบัติธรรม

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ที่เป็นผล อาจให้คำจำกัดความได้ใน ๒ ลักษณะ คือ

          ๑. วัด คือ ที่เก็บรักษาโลกุตรธรรม หรือธรรมเบื้องสูงอันเป็นเครื่องมือกำจัดกิเลส   ในจิตใจของคนเรา เพื่อความหมดทุกข์โดยสิ้นเชิง

          ๒. วัด คือ สถานที่เผยแผ่โลกุตรธรรมโดยตรง ดังนั้นวัดจึงจัดเป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่สุดในโลกนี้

          อนึ่ง ถ้าถามว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการไปวัดของชาวพุทธคืออะไร

          จากคำจำกัดความที่ผ่านมา เราก็ได้คำตอบว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการไปวัดของพุทธศาสนิกชน ก็คือ การไปรับการอบรมบ่มนิสัย จากพระสงฆ์ผู้ทรงโลกุตรธรรม หรืออย่างน้อยจากพระสงฆ์ผู้พยายามฝึกตัวให้เข้าถึงโลกุตรธรรม ด้วยการศึกษาและปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ โดยเริ่มจากระดับโลกิยธรรมไปสู่โลกุตรธรรม เพื่อความสิ้นกิเลส และพ้นทุกข์ในที่สุด

          ดังนั้น ผู้ที่ไปวัดจำเป็นจะต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดี นับตั้งแต่การแต่งกายต้องให้เหมาะสมกับการไปสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมใจให้ปลอดโปร่ง เพื่อเป็นภาชนะรองรับพระธรรมคำสั่งสอนสำหรับฟอกจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด

          ๙. นโยบายในการทำวัดร้างให้เป็นวัดรุ่ง

           ในช่วงเวลากว่า ๒,๕๐๐ ปี จากสมัยพุทธกาลมาถึงยุคปัจจุบัน เหตุการณ์ต่าง ๆ ใน โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ สภาพความ เป็นอยู่ของผู้คนในสังคม สภาพจิตใจและความคิดเห็นของผู้คนในสังคม ความเปลี่ยนแปลง เหล่านี้ เป็นเหตุให้วัดที่เคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในอดีตกาลสูญหายไป

          สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการสูญหายไปแห่งความเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของวัด ก็คือ

          ๑. จำนวนพระภิกษุตามวัดต่าง ๆ ลดน้อยลงเรื่อย ๆ
          ๒. พระภิกษุที่เข้ามาบวชใหม่ก็หาได้ยากยิ่ง
          ๓. ชาวพุทธในสังคมไทยส่วนใหญ่ก็เป็นชาวพุทธแต่ชื่อ แต่ไม่รู้หลักธรรมสำคัญ เพื่อ นำมาฝึกอบรมจิตใจตนเองเลย เพราะไม่เคยศึกษาและปฏิบัติธรรม และ
          ๔. ที่สำคัญที่สุดคือ มีวัดร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากขาดพระภิกษุ เหล่านี้คือ อันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมและประเทศชาติของเรา

          เพื่อที่จะแก้ปัญหาซึ่งเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงนี้ เราต้องเร่งแก้ปัญหาวัดร้างให้ฟื้นคืนกลับมาเป็นวัดรุ่งให้เร็วที่สุดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องวัดร้างนี้ จะไม่ยุ่งยากอะไรนัก ถ้านำวัตถุประสงค์ของการ สร้างวัดในสมัยพุทธกาลมาเป็นนโยบายหลักในการทำงาน

          นโยบายสำคัญในการทำวัดร้างให้เป็นวัดรุ่ง มี ๒ ประการ คือ

          ๙.๑ สร้างบุคลากรเพื่อการบรรลุธรรม

          การสร้างบุคลากรเพื่อการบรรลุธรรม หมายถึงสถาบันสงฆ์ต้องร่วมมือกันชักชวน ชี้นำอุบาสกให้เข้ามาบรรพชาอุปสมบท เพื่อเป็นธรรมทายาทสืบทอดอายุพระพุทธศาสนากัน  มาก ๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนพระนวกะ พระมัชฌิมะ และพระเถระขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย และส่งไปอยู่ประจำตามวัดร้าง และวัดที่เกือบจะร้างต่อไป

          ครั้นเมื่อญาติโยมเห็นพระภิกษุที่มีศีลาจารวัตรงดงามมากขึ้น ก็จะสนใจทำนุบำรุง เพื่อเป็นการสั่งสมบุญกุศล ไม่นานนักจำนวนพระในวัดก็จะเพิ่มขึ้นโดยปริยาย

          สำหรับอาคารสถานที่ในวัดร้างนั้น ก็อาจจะซ่อมแซมเท่าที่จำเป็น จึงไม่ต้องใช้  งบประมาณมากนัก แต่ถ้าญาติโยมเกิดศรัทธาอยากจะสร้างอาคารภายในวัดเพิ่มขึ้นอีก  ก็ควรให้ญาติโยมรับภาระเรื่องงบประมาณทั้งหมด เป็นต้น

          ๙.๒ สร้างอาคารสถานที่เพื่อการศึกษาและเผยแผ่ธรรมะ 

          หน้าที่ของพระภิกษุตามพุทธกำหนด ก็คือ การอบรมปลูกฝังอุบาสก อุบาสิกาให้เป็น คนดี มีศีลธรรม ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฐิ พระภิกษุที่ได้รับการศึกษาอบรมมาเป็นอย่างดี ย่อม ทรงภูมิรู้ภูมิธรรม ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ย่อมมีความปรารถนาและความพร้อมที่จะปลูกฝังอบรมหรือให้การศึกษาทางธรรมแก่ญาติโยมทั้งหลาย ให้รู้หน้าที่ของอุบาสก อุบาสิกาตาม พุทธกำหนด เพื่อประโยชน์ในการสั่งสมบุญกุศลด้วยตนเอง และเพื่อประโยชน์ในการสร้าง สันติสุขในสังคม

          เมื่อญาติโยมมีความรู้ความเข้าใจหลักธรรมเป็นอย่างดี ย่อมมีความประทับใจ ในพระคุณของพระภิกษุผู้ให้การอบรมสั่งสอนพวกเขา ย่อมตระหนักถึงภาระหน้าที่ของตนใน การทำหน้าที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้ยืนยาวต่อไปอีกนานแสนนาน และพร้อมที่จะช่วยกันสร้างอาคารสถานที่ในวัดด้วยความเต็มใจ

          อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับการสร้างอาคารสถานที่เพื่อการศึกษาและเผยแผ่นี้ พระภิกษุ ควรแนะนำให้ญาติโยมมุ่งเน้น

          ๑. ประโยชน์การใช้สอยเป็นสำคัญ
          ๒. อาคารต้องมีความแข็งแรง คงทน
          ๓. สะดวกในการดูแลรักษา
          ๔.ไม่ต้องมุ่งเน้นเรื่องความสวยงามวิจิตรอะไรนัก แต่ถ้าอาคารของเดิมที่สร้างไว้แล้ว มีความสวยงามวิจิตร ก็ควรอนุรักษ์ไว้

          การดำเนินนโยบายทำวัดร้างให้เป็นวัดรุ่ง ดังได้กล่าวมานี้ เป็นการเน้นการบรรลุธรรม ไม่เฉพาะพระภิกษุเท่านั้น แต่ยังรวมถึงฆราวาสด้วย โดยวิธีนี้ก็จะเป็นการน้อมนำผู้คนให้มีปัญญา และมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงได้ในเวลาไม่นานนัก ทั้งไม่ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างมากมาย ทว่าวัดร้างก็จะสามารถฟื้นคืนชีพ หรือถึงกับเป็นวัดรุ่งยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย นั่นคือพระพุทธศาสนาก็จะยืนหยัดเป็นที่บรรเทาทุกข์ให้แก่ชาวโลกตราบนานเท่านาน

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล