สร้างโลกแก้ว
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภารกิจสร้างสันติภาพในแอฟริกาตะวันตก
หลังจากทีมงานพีซเรฟโวลูชันจัดโครงการปฏิบัติธรรมขึ้นที่แอฟริกาตะวันออกไปแล้ว เมื่อวันที่ ๑๓-๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ภารกิจสร้างสันติภาพในดินแดนแอฟริกายังคงดำเนินต่อไป โดยครั้งนี้มีจุดหมายอยู่ที่แอฟริกา ตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยประเทศต่าง ๆ ๑๖ ประเทศ ได้แก่ มอริเตเนีย, มาลี, บูร์กินาฟาโซ, ไนเจอร์, เบนิน, โกตดิวัวร์หรือไอวอรีโคสต์, แกมเบีย, กานา, กินี, กินีบิสเซา, ไลบีเรีย, เซเนกัล, เซียร์ราลีโอน, โตโก, ไนจีเรีย, เคปเวิร์ดและยังมีอาณานิคมของอังกฤษอีก ๑ อาณานิคมคือ เซนต์เฮเลนา (บางแหล่งข้อมูลก็รวมแคเมอรูน คองโกและอีกหลายประเทศทางตอนกลางเข้ามาด้วย)
พีซเอเจนต์อายา
๑
ทีมงานพีซเรฟโวลูชันมุ่งตรงไปยังประเทศเซเนกัลที่ตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก เหตุผลที่เราเลือกจัดกิจกรรมที่ประเทศนี้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยมีพีซเอเจนต์มาก่อน เพราะประเทศในแอฟริกาตะวันตกที่มีพีซเอเจนต์อันตรายเกินไป บางประเทศก็มีการคมนาคมขนส่งไม่สะดวก แต่เซเนกัลเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัย ผู้คนก็เป็นมิตร ยิ้มง่าย แถมยังกินข้าวคล้ายบ้านเราเสียด้วย นอกจากนี้พีซเอเจนต์อายายังมีเพื่อน ชื่อฟาติมาตาอยู่ที่นั่น ทำให้เราพอมีกำลังคน และที่สำคัญมาดามเคน คุณแม่ของฟาติมาตา ช่วยเป็นสปอนเซอร์ให้ด้วย ทำให้เราสามารถขยายงานได้ง่ายและรวดเร็ว สมดังคำพูดที่ว่า “มีพรรคมีพวก ความสะดวกก็มี”
ฟาติมาตา
๒
โครงการปฏิบัติธรรมสำหรับประเทศในกลุ่มแอฟริกาตะวันตกที่เซเนกัล จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๔-๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ มีผู้สมัครขอเข้าร่วมโครงการทั้งหมด ๑๓๒ คน จาก ๑๗ ประเทศ ซึ่งถือเป็นผลงานของพีซเอเจนต์อายาที่สร้างเครือข่ายจากการเข้าร่วมประชุมที่ประเทศกานาและเคปเวิร์ด
มาดามเคน
ทีมงานคัดเฉพาะผู้ทำบันทึกความดีออนไลน์อย่างน้อย ๑๔ วัน มาร่วมปฏิบัติธรรม ซึ่งมีทั้งหมด ๑๕ คน เป็นชาย ๙ คน หญิง ๖ คน จาก ๗ ประเทศ ได้แก่ ประเทศเบนิน, โกตดิวัวร์หรือไอวอรีโคสต์, แกมเบีย, กานา, เซเนกัล, โตโก และไนจีเรีย ที่ได้ผู้ร่วมโครงการเพียงแค่นี้ เพราะติดปัญหาอินเทอร์เน็ต ทำให้นัดสัมภาษณ์ลำบากมาก บางคนต้องนัดถึง ๔ ครั้ง กว่าจะสำเร็จ และยังมีปัญหาอื่น ๆ เช่น มีเยาวชนคนหนึ่งจากไลบีเรียตกเครื่อง อีก ๒ คน จากไนจีเรียยกเลิกกะทันหัน คนหนึ่งติดงานด่วน อีกคนผู้ปกครองไม่ยอมให้มาเพราะกลัวถูกเราหลอก ถึงขั้นกักบริเวณ (เหมือนในหนัง) ซึ่งทีมงานมอบหมายให้พีซเอเจนต์อาจุนวาไปทำความเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้พบทั้งเยาวชนและ ผู้ปกครอง
๓
กิจกรรมในครั้งนี้ พีซเอเจนต์อายาไม่ทำให้ ทุกคนผิดหวัง เธอติดต่อประสานงานได้ดีเยี่ยมเหมือนเดิม ส่วนทีมงานในพื้นที่ คือ ฟาติมาตาและคุณแม่ของเธอ มาดามเคน ก็ให้ความช่วยเหลือ อย่างเต็มที่ คือเป็นทั้งผู้จัดงาน สปอนเซอร์ และหาอาสาสมัครมาช่วยงาน
มาดามเคนเป็นคนอเมริกันโดยกำเนิด (แอฟริกันอเมริกัน) เธอแต่งงานกับคนเซเนกัล จึงย้ายมาอยู่ที่นี่ และตั้งโรงเรียนมัธยมปลายสองภาษาขึ้น ชื่อ The Senegalese American Bilingual School
มาดามเคนให้การสนับสนุนเรื่องรถรับส่งและคนขับรถ บริการน้ำปานะตลอดงาน โดยติดต่อ เจ้าของโรงงานนํ้าผลไม้ให้มาเป็นสปอนเซอร์ ติดต่อโรงแรมที่ใช้เป็นสถานที่จัดปฏิบัติธรรมและช่วยขอส่วนลดให้ ก่อนหน้านี้เธอเคยเสนอให้ใช้สถาบันวิทยาศาสตร์ของเธอเป็นสถานที่จัดปฏิบัติธรรม แต่เพราะไม่มีห้องปฏิบัติธรรมและระบบครัว มีแต่ห้องพัก จึงไม่สามารถใช้งานได้
ส่วนฟาติมาตาจบการศึกษาปริญญาตรีจากประเทศสหรัฐอเมริกา เธอมาช่วยขับรถ หาสถานที่ปฏิบัติธรรมทั้งใกล้และไกล และ ประสานงานเรื่องต่าง ๆ เรียกว่าทำงานเสมือนเป็นพีซเอเจนต์คนหนึ่ง
อมินนาตะจากไอวอรีโคสต์
“ไม่อยากเลิกนั่งเลย รู้สึกว่าร่างกายเต็มไปด้วยพลังแห่งสันติภาพ ฉันเห็นดวงสว่างอยู่กลางกายด้วย”
๔
ผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ค่อนข้างต่างจากแอฟริกาตะวันออก ผู้คนแถบนี้มีลักษณะแข็ง ๆ และเคร่งเครียดกว่าทางแอฟริกา ตะวันออกมาก โดยเฉพาะชาวไนจีเรียและกานา ทำให้ต้องใช้เวลาเปิดใจอยู่นาน
ในวันแรก ทุกคนนิ่งเงียบ เกร็ง ประหม่า ไม่ค่อยคุย ไม่ยิ้ม ไม่มีคำถาม ถึงแม้มีก็ไม่กล้าถาม ซึ่งน่าจะเป็นเพราะพวกเขาต้องเผชิญชีวิตที่โหดร้าย และไม่คุ้นเคยกับชีวิตที่ผ่อนคลาย เนื่องจากแถบนี้มีปัญหาสงครามกลางเมืองตลอด
อายาเองก็ยังบอกว่า ผู้คนแถบนี้หย่อนเรื่องวินัยและความรับผิดชอบกว่าผู้คนทางตะวันออก ดูได้จากการนัดออนไลน์และการเข้าร่วมกิจกรรมในวันแรก ที่พวกเขาไม่ค่อยตรงเวลา เสียงดัง ไม่เป็นระเบียบ
สิ่งแวดล้อมที่โหดร้ายหล่อหลอมให้ พวกเขาเคร่งเครียด ยิ้มยาก และอมทุกข์ จิตใจ ที่กระเจิดกระเจิงทำให้พวกเขาไร้ระบบระเบียบ แต่เมื่อได้มาปฏิบัติธรรมอบรมจิตจนเกิด ความสุข พวกเขาก็เปลี่ยนแปลงไปมาก
ในวันสุดท้าย ทีมงานสังเกตได้ว่า พวกเขามีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ร่าเริงเบิกบาน กล้าพูดคุยกับพระอาจารย์ และยังช่วยกันแต่งเพลงอย่างสนุกสนาน แต่ก็สงบเสงี่ยมและอ่อนน้อมที่สำคัญพวกเขาไหว้ทุกครั้งที่เดินผ่านพระ
และไหว้ได้สวยเสียด้วย
อมานามบุจากไนจีเรีย
“ฉันเห็นตัวเองนั่งสมาธิอยู่ภายในตัว”
๕
ผลการปฏิบัติธรรมของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีตั้งแต่รู้สึกโปร่ง เบา สบาย ตัวหาย ตัวขยาย เห็นแสงสว่าง เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว นั่งรอบแรก ๔๐ นาที แต่ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่านั่งไปนานขนาดนี้ หลังจากนั้นพระอาจารย์ก็เพิ่มเวลาขึ้นอีก ซึ่งพวกเขาก็นั่งได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีความกังวลหรือความเครียด และส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ขี้โมโหเหมือนเมื่อก่อน
๖
สำหรับมาดามเคน เธอสนใจเรื่องสมาธิมาก่อน และอยากมาปฏิบัติธรรมที่เมืองไทย ด้วย เธอนั่งสมาธิได้ดี นิ่ง สบาย และมีความสุข เอ่อล้นจนน้ำตาซึม ทำให้เธอมีแรงบันดาลใจ ในการเผยแผ่การทำสมาธิไปสู่ชาวโลกและ คนใกล้เคียง ซึ่งในครั้งนี้เธอก็นิมนต์พระอาจารย์ไปสอนสมาธิที่โรงเรียนของเธอด้วย เพื่อให้ครูและนักเรียนมีโอกาสเข้าถึงความสุขภายในบ้าง
การทำสมาธิที่โรงเรียนของมาดามเคนแบ่งเป็น ๒ รอบ รอบแรกเป็นรอบของเด็กนักเรียน ๘๐ คน นั่งเพียง ๒๐ นาที แม้ห้องที่ใช้ นั่งสมาธิร้อนคล้ายเตาอบ แต่เด็กนั่งกันนิ่งเงียบ และหลายคนไม่เชื่อว่าตัวเองนั่งนิ่ง ๆ ได้นาน ขนาดนั้น
รอบหลังเป็นรอบอาจารย์และเจ้าหน้าที่ ๑๓ คน นั่ง ๔๐ นาที ซึ่งส่วนใหญ่นั่งได้ดี รู้สึกเบาสบาย มีความสุข
นอกจากการนั่งสมาธิแล้ว มาดามเคนยังประทับใจเนื้อหาที่พระอาจารย์เทศน์สอนมากและอยากนำไปใช้ เช่น เรื่อง ๕ ห้องชีวิตเนรมิตนิสัย ความดีสากล ฯลฯ พระอาจารย์จึงมอบ คู่มือวีสตาร์ให้เธอไปปรับใช้ ซึ่งเธอชอบมากและ บอกว่าเห็นลู่ทางในการนำไปใช้แล้ว
๗
แม้ภารกิจนำสันติภาพและสันติสุขไปมอบแก่ชาวแอฟริกันทั่วทั้งทวีปเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักและอาจมีอุปสรรคไม่น้อย แต่เมื่อคำนึงถึงผู้คนนับพันล้านคนที่ไร้ทิศทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต และดำรงชีพอยู่ท่ามกลางความเคร่งเครียดมานานแสนนาน ทีมงานพีซเรฟโวลูชัน ก็ยืนหยัดที่จะนำ know-how แห่งการค้นพบสันติสุขภายในไปมอบให้พวกเขา เพราะอย่างน้อยในช่วงที่สันติภาพภายนอกยังไม่เกิดขึ้น พวกเขาก็ยังมีสันติสุขภายในเป็นเกราะกำบังความทุกข์ที่เผชิญอยู่ในแต่ละวันได้ และที่สำคัญผลการปฏิบัติธรรมของพวกเขา การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นของพวกเขา ทำให้ทีมงานตระหนัก ว่า การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงแอฟริกามีความหวังอันรุ่งโรจน์รออยู่..