วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ สุขใจที่ได้ทำทาน

ปกิณกธรรม

เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ /
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

 

 

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
สุขใจที่ได้ทำทาน

 

         สมัยหนึ่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน ท่านสีหเสนาบดี ผู้เป็นแม่ทัพของชาวลิจฉวี เข้าไปกราบทูลถามปัญหา “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ได้โปรดตรัสผลของทาน ที่จะได้รับในปัจจุบันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า”

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก คนดีก็อยากคบหา ชื่อเสียงของผู้ให้ทานย่อมฟุ้งขจรไปทั่ว มีความองอาจกล้าหาญ ไม่เก้อเขินในที่ประชุม เมื่อละโลกแล้วจะไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์”

          ท่านเสนาบดีฟังแล้วยังไม่แจ่มแจ้งทั้งหมด จึงทูลถามต่อไปว่า “อานิสงส์การให้ทานข้างต้นนั้น ข้าพระองค์ได้ประจักษ์ชัดด้วยตนเองแล้วในปัจจุบัน แต่อานิสงส์ที่ว่าเมื่อละโลกไปแล้ว จะทำให้ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์นั้น ข้าพระองค์ยังไม่รู้ด้วยตนเอง พระเจ้าข้า”

         พระพุทธองค์ตรัสย้ำอีกว่า “เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ท่านสีหะ บัณฑิตผู้หวังความสุขจงขจัดความตระหนี่ แล้วให้ทาน บัณฑิตย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา ร่าเริงอยู่ตลอดกาลนาน บัณฑิตเหล่านั้นได้ทำกุศลแล้ว จุติจากโลกนี้ ย่อมมีรัศมีเปล่งปลั่ง เที่ยวไปในทิพยอุทยานอัน น่ารื่นรมย์”

         ความตระหนี่เป็นภัยในวัฏสงสาร เป็นมลทินของใจ ทำให้ใจคับแคบ สละไม่ออก หวงแหนทรัพย์เอาไว้เพราะกลัวจะหมดไป บางคนนอกจากตนเองจะตระหนี่แล้ว ยังชักชวนคนอื่นให้ตระหนี่ตาม คนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้ แต่บุญจากการให้ทานจะนำพาผู้ให้ไปสู่สุคติสวรรค์ได้

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าให้ภิกษุสาวกฟังว่า สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ เกิดเป็นเศรษฐีมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ได้สร้างทานบารมีโดยตั้งโรงทานขึ้น ๖ แห่ง และบริจาคทรัพย์วันละ ๖ แสน แล้วยังสั่งสอนลูกหลานว่า “ให้รักษาประเพณีการให้ทานเอาไว้” ครั้นหมดอายุขัยก็ไปบังเกิดเป็นพระอินทร์อยู่บนสวรรค์ บุตรของท่านปฏิบัติตามคำสอนของบิดา เมื่อละโลกก็ไปเกิดเป็นจันทเทพ ส่วนบุตรของจันทเทพก็บำเพ็ญทานเช่นเดียวกัน ละโลกแล้วไปบังเกิดเป็นสุริยเทพ บุตรของสุริยเทพได้ไปบังเกิดเป็นมาตลีเทพ บุตรของมาตลีเทพไปบังเกิดเป็นปัญจสิขเทพบุตร

         ส่วนลูกชายของปัญจสิขะชื่อมัจฉริยโกสิยเศรษฐี ครั้นได้รับมรดกจากพ่อแม่แล้ว กลับกลายเป็นคนตระหนี่ ไม่ยอมให้ทาน เพราะกลัวจะหมดไปเปล่า ๆ และยังสั่งให้รื้อโรงทานทั้ง ๖ แห่ง ส่วนตัวเองบริโภคข้าวปลายเกรียนปนกับรำ พลอยทำให้บุตรและภรรยาได้รับความลำบากไปด้วย

 


         วันหนึ่ง เขาไปเยี่ยมเพื่อนที่เป็นเศรษฐี ด้วยกัน เห็นเพื่อนกำลังบริโภคข้าวปายาสที่มี กลิ่นหอม เขาอยากกินข้าวปายาสขึ้นมาจับจิตจับใจ แม้ว่าจะถูกเชื้อเชิญให้บริโภคร่วมกัน แต่เขาคิดว่า ถ้าเรากิน เราก็ต้องเลี้ยงตอบแทน จึงไม่ยอมกิน ได้แต่อดกลั้นความอยากเอาไว้

         เมื่อกลับถึงบ้านก็เป็นทุกข์หนัก ภรรยารู้เข้าจึงบอกว่า “โธ่เอ๋ย ท่านเป็นเศรษฐี ข้าวปายาสแค่นี้เรื่องเล็ก จะหุงเลี้ยงคนทั้งเมืองยังได้เลย” เศรษฐีได้ยินเช่นนั้นก็ตัวสั่น รีบห้ามปรามภรรยา “เธอจะหน้าใหญ่ไปทำไมกัน” “ถ้าเช่นนั้นจะหุงให้ท่านกับชาวบ้านที่อยู่ในถนนเดียวกันกิน” “ไม่ได้หรอก เปลือง ๆ” “ถ้าอย่างนั้นจะหุงให้เฉพาะเราสองคน” เศรษฐีก็แย้งว่า “เธอไม่ต้องกินหรอก” นางได้แต่ถอนหายใจแล้วกล่าวว่า “ก็ได้ เดี๋ยวฉันจะหุงให้ท่านเพียงคนเดียว” เศรษฐีรู้สึกพอใจ จากนั้นก็พากันนำข้าวไปหุงเองในป่า เพราะกลัวคนอื่นจะเห็นแล้วมาขอแบ่งปันอาหาร

 


         ขณะนั้น พระอินทร์ทรงตรวจดูว่า บุตรหลานผู้สืบสกุลได้ประพฤติตามประเพณีที่สั่งไว้หรือไม่ เมื่อเห็นเศรษฐีกำลังทำลายประเพณีการให้ทาน จึงรับสั่งให้เทพบุตรผู้เป็นลูกหลานไปช่วยกันตักเตือน โดยให้แปลงร่างเป็นพราหมณ์เข้าไปขอข้าวปายาสทีละคน

         พระอินทร์เข้าไปหาเศรษฐีก่อนแล้วถามว่า “ท่านกำลังหุงข้าวปายาสอยู่หรือ คงจะเชิญพราหมณ์มาบริโภคที่นี่หลายรูป ท่านไม่เชิญเรา บ้างหรือ” เศรษฐีปฏิเสธและไล่ให้ไปข้างหน้า พระอินทร์จึงกล่าวว่า “เมื่อของมีน้อย บุคคลควรแบ่งของน้อยทำทาน เมื่อมีปานกลาง ควรแบ่งให้ปานกลาง เมื่อมีมาก ควรให้มาก การไม่ให้เสียเลย หาควรไม่ ขอท่านจงให้ เพื่อยกใจขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้าเถิด”       

         เศรษฐีฟังแล้วรู้สึกพอใจ จึงบอกให้พราหมณ์นั่งรอก่อน เมื่อข้าวปายาสสุกแล้ว จะแบ่งให้หน่อยหนึ่ง สักครู่จันทเทพก็เข้าไปขอ เศรษฐีก็ปฏิเสธอีก เทพบุตรจึงพูดยกใจว่า “เมื่อแขกนั่งรออยู่ ไม่ควรนั่งบริโภคคนเดียว ควรบริโภคร่วมกันจึงจะมีความสุข” ท่านเศรษฐีต้องจำใจเชิญพราหมณ์ให้นั่งรอก่อน จากนั้นสุริยเทพก็เดินเข้ามา แล้วกล่าวว่า “ผู้ไม่บริโภคเพียงลำพัง มีการแบ่งปันกัน การได้ทรัพย์มานั้น ย่อมเป็นประโยชน์โดยแท้” เศรษฐีฟังแล้วก็พอใจ จึงบอกให้นั่งคอยก่อน

         จากนั้นมาตลีเทพก็มา แล้วกล่าวว่า “ผู้ใดทำการบูชาย่อมได้อานิสงส์ ดังนั้นควรให้ทานด้วย และบริโภคด้วย” เศรษฐีพอใจจึงให้นั่งคอยก่อน เช่นกัน จากนั้นปัญจสิขเทพก็เข้ามาสมทบพลางกล่าวว่า “การบริโภคคนเดียว เหมือนการกลืนเบ็ดพร้อมทั้งเหยื่อ ไม่อร่อยและไม่มีความสุขหรอก ท่านควรจะแบ่งปันกันนะ” เศรษฐีได้แต่ถอนใจ แล้วเชิญให้นั่งลง

 


         พอข้าวสุก เศรษฐีจึงบอกให้พราหมณ์ เอาใบไม้มาคนละใบ พราหมณ์ยื่นใบไม้ให้เศรษฐี ท่านเศรษฐีก็ตกใจ เพราะใบไม้ใหญ่เท่ากะละมัง แต่ก็ตักข้าวให้พราหมณ์แค่เพียงคนละทัพพี ก่อนจะลงมือบริโภค ปัญจสิขเทพได้แปลงเป็นสุนัข ไปยืนถ่ายปัสสาวะอยู่ใกล้ ๆ น้ำปัสสาวะกระเซ็นถูกมือของเศรษฐี เศรษฐีรีบไปล้างมือที่แม่น้ำ พอกลับมา เห็นสุนัขกำลังถ่ายปัสสาวะลงในหม้อข้าว เขาโกรธมากจึงคว้าท่อนไม้ไล่ตีสุนัข แต่สุนัขกลับตัวใหญ่ขึ้นขนาดเท่าม้า วิ่งไล่กัดเศรษฐี เศรษฐีรีบวิ่งเข้าไปขอความช่วยเหลือจากพวกพราหมณ์ แต่พราหมณ์กลับพากันเหาะขึ้นไปในอากาศ แปลงร่างกลับคืนเป็นเทพบุตร และบอกความจริงว่า พวกตนเป็นบรรพบุรุษของเศรษฐี และเหตุที่ได้เป็นเทพบุตรก็เพราะการบำเพ็ญทาน ไม่ประมาทในการกุศล แล้วให้โอวาทแก่เศรษฐีว่า “จงรักษาประเพณีการให้ทานต่อไปเถิด อย่าได้ตระหนี่หวงแหนทรัพย์เลย เพราะคนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้ มีแต่ไปสู่อบายภูมิอย่างเดียว”

         เศรษฐีฟังดังนั้นจึงได้สติ ไม่อยากไปอบาย อยากไปบังเกิดบนสวรรค์บ้าง จึงกลับจิตกลับใจ ตั้งใจมั่นที่จะเลิกตระหนี่ตลอดไป เมื่อกลับถึงบ้าน จึงเปิดโรงทาน ตามที่บรรพบุรุษได้ประพฤติกันมาดังเดิม ละโลกแล้วก็ไปบังเกิด เป็นโกสิยเทพบุตรในสุคติโลกสวรรค์

         จะเห็นได้ว่า ทาน คือ สะพานเชื่อมไปสู่สวรรค์ ทานมัย บุญที่เกิดจากการให้ทานเป็น วิธีการสั่งสมบุญที่ง่ายที่สุด แต่ส่งผลดีต่อชีวิต ของเรามาก การที่บุคคลจะกล้าสละความตระหนี่ ทำบุญให้ทานนั้น ก็ต้องฟังธรรม มีดวงปัญญา พิจารณาเห็นความเป็นจริงของชีวิตควบคู่ไปด้วย ผู้รู้ทั้งหลายท่านมองเห็นว่า หมู่สัตว์ถูกชราและมรณะแผดเผาอยู่ทุกขณะ นอกจากทำงานแล้ว ต้องทำทานควบคู่กันไป ทานที่ให้ดีแล้ว ย่อมมีสุขเป็นผล ส่วนทรัพย์ที่ยังไม่ได้นำออก ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด บางครั้งถูกโจรปล้น ไฟไหม้ น้ำพัด พาไป การเปลี่ยนทรัพย์หยาบ ๆ ที่หามาได้ให้กลายเป็นอริยทรัพย์ คือวิธีที่ถูกต้องที่สุด เป็น การฝากฝังทรัพย์เอาไว้ในธนาคารบุญ ซึ่งจะออกดอกออกผลให้สมบูรณ์เป็นรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ในภพชาติต่อ ๆ ไป ดังนั้นตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ควรเป็นลมหายใจแห่งการให้อยู่เสมอ

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 124 กุมภาพันธ์ ปี 2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล