เรื่องจากปก
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ธุดงค์กลั่นแผ่นดิน และพิธีกลั่นแผ่นดิน
๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๗ ถึง ๑ มกราคม ๒๕๓๘
ประวัติศาสตร์แห่งการเริ่มต้นสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์ เมื่อสาธุชนผู้มีบุญจากทั่วทุกภาคของประเทศ ได้มาร่วมอยู่ ธุดงค์ต้อนรับศักราชใหม่ และร่วมประกอบพิธีกลั่นแผ่นดิน ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา และร่วมสวดมนต์สรรเสริญ คุณของพระรัตนตรัยพร้อมกัน ๑,๐๐๐ จบ อันเป็นการหลอมรวมพลังศรัทธาของพุทธบริษัท ๔ และอานุภาพอันไม่มีประมาณ ของพระรัตนตรัย เพื่อกลั่นแผ่นดินแห่งนี้ให้เป็นแผ่นดินแก้วอันสว่างไสว รองรับการบังเกิดขึ้นของเจดีย์แห่งพระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ
พิธีโปรยทราย รองรับการสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์
วันอาสาหบูชา ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๘
ภาพของเจดีย์ทรายที่ถูกก่อขึ้นเป็นรูปทรงของมหาธรรมกายเจดีย์ รายล้อมด้วยเหล่าสาธุชน ที่นั่งเจริญสมาธิภาวนากลั่นใจ ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ นับเป็นภาพการสร้างบารมีที่งดงาม ตามแบบอย่างของบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน ที่ได้ก่อพระเจดีย์ทราย ถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อถึงเวลาสว่าง สาธุชนทุกท่านได้ร่วมพิธีโปรยทราย โดยการนำดินและทรายในถิ่นฐานของตน มาโปรยลง ณ สถานที่ก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งเป็นการรวมดินและทรายจากทั่วประเทศมากลั่นให้ใสสว่าง อันเป็นสัญลักษณ์ว่า เมื่อมหาธรรมกายเจดีย์เสร็จสมบูรณ์ จะนำความสว่างไสวให้บังเกิดขึ้นทั่วผืนแผ่นดินไทยอย่างแน่นอน
พิธีตอกเสาเข็มต้นแรก
วันครูธรรมกาย ๘ กันยายน ๒๕๓๘
เสาเข็มต้นแรกของมหาธรรมกายเจดีย์ได้ถูกตอกลงบนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นการเริ่มต้นก่อสร้างฐานราก ของมหาเจดีย์ อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งต้องใช้เสาเข็มทั้งหมดถึง ๓,๓๓๓ ต้น เพื่อให้มหาธรรมกายเจดีย์มีความคงทนถาวร สามารถสถิตอยู่คู่โลก ไปได้นานนับพันปี เสียงของปั้นจั่นที่ตอกลงบนเสาเข็มต้นแรก และเสียงตอกเสาเข็มจำลอง ของท่านเจ้าภาพผู้มีบุญ ที่อยู่รายรอบ ประดุจเสียงธรรมเภรีที่ถูกตีกระหน่ำ เพื่อประกาศให้มนุษย์และเทวดาทุกชั้นฟ้าได้มาร่วมอนุโมทนากับบุญอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้
พิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัวเป็นปฐมเริ่ม
วันวิสาขบูชา ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙
วิสาขปุณณมี วันที่สว่างที่สุดในภพ ๓ เพราะเป็นวันแห่งการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ปรารภเหตุนี้ สร้างมหากุศลครั้งประวัติศาสตร์ ประกอบพิธีสักการะ รูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ประดิษฐาน ณ ศูนย์กลางธรรมกายแห่งโลก และประกอบพิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัวชุดแรกเป็นปฐมเริ่ม เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ มหาธรรมกายเจดีย์ ให้มหาชนได้กราบไหว้บูชาไปอีกนานนับพันปี
พิธีเทคอนกรีตฐานราก
๑ กันยายน ๒๕๓๙
ท่านเจ้าภาพผู้มีบุญและสาธุชนทุกเพศทุกวัยช่วยกันลำเลียงกระป๋องคอนกรีตเนื้อละเอียดพิเศษ ส่งต่อๆ กันไปจากมือสู่มือ จากใจสู่ใจ เพื่อนำไปเทฐานรากของมหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งแม้ว่าแสงแดดในยามบ่ายจะแผดกล้าสักเพียงใด แต่ทุกคนก็ยังคงเดินหน้าสร้างบารมีด้วยความปีติเบิกบาน ซึ่งภาพของ ๑กระป๋อง ๒ มือนี้ ยังคงแจ่มชัดในความทรงจำของผู้มีบุญทุกท่าน เมื่อนึกถึงครั้งใดมหาปีติอันไม่มีประมาณก็จะพลันบังเกิดขึ้น ด้วยความภาคภูมิใจว่า เราคือหนึ่งในบุคคลประวัติศาสตร์ ที่ไม่พลาดบุญใหญ่ในครั้งนี้
พิธีตอกเสาเข็มต้นสุดท้าย
วันครูธรรมกาย ๒๖ กันยายน ๒๕๓๙
เสาเข็มต้นสุดท้าย คือ เสาเข็มต้นที่ ๓,๓๓๓ อันเป็นเสาเข็มต้นสำคัญ ที่ผู้มีบุญได้ช่วยกันปิดแผ่นทองจนเหลืองอร่าม จนเป็นเสาเข็มทองคำต้นแรกของโลก ซึ่งผู้มีบุญหลายหมื่นคนได้ช่วยกันอัญเชิญเสาเข็มต้นนี้ด้วยเชือกมงคล จากสภาธรรมกายสากล หลังคาจาก จนกระทั่งมาถึงศูนย์กลางพิธี เมื่อถึงเวลาสว่าง เสาเข็มต้นสุดท้ายก็ได้ถูกตอกลงสู่ผืนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ เสียงปั้นจั่นดังก้องกังวาน ดังจะประกาศให้เทวดาทุกชั้นฟ้าได้รับรู้ว่า พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายกำลังหยั่งรากลงสู่จิตใจของชาวโลก อันจะเป็นทางมาของสันติสุขที่แท้จริงของโลกใบนี้
พิธีหล่อพระบรมพุทธเจ้า
วันมาฆบูชา ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐
คลื่นมหาชนชุดขาวจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศได้หลั่งไหลมาร่วมพิธีหล่อพระบรมพุทธเจ้า ด้วยเงินบริสุทธิ์หนัก ๑๔ ตัน ขนาดหน้าตัก ๔.๕ เมตร ซึ่งเป็นพุทธปฏิมากรเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ทำการหล่อองค์พระบรมพุทธเจ้า สายตาทุกคู่ ในสภาธรรมกายสากลต่างจับจ้องไปที่แท่นประกอบพิธี ที่รายล้อมด้วยดอกบัวสัตตบงกชขนาดใหญ่ อันเป็นสัญลักษณ์ ของดอกไม้ต้นแรกของกัป ที่จะรองรับการบังเกิดขึ้นของพุทธปฏิมากรกายมหาบุรุษองค์นี้ ซึ่งเป็นพระประธาน ที่จะนำไปประดิษฐาน ภายในมหาธรรมกายเจดีย์ต่อไป
พิธีอัญเชิญพระบรมพุทธเจ้า ประดิษฐาน ณ มหาธรรมกายเจดีย์
วันมาฆบูชา ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑
คณะสงฆ์นับพันรูป สามเณรแก้ว ๑๐,๐๐๐ รูป และสาธุชนนับแสนคน ได้ร่วมริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมพุทธเจ้า เวียนประทักษิณรอบมหาธรรมกายเจดีย์ พร้อมสวดสรรเสริญคุณของพระรัตนตรัย และพระบรมพุทธเจ้า ดังกังวานไปทั่วทั้งพื้นที่ลานธรรม เมื่อถึงเวลาที่สว่างที่สุดของจักรวาล สายตานับแสนคู่ต่างจับจ้องไปที่พุทธปฏิมากร ต้นแบบกายมหาบุรุษอันสง่างามองค์นี้ ที่ถูกอัญเชิญขึ้นไปอย่างช้าๆ และเข้าไปประดิษฐานอยู่ภายในโดมของมหาธรรมกายเจดีย์ นับเป็นภาพอันน่าอัศจรรย์ที่ยังไม่เคยบังเกิดขึ้นมาก่อนบนโลกใบนี้ ซึ่งจะประทับอยู่ในความทรงจำของผู้มีบุญทุกคนตลอดไป
พิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัวทองคำจารึกชื่อ พระราชภาวนาวิสุทธิ์
วันคุ้มครองโลก ๒๒ เมษายน ๒๕๔๑
ในวาระครบรอบ ๕๔ ปี ของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) พระพ่อผู้นำการสร้างบารมี ของเหล่าศิษยานุศิษย์ทั่วโลก ในโอกาสนี้ จึงได้จัดให้มีพิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัวด้วยทองคำแท้จารึกชื่อ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เพื่อประดิษฐานบนยอดโดม มหาธรรมกายเจดีย์เป็นองค์แรก ณ บริเวณหน้าอุโบสถวัดพระธรรมกาย ท่ามกลางสาธุชนผู้มีบุญ ที่เดินทางมาร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่น