วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เรื่อง เมื่อไฟดวงสุดท้ายดับลง

เรื่อง : โค้ก (เจ้าเก่า)

 

 

เรื่อง เมื่อไฟดวงสุดท้ายดับลง

ช่วงเวลาหนึ่งที่ผมชอบ เมื่อเริ่มต้นเข้ามาช่วยรับบุญอยู่ในทีมอุปัฏฐาก นั่นคือช่วงที่
ไฟดวงสุดท้ายในกุฏิหลวงพ่อดับลง

          ที่ชอบช่วงเวลานี้ ไม่ใช่เพราะเสร็จสิ้นหน้าที่อุปัฏฐากในวันนั้น ๆ

          แต่ชอบเพราะเป็นช่วงเวลาที่มือใหม่หัดอุปัฏฐากอย่างผม จะได้เริ่มต้นพูดคุย และสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่อุปัฏฐาก เพื่อประเมินผลการทำหน้าที่ว่า ในแต่ละวันทำได้สมบูรณ์กี่คะแนน 

          การเข้ามารับบุญอุปัฏฐากของผมนั้น ไม่มีการเรียนการสอน ไม่ได้รับการอบรมหลักสูตรนี้จากสถาบันใดมาก่อน หน้าที่นี้จึงไม่มีลำดับหรือกฎบัญญัติตายตัว ว่าจุดเริ่มและจุดสิ้นสุดอยู่จุดไหน ทั้งหมดคือการพลิกแพลง ประยุกต์ และนำสิ่งที่มีในตัวออกมาใช้ในหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

          ดังนั้น การเรียนรู้ที่ได้ผลดีคือ ‘การเรียนรู้’ และ ‘เรียนลัด’ จากประสบการณ์ตรงจากรุ่นพี่

          เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติหน้าที่จริง 

          แต่ช่วงที่อยู่หน้างาน แม้บางครั้งทำได้ แต่ก็ไม่ทุกครั้ง เพราะต่างคนต่างก็ต้องจดจ่อกับการปฏิบัติหน้าที่ ผมจึงมุ่งสนใจวิธีการเรียนลัด

          เรียนลัดจากการถ่ายทอดบอกเล่าของรุ่นพี่ 

 

 

ทุกค่ำคืน เมื่อไฟดวงสุดท้ายในกุฏิิหลวงพ่อดับลง ผมกับพี่อุปัฏฐากท่านหนึ่งจะแอบเข้ามาในห้องว่างโล่ง ๆ ที่ถัดจากห้องที่หลวงพ่อจำวัด แล้วช่วงเวลาที่ผมชอบก็เริ่มต้นขึ้น

          ในความมืดนอกจากผมและพี่อุปัฏฐากแล้ว ก็จะมียุงและจิ้งจกบางตัวเท่านั้น ที่จะได้ยินคำถาม และคำตอบของผม กับพี่อุปัฏฐากโต้กลับไปกลับมาเบา ๆ นี่คือวิธีการเรียนลัดนอกเวลา ในวิชาอุปัฏฐาก วิชาที่พื้นฐานความรู้ของผม มีต้นทุนติดตัวมาเท่ากับศูนย์

          พี่ ๆ อุปัฏฐากทุกคนจึงเป็นเสมือนห้องสมุด ที่ผมต้องเข้ามาค้นคว้าหาความรู้ที่สำคัญ และจำเป็นทุกคืน  

          ถ้ายุงและจิ้งจกในห้องนี้สื่อสารกับผมได้ มันคงอยากจะบอกให้ผมเห็นอกเห็นใจห้องสมุดบ้าง ไหนจะเหนื่อยกับงานมาทั้งวันแล้ว ยังต้องมาเหนื่อยถ่ายทอดความรู้ให้กับผมอีก 

          ผมก็อยากจะบอกให้ยุงและจิ้งจกทราบว่า ผมเองก็อยากจะรีบเรียนให้จบเร็ว ๆ  แต่ติดตรงที่ผมเป็นคนเรียนรู้ช้า แต่แม้ว่าจะเรียนรู้ช้า ผมก็ยังไม่ถึงกับต้องเรียนซ้ำชั้น 

          ถ้าหากผมเป็นต้นไม้ที่ถูกนำมาปลูกลงดินใหม่ ๆ พี่ ๆ อุปัฏฐากก็คงเป็น ไม้ค้ำยัน ที่กำลังช่วยประคับประคอง ให้ต้นไม้ต้นนี้ไม่ล้ม หรือเอนไปมายามต้องแรงลม และจะช่วยค้ำประคองไปจนกว่า รากจะยึดดินจนลำต้นแข็งแรงยืนต้นเองได้ 

เสียงการพูดคุยซักถามดำเนินอย่างต่อเนื่องในทุกคืน มีอยู่คืนหนึ่งที่มีแต่เสียงคำถาม แต่ไม่มีเสียงตอบ 

          เสียงคำถามดังซ้ำอีกครั้ง เงียบ! ไม่มีเสียงตอบเหมือนเดิม  

          ในความมืดและเงียบนั้น ผมเข้าใจดีว่า ภาคทฤษฎีที่พี่เลี้ยงได้ถ่ายทอดนั้นมาถึงชั่วโมงสุดท้ายแล้ว ต่อไปก็ถึงเวลาที่ผมจะต้องนำสิ่งที่ได้รับฟังมาประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติ คงจะถึงวันที่ไม้ต้นนี้ จะต้องยืนต้นด้วยตัวเองเสียแล้ว เพราะผมเองก็ไม่กล้ารบกวน ปลุกคนที่กำลังหลับสนิทได้ลงคอ นอกเสียจากยุงบางตัวที่หิวโซเท่านั้น

          ชีวิตคนเราแม้แตกต่างกันในหลายมิติ  แต่เราต่างก็มีไม้ค้ำยันที่คอยช่วยเป็น พี่เลี้ยงให้เราในเรื่องต่าง ๆ เหมือนกัน 

          และที่เหมือนมากไปกว่านี้อีกก็คือ เมื่อถึงวันหนึ่ง ไม้ค้ำยันจำเป็นต้องปล่อยให้เราเติบโตด้วยตัวของเราเองต่อไป

การเติบโตเริ่มมีสัญญาณเกิดขึ้นเป็นลำดับ อย่างบ่ายแก่ ๆ วันหนึ่ง ถึงเวลาที่ต้องนำยาและน้ำปานะถวายหลวงพ่อ เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อม แต่จิตใจคนถวายยังไม่ค่อยพร้อม

          ตามหน้าที่ที่ได้แบ่งบุญรับผิดชอบกันนั้น ผมต้องเป็นคนนำเข้าไปถวายเหมือนทุกครั้ง 

          แต่ที่ผ่าน ๆ มา การถวายจะถวายในกุฏิหรือในหมู่ทีมงานที่ผมคุ้นเคยทั้งผู้คนและสถานที่ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ 

          หลวงพ่อมานำนั่งสมาธิ และสอบถามประสบการณ์ภายในกับธรรมทายาทหญิง จำเป็นต้องเข้าไปถวายหลวงพ่อ ในห้องอบรมที่มีสายตานับร้อยคู่จับจ้องมองดูอยู่

          การเดินถือถาดที่มีทั้งแก้วยา และแก้วน้ำปานะเต็มถาด ปรากฏตัวออกมา จากประตูด้านหลังที่หลวงพ่อนั่ง แม้จะพยายามทำตัวให้ลีบและเล็กที่สุดเท่าใดแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นจุดดึงดูดความสนใจให้สายตาทุกคู่หันมามองอยู่ดี 

          การประจันหน้ากับสายตาที่มองมาด้วยความแปลกใจปนสงสัย ซึ่งต้องมีคนอยากรู้แน่นอนเลยว่า พี่คนนี้เขานำน้ำอะไรมาถวายให้หลวงพ่อฉัน ความประหม่าย่อมเพิ่มดีกรีสูงขึ้นเรื่อย ๆ 

          จะทำอย่างไรถ้าเกิดเดิน ๆ ไปแล้วสะดุดสายไมค์ล้ม แก้วในถาดหกระเนระนาด  ผมจะเดินเข้าไปถวายได้อย่างไร เพราะเพียงแค่คิดก็แทบก้าวขาไม่ออก

          หรือถ้าก้าวขาเดินเข้าไปได้และไม่สะดุดอะไรล้ม แต่จะต้องเดินไปอยู่ตรงด้านไหน ของหลวงพ่อ จะส่งสัญญาณอย่างไรให้ท่านทราบหรือให้ท่านหันมาเห็นว่า ยาและปานะพร้อมถวายแล้วครับ! 

          ความคิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดนี้ มันจะหายวับเกลี้ยงไปในทันที ถ้าพี่อุปัฏฐากช่วยยกเข้าไปถวายแทนผม

          แต่ความจริงที่ปรากฏก็คือ พี่ ๆ ต่างก็ถอนไม้ค้ำยันที่คอยช่วยเหลือผมออกไปจนหมด 

          นี่คือสัญญาณที่ชัดเจนมาก ในการให้ต้นไม้รู้จักยืนต้นได้ด้วยตัวเอง

          ยามที่เราต้องเป็นไม้ค้ำยันให้กับตัวเราเอง เริ่มต้นจากตัดความคิดต่าง ๆ ออกไปแล้วเดินหน้าไปยังจุดหมาย ตั้งสติแล้วกระซิบบอกกับตัวว่า เราต้องทำได้!

หลังจากที่ผ่านเหตุการณ์ยาก ๆ มาได้ครั้งหนึ่ง ครั้งต่อ ๆ ไปก็ง่ายขึ้น

          การนำยาและปานะเข้าไปถวายหลวงพ่อ ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงสำหรับผมอีกต่อไป แม้จะเป็นการถวายต่อหน้าแขกผู้ใหญ่ก็เคยผ่านมาแล้ว  

          แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเข้าไปถวาย ทุกอย่างก็ราบรื่นปกติดี เดินถือถาดเข้าไป ใกล้จะถึงที่หมายก็เดินเข่า ยกถวายวางบนโต๊ะ เปิดฝาแก้วยา หยิบช้อนแล้วคนยาในแก้ว ทำไปตามลำดับขั้นตอนที่เคยทำ 

          แต่พอถึงเวลาเปิดฝาแก้วปานะร้อน กลับยกฝาเปิดไม่ออก มีแรงดูดระหว่างฝากับขอบปากแก้ว เมื่อยกเปิดไม่ออกก็ต้องออกแรงยกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็เปิดออก แต่เรื่องกลับไม่จบ

          เปิดฝาแก้วได้ พร้อมกับเกิดแรงระเบิดเบา ๆ ดัง เป๊าะ! ตามมา จากนั้นน้ำที่ดูดอยู่กับฝา ก็กระจายไร้ทิศทางเต็มโต๊ะต่อหน้าแขก  

          นึกไม่ถึงว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ไม่มีในหลักสูตรที่พี่อุปัฏฐากถ่ายทอดให้ฟัง ยามนี้ถ้ามัวแต่อายและเสียใจที่ทำให้หลวงพ่อเสียหน้า ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรมีแต่ ‘สติ’ เท่านั้นที่จะช่วยได้

          หลวงพ่อหยิบทิชชูมาช่วยผมเช็ด จากนั้นท่านก็เปลี่ยนบรรยากาศในห้องให้ ผ่อนคลายกลายเป็นเรื่องขำ ๆ พร้อมกับเมตตาสอนเทคนิคให้เผยอฝาแก้วมุมใดมุมหนึ่งก่อน แค่นี้ก็ไม่เกิดการระเบิด 

          ในคืนนั้นเมื่อไฟดวงสุดท้ายดับลง สติที่เป็นพี่เลี้ยงอีกคนหนึ่งของผมบอกกับผมว่า อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป ตั้งใจ! แล้วเริ่มต้นกันใหม่ในวันพรุ่งนี้ 

สติ คือพี่เลี้ยงคนสำคัญที่สุดในชีวิตเรา เพราะสามารถช่วยค้ำยันเราไปได้ตลอดชีวิต

          พี่เลี้ยงที่ชื่อ สติ คนนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง ซึ่งจะพบพี่เลี้ยงส่วนตัวของเราคนนี้ได้ด้วยวิธีการเดียว คือต้องฝึกฝนรวบรวมจิตใจให้ ‘แน่วแน่’ และ ‘หยุดนิ่ง’

          เราสามารถรู้ทันการเคลื่อนไหว อารมณ์ และความคิดของตัวเราเองได้ ไม่ให้เผลอหรือประมาท ตราบใดที่เรายังหมั่นฝึกฝนจิตของเราให้หยุดนิ่งอย่างสม่ำเสมอ 

          เมื่อไฟดวงสุดท้ายดับลง มันเป็นช่วงเวลาส่วนตัวที่ให้เราทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน

          สิ่งที่ไม่ดีก็สะสาง ชำระล้าง ทิ้งไป

          สิ่งที่ผิดพลาดก็เป็นข้อเตือนใจ ให้เราปรับปรุงแก้ไข ทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม

          สิ่งดีก็เก็บสะสมไว้เป็นกำลังใจในวันรุ่งขึ้น

          ที่สำคัญ มันเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้อยู่กับตัวเอง ได้ฝึกฝนจิตใจให้มีสติเป็นไม้ ค้ำยันในชีวิตของเรา และเป็นพี่เลี้ยงที่จะนำทางเราไปสู่บทเรียนที่รอให้เราเข้าไปเรียนรู้ภายใน

          มีพี่เลี้ยงที่วิเศษเช่นนี้ ไม่เห็นจะต้องกลัวอะไร 

          แม้ในยามที่ไฟดวงสุดท้ายของชีวิตดับลง
..............................................................................................

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 125 มีนาคม ปี2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล