หลวงพ่อตอบปัญหา
พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
ปกติดวงตาของมนุษย์มักมองออกไปนอกตัว ทำให้เห็น การกระทำที่ไม่ดีของตัวเองได้ยาก มีหลักธรรมใดทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้นบ้าง?
ANSWER
คำตอบ
มีพระสูตรหนึ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงเรื่อง “ธรรมที่ภิกษุควรพิจารณาเนือง ๆ” จุดประสงค์ก็เพื่อให้รู้จักตนเองอย่างชัดเจน เมื่อรู้จักตนเองชัดเจนแล้ว ก็จะรู้จักมนุษย์ทั้งโลกชัดเจน จะทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนได้ และจะสามารถเป็นที่พึ่งให้ชาวโลกได้
ธรรมที่ภิกษุควรพิจารณาเนือง ๆ นี้ แม้ชาวโลกและสาธุชนทั้งหลายก็ควรพิจารณาอยู่เนือง ๆ เพื่อให้รู้จักตนเองได้ชัดเจน และแก้ไขข้อบกพร่องของตนได้ เป็นที่พึ่งให้แก่ตนเองได้ เพราะตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน
ธรรมะนี้อยู่ในพระสูตรชื่อ “สรีรัฏฐธัมมสูตร” หมายถึง ธรรมประจำสรีระ ๑๐ ประการ เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “ธรรมชาติประจำกาย ๑๐ ประการ”
ธรรมชาติประจำกาย ๑๐ ประการนี้ เราจะต้องนำมาใคร่ครวญ พินิจพิจารณาเนือง ๆ เพราะจะทำให้เรามีความละเอียด ช่างสังเกต เกิดปัญญาลุ่มลึก แล้วจะนำไปสู่การพัฒนาให้เป็นนิสัยใจคอของเราต่อไป
ประการที่ ๑.-๒. มองตนเองจากความหนาว-ความร้อนในร่างกาย
ธรรมชาติประจำกาย ๒ ประการแรกนี้ ความหนาว-ความร้อนที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดา ไม่นำมาพูดกัน แต่ที่หมายถึงนี้คือ เมื่อความหนาวราวไข้ขึ้นเกิดในตัวท่ามกลางแดดร้อนระอุ หรือเกิดความรุ่มร้อนในตัวท่ามกลางอากาศหนาวเย็น นั่นหมายถึงอะไร ถ้าถามแพทย์ก็อาจจะได้ คำตอบระดับหนึ่งว่า คืออาการที่เซลล์ในร่างกายตายลง ในยามปกติเซลล์ในร่างกายตายนาทีละ ๓๐๐ ล้านเซลล์ ถ้าเซลล์ตายลงไปเรื่อย ๆ ไม่มีการแก้ไข ร่างกายก็จะถึงแก่ความตายได้
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมองได้ลึกกว่านั้น ด้วยการตรัสรู้ของพระองค์ พระองค์ทรงมองลึกไปถึงว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ที่ประกอบเป็นกายนั้น เป็นธาตุไม่บริสุทธิ์ ธรรมชาติของสิ่งที่ประกอบขึ้นมาจากธาตุที่ไม่บริสุทธิ์ ย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าเป็นสิ่งมีชีวิต ในที่สุดก็ต้องตาย ถ้าเป็นสิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องแตกสลาย
ความหนาว ความร้อน เป็นสัญญาณเตือนว่า ธาตุ ๔ ในตัวไม่บริสุทธิ์ ตรงนี้ให้ข้อคิดว่า ถ้าธาตุใครไม่บริสุทธิ์มาก เซลล์ก็คงตายมาก ถ้าธาตุไม่บริสุทธิ์น้อย เซลล์ในกายคงตายน้อย เราจึงเห็นมนุษย์แข็งแรงไม่เท่ากัน
ประการที่ ๓.-๔. มองตนเองจากความหิว-ความกระหาย
มนุษย์โดยทั่วไปเมื่อรู้สึกหิวก็กิน รู้สึกกระหายก็ดื่ม แล้วก็ปล่อยผ่านเลยตามเลย ถ้าถามแพทย์ก็อาจจะมองได้ว่า อาการหิวแสดงว่า ร่างกายขาดพลังงาน จึงต้องกินเข้าไป เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานมาชดเชย จะได้เคลื่อนไหว ทำงานได้ ส่วนหนึ่งก็จะได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ส่วนหนึ่งเกิดเป็นพลังงาน อีกส่วนหนึ่งเอาไปสร้างความเจริญเติบโต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมองลึกไปกว่านั้นว่า ธาตุ ๔ แตกสลายไป ต้องหาธาตุ ๔ จากภายนอกเข้ามาเติมเพื่อชดเชย การที่เราหายใจก็เพื่อเติมธาตุลม กินเพื่อเติมธาตุดิน ดื่มเพื่อเติมธาตุน้ำ นุ่งห่มเสื้อผ้าเพื่อเติมธาตุไฟ แต่ธาตุ ๔ ที่นำเข้ามาจากภายนอกนั้นก็เป็นธาตุที่ไม่บริสุทธิ์ แตกสลายได้ ธรรมชาติจึงบังคับให้เราต้องหาธาตุ ๔ จากภายนอกมาเติมตลอดชีวิต
สำหรับธาตุลมนั้นมีอยู่ในอากาศ ธาตุไฟก็ไม่ยากแก่การหา เพราะมีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อยู่แล้ว ที่เป็นภาระหนักก็คือ ความหิวกับความกระหาย ที่จำเป็นต้องหาธาตุดินและธาตุน้ำมาเติม
ประการที่ ๕.-๖. มองตนเองจากความปวดอุจจาระ-ความปวดปัสสาวะ
อุจจาระและปัสสาวะ คือ กากของธาตุ ๔ ไม่บริสุทธิ์ที่ถูกทำลายออกมา หรือที่ใช้ไม่หมด อาการนี้คือความทุกข์ของร่างกายที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่มนุษย์ทั่วไปมักมองข้าม ไม่เฉลียวใจว่านี่คือทุกข์
ประการที่ ๗.-๘. มองตนเองจากความสำรวมกาย-ความสำรวมวาจา
มนุษย์ทั่วไปเมื่ออยู่ร่วมกัน ทำมาหากินด้วยกัน เดี๋ยวก็รักกัน เดี๋ยวก็เกลียดกัน อาการเหล่านี้ เป็นการทำให้เซลล์ในร่างกายลดลง แต่ถ้าสำรวมกายและสำรวมวาจาจะทำให้อัตราการตายของเซลล์ในร่างกายลดลง
สำรวมกาย คือ การไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม อาการสำรวมทั้งหมดจะทำให้เซลล์ตายน้อยลง อาการเหล่านี้อยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๗๗
ศีลช่วยทั้งกลั่นทั้งกรองธาตุ ๔ เครื่องกรองน้ำสามารถกรองฝุ่นผงที่แขวนลอยในน้ำออกได้ฉันใด ศีลก็สามารถกรองกิเลสหยาบออกไปได้ฉันนั้น เหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงสอนให้รักษาศีล ให้ตั้งใจรักษาศีลทั้งวันทั้งคืน เพื่อทำให้ธาตุในตัวบริสุทธิ์ขึ้น
ประการที่ ๙. มองตนเองจากความสำรวมในอาชีพ
การประกอบอาชีพมีที่มาจากการหาธาตุ ๔ จากภายนอกมาเติมร่างกาย การเติมธาตุ ๔ ของมนุษย์นั้นมีความสลับซับซ้อน เมื่อจะเติมธาตุ ๔ ปรากฏว่าต้องไปหาปัจจัย ๔ มา และการไปหาปัจจัย ๔ ต้องไปทำงานจึงจะได้เงินมา จากนั้นจึงนำเงินหรือทรัพย์ใด ๆ มาแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัย ๔ แล้วรับเข้าไปกลายเป็นธาตุ ๔ ในกาย
เส้นทางจากการทำมาหากินจนได้เติมธาตุ ๔ เป็นเส้นทางที่ยาวอย่างนี้ จนมนุษย์ ไม่เฉลียวใจเลยว่า อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของการทำงาน ถ้ามีใครถามว่าทำงานไปเพื่ออะไร ทั่วไปคงตอบกันว่าเพื่อเงิน เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่ยากที่จะมองทะลุไปถึงการเติมธาตุ ๔ เนื่องมาจากความไม่บริสุทธิ์ของธาตุ ๔ ที่เป็นองค์ประกอบของกาย
อันตรายต่อชีวิตมนุษย์เกิดขึ้นมากในขั้นตอนประกอบอาชีพนี้เอง การประกอบอาชีพเป็น การถูกบังคับให้ทำกรรมโดยปริยาย ในการประกอบอาชีพนั้นต่างคนต่างทำงาน แต่งานเป็นกรรม แล้วกรรมมีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ทำดีได้ผลเป็นสุข ทำชั่วได้ผลเป็นทุกข์ และกฎแห่งกรรมมีผลตามติดยาวนานข้ามชาติ
ถ้าสำรวมดี ทำกรรมดี ธาตุ ๔ ในตัวก็จะสะอาด เซลล์ตายน้อยลง เป็นสุข สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี อายุยืน นิสัยก็ดี แล้วยังได้บุญ ได้มิตร เจริญทั้งชาตินี้ ชาติหน้า และชาติต่อ ๆ ไป แต่ถ้าไม่สำรวม ธาตุ ๔ ก็สกปรก เซลล์ตายมาก เป็นทุกข์มาก สุขภาพกายเสื่อม สุขภาพจิตเสื่อม อายุสั้น นิสัยเสีย ได้บาป ได้ศัตรู เสื่อมทั้งชาตินี้ ชาติหน้า และชาติต่อ ๆ ไป ความจริงนี้นำไปสู่ธรรมชาติประจำกายประการต่อไป คือ
ประการที่ ๑๐. มองตนเองจากธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งภพ เป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่
การประกอบอาชีพเป็นเพียงเรื่องของการหาธาตุ ๔ มาเท่านั้น แต่ผลจากการหายังมีอีก ทำให้ไปถึงนรกได้ ไปถึงสวรรค์ได้ เพราะทั้งการหา การเก็บ การใช้ ล้วนต้องสร้างกรรมทั้งสิ้น เมื่อสร้างกรรมก็มีผล ผลทั้งชาตินี้ ชาติหน้า และชาติต่อ ๆ ไป
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นบาปติดตัว เป็นบุญติดตัว กลายเป็นนิสัยดี นิสัยชั่วติดตัวไป ของใครก็ของคนนั้น ซึ่งถ้าใครทำพลาดเป็นบาปติดตัว มีทุกข์ติดตัวมาก นิสัยเลว ๆ ติดมามาก ก็แก้ไขยาก แต่ถึงอย่างไรก็ต้องแก้ ถ้าใครแก้ถูกทางเพราะว่าได้พ่อแม่ดี ครูบาอาจารย์ดี คนนั้นก็รอดตัว
ทำไม ธาตุ ๔ ในตัว จึงไม่บริสุทธิ์?
เหตุตั้งต้นเกิดที่ใจของเราถูกกิเลสซึ่งเป็นธาตุสกปรกเข้าไปบีบคั้น ทำให้ใจทุรนทุราย เมื่อใจทุรนทุรายจึงคิดร้าย ๆ เช่น คิดโลภ อยากได้สิ่งของของคนอื่นในทางที่ไม่ชอบ ในทางที่ผิด คิดโกรธ ล้างผลาญทำลายสิ่งของของคนอื่น แม้สิ่งของของตนด้วย แล้วก็คิดหลง เช่น หลงอิจฉาตาร้อน เป็นต้น พอคิดผิด ๆ เลยพูดผิด พอพูดผิดเลยส่งผลให้ทำผิด ๆ แล้วก็เกิดบาปกรรม
วิธีแก้มีวิธีเดียว คือ ต้องกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป กิเลสอยู่ที่ไหน ก็อยู่ในใจ เพราะฉะนั้นจะกำจัดกิเลส ก็ต้องเห็นใจ เห็นกิเลสให้ได้ จึงกำจัดได้ จะเห็นใจ เห็นกิเลสได้ ต้องทำภาวนาให้มาก ขณะเดียวกันก็สำรวมกาย วาจา ด้วยการรักษาศีลไปด้วย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องนี้ เพื่อให้ชาวโลกได้ทราบความจริงเกี่ยวกับสรีระ แล้วจะได้หาทางเจาะไปถึงต้นเหตุว่า ถ้าจะไม่ให้เดือดร้อนด้วยทุกข์อย่างนี้อีกต่อไป ต้องไปปราบกิเลส ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ได้ ถ้าปราบกิเลสไม่ได้ ทุกข์เหล่านี้ก็แก้ไม่ได้
มนุษย์ทุกคนมีทุกข์ประจำสรีระทั้ง ๑๐ ประการนี้เหมือนกัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ นี้คือ ความเสมอภาค ต่างกันที่ใครจะสามารถกลั่นธาตุในตัวได้บริสุทธิ์ขึ้นไป
เมื่อเรานำธรรมชาติประจำกายทั้ง ๑๐ ประการนี้ มาพิจารณาใคร่ครวญบ่อย ๆ และสังเกตอาการที่เกิดขึ้นในตัว ไม่ว่าความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ก็จะเตือนตัวเองได้ว่า
๑) ธาตุ ๔ ในกายไม่บริสุทธิ์ เรามีหน้าที่ต้องแก้ไขตัวเอง กลั่นธาตุในตัวให้บริสุทธิ์ ด้วยการรักษาศีล ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เมื่อใจเราอิ่มอยู่ในบุญอย่างนี้ ถึงธรรมะภายในตัวเราจะยังไม่ชัด แต่ว่าเราสามารถปิดหนทางสู่นรกและเปิดหนทางสู่สวรรค์ให้ตนเองได้
๒) มนุษย์ทั่วไปมักมีเวลาทำภาวนาน้อย เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพตน ครอบครัว ถ้าจะให้มีเวลาทำภาวนามาก จะได้ปราบกิเลสง่าย มีทางเดียวคือ “ออกบวช” ซึ่งเป็นโอกาสที่จะนำความรู้ไปเปลี่ยนเป็นนิสัย เป็นคุณธรรมประจำใจ ด้วยสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ที่เกื้อหนุน เมื่อทำชำนาญแล้ว ก็กลายเป็นปกติเหมือนกับลมหายใจเข้าออกของเรา
๓) ชีวิตของพระภิกษุ ขอบิณฑบาตอาหารจากชาวบ้านไปมื้อ ๆ หนึ่ง การบิณฑบาตนั้น ไม่ได้ไปรบกวนใคร ข้าวแต่ละคำ น้ำแต่ละอึก นมแต่ละอึก ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ได้มาแล้วพลังงานที่เกิดขึ้นในตัวก็เอาไปใช้ในการทำความเข้าใจถูกในธรรมชาติของสรีระ แล้วจะได้ไม่หลงใหลในธรรมชาติ จะได้ตั้งใจละชั่ว ทำดี กลั่นกาย วาจา ใจให้ใส กลั่นธาตุในตัวให้บริสุทธิ์ เมื่อเห็นความบริสุทธิ์ในตัว และเห็นความสามารถที่จะช่วยชาวโลกให้บริสุทธิ์ตามมา พระภิกษุท่านก็มีชีวิตอยู่ด้วยความสุข ตายแล้วก็มั่นใจว่าไปสวรรค์ ไม่ตกนรก เปิดหนทางพระนิพพานให้แก่ตนได้สำเร็จ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ วิธีดูตนเองให้ชัดเจนด้วยการ “มองเข้าไปในตน” นั่นเอง..