วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ 4 Self เพื่อการพัฒนาตนเอง

ทันโลกทันธรรม

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.: Ph.D.) จากรายการทันโลกทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC

 

 
 

 

          วันนี้เรามาศึกษากันเรื่อง 4 Self เพื่อการพัฒนาตนเอง ปัจจุบันมีหลักในการพัฒนาตัวเองเกิดขึ้นมากมาย มีอยู่หลักหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่า 4 Self คือ การรู้จักตนเองใน ๔ ด้าน ได้แก่
          ๑. Self Awareness คือ การรู้เป้าหมายตนเองว่าจริง ๆ แล้วตัวเองอยากจะทำอะไร อยากจะเป็น อะไร เช่นอยากจะเรียนจบชั้นไหน อยากจะทำงาน ประสบความสำเร็จแค่ไหน ในด้านไหน เป็นต้น
          ๒. Self Discipline คือ รู้ว่าตนมีวินัยแค่ไหน
          ๓. Self Improvement คือ การรู้จักพัฒนาตนเองให้มีความเจริญก้าวหน้า มีความรู้เพิ่มขึ้นตลอด
          ๔. Self Evaluation คือ การรู้จักประเมินว่า ตนเองพัฒนาไปได้แค่ไหน อย่างไร เป็นระยะ ๆ
          เรียกว่า 4 Self เพื่อการพัฒนาตนเอง 
          ในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง กล่าวถึงเรื่องการรู้จักตนเองอย่างไรบ้าง พระองค์ทรง กล่าวไว้ ๖ ข้อ คือ ๑. ศรัทธา ๒. ศีล ๓. สุตะ ๔. จาคะ ๕. ปัญญา ๖. ปฏิภาณ ลองมาดูกันว่าเหมือนหรือต่างจาก 4 Self อย่างไรบ้าง

        ๑. ศรัทธา ในแง่ทางธรรม ศรัทธาคือความเชื่ออย่างมีเหตุมีผล แต่ถ้ามองในแง่การบริหารตนเอง ศรัทธาตัวนี้ก็คือ รู้ว่าตนเองมีความมุ่งมั่นอยากจะเป็น อะไร ค่อนข้างจะคล้าย Self Awareness เหมือนกัน คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่าจริง ๆ ตัวเองชอบงานอะไร บางคนอาจจะทำงานเป็นวิศวกรมาจนถึงอายุ ๔๐, ๕๐ ปี ถ้าไปถามเขาว่า ในชีวิตนี้คุณอยากจะเป็นอะไร คุณถนัดงานอะไรมากที่สุด เชื่อไหมว่า คนจำนวนมากตอบไม่ได้ แล้วทำไมมาเป็นวิศวกร เขาบอกว่าตอนอยู่มัธยมต้นมีคนบอกให้เลือกเรียนสายวิทย์ จะหางานง่าย ก็เลยเรียนสายวิทย์ ตอนเอนทรานซ์ ก็เลือกหลายคณะ แล้วบังเอิญติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็เลยเรียน พอจบปีหนึ่งได้เกรดแค่นี้ ก็เลยเป็นวิศวกรโยธา ถ้าเกรดสูงขึ้นอาจจะเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ก็ได้ พอเรียนจบก็ไปสมัครงานเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้าง เพราะจบโยธามา แล้ว มาทำงานที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้าง ทำมาเรื่อย ๆ ๑๐ ปี ๒๐ ปี งานการก็เจริญก้าวหน้ามากขึ้น เงินเดือนก็ขึ้น ตำแหน่งก็ขึ้น ก็รู้สึกว่ามั่นคงดี ไม่อยากเปลี่ยนแล้ว ก็ทำต่อเนื่องไป สรุปคือแต่ละตอนบังเอิญทั้งนั้น ถ้าบังเอิญคะแนน ดีกว่านี้ ก็อาจจะไปเป็นหมอก็ได้ อาจจะไปเป็นทนาย ก็ได้ แต่ว่าสอบได้วิศวะพอดี ก็เลยเป็นวิศวกร เกรด แค่นี้ก็เลยเป็นวิศวกรโยธา เราจะเห็นว่าแต่ละอย่าง อยู่ที่จังหวะ ฉะนั้นพอถึงอายุ ๔๐ กว่าปี ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร

        ถามว่าถ้าเราได้ทำงานที่ถนัดและรักจะดีไหม ดีแน่นอน เพราะเราจะใช้ความสามารถของเราได้เต็มที่ที่สุด และทำงานอย่างมีความสุข ไม่ต้อง ฝืนใจทำ เพราะเราชอบ แล้วเราจะใช้ศักยภาพของ ตัวเองอย่างเต็มที่ แต่ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าตัวเองชอบ อะไร ถ้ารู้ก็จะพุ่งพรวดไปเลย

        หลาย ๆ คนคงจะเคยได้ยินชื่อบิลล์ เกตส์ และอาจจะรู้ประวัติเขาว่า บิลล์ เกตส์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนรวยที่สุดในโลกต่อเนื่องมาหลายปี จริง ๆ แล้วเขาเรียนหนังสือไม่จบปริญญา คือเรียน วิศวะอยู่ที่ฮาร์วาร์ด ยังไม่จบปริญญาตรี แล้วลาออก มาตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์อยู่ในโรงรถของพ่อ ทำกับเพื่อน ๒-๓ คน ถ้าเราอ่านประวัติเขาผ่าน ๆ ก็จะรู้สึกว่าแปลกดี แต่เราเคยคิดไหมว่า ทำไมบิลล์ เกตส์ กล้าลาออกจากมหาวิทยาลัย ถามว่าเป็นเราจะกล้าไหม ลาออกมาแล้ววุฒิที่มีก็คือ มัธยมปลาย แล้วไปตั้งบริษัทอยู่ในโรงรถ มีหลักประกันว่าจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า แล้วถ้าบริษัทเกิดล้มขึ้นมาจะทำอย่างไร วุฒิเหลือแค่มัธยม ปลาย แล้วจะไปทำอะไร จะไปเป็นคนขับรถหรือ เป็น ยามหรือ เสี่ยงมาก คนทั่วไปคงจะคิดว่า ถึงแม้อยาก ทำงานด้านซอฟต์แวร์ ก็กลั้นใจเรียนอีกแค่ ๑-๒ ปี เดี๋ยวก็จบ อย่างไรก็มีปริญญาวิศวกรรมศาสตร-บัณฑิต โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกเป็นหลักประกันชีวิตที่มั่นคง แล้วค่อยไปตั้งบริษัท เกิดล้มขึ้นมาก็ยังไปสมัครงานที่อื่นได้ คนส่วนใหญ่จะคิดอย่างนี้ แต่ทำไมบิลล์ เกตส์ ไม่คิดอย่างนี้ แล้วกล้าลาออกมาทำบริษัท แล้วก็ทำสำเร็จด้วย คำตอบคือเป็นเพราะเขารู้เป้าหมายชีวิตตัวเอง มีศรัทธาว่า ตัวเองต้องการเป็นเจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์ ที่เปลี่ยนแปลงโลก เขาไม่ได้คิดที่จะเป็นโปรแกรมเมอร์ ที่เก่งที่สุดในโลก แต่คิดว่าตัวเองจะเป็นเจ้าของบริษัท ซอฟต์แวร์ ที่มีโปรแกรมเมอร์ทำงานอยู่เต็มบริษัท แล้วเชื่อว่าโปรแกรมเมอร์ซอฟต์แวร์นี่แหละจะเปลี่ยน โลก ดังนั้นบิลล์ เกตส์ จึงกล้าลาออก ที่คนทั่วไปไม่ กล้าเพราะยังรู้จักตัวเองไม่ดีพอ นี่คือความแตกต่าง ถ้าเราหยุดคิดแล้วเราจะเข้าใจ

          ศรัทธาหรือการรู้จักว่า ตนเองอยากจะทำอะไรจริง ๆ มีความสำคัญต่อการกำหนดอนาคตตัวเองขนาดนี้เลย

 

 

       ๒. ศีล บางคนบอกศีลก็คงหมายถึงศีล ๕ ศีล ๘ แล้วจะเกี่ยวกับการบริหารอย่างไร เราต้องจับคอนเซ็ปต์ของศีลให้ได้ว่า ในแง่การบริหารงานบุคคล ศีลก็คือเรื่องของวินัยในตนเอง ถ้าเรามีศรัทธา รู้ว่าเราอยากเป็นอะไร แต่มีวินัยไม่พอ ศรัทธานั้นก็เป็นศรัทธาลอย ๆ อยากจะเป็นเจ้าของ บริษัทโปรแกรมเมอร์ที่ใหญ่ที่สุด แต่ว่าขี้เกียจ นั่งฝัน นอนฝัน ไม่ยอมทำ จะสำเร็จไหม ก็ไม่สำเร็จ ฉะนั้น ต้องตรวจสอบตัวเองก่อนว่า วินัยในตนเองเรามีพอไหม ทั้งวินัยเรื่องเวลา การควบคุมตัวเอง อะไรควรทำ ไม่ควรทำ ไม่เตร็ดเตร่เหลวไหล แต่สามารถควบคุม ตัวเองได้ อะไรดีเราทำสิ่งนั้น ถ้ารู้จักตัวเองในเรื่องวินัยอย่างนี้ เรื่องศีลอย่างนี้ ความมั่นใจจะเพิ่มพูนขึ้น

      ๓. สุตะ หรือการฟัง ในสมัยพุทธกาล ความรู้ได้มาจากการฟังเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันสุตะรวมถึง การอ่านด้วย การอ่าน การฟัง ก็คือความรู้นั่นเอง ต้องสำรวจตัวเองว่า เรามีความรู้แค่ไหน จะเพิ่มพูน ความรู้ได้อย่างไร ถ้ารู้จักตรงนี้ดีแล้ว จะประเมินตัวเองได้ เราอยากเป็นเจ้าของบริษัทโปรแกรมเมอร์ เจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุด ถ้าเรามีวินัยพอ มีความรู้พอ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ถ้าอย่างนี้ แล้วก็จะมีความมั่นใจว่าเป็นได้

     ๔. จาคะ ความเสียสละของเรามีแค่ไหน บางคนสงสัยว่าเสียสละจะเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างไร เกี่ยวสิ เวลาเราทำงานคิดแต่ตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความเสียสละ ทั้งสละสิ่งของและมีน้ำใจให้กับคนอื่น และต้องมีการสละอารมณ์ด้วย ถ้าเช็กแล้วใครมีจาคะน้อย อย่าไปทำงานที่ต้องเกี่ยวข้อง กับคนมาก ๆ จะไปเป็นเจ้าของบริษัทบริหารคนจำนวนมาก ไปไม่รอด เพราะการดูแลคนจำนวนมากจะเจอเรื่องไม่ถูกใจเราแน่นอน ถามว่าเราเคยขัดใจตัวเองไหม ว่าเราไม่น่าทำอย่างนั้นเลย คิดว่าทุกคนเคยเจอทั้งนั้น ตัวเราแท้ ๆ มือก็ของเรา เท้า ก็ของเรา เรายังเคยขัดใจตัวเองเลย ถ้าไปอยู่กับคนหมู่ใหญ่ อย่างไรก็ต้องเจอเรื่องขัดใจแน่นอน ยิ่งเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากเท่าไร เรื่องขัดใจยิ่งมาก ถ้าเราเป็นคนที่ไม่รู้จักสละอารมณ์ ขัดใจแล้วเก็บเอาไว้ในใจ ขืนไปยุ่งกับคนมาก ๆ ก็จะเครียด
          ฉะนั้น จะทำงานปกครองคน บริหารคน หมู่มากได้ต้องมีจาคะ เช็กตัวเองเรื่องนี้ให้ดี 

       ๕. ปัญญา ข้อนี้เป็นการนำเอาความรู้ความสามารถทั้งหมดของเรามาใช้ ตอนสุตะเป็นในแง่ความรู้ เป็นการรับเข้ามา แต่ปัญญาเป็นการเอาความรู้มาย่อย แล้วนำออกไปสู่การปฏิบัติ คือการใช้ความรู้ ใช้ความสามารถจริง ๆ ทำให้เกิดเป็นผลิตผลขึ้นมาให้สำเร็จ เรามีเรื่องนี้แค่ไหน

      ๖. ปฏิภาณ หรือไหวพริบ ต่างจากปัญญาซึ่งเป็นลักษณะแบบ long-run ระยะยาว แต่ว่าปฏิภาณ คือเจอปัญหาแล้วมีไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดี เรามีแค่ไหน

       ทั้ง ๖ ด้านนี้เช็กให้ดี ให้เข้าใจและรู้จักตัวเอง ให้ดี แล้วพัฒนาปรับปรุงให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือการปรับตัวเราให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ อย่างแท้จริง แล้วเราจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ในชีวิต เพราะฉะนั้น ถ้าดูแง่นี้เราจะพบว่า Self Evaluation หรือการประเมินตัวเองนั้น จริง ๆ แล้ว พระพุทธเจ้าท่านประเมินทั้ง ๖ ข้อเลย แต่ 4 Self มีแค่ครึ่งเดียว ข้อ ๔, ๕, ๖ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวยังขาดอยู่ ถ้าเอาให้ครบ ๖ ข้อ จะสมบูรณ์

       คราวนี้มาถึงว่า ทำอย่างไรเราจะปรับทั้ง ๖ ข้อ ให้เกิดขึ้นกับตัวเราให้ได้ ขอยกตัวอย่างข้อแรก เรื่องของศรัทธา คือการรู้ว่าจริง ๆ แล้วเราอยากทำอะไร งานที่เราถนัดคืออะไร งานที่เรารักจริง ๆ คืออะไร บางท่านอายุ ๔๐ ปี ๕๐ ปีแล้ว รู้สึกว่าจะให้ไปเปลี่ยนงานใหม่ตอนนี้คงจะไม่ทัน แต่รู้จักตัวเองไว้ก็ไม่เสียหาย โดยเฉพาะถ้าเรามีลูกมีหลาน หรือมีลูกศิษย์ ช่วยสอนเขาด้วย มีหลักง่าย ๆ อย่างนี้ คือ สอนให้ลูกแม้กระทั่งอยู่ประถมก็ตาม ให้เริ่มคิด เลยว่า โตขึ้นอยากจะเป็นอะไร เด็ก ๆ อาจจะยังเห่อ เช่น ตอนนั้นกำลังเห่อฟุตบอล อยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ บางทีเห่อดารา อยากจะเป็นดารา อยากจะเป็นนักร้อง อยากจะเป็นนักขับรถแข่ง เขา อยากจะเป็นอะไร ให้เขาเขียนมาเลย ๑,๒,๓,๔,๕ บางคนไปดูหนังมา ทนายเรื่องนี้เก่งจังเลย อยาก เป็นทนาย เขียนไปเลย แล้วถ้าทำได้ให้เขียนเหตุผล ด้วยว่า เพราะอะไรถึงอยากจะเป็นอย่างนั้น เขียนเท่าที่เขาสามารถเขียนได้ เป็นเด็กก็เขียนแบบเด็ก ๓ เดือน ๖ เดือน ก็มาปรับใหม่อีกครั้ง พอขึ้นมัธยมต้นก็เขียนใหม่ พอถึงมัธยมปลายจะต้องเลือก จริง ๆ แล้ว ประเมินถี่ขึ้นก็ได้ ม.๔ ก็ ๒ เดือนครั้ง ม.๕ ก็เดือนละครั้ง อันดับ ๑,๒,๓,๔,๕ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ พอเริ่มโตขึ้นไม่สนใจเป็นนักฟุตบอลแล้ว เริ่มคิดถึงอาชีพจริง ๆ แล้ว พอคิดไตร่ตรองสำรวจตัวเองอยู่เรื่อย ๆ เชื่อเถอะว่า ก่อนจะเอนทรานซ์เขาจะตอบตัวเองได้ว่าจริง ๆ เขา อยากจะเป็นอะไร ที่คนทั่วไปไม่รู้จักตัวเองเพราะว่า ไม่ค่อยได้หยุดคิดพิจารณาถามตัวเองจริง ๆ แต่ไป เรื่อย ๆ ตามกระแส ถ้าเราสอนให้เขารู้จักไตร่ตรอง ขบคิดพิจารณา สำรวจตัวเองจริง ๆ เชื่อเถิดว่า เขา จะรู้จักตัวเอง

    ในเรื่องของวินัยก็เหมือนกัน เรื่องเวลาเป็นหัวใจหลัก รวมทั้งความสะอาด ความเป็นระเบียบ ฝึกให้เขา แล้วเขาจะจัดสรรเวลาของตัวเองได้ แล้ว จะนำไปสู่การพัฒนาตัวเอง

      ฝึกให้รู้จักจาคะ ให้รู้จักพัฒนาการเสียสละ ให้คนอื่น แบ่งปันกันไป แล้วก็อย่าไปติดอะไรมาก คนเราก็อย่างนี้แหละ เรายังขัดใจตัวเองเลย คนอื่น จะอย่างไรกันนักกันหนา ยิ่งได้รู้จักนั่งสมาธิด้วย ใจยิ่งคลายง่าย โตขึ้นจะเป็นคนที่บริหารตัวเองได้ แล้วปกครองคนอื่นได้ด้วย ปัญญา ความรู้ ความสามารถ ไม่ใช่มาจากการเรียนอย่างเดียว แต่ต้องลงภาคปฏิบัติจริงด้วย ฝึกให้ทำงานตั้งแต่ยังเล็ก รักลูกแต่อย่าโอ๋ลูก ให้ช่วยทำงานบ้าน แบ่งงานให้รับผิดชอบ ทำดีก็มีรางวัล มีการให้คุณให้โทษเป็นแรงจูงใจ ถ้าลูกเราได้ลงภาคปฏิบัติ เขาจะเอาความรู้ ที่มีออกมาใช้ในการทำงานจริง ๆ ได้ แล้วอนาคตก็จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล