วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ อาสาฬหบูชา สู่เข้าพรรษา พาเข้าถึงธรรม

บทความบุญ
เรื่อง : จันทร์ซีโร่

 

 

 

อาสาฬหบูชา สู่เข้าพรรษา 

 

พาเข้าถึงธรรม

 

 

    วิถีชีวิตคนไทยก็คือวิถีชีวิตของชาวพุทธ เพราะประเพณีวัฒนธรรมไทยล้วนมาจากนิสัยและการปฏิบัติที่ผูกพันกับพระพุทธศาสนา   เมื่อถึงวันสำคัญในเทศกาลต่าง ๆ จะเห็นความพร้อมเพรียงทั้งชาวบ้าน ชาววัด ตลอดจนพระภิกษุสงฆ์ร่วมกันประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ อันแสดงออกถึงความยึดมั่นศรัทธาในพระธรรมคำสอน ในเทศกาลเข้าพรรษาก็เช่นกัน ชาวพุทธทั้งภายในประเทศและทั่วโลกต่างพร้อมใจกันประพฤติปฏิบัติธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ถือเป็นประเพณีสืบทอดมาจากอดีตถึงปัจจุบัน และจักสืบสานให้ยืนยาวนานต่อไปสู่อนาคต

 

 

อาสาฬหบูชา วันเกิดพระสงฆ์ครบองค์พระรัตนตรัย

 

    วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะหรือเดือน ๘ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ วันนี้ถือเป็นวันสำคัญเนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี โดยแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร      เป็นผลให้ท่านโกณฑัญญะบรรลุธรรมเป็น   พระโสดาบันองค์แรก หลังจากบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านก็กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ก็ประทานการอุปสมบทแบบ   เอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นพระสงฆ์สาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา ถือได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นวันแรกที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย  

 

 

เข้าพรรษา วาระสำคัญ
    

     หลังวันอาสาฬหบูชา คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘  เป็น วันเข้าพรรษา ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ความสำคัญของวันนี้ก็คือ เป็นวันที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่     ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ ตลอดช่วงฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา     ๓ เดือน คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น (ยกเว้นในคราวจำเป็นจริง ๆ อนุญาตให้ไปด้วย “สัตตาหกรณียะ”    คือ กิจที่ไปทำแล้วกลับมาให้ทันภายใน ๗ วัน) 

 

    ในวันเข้าพรรษา นอกจากประเพณีสำคัญที่ปฏิบัติกันมาคือ ประเพณีหล่อเทียนและถวายเทียนพรรษา ซึ่งเป็นการทำทานด้วยแสงสว่างแล้ว สาธุชนทั้งหลายก็จักบำเพ็ญ บุญกิริยาวัตถุให้ถึงพร้อม ทั้งการทำทาน รักษาศีล และทำสมาธิภาวนา 


     นอกจากนี้ ในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี ตามวัดวาอารามต่าง ๆ จะมีกุลบุตรผู้มีจิตศรัทธาอันสูงส่ง บรรพชาอุปสมบทอยู่จำพรรษาเพื่อศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม สำหรับที่วัดพระธรรมกายและวัดสาขา ตลอดจนศูนย์อบรมพระธรรมทายาททั่วประเทศ ก็มีการจัดบรรพชาอุปสมบทและมีผู้สมัครเข้ามาบวช เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าพระภิกษุเหล่านี้ หลังจากออกพรรษาแล้ว จะได้รับกฐินและออกเดินธุดงค์ประกาศพระพุทธศาสนาให้เป็นที่อนุโมทนาสาธุการของมหาชนต่อไป 

 

 
หน้าที่ของเรา หน้าที่ชาวพุทธ 

    
    เมื่อถึงเทศกาลที่สำคัญนี้ เราทั้งหลายที่เป็นชาวพุทธควรถือเป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่งที่จะพึงประพฤติปฏิบัติด้วยการบูชาทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา โดยเฉพาะการปฏิบัติบูชานั้น ควรปฏิบัติตนตามหลักธรรมในธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติสายกลาง คือ อริยมรรค ๘ ปฏิบัติตนให้สมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา 

 

 

    ส่วนพระภิกษุสงฆ์นั้น มักจะตั้งจิตอธิษฐานว่า จักจำพรรษาทั้งภายนอกและภายใน ภายนอก คือในเขตอาราม ส่วนภายใน คือ  รักษาใจให้สงบไว้ในกลางกาย และเมื่อพระภิกษุกระทำเช่นนี้ เหล่าสาธุชนทั้งหลายก็จักประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อให้พรรษานี้และ      ทุกพรรษานำพาสู่ที่สุดแห่งธรรม..

 

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล