วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ปีติข้ามชาติ..ปลาบปลื้มล้นใจ..โปรยทองล้นทาง

ทบทวนบุญ

เรื่อง : พระสมศักดิ์ จนฺทสีโล

 

 

ปีติข้ามชาติ..ปลาบปลื้มล้นใจ..โปรยทองล้นทาง

 

          นับตั้งแต่เกิดมีประเทศไทยมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน หลายท่านคงไม่คาดคิดว่าจะมีปรากฏ การณ์แห่งความปลาบปลื้มปีติ ที่มีการเดินธุดงค์ธรรมชัยขึ้น ในช่วงเริ่มต้นศักราชใหม่เช่นนี้ ซึ่งบัดนี้เหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์ อันแสดงถึงความศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาดังกล่าว บังเกิดขึ้นแล้วบนผืนแผ่นดินไทย และไม่น่าเชื่อ ว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้เป็นครั้งที่ ๒ ต่อเนื่อง จากปีที่แล้ว จนทำให้สิ่งที่ยากจะเกิดขึ้นกำลังจะ กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จนคุ้นตา และภาพที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแสดงถึงความยิ่งใหญ่ในศรัทธา ต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังท้าทายให้อนุชน คนรุ่นหลังทั้งหลายช่วยกันธำรงรักษากิจกรรม แห่งความปลาบปลื้มปีติเช่นนี้ให้เกิดขึ้นทุกปี ๆ ให้สมกับที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ของพระพุทธศาสนาของโลกในยุคปัจจุบัน และความประทับใจในการที่มหาชนทั้งหลายได้ร่วมกัน ต้อนรับพระธุดงค์ธรรมชัยในครั้งนี้ ยากเกินจะกล่าวพรรณนาได้ครบถ้วน เพราะภาพที่ผู้มีบุญ แต่ละท่านโปรยดอกดาวรวยสีเหลืองอร่าม จน เส้นทางดูเรืองรองดุจทองคำ เพื่อต้อนรับพระธุดงค์ผู้สงบเสงี่ยม สง่างาม คือ ภาพแห่งความปีติ.. อิ่มเอิบ.. ปลาบปลื้มล้นใจ และจะประทับอยูˆในใจไปตลอดข้ามภพข้ามชาติ ยากจะลืมเลือน

 


เสริมสิริมงคลรับปีใหม่   สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน

          ย้อนกลับไประลึกถึงความปลื้มปีติเมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่มีการเดินธุดงค์ธรรมชัย สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ โดยคณะพระ-ธุดงค์ธรรมชัยจำนวนถึง ๑,๑๒๗ รูป ตั้งแต่วันที่ ๒-๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ผ่านเขตพื้นที่ ๖ จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นนทบุรี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร รวมระยะทาง ๔๒๗.๘ กิโลเมตร และสาธุชน ทั้งหลายก็พากันไปโปรยกลีบกุหลาบต้อนรับท่าน ด้วยความปีติเบิกบานตลอดเส้นทาง

          ภาพประวัติศาสตร์อันงดงามในครั้งนั้นยังมิทัน เลือนหาย ในระหว่างวันที่ ๒-๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ก็มีดำริให้พระธุดงค์ธรรมชัยจำนวน ๑,๑๒๘ รูป เดินธุดงค์สืบสานเส้นทางมหา-ปูชนียาจารย์อีกครั้ง ด้วยระยะทางที่ยาวไกลถึง ๔๔๖ กิโลเมตร เป็นเวลา ๒๖ วัน ผ่านพื้นที่ ๗ จังหวัด คือ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพมหานคร และมี การต้อนรับคณะพระธุดงค์ด้วยการ โปรยกลีบดอกดาวรวยเหลืองอร่ามดุจทองคำตลอดเส้นทาง ซึ่งถือ เป็นการเสริมสร้างสิริมงคลรับศักราชใหม่ และเติมบุญใหญ่ให้ตนเอง ครอบครัว และผืนแผ่นดินไทยได้เป็นอย่างดียิ่ง

 

 

ทุกดอก ทุกกลีบ  เป็นทางมาแห่งบุญของเรา

          สำหรับดอกดาวรวยที่นำมาโปรยนั้น ก็มิใช่ดอกดาวรวยธรรมดา แต่เป็นดอกดาวรวยพันธุ์ทองชฎิลเศรษฐี ที่ผู้มีบุญต่างตั้งใจปลูกขึ้น เพื่อใช้ในการ ต้อนรับคณะพระธุดงค์ธรรมชัยโดยเฉพาะ ด้วยหวัง ให้กลีบดาวรวยที่ปลูกด้วยมือทั้งสองนี้ รองรับเท้าของ พระธุดงค์ เพื่อมิให้ท่านลำบากในการเดินมากนัก ซึ่ง จะเป็นทางมาแห่งบุญกุศลอันยิ่งใหญ่แก่ผู้โปรย

          หลังจากเฝ้าถนอมเลี้ยงดูดาวรวยต้นน้อยจนกระทั่งออกดอกบานเต็มที่ ผู้มีบุญทั้งหลายก็รวบรวม นำส่งไปยังวัดพระธรรมกาย เพื่อเด็ดกลีบเตรียมพร้อม ที่จะแจกให้สาธุชนผู้มีบุญนำไปโปรย ซึ่งปรากฏว่ามีสาธุชนจำนวนมากไปรับบุญเด็ดกลีบดอกดาวรวย ที่มหารัตนวิหารคดกันอย่างเบิกบานบุญบันเทิง จึงกล่าวได้ว่า กว่าจะถึงวันโปรยกลีบดาวรวย สาธุชนผู้ฉลาดในการหาบุญทั้งหลายต่างได้บุญกันไปล่วงหน้า มากมาย สมดังคำของพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่กล่าวว่า "ทุกดอก ทุกกลีบ เป็นทางมาแห่งบุญ ของเราŽ"

 

 

๒ มกราคม  วันที่ทุกคนเฝ้ารอ

          เช้าตรู่วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งเป็น วันแรกที่พระธุดงค์ธรรมชัยจะออกเดินธุดงค์ เพื่อประกาศพระศาสนาให้ปรากฏแก่สายตาของชาวโลก มีสาธุชนในชุดขาวจำนวนมาก มารอโปรยกลีบดอกดาวรวย เพื่อส่งคณะพระธุดงค์ออกเดินธุดงค์ จากวัดพระธรรมกายไปตามเส้นทางมหาปูชนียาจารย์

          เมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ ขบวนพระธุดงค์ธรรมชัยก็ก้าวเดินออกจากวัดพระธรรมกายอย่างสง่างาม นำโดยพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อ ทัตตชีโว) และได้รับความเมตตาจากพระธรรมปิฎก เจ้าคณะจังหวัดสระบุรีมาร่วมเดินนำขบวนด้วย โดย มีเทวรถอัญเชิญรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) นำหน้าขบวนพระธุดงค์ ท่ามกลางเสียงสาธุการตลอดเส้นทาง

          ในแต่ละวันที่พระธุดงค์ทั้งหลายจาริกไปนั้น ท่านได้ฝึกตน ทนหิว บำเพ็ญตบะ ขจัดขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งยวด เพราะในการเดินธุดงค์ครั้งนี้ พระธุดงค์ทั้งหลายถือธุดงควัตร ๒ ข้อ คือ ๑. ถือการฉันมื้อเดียวเป็นวัตร คือในแต่ละวันฉันภัตตาหาร เพียง ๑ มื้อ นอกจากนั้นก็ฉันแค่น้ำปานะ หรือน้ำดื่ม ๒. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร คือพักในที่ที่เจ้าหน้าที่จัดให้ โดยไม่เลือกว่าที่นั้นสะดวกสบายหรือไม่

          นอกจากนี้ ก่อนมาเดินธุดงค์ คณะพระธุดงค์เหล่านี้ ได้พากเพียรฝึกฝนตนเองเป็นเวลานานกว่า ๕ เดือน ตั้งใจทำสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่องตลอดพรรษา แม้ออกพรรษาแล้วก็ไม่ลดละ การทำสมาธิภาวนา และตั้งใจที่จะมาเดินธุดงค์เพื่อเป็นเนื้อนาบุญ แก่ญาติโยม แม้ก่อนออกเดินธุดงค์ท่านก็พร้อมใจกัน ทำสมาธิภาวนาที่ห้องแก้วสารพัดนึก สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย เพื่อกลั่นกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ และในขณะเดินท่านก็ทำสมาธิโดยระลึก ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ทั้งนี้เพื่อให้สม เป็นเนื้อนาบุญที่ดีแก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ดังนั้น การไปโปรยดอกไม้ การพนมมือทำความเคารพ และการเปล่งเสียงสาธุการต้อนรับท่าน จึงก่อให้เกิดบุญ กุศลแก่ผู้ไปต้อนรับอย่างมหาศาล

 

 

เส้นทางมหาปูชนียาจารย์..  เส้นทางแห่งการสร้างบารมี

          สถานที่สำคัญแห่งแรกที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างบารมีของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่พระธุดงค์ ธรรมชัยเดินธุดงค์ไปถึง ก็คือสถานที่เกิดของพระเดชพระคุณหลวงปู่ ซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นดินรูปดอกบัว ณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี สถานที่ถัดไป คือ สถานที่ออกบวช วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี, สถานที่บรรลุธรรม คือ วัดโบสถ์ (บน) อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี, สถานที่ ที่มีผู้บรรลุธรรมตามหลวงปู่เป็นครั้งแรก คือ วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม, สถานที่ปักหลักเผยแผ่วิชชาธรรมกาย คือ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และสถานที่สืบสานวิชชาธรรมกาย (เผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก) คือวัดพระธรรมกาย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

          สถานที่เหล่านี้ เป็นที่รวบรวมประวัติการสร้าง บารมีของพระเดชพระคุณหลวงปู่ ตั้งแต่ปฐมวัย มัชฌิมวัย จนถึงปัจฉิมวัย และเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำแท้ของท่าน ซึ่งบรรดาศิษยานุศิษย์พร้อมใจกันหล่อขึ้น เพื่อแสดงถึงความเคารพรักและ ความกตัญญูต่อพระคุณอันไม่มีประมาณของท่าน

          ณ สถานที่สำคัญเหล่านี้ คือ สถานที่เกิด สถานที่ออกบวช สถานที่บรรลุธรรม และสถานที่ ที่มีผู้บรรลุธรรมตามหลวงปู่เป็นครั้งแรก คณะ พระธุดงค์ทั้งหลายได้ร่วมกันทำสมาธิภาวนา และจุดโคมประทีปถวายเป็นพุทธบูชา โดยมีสาธุชน ผู้มีบุญพากันไปร่วมพิธีอย่างคับคั่ง

          นอกจากนี้ เมื่อพระธุดงค์ธรรมชัยจาริกไปถึงบริเวณพุทธมณฑล อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม ในวันที่ ๒๒ มกราคม ก็มีสาธุชนจำนวนมากพากันไปถวายการต้อนรับ และมีพิธีจุดประทีปนับพันดวงถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นคณะสงฆ์ได้พร้อมใจ กันเจริญพุทธมนต์รัตนสูตร

 

 

๒๗ มกราคม  สาธุ ชิตัง เม

          หลังจากเดินธุดงค์มาเป็นเวลายี่สิบกว่าวัน ในวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ พระธุดงค์ธรรมชัย กองพันเนื้อนาบุญจำนวน ๑,๑๒๘ รูป ก็เดินทางกลับสู่วัดพระธรรมกาย สิ้นสุดภารกิจอันยิ่งใหญ่ สู่จุดหมายปลายทางกิโลเมตรที่ ๔๔๖ รวมเวลาการเดินธุดงค์ทั้งสิ้น ๒๖ วัน โดยมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากไปร่วมประกอบพิธีล้างเท้าพระธุดงค์ ณ อุโบสถ วัดพระธรรมกาย พร้อมเสียงสาธุการ "สาธุ ชิตัง เมŽ "

          ในช่วงคํ่ามีพิธีต้อนรับพระธุดงค์ธรรมชัย ณ ลานธรรม มหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งคณะพระธุดงค์ และสาธุชนที่ไปรอต้อนรับร่วมกันปฏิบัติธรรม และรับฟังโอวาทจากพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) จากนั้นมีการจุดโคมถวายเป็นพุทธบูชา และจุดพลุฉลองชัย

          การเดินธุดงค์ของพระธุดงค์ธรรมชัยจะเกิดขึ้น อีกครั้งในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เพื่ออัญเชิญ รูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ไป ประดิษฐาน ณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระเดชพระคุณ หลวงปู่เกิดใหม่ในเพศสมณะ

 

 

มาเพื่อฝึกตน.. สืบอายุพระพุทธศาสนา..  บูชาผู้มีพระคุณ

          ในการเดินธุดงค์ธรรมชัยครั้งที่ ๒ นี้ จากการ ประมวลความคิดเห็น ความตั้งใจ และวัตถุประสงค์ ของพระภิกษุจากทั่วประเทศจำนวน ๑,๑๒๘ รูป ที่เข้าร่วมการเดินธุดงค์ธรรมชัย สามารถสรุปได้ว่า ประการแรก แต่ละรูปมุ่งมาฝึกฝนตนเอง เพราะการเดินธุดงค์ถือเป็นวัตรปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติธรรมหรือ ทำสมาธิในอิริยาบถเดิน เป็นการฝึกตน ทนหิว บำเพ็ญตบะ เพื่อความเป็นพระแท้ และตลอดระยะ เวลาตั้งแต่วันที่ ๒ ถึง ๒๗ มกราคม วงจรชีวิตของ ท่านก็อยู่กับการปฏิบัติธรรม มีชีวิตอย่างเรียบง่าย อยู่ง่าย กินง่าย แต่รักษาวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกัน วัตถุประสงค์ประการที่ ๒ ของพระแต่ละรูปก็คือ การประกาศพระศาสนา เพราะภาพที่เกิดขึ้นจากการเดินธุดงค์จาริก ไปเป็นหมู่คณะ ใหญ่ ๆ เช่นนี้ จักสะท้อนให้เห็นถึงความงดงาม สูงส่ง ของเพศพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา ประกาศกรณียกิจอันเป็นไป เพื่อการเกื้อกูลชาวโลกให้เกิดประโยชน์สุข สงบ สันติ ตามแบบอย่างของพระพุทธสาวก เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล ซึ่งถือเป็นการธำรงสืบสานพระพุทธธรรมคำสอนให้ยิ่งยืนนานตลอดไป และนอกจากนี้ ความมุ่งหวังตั้งใจของพระภิกษุสงฆ์ ผู้เป็นพระศาสนทายาทที่เดินธุดงค์ธรรมชัยในครั้งนี้ มีความประสงค์ตรงกันอีกประการหนึ่งก็คือ ต้องการแสดงออกถึงความกตัญญูที่มีต่อมหาปูชนียาจารย์ คือพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ผู้ค้นพบการปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกาย ที่จักนำชาวโลกทั้งหลาย ให้ไปถึงความหลุดพ้นจนถึงที่สุดแห่งธรรมได้ แต่อย่างไรก็ตาม พลังขับเคลื่อน ที่สำคัญที่ทำให้เกิดความอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ก็คือ พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) นั่นเอง

 

 

ประเทศชาติ.. ได้อะไร.. ในครั้งนี้

          ก่อนที่จะกล่าวว่าประเทศได้อะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ว่า เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา และนางฮิลลารี คลินตัน เดินทางมาเยือนประเทศไทย ผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลกทั้งสอง มีกำหนดการสำคัญอย่างหนึ่ง คือการเข้าเยี่ยมชมวัดวาอารามในประเทศไทย ซึ่งย่อมเป็นสิ่งที่แสดงว่า พระพุทธศาสนาคือวิถีชีวิตและวิถีแห่งการหล่อหลอม จิตวิญญาณคนไทย ให้มีความสูงส่งจนเป็นที่ประจักษ์ แก่สายตาของชาวโลก ดังนั้นการเดินธุดงค์ธรรมชัย ครั้งนี้ จึงยิ่งตอกย้ำความเป็นคนไทยที่รักเทิดทูนพระพุทธศาสนา และภาพของพระเดินธุดงค์ผ่านกรุง ที่จะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก จะเป็นสิ่งอธิบายถึงความ เป็นประเทศที่มีอารยธรรม รักสงบ รักสันติของ คนไทยแทนคำพูดนับล้าน ๆ คำ

 



 

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ นั่นก็ หมายความว่าต่อไปนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียน จะมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันอย่างไร้พรมแดน ทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ตลอดจนด้านเศรษฐกิจการค้า ซึ่งประเทศของเราย่อมจะหลีกเลี่ยงไม่พ้น ที่จะพบกับการไหลบ่าของกระแสวัฒนธรรม และความ เชื่อทางศาสนาจากต่างประเทศอย่างมากมาย ซึ่งจะมีผลให้วิถีชีวิตของชาวพุทธ ที่มีมาตั้งแต่อดีตที่ยาวนานถูกกลืนหายไป กับสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยน ไปแบบโลกตะวันตก ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดคำถามว่า ไทยเราเตรียมตัวที่จะรักษาความเป็นไทย ด้านวัฒนธรรม และศาสนาแล้วหรือยัง ดังนั้นการที่มีพระธุดงค์มาโปรดประชาชนถึงในเมือง จึงแสดง ให้เห็นถึงการเผยแผ่เชิงรุกของพระพุทธศาสนา ที่กำลังจะหันหน้าเข้าสู่ชาวบ้าน ด้วยการเมตตามา โปรดคนในสังคมเมือง นี่คือคำตอบและแนวทาง ที่จะขยายผลให้ไทยก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำ ทางวัฒนธรรม และศาสนาของประชาคมอาเซียนได้อย่างโดดเด่น

 



 

ประชาชน.. ได้อะไร.. เกินใจคิด

          สำหรับผู้คนสองข้างทางที่มาต้อนรับพระธุดงค์ หลายท่านเดินทางมาจากต่างพื้นที่ทั่วทุกสารทิศ ทั้งภายในและต่างประเทศ ทุกคนต่างปรารถนาที่จะเห็นภาพ ที่เป็นทัสนานุตริยะหรือการเห็นอันประเสริฐ คือเห็นในสิ่งที่จรรโลงใจ เห็นแล้วก่อให้เกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น เพราะชีวิตจะมีคุณค่า เมื่อมีศรัทธาในสิ่งที่ดีงาม ซึ่งภาพที่พระท่านเดินอย่างสงบ เสงี่ยม สง่า สำรวม และเดินมาเป็นแถวยาวเหยียด อย่างเป็นระบบระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ด้วยอากัปกิริยาที่สงบสำรวม สง่างาม สมกับเป็นผู้ที่ฝึกตนมาอย่างดีแล้วเช่นนี้ ไม่เพียงจะทำให้ชาวพุทธ หรือชาวไทยที่เคยเห็นพระมาจนคุ้น เกิดความปลาบปลื้ม และปีติล้นใจ จนน้ำตาไหลเท่านั้น แม้ชาวต่างประเทศที่เป็นเพื่อนต่างศาสนา ยังนั่งลงพนมมือด้วยความศรัทธาชื่นชม

 

 

         ในภาพที่ปรากฏให้เห็นต่อหน้า บริเวณพื้นที่ตามชุมชนที่พระธุดงค์ท่านเดินผ่าน หลายแห่งเคยเงียบเหงา หลายแห่งเคยวุ่นวาย แต่เมื่อพระท่านเดินผ่านเท่านั้น อานุภาพแห่งวัตรปฏิบัติของท่านได้แผ่ซ่านไปทั่วทุกบริเวณ ก่อให้เกิดความสงบ ร่มเย็น เป็นระเบียบ ซึ่งหลายคนรู้สึกภาคภูมิใจ ที่ชุมชนของตนเป็นทางผ่านของพระธุดงค์ และปรารถนาจะให้ท่านผ่านมา เยือนอีก นอกจากนี้ ผู้ที่มาต้อนรับพระธุดงค์ตั้งแต่ต้น จนถึงปลายทางก็มีเหล่านักเรียน นิสิต นักศึกษา ปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ผู้ที่จะเป็นกำลังหลักเพื่อสืบสาน วัฒนธรรมอันดีงามนี้ให้เจริญก้าวหน้าและยั่งยืน นานต่อไป ซึ่งบัดนี้ เขาทั้งหลายได้มาเห็นสิ่งที่ดีงาม อันเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่ความสงบ สันติ และสร้างสรรค์ให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในสังคม ซึ่งย่อม จะเกิดแรงบันดาลใจให้พวกเขาทั้งหลายเหล่านี้มีความรัก ความหวงแหนในวัฒนธรรมชาวพุทธ และ มุ่งธำรงรักษาพระพุทธธรรมคำสอน เพื่อนำพาให้สังคมมนุษยชาติ ดำเนินไปสู่ความสุขสงบ และพบกับสันติภาพอันไพบูลย์ได้อย่างแท้จริง..

 

 

 

ขอบูชาพระธุดงค์ผู้องอาจ ธรรมทายาทผู้นำทางสว่างไสว  ยอดพระสงฆ์เดินธุดงค์ธรรมชัย ผู้ก้าวไปตามมหาปูชนียาจารย์
 







 












 

         ..ทุกย่างก้าวที่ก้าวย่าง เพื่อประกาศพระศาสนาในเมืองไทย ตอกย้ำให้ผู้คนทั้งโลกประจักษ์ถึงความยิ่งใหญ่ ของพระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ ถิ่นที่ชาวพุทธพร้อมเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อรักษาพุทธประเพณีให้คงอยู่สืบไป..

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 124 กุมภาพันธ์ ปี 2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล