วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ วิวัฒนาการการสร้างวัด

พระธรรมเทศนา

 



 

 

" วิวัฒนาการการสร้างวัด "

เรียบเรียงจากโอวาทพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

ตอนที่ ๑

           การสร้างวัดมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เริ่มตั้งแต่ครั้งเสด็จโปรดพระเจ้าพิมพิสาร หลังจากตรัสรู้ได้ประมาณ ๙ เดือน โดยในยุคนั้น การสร้างวัดแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท

            ประเภทที่ ๑ คือ วัดเพื่อการเผยแผ่
            ประเภทที่ ๒ คือ วัดเพื่อการศึกษา
            ประเภทที่ ๓ คือ วัดเพื่อการบรรลุธรรม

           วัดทั้ง ๓ ประเภทนี้ มีขนาดพื้นที่ ลักษณะของท้องถิ่น และลำดับการเกิดขึ้น ก่อนหลังที่แตกต่างกัน แต่มีลักษณะส่งเสริมกันในด้านการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำให้พระภิกษุในยุคนั้น แม้อยู่ต่างวัดกัน แต่ก็ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังต่อไปนี้

           ๑. วัดเพื่อการเผยแผ่

           วัดเพื่อการเผยแผ่ หมายถึง วัดที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น "ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำยุค"Ž มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่หลายร้อยหลายพันไร่ เป็นอุทยานร่มรื่น อาคารสถานที่ใหญ่โตมโหฬาร รูปทรงแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์และความสง่างาม ก่อสร้างด้วย งบประมาณจำนวนมาก ตกแต่งด้วยวัสดุที่ทรงคุณค่าพิเศษ มีความประณีตอลังการ นิยมสร้างอยู่ในเขตป่าแถบชานเมือง นอกเมืองหลวงของอาณาจักร โดยสามารถใช้เป็นที่อยู่ จำพรรษา ของพระภิกษุได้ไม่ต่ำกว่า ๔๐,๐๐๐ รูป๑ และสามารถจัดประชุมใหญ่ของชาวพุทธได้ไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐,๐๐๐ คน๒

           วัตถุประสงค์หลักของการสร้างวัดเพื่อการเผยแผ่ คือ

           ๑. เพื่อใช้เป็นที่ประทับจำพรรษาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นศูนย์กลางการ ทรงงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ขจรขจายไปทั่วทุกแว่นแคว้น
           ๒. เพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมสงฆ์ทั้งแผ่นดินที่เดินทางรอนแรมมาเข้าเฝ้าพระสัมมา- สัมพุทธเจ้าตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนโดยไม่เว้นแต่ละวัน
           ๓. เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมพระภิกษุให้เป็นนักเผยแผ่ ก่อนจะส่งกระจายออกไป ยังท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
           ๔. เพื่อใช้เป็นสถานที่ฟังธรรมและประกอบบุญกุศลของพระราชาและชาวเมืองหลวง ซึ่งนิยมมารวมประชุมกันที่วัดในเวลาเย็น หลังเสร็จสิ้นภารกิจการงานในแต่ละวันแล้ว
           ๕. เพื่อใช้เป็นสถานที่เชิดชูจรรโลงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาให้ปรากฏ ขึ้นในสายตาของชาวโลกในยุคนั้น อันจะก่อความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้ยังไม่เลื่อมใสศรัทธา และผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาอยู่แล้วก็เกิดความเลื่อมใสยิ่ง ๆ ขึ้นไป
           ๖. เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบบุญใหญ่ประจำแคว้น โดยมีพระราชาและชาวพุทธเป็นเจ้าภาพร่วมกันทั้งแผ่นดิน

           ในสมัยพุทธกาล บุคคลที่สร้างวัดเพื่อการเผยแผ่นี้ ส่วนใหญ่ได้แก่ "พระราชา"Ž ผู้ปกครองแคว้น และ "อัครมหาเศรษฐีŽ" ประจำแคว้น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปกครองบริหารและพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของบ้านเมืองในยุคนั้น เนื่องจากได้ฟังพระธรรมคำสอนจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรงแล้ว ต่างก็ประจักษ์ซาบซึ้งว่า พระธรรมคำสอนนั้นสามารถนำพาผองชนให้หลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารได้จริง จึงประกาศตนเป็นศิษย์ของพระบรมศาสดา ทุ่มเทกำลังทรัพย์และกำลังสติปัญญา เพื่ออุปถัมภ์ค้ำจุนพระภิกษุสงฆ์และอำนวยความสะดวก ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วทุกแว่นแคว้น ด้วยการสร้างวัดให้เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาขึ้น ในบ้านเมืองของตัวเอง

           ในสมัยพุทธกาล ประเทศอินเดียแบ่งเป็น ๑๖ แคว้นใหญ่ ได้แก่ อังคะ, มคธ, กาสี, โกศล, วัชชี, มัลละ, เจตี, วังสะ, กุรุ, ปัญจาละ, มัจฉะ, สุรเสนะ, อัสสกะ, อวันตี, คันธาระ, กัมโพชะ และ ๕ แคว้นเล็ก ได้แก่ สักกะ, โกลิยะ, ภัคคะ, วิเทหะ, และอังคุตตราปะ

           แคว้นที่เป็นอาณาจักรใหญ่ครอบครองแคว้นส่วนใหญ่ คือ "แคว้นมคธ"Ž กับ "แคว้นโกศล"Ž พระราชาและมหาเศรษฐีของทั้ง ๒ แคว้นนี้ มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธ-ศาสนาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีจำนวนถึง ๓ อารามใหญ่ ได้แก่

           เวฬุวนาราม

           พุทธอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
           พระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งแคว้นมคธเป็นผู้สร้างถวาย โดยดัดแปลงอุทยาน ส่วนพระองค์ ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองราชคฤห์ (นครหลวงของแคว้นมคธ) มีเนื้อที่กว้างขวาง ใหญ่โต ร่มรื่นด้วยป่าไผ่ อาคารและถาวรวัตถุต่าง ๆ ส่วนมากเป็นเครื่องไม้สร้างอย่างแข็งแรง ทนทาน ประณีต สมกับที่กษัตริย์เป็นผู้ทรงสร้างถวาย

           เวฬุวนารามมีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างมาก เนื่องจาก

            ๑. เป็นวัดแห่งแรกที่บังเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา
            ๒. เป็นวัดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศโอวาทปาฏิโมกข์ในวันมาฆบูชา ซึ่ง เป็นหลักธรรมแม่บทการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเป็นการประชุมกันเป็นครั้งแรกของพระอรหันตสาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป โดยสถานที่ไม่แออัดคับแคบ
           ๓.เป็นวัดศูนย์กลางการเผยแผ่และอบรมปลูกฝังศีลธรรมให้แก่ประชาชนในระยะต้นพุทธกาล ต่อเมื่อพระองค์เสด็จไปประทับที่เชตวนาราม กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล ก็ทรงมอบหมายให้พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา พระอรหันตสาวกผู้เลิศด้วยปัญญา อยู่บริหาร ควบคุมบัญชางานแทนพระองค์ และใช้เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในบริเวณ ภาคกลางของประเทศอินเดียตลอดมา
            ๔. เป็นที่ตั้งสถูปบรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้าย พระอรหันตสาวกผู้เลิศด้วยฤทธิ์ ให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพสักการะ
           ๕. เป็นที่พักจำพรรษาของพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ซึ่งเข้าร่วมการประชุมปฐม-สังคายนาตลอดระยะเวลา ๓ เดือน เพื่อรวบรวมเรียบเรียงพระธรรมวินัยของพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ สะดวกแก่การศึกษาและการเผยแผ่ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์

           เชตวนาราม
           ศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา

           อนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาเศรษฐีผู้เลิศด้วยการถวายทาน เป็นผู้สร้างถวาย โดยซื้ออุทยานของเชื้อพระวงศ์นามว่า "เจ้าเชต"Ž ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองด้านทิศใต้ของกรุงสาวัตถี (นครหลวงของแคว้นโกศล) มาดัดแปลงเป็นพระอาราม การก่อสร้างอาคารและถาวรวัตถุต่าง ๆ ทำอย่างประณีต งดงาม และแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ รวมค่าที่ดินและค่าก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้นถึง ๕๔๐ ล้านกหาปณะ คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๒,๑๖๐ ล้านบาท (๑ กหาปณะเท่ากับ ๔ บาท) ในคัมภีร์ศาสนากล่าวชมว่า แม้พระราชวังของพระเจ้า ปเสนทิโกศล พระราชาผู้ทรงอานุภาพยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ก็ยังสวยสู้เชตวนารามไม่ได้

           เชตวนารามเป็นพระอารามที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและปลูกฝังศีลธรรมให้กับประชาชน ควบคู่กับเวฬุวัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับและแสดงพระธรรมเทศนาโปรดประชาชนอยู่ที่พระอารามนี้นานถึง ๑๙ พรรษา เชตวนาราม จึงกลายเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศควบคู่กับบุพพาราม

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 97 พฤศจิกายน ปี2553

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล