อานิสงส์แห่งบุญ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
อานิสงส์การให้ทาน
เพื่อขจัดความตระหนี่
“สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงต้องตาย
เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด
สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม
เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป
คือ ผู้ทำบาปจักไปสู่นรก
ส่วนผู้ทำบุญจักไปสู่สุคติ เพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกุศลกรรมอันจะนำไปสู่สุคติในสัมปรายภพ บุญย่อมเป็นที่พึ่ง
ของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก”
(อัยยิกาสูตร)
การจะใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าโดยไม่ให้พลาดพลั้งไปทำบาปอกุศล แต่ให้ใจแช่อิ่ม อยู่กับความดี ให้ใจบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่ในบุญล้วน ๆ เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะใจของชาวโลกไม่ค่อยคุ้นกับความดี ส่วนใหญ่จะไหลไปตามกระแสกิเลส เหมือนน้ำย่อมไหลจาก ที่สูงลงสู่ที่ต่ำ การจะเอาชนะกิเลสในตัวได้นั้นต้องอาศัยกำลังใจสูง จึงจะสามารถสวนกระแสกิเลส หากเรามีใจที่สูงส่งตั้งแต่เป็นมนุษย์ ยามละโลกไป บุญจะหนุนนำใจให้สูงขึ้นด้วยรูปกายใหม่ เป็นกายทิพย์ที่สวยงามละเอียดประณีตตามคุณภาพของใจ ความสะอาดบริสุทธิ์ของใจจะส่งผลให้มีภพภูมิที่ละเอียด ยิ่งขึ้นมารองรับ
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะเข้าใจและรู้เรื่องเหล่านี้ เพราะจะต้องมีสัมมาทิฐิเป็นพื้นฐาน ได้โอกาสพบกับบัณฑิตนักปราชญ์ อยู่ในถิ่นที่เหมาะสมต่อการสร้างบารมี มีครูอาจารย์ที่เป็นยอดกัลยาณมิตรคอยแนะนำเส้นทางที่ถูกต้อง จึงจะเข้าใจเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ อย่างถ่องแท้ เมื่อเข้าใจก็จะเกิดศรัทธาอยากทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ซึ่งเป็นทางมา แห่งบุญที่เป็นต้นทางไปสู่สวรรค์ การทำบุญนั้น หากทำถูกเนื้อนาบุญ เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะส่งผลยิ่งใหญ่เกินควรเกินคาด ดังเรื่องราว ต่อไปนี้
ในสมัยพุทธกาล ชาวบ้านคนหนึ่งในกรุงสาวัตถีมีโอกาสฟังธรรมจากพระสัมมาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายครั้ง จึงเลิกนับถือลัทธิพราหมณ์ซึ่งเป็นความเชื่อเดิม แล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนา เขาเป็นอุบาสกผู้รักษาศีล ยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต วันหนึ่ง หลังจากอุบาสกไปอาบน้ำที่แม่น้ำ อจิรวดีเสร็จแล้ว ระหว่างเดินทางกลับบ้าน เขาได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี จึงรีบเข้าไปถวายบังคม พลางกราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ทรงรับนิมนต์ใครแล้วหรือยัง พระเจ้าข้า”
เมื่อได้รับคำตอบว่ายังไม่มีใครนิมนต์ เขารีบกราบทูลต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอทรงอนุเคราะห์รับภัตตาหารของข้าพระองค์ด้วยเถิด” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ อุบาสกดีใจมากที่จะได้ทำบุญใหญ่ เขารีบเดินนำหน้า เมื่อถึงบ้านก็รีบจัดแจงปูลาดอาสนะ แล้วนิมนต์ให้ประทับบนอาสนะ จากนั้นจึงถวายภัตตาหารอันประณีต ครั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว จึงทรงกล่าวอนุโมทนาว่า
คนในโลกนี้ให้ทานด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ
(๑) บางคนให้ทานเพราะหวังอยากได้ เช่น อยากประสบความสำเร็จในชีวิต หรือ พรั่งพร้อมด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
(๒) บางคนให้ทานเพราะความกลัว เช่น กลัวลำบาก กลัวความยากจน ถ้าไม่ ทำทานกลัวว่าเกิดมาภพชาติต่อไปจะเป็น คนยากจนอนาถา
(๓) บางคนให้ทานเพราะคิดว่า เขาเคยให้เรามาก่อน เราควรจะให้ตอบ การให้ทานอย่างนี้เป็นการตอบแทนคุณ เป็นการเกื้อกูลกัน ถือว่าเป็นคนกตัญญูกตเวที แม้เขาไม่เคยขอของใด ๆ คืน แต่เพราะเห็นความดีที่เขาเคยทำให้ จึงตอบแทนคุณ
(๔) บางคนให้ทานเพราะคิดว่า เขาจะให้เราตอบแทน เป็นลักษณะการทำบุญเพื่อจะได้ทวงคุณ ซึ่งถือว่ายังไม่เข้าใจคุณค่าของการให้ทานอย่างแท้จริง
(๕) บางคนให้ทานเพราะคิดว่า ทานเป็นความดี เป็นประโยชน์ใหญ่ทั้งต่อผู้ให้และผู้รับ โลกดำรงอยู่ได้ด้วยการให้ การให้เป็น ทางมาแห่งทรัพย์สมบัติ ทั้งที่เป็นของมนุษย์และของทิพย์ และยังอำนวยผลให้สามารถปฏิบัติธรรมได้สะดวก บรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้อย่างง่ายดาย จึงให้ทานด้วยใจที่ผ่องใส
(๖) บางคนให้ทานเพราะคิดว่า เรา หุงหากินได้ แต่คนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ การ ไม่ให้คนเหล่านี้เป็นสิ่งไม่ควร หมายความว่า หากเห็นยาจกวณิพกพเนจรมาขอทานที่บ้าน ก็จัดแจงหาอาหารมาแจกจ่ายโดยไม่รู้สึกตระหนี่หรือหวงแหน เป็นการให้ด้วยจิตเมตตาอนุเคราะห์และสงสาร อีกประการหนึ่ง เมื่อทานบดีเห็นพระบิณฑบาตผ่านหน้าบ้าน ก็ถวายทานกับท่านด้วยจิตเลื่อมใส รู้ว่า ท่านมาโปรด เอาบุญมาให้ รู้ว่าท่านไม่สะดวกในการทำงานหรือประกอบอาหารเลี้ยงชีพ เพราะต้องเอาเวลาไปศึกษาธรรมะหรือบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง จึงจัดแจงหาอาหารมาถวายด้วยความศรัทธาเลื่อมใส
(๗) บางคนให้ทานเพราะคิดว่า กิตติศัพท์อันดีงามย่อมขจรขจายไป ใครได้ยินข่าวก็จะได้สั่งสมบุญตามไปด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมือนกัน เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก กิตติศัพท์อันดีงามย่อมขจรขจายออกไป
(๘) บางคนให้ทานเพื่อยกระดับจิตใจให้ดีงาม มีคุณภาพสูงขึ้น มุ่งเพื่อขจัดความตระหนี่ออกไปจากใจ ขจัดความโลภที่ฝังแน่นอยู่ในใจมายาวนาน
เมื่ออุบาสกเข้าใจเหตุผลของการให้ทานแล้ว จึงตั้งใจว่าจะทำทานตามหลักเหตุผลข้อสุดท้าย คือ ทำทานเพื่อยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น เพื่อขจัดความตระหนี่ออกจากใจ โดยเขาได้หาโอกาสทำทาน รักษาศีล และไปฟังธรรมที่วัดเป็นประจำสม่ำเสมอ ครั้นละโลกแล้วก็ ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานแก้วมณีสูง ๑๒ โยชน์ มีห้องรโหฐานใหญ่โตโอฬาร ๗๐๐ ห้อง มีเสาแก้วไพฑูรย์ ลาดด้วยเครื่องลาด ที่น่าปลื้มใจ นั่งดื่มกินสุธาโภชน์ และเสวย ทิพยสมบัติในมณีวิมานหลังนั้นอย่างมีความสุข มีพิณทิพย์บรรเลงไพเราะ เทพนารีที่เป็นบริวารล้วนแต่งองค์ด้วยอาภรณ์สีทอง ฟ้อนรำขับร้องกล่อมให้เทพบุตรรื่นรมย์ด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ อีกทั้งวิมานของท่านก็สว่างไสวไปทั่ว ทุกทิศ
เทพบุตรนึกถึงบุญที่ได้ทำไว้ในอดีต จึงเกิดความปลื้มปีติในบุญ ได้เปล่งอุทานว่า “บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงกระทำบุญทั้งหลายใน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เสด็จไปแล้วโดยชอบ ซึ่งเป็นบุญเขตที่ถวายทานแล้วมีผลมาก ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จจากป่ามาสู่บ้านเพื่อประโยชน์แก่เราหนอ จึงได้เข้าถึงพิภพดาวดึงส์ เพราะบุญนั้นวรรณะของข้าพเจ้าจึงเป็นเช่นนี้ เพราะบุญนั้นทิพย-สมบัติจึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้า อีกทั้งวรรณะของข้าพเจ้าก็สว่างไสวไปทุกทิศ”
นี้เป็นหลักวิชาที่ช่วยในการตัดสินใจ ทำทานของพวกเราว่า หากจะทำบุญทั้งที ควรทำอย่างไรถึงจะได้บุญมากที่สุดสมกับที่ หาทรัพย์มาด้วยความเหนื่อยยากลำบาก ทรัพย์นั้นจะได้เกิดประโยชน์ใหญ่ติดตามตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ ไม่ใช่เพียงทำตามอารมณ์ ทำเพราะอยากเด่นอยากดัง อยากมีชื่อเสียง หรืออยากให้คนยอมรับนับถือ ซึ่งยังไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการให้
การจะทำความดีใด ๆ ต้องศึกษา หลักวิชาให้ดี ถ้าไม่รู้หลักจะได้ผลไม่เต็มที่ และต้องมีเป้าหมายการให้ทานที่ชัดเจน คือ เป็นไปเพื่อการบรรลุมรรค ผล นิพพาน พวกเราโชคดีที่ได้รู้หลักคำสอนจากพระบรมศาสดาแล้ว ก็ทำให้ถูกหลักการให้ ทำทานทั้งทีก็ควรนึกถึงหลักการให้ทั้ง ๘ ประการนี้ ทุกข้อดีทั้งนั้น แต่ดีที่สุด คือ ต้องให้เพื่อยกระดับจิตใจของเรา ให้สูงขึ้น เพื่อขจัดความตระหนี่ออกไปจากใจ ขจัดความโลภ ซึ่งจะเป็นทางไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏอย่างแท้จริง
“ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว สัตว์ทั้งหลายพึงกำจัดความตระหนี่ อันเป็นมลทิน มีใจผ่องใส พึงให้ทาน ทายกเป็นอันมากครั้นให้ทักษิณาทาน คือ ข้าว ในทักขิไณยบุคคลผู้ควรแก่ของที่มาสักการบูชาทั้งหลายแล้ว จุติจากความเป็นมนุษย์ย่อมไปสู่สวรรค์” (ทานสูตร)