พระธรรมเทศนา
ตอนที่ ๑๐
ความรู้ประมาณ รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา
๓.๔ พระองค์ทรงประกาศความสมบูรณ์แบบของพระธรรมวินัยไว้อย่างชัดเจน
นอกจากความพร้อมด้านบุคคล ความพร้อมด้านแนวทางการทำสังคายนา และความพร้อมด้านการเทียบเคียงพระธรรมวินัยแล้ว ในช่วงเวลาที่พระองค์ประทับบรรทมสีหไสยาสน์ รอเวลาใกล้เสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระองค์ก็ทรงแสดงธรรม เพื่อโปรดสุภัททปริพาชก ให้เป็นพระอรหันตสาวกองค์สุดท้าย ที่ได้ทันเห็นพระองค์มีพระชนม์ชีพอยู่ ในการแสดงธรรมครั้งนี้ พระองค์ทรงประกาศความสมบูรณ์แบบของพระธรรมวินัย อันไม่มีคำสอนใด ๆ ในโลกนี้เทียบเทียมได้ไว้อย่างชัดเจน ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในเนื้อความ ช่วงท้ายของมหาปรินิพพานสูตร เรื่อง สุภัททปริพาชก ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
สมัยนั้น สุภัททปริพาชก ซึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา อาศัยอยู่ในกรุงกุสินารา ได้ทราบว่า ในปัจฉิมยามของวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ ดับขันธปรินิพพาน จึงได้คิดขึ้นว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทรงบังเกิดขึ้นในโลกเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น หากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็จะหมดโอกาสซักถามข้อสงสัยบางประการ เขาจึงรีบไปเข้าเฝ้า เพื่อขอความรู้จากพระพุทธองค์ก่อนที่จะสายเกินไป
คิดได้ดังนั้นแล้ว สุภัททปริพาชกก็รีบเร่งไปยังสาลวโนทยาน เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แต่ก็ถูกพระอานนท์ห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้ยิน ถ้อยคำของพระอานนท์เจรจากับสุภัททปริพาชกแล้ว จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์อนุญาตให้สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าได้ โดยมีรับสั่งว่า “อย่าห้ามสุภัททะเลยอานนท์ เขาจะถามปัญหาบางอย่างกับเรา เขาหวังความรู้จากเราเท่านั้น ไม่หวังรบกวนเรา เมื่อเราตอบสิ่งที่ถามแล้ว เขาจะรู้ได้ทันที” พระดำรัสนี้ แสดงถึงน้ำพระทัยแห่งความเป็นพระบรมครูของพระองค์อย่างมหาศาล และยังเป็นเหตุการณ์ที่ซาบซึ้งใจแก่พุทธบริษัท มาตราบถึงทุกวันนี้
หลังจากที่พระองค์ทรงมีพุทธานุญาตแล้ว สุภัททปริพาชกจึงได้เข้าเฝ้าถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ก็นั่ง ณ ที่สมควร แล้วกราบทูลถามว่า บรรดาครูทั้ง ๖ ได้แก่ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถนาฏบุตร เจ้าลัทธิเหล่านั้นทั้งหมดรู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือไม่ได้รู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “สุภัททะ เธออย่าได้สนใจเรื่องเจ้าลัทธิเหล่านั้นเลย เราจะแสดงธรรมแก่เธอ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าว”
สุภัททปริพาชกทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัส ให้หลักการวินิจฉัยความสมบูรณ์แบบของแต่ละศาสนาไว้ดังนี้ว่า
“สุภัททะ ในธรรมวินัย (ศาสนา) ที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๑ (พระโสดาบัน) ย่อมไม่มีสมณะที่ ๒ (พระสกทาคามี) ย่อมไม่มีสมณะที่ ๓ (พระอนาคามี) ย่อมไม่มีสมณะที่ ๔ (พระอรหันต์) ในธรรมวินัยที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมมีสมณะที่ ๑ ย่อมมีสมณะที่ ๒ ย่อมมีสมณะที่ ๓ ย่อมมีสมณะที่ ๔”
จากนั้นพระองค์ก็ทรงประกาศความสมบูรณ์แบบของคำสอนในพระพุทธศาสนาให้โลกได้รู้ว่า
“สุภัททะ ในธรรมวินัยนี้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑ … สมณะที่ ๒ ... สมณะที่ ๓ ... สมณะที่ ๔ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย”
จากนั้นพระองค์ก็ทรงประกาศ ความเป็นเอกของพระพุทธศาสนา ที่อุดมด้วยพระอริยบุคคลผู้สอน หนทางแห่งการตรัสรู้ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้อยู่เป็นจำนวนมากว่า
“สุภัททะ เราบวชขณะอายุ ๒๙ ปี แสวงหาว่าอะไรคือกุศล เราบวชมาได้ ๕๐ ปีกว่า ยังไม่มีแม้สมณะที่ ๑ (พระโสดาบัน) ภายนอกธรรมวินัยนี้ ผู้อาจแสดงธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่มีสมณะที่ ๒ ไม่มีสมณะที่ ๓ ไม่มีสมณะที่ ๔ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย”
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสพระธรรมเทศนาจบลง สุภัททปริพาชกได้กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาเป็นอันมาก พร้อมกับขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต พร้อมทั้งขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระพุทธองค์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “สุภัททะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ประสงค์จะบรรพชา ประสงค์จะอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ ต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือนล่วงไป เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชา จะให้อุปสมบทเป็นภิกษุได้ อนึ่ง ในเรื่องนี้เราคำนึงถึงความ แตกต่างระหว่างบุคคลด้วย”
สุภัททปริพาชกกราบทูลว่า “หากผู้ที่เคยเป็นอัญเดียรถีย์ประสงค์จะบรรพชา ประสงค์จะอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือนล่วงไป เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชา จะให้อุปสมบทเป็นภิกษุได้ ข้าพระองค์จักขออยู่ปริวาส ๔ ปี หลังจาก ๔ ปีล่วงไป เมื่อภิกษุพอใจ ก็จงให้บรรพชา จงให้อุปสมบทเป็นภิกษุเถิด”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นความตั้งใจ จริงของสุภัททปริพาชกเช่นนั้นแล้ว จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์เป็นผู้บวชให้ในขณะนั้น สุภัททปริพาชกมีความยินดีเป็นอันมากที่พระบรมศาสดาแต่งตั้งศิษย์ในสำนักให้บวชลูกศิษย์แทนพระองค์
ซึ่งในขณะนั้นสุภัททปริพาชกยังถือจารีต ของลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนาอยู่ การที่ใครได้รับการบวชด้วยวิธีนี้ ถือเป็นเกียรติยศ อันสูงสุดที่นักบวชนอกศาสนาทุกคนอยากได้ จึงกล่าวยกย่องพระอานนท์ว่า
“ท่านพระอานนท์ เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้วที่พระศาสดาทรงแต่งตั้งท่าน โดยมอบหมายให้บรรพชาอันเตวาสิกในที่เฉพาะพระพักตร์”
หลังจากสุภัททปริพาชก ได้รับการบรรพชาและอุปสมบท ในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็หลีกออกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร บำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิต เป็นเดิมพันอยู่ไม่นานนัก ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา ท่านสุภัททะจึงได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านได้เป็น สักขิสาวกองค์สุดท้าย คือสาวกที่ทันเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่
จากพระดำรัสที่พระองค์ตรัสตอบสุภัททปริพาชกนั้น อาจสันนิษฐานได้ว่า พระองค์ทรง รู้ว่า สุภัททปริพาชกคือบุคคล ที่ตระเวนไปสอบถามเพื่อค้นหาลัทธิศาสนา ที่มีพระอรหันต์อยู่จริง และคำสอนที่ทำให้บรรลุธรรม เป็นพระอริยบุคคลได้จริง แต่ก็ไม่อาจค้นพบ ขณะเดียวกัน พระพุทธองค์เองก็ทรงยืนยันเช่นเดียวกันว่า ตลอดเวลาแห่งการบวชกว่า ๕๐ ปี ก็ไม่ทรงพบว่ามีลัทธิศาสนาใดที่มีพระอรหันต์ หรือแม้แต่พระโสดาบันที่เป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น เพราะศาสนาที่จะมีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ได้นั้น จะต้องเป็นศาสนาที่มีการสอนวิธีปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งคำสอนนี้มีอยู่ในเฉพาะพระพุทธศาสนา เพียงศาสนาเดียวเท่านั้น
ดังนั้น การที่พระองค์ทรงประกาศความเป็นเอก แห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา ไว้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นนี้ ย่อมเป็นการทำให้ชาวโลกทุกยุคทุกสมัยประจักษ์ว่า
๑) คำสอนที่สมบูรณ์แบบเพื่อการหลุดพ้น จากการเวียนว่ายตายเกิดอย่างแท้จริงนั้น มีอยู่ในศาสนาเดียวในโลกนี้เท่านั้น คือ พระพุทธศาสนา
๒) หนทางเอกสายเดียวแห่งการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารของมวลมนุษยชาติอย่างเด็ดขาดก็คือ การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหนทางแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงค้นพบเพื่อการบรรลุธรรมของชาวโลก
๓) การตรัสรู้ธรรมนั้น มิได้ผูกขาดอยู่เฉพาะบุคคล ที่นับถือพระพุทธศาสนา แม้บุคคล ที่เคยบวชในศาสนาอื่นมาก่อนแล้ว แต่ตั้งใจปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามคำสอนของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน ก็สามารถบรรลุธรรมที่พระองค์ตรัสรู้มาก่อนได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่มีคำสอนเป็นสากล เพื่อการบรรลุมรรค ผล นิพพานของมวลมนุษยชาติอย่างเท่าเทียมกัน
การที่พระองค์ประกาศความสมบูรณ์แบบ ของพระธรรมคำสอนอย่างชัดเจนเช่นนี้ คือการสร้างความมั่นคง ให้กับพระพุทธศาสนาได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะเป็นการประกาศให้โลกรับรู้ถึงเสรีภาพที่แท้จริงว่า ผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างต่อเนื่องจริงจัง ผู้นั้นย่อม มีโอกาสหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารดุจเดียวกับพระองค์ โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะเป็นผลเสียหายต่อชีวิต ต่อครอบครัว ต่อศาสนา และต่อเผ่าพันธุ์ของตนเองแต่อย่างใด พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาสากล ของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง
๓.๕ พระองค์ทรงประกาศให้พระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบ
การแสดงธรรมโปรดพระสาวกคนสุดท้ายจบลง ในเวลาที่จวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น เสมือนหนึ่งพระองค์ได้ทรงวางรากฐานความมั่นคง ของพระธรรมวินัยเป็นครั้งสุดท้าย นับได้ว่าพระองค์ทรงสร้างความมั่นคง แข็งแกร่ง อย่างแท้จริงให้กับพระธรรมวินัย เพื่อที่จะให้ทำหน้าที่ศาสดาแทนพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบ ดังพระโอวาทว่า
“ธรรมวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไปแล้ว ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย”
ต่อจากนั้น พระองค์ก็ประทานโอกาสให้เหล่าพระภิกษุทั้งหลาย ได้ซักถามถึงความสงสัยในการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นโอกาสสุดท้ายถึง ๓ ครั้ง แต่ปรากฏว่าภิกษุทั้งหลาย ต่างนิ่งเงียบ ไม่มีผู้ใดสงสัยในพระธรรมวินัยของพระองค์เลย ทั้งนี้ย่อมชี้ชัดว่า การทำหน้าที่สั่งสอนชาวโลกให้พ้นทุกข์ของพระบรมศาสดาตลอด ๔๕ พรรษา ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แบบแล้ว พระภิกษุสาวกของพระองค์ทั้ง ๕๐๐ รูป ที่ประชุมกันอยู่ในที่นั้น ล้วนแต่เป็นพระอริยบุคคลระดับพระโสดาบันขึ้นไป ย่อมไม่มีผู้ใดตกต่ำลงไปเป็นธรรมดา และมีหนทางจะได้ตรัสรู้ต่อไปภายหน้าในอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะสามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ อย่างแน่นอน ดั่งพระพุทธพจน์ที่ว่า
“ภิกษุสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้บำเพ็ญเพียรอยู่เสมอ ย่อมยังโลกให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์เดือนเพ็ญที่ส่องสว่างอยู่กลางฟ้า โผล่พ้นแล้วจากหมู่เมฆที่บดบัง ฉะนั้น”
เมื่อถึงวาระสุดท้ายก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ได้ประทานปัจฉิมโอวาทเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเตือนสติพุทธสาวกทั้งปวง ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และทรงตอกย้ำภาระหน้าที่ การสืบทอดพระพุทธศาสนา ให้แผ่ขยายไปยังชาวโลกทั้งปวง ด้วยพระดำรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด”
ปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายของพระองค์นี้ เป็นการย่อคำสอนทั้งหมดของพระองค์ตลอด ๔๕ ปีที่ผ่านมา โดยรวมอยู่ในคำว่า “ความไม่ประมาท” เพียงคำเดียว
หลังจากตรัสปัจฉิมโอวาทจบลงแล้ว พระองค์ก็ทรงเข้าโลกุตตรฌานไปตามลำดับ จนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทอดทิ้งพระสรีระของพระองค์ที่ทรงใช้ตรากตรำประกาศพระศาสนามาเป็นเวลานานไว้ที่สาลวโนทยาน ท่ามกลางพระภิกษุสาวกที่ล้อมรอบ ส่วนธรรมกายของพระองค์ ก็เสด็จเข้าพระนิพพานไป ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า
“แม้หากภิกษุจำนวนมากปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือเต็มได้ เหมือนแม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝนตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ การที่แม้หากภิกษุจำนวนมากปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือเต็มได้ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์”
จากการศึกษาเรื่องการสร้างความมั่นคงของพระธรรมวินัยมาตามลำดับ ๆ นี้ ย่อมจะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำงานอย่างรอบคอบ ทรงวางแผนการทำงานอย่างเป็น ขั้นตอน โดยทรงเริ่มที่การสร้างบุคคล ให้มีความเคารพพระธรรมวินัยสูงสุด ดุจเดียวกับพระองค์ไว้เป็นบุคคลต้นแบบ ต่อมาเมื่อพระธรรมคำสอนของพระองค์ เพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็ทรงมี พุทธานุญาตให้วางแนวทางการทำสังคายนาไว้ล่วงหน้า โดยทรงให้จัดทำไว้เป็นหมวดหมู่ก่อน ต่อจากนั้นก็ประทานมหาปเทส ๔ ไว้เป็นแนวทางขจัดข้อสงสัยคำเทศน์สอนของภิกษุ หรือเป็นเกณฑ์พิจารณาคำเทศน์สอนของภิกษุ ว่าถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือไม่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ในภายหลัง แม้พระองค์จะทรงวางแนวทางปฏิบัติไว้ อย่างเป็นระบบแล้วก็ตาม แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ในหมู่พุทธบริษัททั้งปวง พระองค์จึงทรงสรุปหลักการ ตรัสรู้ธรรมในพระพุทธศาสนา ไว้อย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่า การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้นที่เป็นวิธีกำจัด อาสวกิเลสให้หมดสิ้นจากสันดานได้เด็ดขาด ยังผลให้บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ ศาสนาใดในโลกที่ปราศจาก คำสอนเพื่อการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน จะไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ นั่นคือไม่มีผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
ทั้งหมดนี้คือพระอัจฉริยภาพ ของพระองค์ในการสร้างความมั่นคงให้กับพระธรรมวินัย ไว้อย่างชัดเจนด้วยดีแล้วทุกประการ ส่งผลให้พุทธสาวกรุ่นหลังสามารถดำเนิน ตามรอยบาทของพระองค์ได้อย่างสันติ ไม่เกิดความขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรง จนเกิดทะเลาะวิวาทกันขึ้น ในภายหลัง ยิ่งกว่านั้นยังประสานสามัคคีกัน ในการทำงานเผยแผ่อีกด้วย ทำให้พระธรรม คำสอนต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนารวมทั้ง การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันและกำลังแผ่ขยายประโยชน์ไปสู่ผู้คนทั่วไปทุกมุมโลก
๔. ความมั่นคงของการบรรลุธรรม
ธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมนั้น ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็กหรือสังคมใหญ่ สังคมโลกหรือสังคมสงฆ์ มีความจำเป็นว่าจะต้องมีผู้นำ ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนในสังคมนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีผู้นำ ในระดับชุมชนในแต่ละท้องถิ่น หรือถ้าเป็นวัดแต่ละวัด ก็ต้องมี พระเถระเป็นเจ้าอาวาส เป็นผู้นำ เป็นผู้ปกครองสงฆ์ในอาวาสนั้น
เกี่ยวกับการสร้างความมั่นคง ของการบรรลุธรรมนั้น พระองค์ทรงมุ่งเป้าไปที่การสร้างพระเถระ ให้เป็นผู้นำในการบรรลุธรรม เพื่อเป็นครูบาอาจารย์ในการสอน การเจริญภาวนาให้แก่ทั้งสงฆ์ในวัด และประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วทุกแว่นแคว้น ดังปรากฏหลักฐานไว้ใน ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร ดังนี้
“ภิกษุเป็นเถระ ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน หมดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
หมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุเถระเหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน หมดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยัง ไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ... ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม”
จากพระดำรัสนี้ มีศัพท์อยู่ ๒ คำ ที่แสดงถึงภาระหน้าที่ของพระเถระในการเป็นผู้นำ การบรรลุธรรมของประชาชนไว้อย่างชัดเจน นั่นคือคำว่า “หมดธุระในโอกกมนธรรม” และ “เป็นผู้นำในปวิเวก”
ในคัมภีร์อรรถกถาได้อธิบายคำศัพท์ ๒ คำนี้ไว้ว่า
โอกกมนธรรม หมายถึง นิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นกิเลสระดับกลาง ได้แก่
(๑) กามฉันทะ ความพอใจในกาม
(๒) พยาบาท ความคิดร้าย
(๓) ถีนมิทธะ ความหดหู่และเซื่องซึม
(๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ
(๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
ปวิเวก หมายถึง อุปธิวิเวก คือความสงัดจากอุปธิ สภาวะอันเป็นที่ตั้งที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ได้แก่ กาม กิเลส เบญจขันธ์ และอภิสังขาร อีกนัยหนึ่ง หมายถึงนิพพาน
(อ่านต่อฉบับหน้า)