เคยชวนเพื่อนมานั่งสมาธิ เพื่อนๆ ถามว่า ทำไมวิธีนั่งสมาธิมีหลายวิธีเหลือเกิน แถมแต่ละคนที่มาชวนไปนั่งก็บอกว่าวิธีของตัวเองดีที่สุด เราจะตอบอย่างไรให้เขาพอใจที่สุด
เรื่องของการฝึกสมาธิ ต้องจับหลักการให้ได้ก่อนว่า เขาฝึกกันทำไม ถ้าจับหลักการได้แล้ว จะอธิบายอย่างอื่นง่ายหมด หลักการของการฝึกสมาธิ คือ การรู้จักควบคุมจิตใจของตัวเองให้เป็น โดยพยายามเอาใจมาเก็บไว้ในตัว
เพราะธรรมชาติของใจโดยทั่วไป หากไม่ใช่ใจที่ถูกฝึกมาดีแล้ว มันชอบเที่ยว ชอบคิด ตัวอย่างเช่น ตัวเองนั่งอยู่เมืองไทย แต่ใจเที่ยวไปถึงเมืองจีน หรือตัวเองนั่งอยู่กรุงเทพฯ แต่ใจไปเที่ยวถึงหาดใหญ่ ถึงปัตตานี ใจมันไปได้ มันชอบเที่ยว ชอบคิด คิดไปสารพัดเรื่อง ยิ่งอยู่คนเดียวยิ่งมีเรื่องคิดเยอะ ลองไปสังเกตดูจะพบว่า ยิ่งคิดมาก ยิ่งวุ่นมาก แล้วส่วนใหญ่เรื่องที่คิดก็เป็นเรื่องนอกตัวทั้งนั้น ยิ่งปล่อยให้ใจเที่ยวไปด้วย คิดไปด้วย ยิ่งว้าวุ่นหนักเข้าไปใหญ่
เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงให้ทำสมาธิ เพื่อแก้ใจที่ว้าวุ่นของเราด้วยการเอาใจกลับมาไว้ในตัว เมื่อมันเลิกเที่ยว เลิกคิด เลิกว้าวุ่น กลับมาตั้งอยู่ในตัว ใจก็เลยทรงพลังขึ้นมา หลักการมีเท่านี้
แต่ที่มีวิธีเยอะแยะถึง ๔๐ วิธีนั้น ก็มีวิธีหลักอยู่ไม่กี่วิธี นอกนั้นเป็นวิธีเสริม ที่มีวิธีหลัก วิธีเสริมก็เพราะว่า จริตอัธยาศัยของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนเจ้าโทสะ บางคนก็พุทธิจริต หรือเจ้าปัญญา บางคนก็ง่วงเหงาหาวนอนเก่ง ก็เลยต้องหาทางแก้ไขกันไป
วิธีหลัก ๆ มีแค่ ๓-๕ วิธีเท่านั้น นอกนั้นอีก ๓๐ กว่าวิธี เป็นวิธีเสริมเพื่อปรับให้เหมาะกับจริตของคนเท่านั้น และวิธีหลัก ๆ จะไปฝึกสำนักไหนก็ได้ ที่มีครูบาอาจารย์ดูแลอย่างจริงจัง วิธีที่ท่านนำมาสอนก็เป็นวิธีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น ไม่ได้คิดเอาเอง ในเมื่อเป็นวิธีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอาจารย์ที่สอนก็มีประสบการณ์ในการสอนมานาน เราก็เข้าไปหาท่าน ไปตั้งใจฝึกกับท่านให้เต็มที่ก่อน
หากว่าเราทำเต็มที่แล้วแต่ยังไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าที่ควร จะลองเปลี่ยนไปสำนักอื่นบ้างก็ได้ ที่เปลี่ยนไม่ได้หมายความว่าอาจารย์ไม่ดี เพียงแต่ว่าจริตอัธยาศัยของเราคงไม่ตรงกับวิธีนั้น แต่ก่อน จะตัดสินว่าควรเปลี่ยนหรือไม่ควรเปลี่ยน ต้องทุ่มตัวเข้าไปฝึกเสียก่อน ถ้าเราเป็นคนเหยาะแหยะ เดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยนไปหมดทุกสำนัก แล้วก็ยังเอาดีไม่ได้
โดยย่อ ๆ ให้จับหลักการให้ได้ว่า "หลักการของการทำสมาธิมีอย่างเดียว คือ การน้อมใจที่ชอบเที่ยว ชอบคิด ให้กลับมาติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ให้หยุดนิ่งอยู่ที่นั่น ไม่ให้เตลิดเปิดเปิงไปที่ไหน" ส่วนวิธีการถ้าไม่ได้ผิดไปจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ก็ฝึกไปเถอะ แล้วค่อย ๆ ปรับเอา เดี๋ยวก็ได้ และถ้าจะให้ปลอดภัยสักหน่อย จะฝึกวิธีไหนก็ไปหาพระอาจารย์ที่ท่านชำนาญวิธีนั้น ๆ เดี๋ยวท่านก็มีคำแนะนำที่พอเหมาะพอสมให้เราเอง และด้วยความชำนาญของท่าน ท่านจะพบเอง ว่าเราเหมาะหรือไม่เหมาะกับวิธีที่ท่านถนัด ถ้าไม่เหมาะ เดี๋ยวท่านก็ส่งต่อไปสำนักอื่นที่ท่านเห็นว่าน่าจะเหมาะกว่า เราก็ไปตามที่ท่านแนะนำ
ยิ่งไปกว่านั้น ต้องเตือนตัวเองเสมอว่า ไม่ว่าจะไปทดลองฝึกที่ไหน ขอให้ตั้งใจฝึกจริง ๆ อย่าไปทำเป็นเล่น ให้นึกถึงคำพูดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้เมื่อวันจะตรัสรู้ให้ดี คือ หลังจากที่พระองค์ทรงฝึกมาอย่างเต็มที่ ๖ ปีเต็ม ๆ ผ่านสำนักต่าง ๆ มามากมาย ทรงมั่นใจว่าได้ทดลองและมีประสบการณ์มาพอแล้ว เหลืออย่างเดียวคือการเอาจริงเท่านั้น พระองค์ทรงตั้งใจจริง พอประทับลงไปบนรัตนบัลลังก์ก็ทรงอธิษฐานเลยว่า แม้เลือดเนื้อในร่างกายจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที หากยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จะไม่ลุกขึ้น จะประทับ อยู่อย่างนี้ จะตายก็ให้ตายไปเถอะ
เราก็มีสิทธิ์เปลี่ยนวิธีเหมือนกัน แต่ว่าก่อนจะเปลี่ยนให้ฝึกให้สุดความสามารถ เมื่อได้ หลักการเรียบร้อยแล้ว ต่อแต่นี้ไปให้ฝึกจริง ๆ จัง ๆ คงไม่ต้องถึงขนาดให้เนื้อเลือดแห้งเหือดหายไป จริงจังของเราในที่นี้ คือ อย่างน้อยตื่นเช้าขึ้นมาขอสักชั่วโมงหนึ่ง ก่อนนอนขออีกสักชั่วโมง หนึ่ง ในระหว่างวันที่ต้องทำมาหากิน ก็ประคองใจไว้ที่ศูนย์กลางกายให้ดี ให้รู้ตัวว่า ตอนนี้ใจหนี ไปเที่ยวแล้ว ก็ดึงกลับมาใหม่ รู้ตัวว่าไปอีกแล้ว ก็ดึงกลับมาใหม่อีก สู้กันอย่างนี้ ทำไปตามสมควร แต่เช้ากับกลางคืนอย่าให้พลาด ทำอย่างนี้อย่าให้เว้นแต่ละวัน เดี๋ยวก็เห็นหน้าเห็นหลังเอง