วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ แสงประทีปสว่างไสว... จุดดวงใจให้สว่างด้วยแสงแห่งธรรม

ทบทวนบุญ ๓

เรื่อง : พระสมศักดิ์ จนฺทสีโล

 

 

แสงประทีปสว่างไสว...
จุดดวงใจให้สว่างด้วยแสงแห่งธรรม

           เมื่อพระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า ณ ลานธรรม มหาธรรมกายเจดีย์ เหล่าสาธุชนได้หลั่งไหลย้ายไป ร่วมประกอบพิธีเวียนประทักษิณและจุดมาฆประทีป ถวายเป็นพุทธบูชาที่ลานธรรม ซึ่งพิธีกรรมในภาคเย็นวันนี้ เริ่มต้นด้วยการเจริญสมาธิภาวนา โดยมีพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เป็นประธานในพิธี ซึ่งท่านนำมหาชน ทั้งหลายหลับตาสงบนิ่งก่อนที่จะกล่าวคำบูชามาฆฤกษ์ หลังจากนั้นคณะสงฆ์นำสาธุชนผู้มีบุญเวียน ประทักษิณเป็นแนววงกลมรอบมหาธรรมกายเจดีย์ เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ท่ามกลางเสียงสรรเสริญพระพุทธคุณด้วยความศรัทธา

 

 

 

 

           เมื่อเสร็จพิธีเวียนประทักษิณ ทั่วทั้งบริเวณลานธรรมก็สว่างไสวไปด้วยแสงแห่งมาฆประทีป นับแสนดวงที่ผู้มีบุญช่วยกันจุดขึ้น แสงประทีปเหล่านี้ สว่างไสวเรืองรองไปทั่วลานธรรม ประดุจทะเลแห่งแสงธรรมที่น้อมนำถวายเป็นพุทธบูชา ยังความตื่นตา ตื่นใจแก่มหาชนเป็นอย่างยิ่ง

 

 

           เหตุการณ์ในวันมาฆบูชาที่บังเกิดขึ้นนี้ คือภาพ แห่งความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน เป็นเหตุการณ์ แห่งความปีติอิ่มเอิบ ก่อให้เกิดความสุขใจทุกครั้งที่ได้ นึกถึง และเป็นภาพแห่งประวัติศาสตร์ชีวิตอันงดงาม ที่ก่อให้เกิดมหากุศลอันยิ่งใหญ่ ที่จะติดตามตัวเราไปตลอดทุกภพทุกชาติ และน้อมนำให้ทุกคนมีจิตใจ ผูกพันที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการปฏิบัติ และศึกษาเพื่อเข้าถึงธรรมแห่งพระพุทธองค์ มุ่งธำรง รักษาและแผ่ขยายพระพุทธธรรมอันประเสริฐไปสู่ชาวโลกทั้งหลาย เพื่อสันติสุขแห่งมวลมนุษยชาติตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม

 

 

พิธีจุดมาฆประทีปถวายเป็นพุทธบูชา

เรียบเรียงจากโอวาทพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)

           วันนี้ เป็นวันมาฆบูชามหาสมาคม ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญต่อชาวโลกเป็นอย่างมาก เมื่อราว ๆ สองพันกว่าปีที่ผ่านมา มีพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมายกันทางวาจา แต่ทว่ารู้กันด้วยใจของพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสและทรงอภิญญา อีกทั้งทุกรูปล้วนเป็นผู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทานการบวชให้แบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา

           ในวันนั้น พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักธรรมแม่บทที่เป็นหัวใจ สำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อยังความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดกับมวลมนุษยชาติ เพื่อให้นำหลักธรรมนี้ไปใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้องสมบูรณ์ตาม แบบอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

           หลักโอวาทปาติโมกข์ประกอบด้วยอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

           อุดมการณ์ในเบื้องต้นคือความอดทน ดังพระพุทธดำรัสว่า

           "ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา" แปลว่า ความอดทนเป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง หมายถึงผู้ที่จะไปทำหน้าที่เป็นยอดกัลยาณมิตรของโลก จะต้องมีความอดทนเป็นพื้นฐานของคุณธรรมทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ต้องอดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อการกระทบกระทั่ง และอดทนต่อกิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าหากอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ได้ จึงจะสามารถ ฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายไปสู่อายตนนิพพานได้ เหตุที่ทรงสอนให้อดทนอย่างมีเป้าหมายให้ไปนิพพานนั้น เพราะทรงเห็นว่า

           "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา" แปลว่า ท่านผู้รู้ทั้งหลายคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าพระนิพพานเป็นเยี่ยม คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงเห็นพ้องต้องกันว่า สิ่งที่เยี่ยมที่สุดนั้นคือพระนิพพาน ดังนั้นเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ทุกคนจะต้องทำพระนิพพานให้แจ้ง และในระหว่างสร้างบารมีก็อย่าไปก่อเวรหรือไปเบียดเบียนใคร ดังพระพุทธดำรัสว่า

           "น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหยนฺโต" คือบรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะผู้สงบเลย
เมื่อพระพุทธองค์ทรงให้อุดมการณ์แล้ว ก็ทรงให้หลักในการปฏิบัติ เพื่อให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตว่า

         "  สพฺพปาปสฺส อกรณํ " คือการไม่ทำบาปทั้งปวง

          " กุสลสฺสูปสมฺปทา " การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม

          " สจิตฺตปริโยทปนํ "การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส

           พูดง่าย ๆ ก็คือ ทรงสอนให้ละชั่ว ทำความดี ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพื่อจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยที่มีอยู่ภายในตัวของทุก ๆ คน ที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งเน้นให้ทุกคนแสวงหาตัวตน ที่แท้จริงภายใน เพราะจะได้มีที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง สามารถปิดอบายไปสวรรค์ไปนิพพานได้

           ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงให้วิธีการในการเผยแผ่ เพื่อไปถ่ายทอดให้ชาวโลกได้ประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสม จะได้ดำเนินชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ ถูกต้อง ปลอดภัย และมีชัยชนะ โดยมีหลักวิชชาดังต่อไปนี้คือ

          " อนูปวาโท " ไม่ให้เข้าไปว่าร้ายใคร

         " อนูปฆาโต " ไม่ให้ทำร้ายใคร หรือขู่บังคับให้ใครเชื่อ แต่ต้องให้เขาเกิดความเข้าใจที่ ถูกต้องตามเหตุและผล จนเกิดความศรัทธาเลื่อมใสด้วยตัวเอง

          " ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร " ให้สำรวมในศีลและมารยาท จะได้ไม่ไปกระทบกระทั่งกับใคร และยังก่อให้เกิดความน่าเคารพเลื่อมใสอีกด้วย

         "  มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมิ " ให้รู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอดี

          " ปนฺตญฺจ สยนาสนํ " ให้อยู่ในเสนาสนะ ที่นอนที่นั่งอันสงบ ที่เอื้ออำนวยต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม

           และประการสุดท้าย " อธิจิตฺเต จ อาโยโค " ให้หมั่นประกอบความเพียรในอธิจิต คือทำจิตให้บริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาอย่างเต็มที่เต็มกำลัง

           บทโอวาทปาติโมกข์นี้มีความสำคัญมาก เป็นสิ่งที่ตัวเราและชาวโลกจะต้องนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งต่อตัวเราเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้ โดยเฉพาะเราเป็นชาวพุทธ จะต้องยึดหลักนี้ไปใช้และปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม จึงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริง และถ้าหากชาวโลกทุกคนได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักโอวาท-ปาติโมกข์ สันติสุขที่แท้จริงก็จะบังเกิดขึ้นในโลกได้อย่างแน่นอน

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 125 มีนาคม ปี2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล