วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ศรัทธา รุ่งอรุณแห่งสันติภาพโลก

พระธรรมเทศนา

 



 

เป้าหมายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย

ตอนที่ ๑๕

"ศรัทธา รุ่งอรุณแห่งสันติภาพโลก"

เรียบเรียงจากโอวาทพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

          หนังสืออีกเล่มที่พวกเราควรจะต้องอ่าน เพราะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างความดีทุกอย่าง ในโลกนี้ นั่นคือ หนังสือ ศรัทธา รุ่งอรุณแห่งสันติภาพโลก เรื่องนี้หลวงพ่อเริ่มค้นคว้าระหว่างพรรษาที่ ๔-๕ เพิ่งจะสรุปเอาในพรรษาที่ ๔๐ นี้เอง พยายามค้นแล้วค้นอีกอยู่หลายเที่ยว พยายามซักถามจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยด้วย จึงได้เป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

          เรื่องศรัทธาเป็นเรื่องของการสร้างกำลังใจอย่างมหาศาลให้กับมนุษย์ เพราะธรรมะทุกข้อเริ่มต้นที่ศรัทธา

          การที่คนใดจะมีศรัทธา มีกำลังใจทำความดี ต้องอาศัย ๓ ประสาน คือ บ้าน วัด โรงเรียนต้องร่วมมือกัน ถ้าไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง เด็กที่เติบโตขึ้นมา จะไม่มีกำลังใจทำความดี แต่จะมีกำลังใจในทางตรงกันข้าม นั่นคือ ทำความชั่ว ซึ่งกลายเป็นบุคคลอันตรายของสังคม

      แต่ถ้าบ้าน วัด โรงเรียน หรือว่าพ่อ แม่ พระ และครู จับมือช่วยกันปลูกสัมมาทิฐิ เด็กจะเกิดศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดศรัทธาในการสร้างบารมี เกิดศรัทธาอยากจะไปเป็นพระอรหันต์ในเบื้องหน้า

         การที่ใครจะไปเป็นพระอสีติสาวกในเบื้องหน้า เป็นพระอัครสาวกในเบื้องหน้า เช่น พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในเบื้องหน้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเบื้องหน้า หรือว่าจะไปช่วยกันให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ต้องเริ่มต้นจากศรัทธาในการทำความดี

         เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราช่วยไปอ่านหนังสือศรัทธาเล่มนี้หลาย ๆ เที่ยว แล้วถ้ามี โอกาสหลวงพ่อจะนำมาขยายความให้กับพวกเราในโอกาสต่อไป

         สุดท้ายนี้ หลวงพ่อขออาราธนาบารมีธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจก พุทธเจ้า พระอรหันตเจ้าทั้งหลาย บารมีธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี พระผู้ปราบมาร บารมีธรรมของพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ผู้เป็นอธิการสงฆ์ ของวัดพระธรรมกาย บารมีธรรมของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย และบารมีธรรมของพวกเราทั้งหลาย จงประมวลรวมเข้า ด้วยกันให้เป็นตบะ เดชะ พลวปัจจัย ส่งผลดลบันดาลอภิบาลคุ้มครองปกป้องและรักษาให้พวกเราจงปราศจากเสียซึ่งสรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย สรรพอุปัทวอันตราย ใด ๆ อย่าได้มาแผ้วพาน ให้มีแต่ความสุข ความเจริญ ให้เข้าถึงพระธรรมกายโดยง่าย แตกฉานวิชชาธรรมกายตามพระเดชพระคุณหลวงปู่ ครูไม่ใหญ่ คุณยายอาจารย์ท่านได้โดยง่ายไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรมเทอญ

ภาคผนวก

ศรัทธา รุ่งอรุณแห่งสันติภาพโลก

         หนังสือ "ศรัทธา รุ่งอรุณแห่งสันติภาพโลก" เป็นหนังสือที่รวบรวม และเรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) เรื่อง "ตถาคตโพธิสัทธา" ในวาระต่าง ๆ สาระสำคัญในหนังสือเล่มนี้อธิบายให้เห็นภาพว่า

      ๑. มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ ความทุกข์ และความกลัว จึงพากันแสวงหาที่พึ่ง ครั้นได้พบสิ่งที่สามารถยึดเป็นที่พึ่งให้คลายทุกข์ได้บ้าง ก็พากันยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น โดยมิได้แสวงหาต้นตอที่แท้จริงของความไม่รู้ ความทุกข์ และความกลัว เพื่อขจัดให้ เด็ดขาด จึงไม่อาจหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ได้จริง

       ๒.ปัญญาของคนเราเกิดขึ้นตามสิ่งที่เขานับถือศรัทธา ถ้าสิ่งที่เขานับถือไม่อาจทำให้ หลุดพ้นจากห้วงทุกข์ได้จริง เขาก็จะต้องตกอยู่ในวังวนของความทุกข์ไม่สิ้นสุดต่อไป เพราะสิ่งที่เขานับถือนั้น ก็ยังไม่อาจนำพาตนเองให้พ้นไปจากความทุกข์เช่นกัน ประดุจดั่งคนตาบอดที่จูงคนตาบอดตกร่วงลงสู่เหวลึก

      ๓.ในอดีตที่ผ่านมามีผู้พยายามหาหนทางขจัดความไม่รู้ ขจัดความทุกข์ และขจัดความกลัวอย่างมากมาย โดยพยายามมุ่งหาคำว่าอะไรคือกุศลแต่ก็มักจะไม่ได้คำตอบหรือได้คำตอบแต่ไม่สมบูรณ์ หรือบางทีก็แวะข้างทางไป เอาลาภสักการะบ้าง ชื่อเสียงบ้าง ยศถาบรรดาศักดิ์บ้าง การยึดมั่นในสิ่งที่รู้มาผิด ๆ บ้างทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จ

        ๔. เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงมุ่งแสวงหาว่า อะไรคือกุศลด้วยเช่นกัน และด้วยภาวนามยปัญญาของพระองค์ จึงทรงค้นพบคำตอบที่สมบูรณ์แบบจากการเจริญสมาธิภาวนาตามหลักมรรคมีองค์ ๘ ทำให้สามารถระลึกชาติของพระองค์เองได้ สามารถระลึกชาติของ ผู้อื่นได้ อีกทั้งสามารถขจัดกิเลสอันเป็นต้นตอของความไม่รู้ ความทุกข์ และความกลัว ได้อย่างเด็ดขาดชนิดถอนรากถอนโคน ยังผลให้พระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ นั้นเอง (ตรัสรู้ในวันคล้ายวันเกิดของพระองค์เอง)

      ๕. ความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงที่เป็นศาสนาที่มีองค์ประกอบเกิดขึ้นจากความสำเร็จในการขจัดความไม่รู้ ความทุกข์ และความกลัวชนิดถอนรากถอนโคนให้หมดสิ้นไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ นั่นคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์   

         ๖. ศรัทธาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา คือ ตถาคตโพธิสัทธา เพราะเป็นศรัทธาที่ทำให้เกิดปัญญาในการขจัดความไม่รู้ ความทุกข์ และความกลัว ให้หมดสิ้นไปอย่างถอนรากถอนโคน

         ๗. ตถาคตโพธิสัทธาเกี่ยวข้องกับการบรรลุธรรม ตรงที่ทำให้ผู้มีศรัทธาเกิดเป้าหมาย เกิดกำลังใจที่จะเพียรปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้องสมบูรณ์ จนกระทั่งเกิดปัญญาตรัสรู้ธรรม สามารถขจัดความไม่รู้ ขจัดความทุกข์ และขจัดความกลัว ให้สิ้นไปได้อย่างถาวร

         ๘. การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ และการบรรลุธรรมอันเป็นปัจจัยให้สามารถขจัดความไม่รู้ ความทุกข์ และความกลัวได้นั้นเป็นของสากล มิได้ผูกขาดไว้เฉพาะแต่ชาวพุทธในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ทุกคนในโลกไม่ว่าจะเชื้อชาติศาสนาใดก็สามารถปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ และบรรลุธรรมได้ดุจเดียวกัน

         ๙. ความมั่นคงในพระพุทธศาสนาอยู่ที่การปลูกฝัง ตถาคตโพธิสัทธาให้แก่ชาวพุทธ เพื่อให้ชาวพุทธเกิดความเข้าใจถูก ในสถานการณ์ชีวิตของตนเองตามความเป็นจริงว่าเราเกิด มาเพื่อขจัดความไม่รู้ ความทุกข์ และความกลัวให้หมดสิ้นไป เราจึงต้องเพียรปฏิบัติธรรม ตามรอยบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดไป เพื่อขจัดต้นตอของปัญหาเหล่านั้นให้หมด ไปอย่างถอนรากถอนโคน

          ๑๐. การสร้างคุณสมบัติของผู้มีตถาคตโพธิสัทธา ต้องสร้างจากนิสัยพื้นฐานแห่งการบรรลุธรรม ๓ ประการ คือ นิสัยเคารพ นิสัยวินัย นิสัยอดทน

          ๑๑. การปลูกฝังตถาคตโพธิสัทธาต้องทำผ่านกิจวัตรประจำวันใน ๕ ห้องชีวิต เพื่อฝึกใจให้แช่อิ่มอยู่กับกุศลธรรมตลอด ๒๔ ชั่วโมง

         ๑๒. การสร้างระบบปลูกฝังตถาคตโพธิสัทธาอย่างยั่งยืนต้องทำผ่านบ้าน วัด โรงเรียน เพื่อให้โลกนี้ยังคงดำรงไว้ซึ่งคำสอนที่บอกหนทางแห่งการขจัดความไม่รู้ ความทุกข์ และความ กลัวให้ชาวโลกไปตราบนานเท่านาน

         นอกจากนั้น ตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ คณะทำงานยังได้นำ "มหาปรินิพพานสูตร" ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ก่อนจะปรินิพพาน มาผนวกไว้ด้วย ทั้งนี้เพราะมีเรื่องน่าสนใจมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างตถาคตโพธิสัทธา และทุ่มชีวิตสืบทอดรักษาพระพุทธ-ศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป

         อาทิเช่น เรื่องมารทูลเชิญพระพุทธองค์ให้ปรินิพพานตั้งแต่แรกตรัสรู้ ที่ทำให้รู้ว่า แม้หมดกิเลสแล้ว แต่มารผู้สร้างกิเลสก็ยังคงมีอยู่ ไม่ได้หมดตามไปด้วย

         เรื่องอปริหานิยธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงย้ำเตือนว่านี่คือ ธรรมที่พระพุทธศาสนามีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นจะขาดตกบกพร่องข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้

         เรื่องพระพุทธองค์ทรงแสวงหาว่า "อะไรคือกุศล" อันเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทาง การตรัสรู้ธรรม ที่นำไปสู่การบำเพ็ญภาวนาอย่างทุ่มเทชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อขจัดอาสวกิเลส และเป็นเหตุให้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น

         เรื่องที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ "พระธรรมวินัย" เป็น "ศาสดาแทนพระองค์" โดยมีจุดมุ่งหมายให้ชาวพุทธทุกยุคทุกสมัย ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์อย่างเคร่งครัด และช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป

         รวมทั้งเรื่องปัจฉิมโอวาท ซึ่งเป็นโอวาทสุดท้ายก่อนปรินิพพาน ที่พระพุทธองค์ตรัสเตือนชาวโลกว่า"อย่าประมาท" ในการปฏิบัติธรรม เพราะความประมาทเป็นหนทางตายของชีวิตและการบรรลุธรรม

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล