วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ความแตกต่างระหว่าง อกุศลกรรมบถและกุศลกรรมบถ

พระธรรมเทศนา

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

 

 

 

(ตอนจบ)

สาเหตุของ อกุศลกรรมบถและกุศลกรรมบถ

     ธรรมชาติของใจนั้น "ใสสว่าง"ใสเหมือนน้ำค้างกลางหาว สว่างเหมือนพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน แต่แม้ว่าจะใสสว่างปานนั้นหากนำกล้องที่มีกำลังขยายสูงๆ ไปขยายใจเป็นล้านๆ เท่า จะพบว่าในกลางความใสนั้นจะมีจุดดำๆ เล็กๆ โตขนาดเม็ดโพธิ์ เม็ดไทร มีสีดำสนิทเหมือนสีนิล ตรงนี้เองเป็นที่นอนเนื่องของกิเลสที่หมักดองอยู่ในใจที่พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า "อวิชชา"

         เมื่อใจถูกจุดดำๆ เล็กๆ ปนเป็นมากเข้าๆ ก็จะซึมซาบจนเอิบอาบ นานเข้าๆ จนแช่อิ่ม แล้วก็ หมักดอง จนกระทั่งเกิดการกัดกร่อนเนื้อใจ จนทำ ให้ความใส ความบริสุทธิ์ หรือคุณธรรมที่อยู่ในใจเสื่อมถอยไป ทำให้ใจคนที่ควรจะมีหิริโอตตัปปะ กลับเป็นใจของสัตว์ดิรัจฉานในร่างคนเป็นใจของเปรตในร่างคน อวิชชาที่ขยายออกมานี้พระพุทธองค์ ทรงเรียกว่า "กิเลส" แล้วทรงแบ่งกิเลสออกเป็น ๓ ตระกูล คือ

           ๑. โลภะ
           ๒. โทสะ
           ๓. โมหะ

        กิเลสทั้ง ๓ ตระกูลนี้เป็นสาเหตุของอกุศลกรรมบถ ๑๐ ในทางตรงกันข้าม อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นสาเหตุของกุศลกรรมบถ ๑๐ เช่นกัน

        โลภะ คือ ความอยากได้ในทางที่ไม่ชอบ แต่ยังไม่ได้แสดงออก ส่วนความอยากรับประทานอาหารในยามหิวความอยากห่มผ้าห่มในยามหนาว ฯลฯ เป็นความอยากชนิดสามัญ เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่จัดเป็นโลภะ เพราะยังไม่นำความเสียหายมาให้

        โทสะ คือ การมีจิตคิดปองร้าย คิดทำร้าย คิดทำลาย เช่น คิดจะฆ่า คิดจะด่า คิดจะทำให้อาย ฯลฯ

        โมหะ คือ ความหลงผิด ความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี คิดว่าสิ่งนี้ถูก สิ่งอื่นผิด ซึ่งตรงกันข้ามกับ ความเป็นจริงอันเป็นธรรมดาโลก ส่วนความไม่รู้หรือความเข้าใจผิดในเรื่องสามัญที่ไม่เกี่ยวกับความผิดชอบชั่วดี เช่น ความไม่รู้กฎหมาย ความไม่เข้าใจภูมิประเทศ ฯลฯ ไม่จัดว่าเป็นโมหะ เพราะไม่เป็นเหตุให้คนชั่ว ไม่เป็นเหตุให้คนตกนรก

      โลภะทำให้เกิดอกุศล เพราะทำให้เกิดความฉิบหาย ทำให้จิตกำเริบ เนื่องจากเมื่อมีสิ่งใดมากระทบใจ เช่น รูปมากระทบตา ใจก็จะเห็น เสียงมากระทบหูใจก็จะได้ยิน กลิ่นมากระทบจมูก ใจก็จะได้กลิ่น รสมากระทบลิ้นใจก็จะรับรส วัตถุมากระทบกายใจก็จะรับเห็นโผฏฐัพพะ มีสิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจ ใจก็จะรับไว้เป็นธรรมารมณ์ แล้วใจก็จะบันทึกสิ่งที่เห็นทั้ง ๖ ประการ หรืออย่างใดอย่างหนึ่งไว้เป็นความจำ แล้วนำข้อมูลจากความจำ นี้นำไปคิดจนเกิดเป็นความรู้ หากเราไม่พิจารณา อย่างแยบคายใจก็จะฟุ้ง เห็น จำ คิด รู้ ก็จะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อวิชชาและกิเลสในใจก็จะกำเริบขึ้นเกิดเป็นความพอใจหรือไม่พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทำให้ใจขุ่นมัว เศร้าหมองเหมือนเมฆบังจันทร์ หรือเหมือนหมึกที่หยดลงในน้ำใสๆ เหมือนโคลนที่ปนอยู่ในน้ำ ทำให้น้ำทั้งขุ่นทั้งสกปรก เช่นเดียวกับ ใจเมื่อถูกอวิชชาและกิเลสครอบงำ ใจก็จะเศร้าหมองเมื่อใจเศร้าหมองก็เลยไปบั่นทอนปัญญา เป็นเหตุให้เรากระทำความชั่วทางกาย วาจา และใจ ซึ่งก็คืออกุศลกรรมบถ ๑๐ แล้วความทุกข์นานัปการก็ถาโถมเข้ามาในใจ

แม้โทสะ โมหะ ก็เกิดเช่นเดียวกับโลภะเหมือนกัน
ส่วนอโลภะ อโทสะ อโมหะ จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะสามารถทำให้อวิชชาและกิเลสหมดไปจากใจได้

 

 

๑. การฆ่าสัตว์ 
มีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ

๑.๑ มีโลภะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโลภเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้ฆ่า เช่น อยากได้งาช้างที่สวยงาม เลยฆ่าช้างตัวนั้นเพื่อเอางา
๑.๒ มีโทสะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโกรธเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้ฆ่า เช่น โกรธที่สุนัข ข้างบ้านกัด เลยเอายาเบื่อให้กิน
๑.๓ มีโมหะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความหลงเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้ฆ่า เช่น คิดว่าฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญจะทำให้ได้บุญมาก

๒. การลักทรัพย์
มีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ

๒.๑ มีโลภะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโลภเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้ลักทรัพย์ เช่น อยากรวย ทางลัด เลยไปปล้นธนาคาร
๒.๒ มีโทสะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโกรธเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้ลักทรัพย์ เช่น โกรธที่เพื่อนบ้านไม่ยอมให้ยืมรถยนต์ เลยขโมยรถยนต์ของเพื่อนบ้านไป
๒.๓ มีโมหะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความหลงเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้ลักทรัพย์ เช่น คิดว่า การลักขโมยเป็นอาชีพที่สบาย

๓. การประพฤติผิดในกาม
มีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ
๓.๑ มีโลภะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโลภเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้ประพฤติผิดในกาม เช่น เห็นภรรยาของเพื่อนสวย เลยแอบไปตีท้ายครัว
๓.๒ มีโทสะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโกรธ เข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้ประพฤติผิดในกาม เช่น โกรธที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่ชอบ เลยพาผู้หญิงหนี
๓.๓ มีโมหะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความหลง เข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้ประพฤติผิดในกาม เช่น มีความเห็นผิดว่าการได้เสพเมถุน
กับหญิงพรหมจรรย์ จะทำให้อายุยืน

๔. การพูดเท็จ
มีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ

๔.๑ มีโลภะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโลภเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พูดเท็จ เช่นเมื่อได้รับเงินสินบนเลยรายงานเท็จ
ต่อผู้บังคับบัญชา
๔.๒ มีโทสะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโกรธเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พูดเท็จ เช่น
โกรธที่เพื่อน ไม่ยอมคอรัปชั่นร่วมกัน เลยรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อให้ย้ายเพื่อนไปทำงานที่อื่น
๔.๓ มีโมหะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความหลงเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พูดเท็จ เช่น แม่โกหกลูกว่าถ้าหากไม่นอนจะให้ตุ๊กแกมากินตับ

๕. การพูดส่อเสียด
มีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ

๕.๑ มีโลภะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโลภเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พูดส่อเสียด เช่น นักข่าว สัมภาษณ์คณะรัฐบาล และออกข่าวในทำนองทำให้ เกิดความแตกแยกกัน เพื่อตนเองจะได้มียอดขายเพิ่มขึ้น
๕.๒ มีโทสะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโกรธเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พูดส่อเสียด เช่น นาย ก. และนาย ข. เป็นเพื่อนกัน แต่นาย ค. ไม่ชอบ นาย ข. นาย ค. เลยพูดยุแหย่ให้นาย ก. และนาย ข. ทะเลาะกัน
๕.๓ มีโมหะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความหลงเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พูดส่อเสียด
เช่น ไม่ทราบ ว่าเพื่อนบ้านไม่ถูกกัน เลยนำคำพูดของเพื่อนบ้านหนึ่งไปพูดกับอีกบ้านหนึ่งส่งผลให้เพื่อนบ้านทั้งสอง โกรธกันหนักยิ่งขึ้น

๖. การพูดคำหยาบ
มีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ

๖.๑ มีโลภะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโลภเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พูดคำหยาบ เช่น ผู้จัดการบริษัทต้องการยอดขายสินค้ามากๆ แต่พนักงานขาย ไม่ถึงเป้า เลยดุด่าพนักงาน
๖.๒ มีโทสะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโกรธเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พูดคำหยาบ เช่น เด็ก นักเรียนถูกรุ่นพี่รังแกบ่อยๆ
เลยกล่าวโต้ตอบด้วยคำหยาบ
๖.๓ มีโมหะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความหลงเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พูดคำหยาบ เช่น ตัวเอง เผอเรอ ทิ้งสิ่งของเอาไว้แล้วหาไม่เจอ เลยกล่าว คำหยาบขึ้นมาลอยๆ

๗. การพูดเพ้อเจ้อ
มีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ

๗.๑ มีโลภะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโลภเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พูดเพ้อเจ้อ เช่น นักการเมือง อยากได้คะแนนเสียงมากๆ เลยพูดจนกระทั่งหาข้อมูลไม่ได้แบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้ง โหรงเหรง
๗.๒ มีโทสะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโกรธเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พูดเพ้อเจ้อ เช่น อิจฉาริษยาเพื่อนที่ทำงานได้ดีกว่าตนเอง
พอเพื่อนปรึกษางานกันอยู่ เลยเข้าไปพูดสอดแทรกจนทำให้ งานหยุดชะงักลง
๗.๓ มีโมหะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความหลงเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พูดเพ้อเจ้อ เช่นไม่เห็นด้วยกับการนั่งสมาธิเจริญภาวนา เมื่อมีพระอาจารย์มาเทศน์สอน จึงพูดล้อเลียนรบกวนให้เสียบรรยากาศ

๘. การอยากได้ของของผู้อื่น
มีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ

๘.๑ มีโลภะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโลภเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้อยากได้ของของผู้อื่น เช่น เห็นผู้หญิงสวมสร้อยคอทองคำเส้นใหญ่ เกิดความอยากได้เลยวางแผนเพื่อที่จะเอามาเป็นของตน
๘.๒ มีโทสะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโกรธเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้อยากได้ของของผู้อื่นเช่น เกิดความอิจฉาริษยาที่เพื่อนมีรถยนต์ยี่ห้อดีกว่าของตนเอง เลยวางแผนเพื่อที่จะโจรกรรมนำมาเป็นของตน
๘.๓ มีโมหะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความหลงเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้อยากได้ของของผู้อื่น เช่น เห็นเพื่อนบ้านมีข้าวของเครื่อง ใช้ใหม่ๆอยู่เสมอ ทำให้อยากจะมีสิ่งนั้นเหมือนเพื่อนบ้านบ้าง ทั้งๆ ที่ตัวเองมีฐานะไม่ดี

กลางความใสนั้นจะมีจุดดำๆ เล็กๆ โตขนาดเม็ดโพธิ์ เม็ดไทรมีสีดำสนิทเหมือนสีนิล ตรงนี้เองเป็นที่นอนเนื่องของกิเลสที่หมักดองอยู่ในใจที่พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า"อวิชชา"

....เมื่อใจถูกจุดดำๆ เล็ก ๆ ปนเป็นเข้าๆๆก็จะซึมซาบจนเอิบอาบ
นานเข้าๆ จนแช่อิ่ม แล้วก้หมักดอง จนกระทั่งเกิดการกัดกร่อนเนื้อใจ
จนทำให้ความใส ความบริสุทธิ์ หรือคุณธรรมที่อยู่ในใจเสื่อมถอยไป.....

 

 

๙. มีจิตคิดปองร้าย
มีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ

๙.๑ มีโลภะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโลภเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้มีจิตคิดปองร้าย เช่น ต้อง การบริหารงานในบริษัทแต่ เพียงผู้เดียวเลยทำให้มีจิตคิดปองร้ายต่อเพื่อนร่วมงาน
๙.๒ มีโทสะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโกรธ เข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้มีจิตคิดปองร้าย เช่นเกิด ขัดผลประโยชน์ในเรื่องการค้าทำให้ต่างฝ่ายต่างคิดปองร้ายซึ่งกันและกัน
๙.๓ มีโมหะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความหลง เข้าครอบงำจิตใจจึงทำให้มีจิตคิดปองร้าย เช่น หัวหน้ามอบหมายให้ทำงานที่ตนคิดว่าเป็นงานต่ำต้อยไม่มีเกียรติในสังคม เกิดความหงุดหงิดขัดเคืองใจจึงคิดปองร้ายต่อหัวหน้างาน

๑๐. เป็นผู้มีความเห็นผิด
มีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ

๑๐.๑ มีโลภะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโลภ เข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้มีความเห็นผิด เช่นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์นับถือมากทำให้มีลาภสักการะ มากตามไปด้วย เพื่อต้องการเอาใจศิษย์ จึงได้สอน โดยวิธีการที่ผิดไปจากทำนองคลองธรรม
๑๐.๒ มีโทสะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความโกรธ เข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้มีความเห็นผิด เช่น คนสองคนมีความเชื่อ ขัดแย้งกันในเรื่องโลกและชีวิต ทำให้ไม่ชอบกัน จึงมีความเห็นผิดไปจากทำนองคลองธรรม
๑๐.๓ มีโมหะเป็นเหตุ คือ เมื่อถูกความหลง เข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้มีความเห็นผิด เช่นการที่ไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง ทำให้ไม่รู้จริง จึงสอนผิดไปจากหลักความจริง ทำให้สาธุชนมีความเห็นผิดไปจากทำนองคลองธรรม

        ดังนั้น จะเห็นได้ว่า โลภะเป็นแดนเกิดแห่งเหตุของกรรม โทสะเป็นแดนเกิดแห่งเหตุของกรรมโมหะเป็นแดนเกิดแห่งเหตุของกรรม ความสิ้นไปแห่งเหตุของกรรม ย่อมมีได้เพราะความสิ้นไปแห่งโลภะ ความสิ้นไปแห่งเหตุของกรรม ย่อมมีได้เพราะความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งเหตุของกรรม ย่อมมีได้เพราะความสิ้นไปแห่งโมหะ

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 59 กันยายน ปี 2550

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล