พระธรรมเทศนา
การที่วัดใดวัดหนึ่งจะเจริญหรือรกร้างว่างเปล่าจากสงฆ์ การที่พระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองหรือตกต่ำ ย่อมขึ้นอยู่กับการที่วัดนั้นได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการเป็น "ผู้ให้ความเจริญด้านจิตใจด้วยโลกุตรธรรมแก่สังคม" อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการสร้างวัดในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
๑. วัดที่ไม่มีวันร้าง
ตามธรรมดานั้น เมื่อคนเราได้รับความสุขความเจริญในชีวิตจากใครแล้ว ย่อมแสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยการทำนุบำรุงรักษาบุคคลนั้นอย่างสุดชีวิตจิตใจ ดังคำโบราณว่า
"เมื่อเขาได้ด้วย เขาก็จะดีด้วย เมื่อเขาไม่ได้ด้วย เขาก็ไม่ดีด้วย" เพราะการที่คนเราจะเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวบุคคลใดหรือสิ่งใด ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นหรือสิ่งนั้นอำนวย ประโยชน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมเสียก่อน ดังพุทธพจน์ว่า
"ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนหมู่มาก" นั่นก็หมายความว่า "วัดต้องเป็นผู้ให้แก่สังคม" วัดจึงจะเจริญรุ่งเรืองได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ "วัดต้องให้ความอิ่มธรรม โยมจึงให้ความอิ่มท้อง" ทั้งสองฝ่ายต่างต้องอุปการะซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้การปิดหนทางนรก การเปิดหนทางสวรรค์และนิพพานสัมฤทธิ์ผล
แต่การให้ของวัดจะแตกต่างจากการให้ของชาวโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้วัตถุสิ่งของ ประเภทปัจจัย ๔ ส่วนการให้ของวัดเป็นการให้สิ่งที่ยิ่งกว่าปัจจัย ๔ นั่นคือ การให้โลกุตรธรรม ซึ่งมีคุณวิเศษมหาศาลในการดับสารพัดทุกข์ในชีวิตได้อย่างถอนรากถอนโคน ทั้งนี้เพราะ "โลกุตรธรรม" คือ "ปัญญาดับทุกข์อันเกิดจากการบำเพ็ญภาวนาจนกระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว"
เพราะเหตุนี้ ผู้ที่เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวได้ จึงมีที่พึ่งในการกำจัดทุกข์ได้จริง ดังที่ พระบรมศาสดาทรงให้โอวาทแก่นักบวชกลุ่มหนึ่งซึ่งมีสาวกหลายหมื่นคน หัวหน้านักบวชนั้นก็เคยเป็นอดีตอำมาตย์ของพระราชาแห่งแคว้นโกศลถึง ๒ รัชกาล มีนามว่า "ปุโรหิตอัคคิทัต" แต่เนื่องด้วยเขาไม่เข้าใจว่า สิ่งใดคือที่พึ่งในการดับทุกข์ที่แท้จริง จึงสั่งสอนให้สาวกของตนนับถือกราบไหว้ภูเขา ป่าไม้ อาราม ต้นไม้ ว่าเป็นสรณะในการกำจัดทุกข์ พระพุทธองค์ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งอรหัตผลของนักบวชกลุ่มนี้ จึงทรงมีเมตตาเสด็จไปโปรด ถึงที่อยู่ด้วยพระองค์เอง
พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอนนักบวชอัคคิทัตและศิษย์สาวกทั้ง ๑๐,๐๐๐ คนว่า มนุษย์ จำนวนมากผู้ถูกภัยคุกคาม ต่างถึงภูเขา ป่าไม้ อาราม และรุกขเจดีย์เป็นสรณะ
นั่นมิใช่สรณะอันเกษม นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงส่วนผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ย่อมใช้ปัญญาชอบพิจารณา เห็นอริยสัจ ๔ ประการ คือ
ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความสงบระงับทุกข์ นั่นเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
หลังจากจบพระธรรมเทศนา นักบวชอัคคิทัตและสาวก ๑๐,๐๐๐ คน ก็ได้บรรลุโลกุตรธรรมเป็นพระอรหันต์ และก็กลายเป็นเรื่องราวตัวอย่างของการเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน อันเป็นเหตุให้บรรลุโลกุตรธรรมในตัว
ด้วยเหตุนี้ การให้โลกุตรธรรมจึงเป็นการตอบแทนคุณข้าวปลาอาหารของญาติโยมได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด เพราะให้ความอิ่มธรรมที่นำไปสู่สภาพหมดกิเลสและพ้นทุกข์ ทำให้ การถวายข้าวปลาอาหารในแต่ละมื้อ และการบำรุงเลี้ยงด้วยปัจจัย ๔ ต่าง ๆ ในแต่ละวัน เต็มไปด้วยบุญกุศลอย่างเต็มที่ ญาติโยมจึงได้รับความสุข จากโลกุตรธรรมที่ได้รับการแบ่งปันมาจากวัด
ดังนั้น "วัดที่ไม่มีวันร้าง" ก็คือ วัดที่เป็นผู้ให้โลกุตรธรรมแก่สังคม โดยมี "พระภิกษุผู้บำเพ็ญภาวนาด้วยความเคารพในธรรมยิ่งกว่าชีวิต" เป็นผู้ทำหน้าที่แจกจ่าย "โลกุตรธรรม" ให้แก่ประชาชน นี่คือเหตุที่มาแห่งความเจริญรุ่งเรืองของวัดและของพระพุทธศาสนา และวัด ก็กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งการบรรลุธรรมของชาวพุทธ เป็นสถานที่สืบทอดพระพุทธ ศาสนา เป็นสถานที่สืบทอดพระพุทธประสงค์ของพระบรมศาสดาที่จะช่วยชาวโลกให้พ้นทุกข์ ไปอีกนานแสนนาน
๒. หน้าที่สำคัญของวัดต่อสังคม
คุณค่าของวัดอยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์ แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของวัดไม่ได้อยู่ที่การปลุกเสกเวทมนตร์หรือใช้เล่ห์กลคาถา ไม่ได้อยู่ที่การดูดวง การแก้บน การใบ้หวย การเสี่ยงทาย เพราะการให้สิ่งเหล่านี้แก่ประชาชน เป็นการสร้างความศักดิ์สิทธิ์แบบหลอก ๆ เป็นความศักดิ์สิทธิ์แค่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่นานก็จะต้องร้างไป เพราะยังเจือปนด้วยอาสวกิเลส
ความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงของวัดนั้น อยู่ที่การให้ พระธรรมคำสอน ที่สามารถยกระดับจิตใจของผู้คนในสังคม ให้มีความศรัทธาในพระรัตนตรัย เข้าถึงโลกุตรธรรมหลุดพ้น จากกิเลส นี้คือความศักดิ์สิทธิ์โดยธรรมของวัด
"วัดที่มีความศักดิ์สิทธิ์โดยธรรม" นั้น จะต้องทำ หน้าที่หลักของวัด ๒ ประการ ได้แก่
ประการที่ ๑ คือ การเป็นโรงเรียนสอนศีลธรรมให้กับประชาชนในท้องถิ่น
ประการที่ ๒ คือ การเป็นบุญสถานอันศักดิ์สิทธิ์เหมาะแก่การปรารภความเพียร เพื่อการบรรลุธรรมของประชาชนในท้องถิ่น
วัดที่ทำหน้าที่หลักทั้ง ๒ ประการนี้ได้สมบูรณ์ ย่อมเป็นวัดที่มีความศักดิ์สิทธิ์โดยธรรม เพราะทำหน้าที่แจกจ่ายโลกุตรธรรมให้แก่สังคมได้จริง
ด้วยเหตุนี้ การเปิดโรงเรียนสอนศีลธรรมอย่างถูกต้องเหมาะสม ก็คือ การทุ่มเทแนะนำสั่งสอนอบรมประชาชนให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว อันเป็นทางดับทุกข์ให้กับชีวิต ดับทุกข์ให้แก่สังคมนั่นเอง
ประชาชนที่ไปบำเพ็ญภาวนาที่วัดจนเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ย่อมให้ความเคารพสักการะวัด ในฐานะที่เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งการบรรลุธรรม เพราะตระหนักดีว่าเป็นภาระหนักอย่างยิ่งของทั้งพระภิกษุและเจ้าหน้าที่วัดทุกระดับ
ดังนั้น วัดใดก็ตาม ที่ทั้งพระภิกษุและญาติโยมต่างบำเพ็ญเพียรจนสามารถเข้าถึงโลกุตรธรรม คือ การเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว วัดแห่งนั้นย่อมเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ เพราะทำให้ พระพุทธศาสนาเกิดความมั่นคง มีอายุยืนยาว ไม่เสื่อมสูญจากพระสัทธรรม
๓. ความเกื้อกูลต่อพระพุทธศาสนาของพระภิกษุและญาติโยม
ตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาลแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นตลอดมาว่า "วัด" เกิดขึ้นจากความเกื้อกูลช่วยเหลือกันของทั้งพระภิกษุและญาติโยม ดังที่ทรงประทานโอวาท ไว้ใน "พหุการสูตร" ว่า คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนและบรรพชิตผู้ไม่อยู่ครองเรือนทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างอาศัยกันและกัน จึงบรรลุสัทธรรม อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมได้
ฝ่ายบรรพชิตผู้ไม่อยู่ครองเรือนย่อมต้องการปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช อันเป็นเครื่องบรรเทาอันตรายจากฝ่ายคฤหัสถ์
ฝ่ายคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน อาศัยพระอริยะผู้ปฏิบัติดีแล้ว เชื่อมั่นคำสั่งสอนและการปฏิบัติดีของพระอรหันต์ เป็นผู้เพ่งพินิจอยู่ด้วยอริยปัญญา ประพฤติธรรมอันเป็นทางนำไป สู่สุคติโลกสวรรค์ในอัตภาพนี้ มีความเพลิดเพลิน เสวยกามสุข รื่นเริงบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก พระพุทธโอวาทนี้ ได้แบ่งหน้าที่ของพระภิกษุและประชาชนในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา อย่างชัดเจน ดังนี้
ประการที่ ๑ หน้าที่ของบรรพชิตในวัด คือ การให้โลกุตรธรรมแก่ประชาชนและตนเอง
ประการที่ ๒ หน้าที่ของญาติโยมต่อวัด คือ การบำรุงพระภิกษุในวัดด้วยปัจจัย ๔ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติธรรมและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ตรงนี้เอง คือที่มาของหน้าที่หลักสำคัญของทั้งพระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ดังกล่าวแล้ว
เพราะเมื่อพระภิกษุยังทำหน้าที่เป็นผู้แจกจ่ายโลกุตรธรรมให้แก่ประชาชนอยู่ ย่อมแสดงว่า โรงเรียนสอนศีลธรรมยังเปิดดำเนินการอยู่ในวัดนั้น
ขณะเดียวกันเมื่อญาติโยมได้รับการแนะนำสั่งสอนให้เข้าถึงโลกุตรธรรมจากวัด ก็ย่อม เต็มใจที่จะทำหน้าที่บำรุงพระภิกษุด้วยปัจจัย ๔ โดยไม่ฝืดเคือง ซึ่งนั่นย่อมแสดงว่าศรัทธา ของประชาชนยังมั่นคงดีอยู่ วัดก็จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อการบรรลุธรรมในสายตาของ ประชาชนเรื่อยไป
สิ่งที่ต้องพิจารณาให้ละเอียดลออยิ่งกว่านั้นก็คือ คุณค่าของข้าวปลาอาหารแต่ละทัพพี ที่ญาติโยมถวายให้พระภิกษุนั้น ไม่เพียงแต่จะต่อชีวิตพระภิกษุเท่านั้น แต่ยังจะสืบอายุพระพุทธศาสนาอีกด้วย ใคร ๆ จึงต้องไม่มองเพียงมูลค่าของทรัพย์สินสิ่งของเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะเรี่ยวแรงและกำลังที่พระภิกษุได้จากข้าวปลาอาหารนั้น ได้ให้ทั้งการต่อชีวิตพระภิกษุ และการต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อพระภิกษุมีเรี่ยวแรงแข็งขัน ขยันศึกษาค้นคว้าและประพฤติปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมมีพระธรรมเทศนาดี ๆ มาเทศน์สอน อบรมประชาชนให้เป็น "คนดีของสังคม" ต่อไป
เมื่อประชาชนในท้องถิ่นเป็นคนดีของสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินย่อมเกิดขึ้นในท้องถิ่น ครอบครัวก็อบอุ่น ชุมชนก็เข้มแข็ง สังคมก็ร่มเย็น อบายมุขก็ไม่มี เศรษฐกิจก็ไม่ฝืดเคือง
ผู้คนในย่านนั้นย่อมมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มีอัธยาศัยไมตรีต่อกัน พระภิกษุก็น่ากราบ ผู้น้อยก็น่ารัก ผู้ใหญ่ก็น่าไหว้ ทุกคนต่างเป็นผู้มีศีลมีธรรมมาแจกจ่ายให้กันและกันอย่างเหลือเฟือ
สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจาก "ความอิ่มธรรมของประชาชน" ที่ได้รับมาจากการดูแล "ความอิ่มท้องของพระภิกษุ" ซึ่งไม่ได้สิ้นเปลืองอันใดมาก เพียงบำรุงเลี้ยงด้วยข้าวปลาอาหาร ไม่กี่ทัพพีในแต่ละวันเท่านั้น ก็ก่อให้เกิดคุณงามความดีอย่างมหาศาลต่อสังคมถึงเพียงนี้
ดังนั้น วัดที่มีพระภิกษุให้ความอิ่มธรรมและญาติโยมให้ความอิ่มท้อง ย่อมเป็น บุญสถานศักดิ์สิทธิ์อันเป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งปวง ย่อมเกื้อกูลความเจริญรุ่งเรืองต่อพระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล เกียรติคุณอันไพศาลของวัดแห่งนั้น ย่อมแผ่ขจรขจายออกไปทั่วทุกเขตคามอย่างน่าอนุโมทนายินดีไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่
๑. ย่อมได้ชื่อว่า "มีความเกื้อกูลต่อสังคม" เพราะทำให้ประชาชนเข้าวัดปฏิบัติธรรม ตั้งใจประกอบคุณงามความดี
๒. ย่อมได้ชื่อว่า "มีความเกื้อกูลต่อพระพุทธศาสนา" เพราะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง มีการสืบทอดธรรมะจากยุคสู่ยุคไม่ขาดสาย
๓. ย่อมได้ชื่อว่า "มีความกตัญญูกตเวทีต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" เพราะทำให้การตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ไม่สูญเปล่า ทำให้ความเหนื่อยยากลำบากในการสร้างบารมียาวนานตลอดยี่สิบอสงไขยแสนมหากัปไม่หมดไปเปล่า
ดังนั้น วัดที่เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งปวงและทำหน้าที่แจกจ่ายโลกุตรธรรมให้แก่สังคมด้วย ความกตัญญูกตเวทีอันยิ่งใหญ่ คือ รู้คุณ ตอบแทน คุณ และประกาศคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้ ย่อมไม่มีวันเสื่อมร้างอย่างแน่นอน