วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ บวชเณรแล้วได้อะไร? มองโครงการบรรพชาสามเณร ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทยผ่านใจหัวหน้าศูนย์ฯ

เรื่องน่ารู้
เรื่อง : กองบรรณาธิการ


บวชเณรแล้วได้อะไร?
มองโครงการบรรพชาสามเณร
ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทยผ่านใจหัวหน้าศูนย์ฯ

 

    หลังจากโครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๗-๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ สิ้นสุดลง สำนักเผยแผ่ วัดพระธรรมกายผู้รับผิดชอบโครงการ จัดปฏิบัติธรรมหัวหน้าศูนย์บรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทยขึ้นที่เวิล์ดพีซวัลเล่ย์ ๒ เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๔-๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ทั้งนี้เพื่อให้หัวหน้าศูนย์ฯ ได้ปฏิบัติธรรมและสรุปงานจากโครงการที่ผ่านมา จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขและใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานครั้งต่อไป 


    ในโอกาสนี้ (๙ พ.ค. ๕๘) พระอาจารย์หัวหน้าศูนย์ฯ ๓ รูป เป็นผู้แทนนำเสนอ      ผลการอบรมสามเณรในโครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย โดยมีพระอาจารย์หัวหน้าศูนย์ฯ จากทั่วประเทศร่วมรับฟังประมาณ ๔๒๐ รูป และมีพระเดชพระคุณพระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นประธานในงาน

 


พระชาติชาญ คุณผโล 
หัวหน้าศูนย์วัดใหม่ท่าโพธิ์ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี 


    ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการมีมากมายหลายประการ เริ่มจากตัวสามเณรจะได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา และจะได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่า พระพุทธศาสนามีประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมอย่างไร สมัยนี้คนไทยส่วนมากที่นับถือพระพุทธศาสนาไม่เข้าใจว่า การเป็นชาวพุทธที่แท้จริงต้องรู้จักทำทาน รักษาศีลและทำสมาธิเจริญภาวนา พอได้มาอบรมในโครงการ สามเณรจึงได้รู้จักวัด รู้จักพระ รู้จักพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง และเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา 


    ที่ผ่าน ๆ มา สามเณรอาจจะเห็นว่า วัดเป็นที่จัดตลาดนัดบ้าง เป็นที่อบรม อบต. บ้าง เป็นที่ไปยืมโต๊ะเก้าอี้บ้าง ไม่รู้ว่าวัดเป็นสถานที่แนะนำสั่งสอน ฝึกฝนอบรมผู้คน     พระในวัดมีหน้าที่แนะนำสั่งสอน ฝึกฝนอบรม สร้างคน พระไม่ได้แค่ออกบิณฑบาต      แล้วรับกิจนิมนต์เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่สั่งสอนญาติโยมที่ยังไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาด้วย 


    พอสามเณรรู้จักพระพุทธศาสนา รู้จักวัด รู้จักพระแล้ว ก็จะรู้ว่า ศาสนามีคุณค่า และธรรมะไม่ได้น่าเบื่อ เพราะในโครงการเรานำธรรมะลงไปสู่การปฏิบัติ เช่น ให้สามเณรปฏิบัติความดีสากลผ่าน ๕ ห้องชีวิตเนรมิตนิสัย ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน 


    เริ่มจาก ห้องนอนหรือห้องมหาสิริมงคล เราฝึกสามเณรให้มีความเคารพในพระรัตนตรัย ให้นั่งสมาธิก่อนนอน ให้ทบทวนบัญชีบุญ-บาป กลับบ้านไปก็ให้กราบพ่อแม่ก่อนนอน เป็นการปลูกฝังความกตัญญูกตเวที ห้องน้ำหรือห้องมหาพิจารณา เราฝึกให้สามเณรรู้จักทำความสะอาดห้องน้ำจนคุ้นเคยเป็นนิสัยติดตัวไปถึงบ้าน เมื่อพ่อแม่              ผู้ปกครอง เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ก็จะเกิดความรักและศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ห้องอาหารหรือห้องมหาประมาณ ฝึกให้สามเณรรู้ประมาณในการขบฉันภัตตาหารที่ญาติโยมนำมาถวายด้วยความยากลำบาก เป็นการฝึกให้เป็นคนมีน้ำใจ รู้จักเห็นใจผู้อื่น และให้ระลึกอยู่เสมอว่า เราฉันภัตตาหารเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ จะได้นำเรี่ยวแรงไปทำความดี ห้องแต่งตัวหรือห้องมหาสติ สอนวิธีรักษาความสะอาดและการนุ่งห่มสบงจีวรให้สุภาพเรียบร้อย ห้องทำงานหรือห้องมหาสมบัติ สอนให้รู้จักทำความสะอาดห้องทำงาน     จัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นต้น

 


    นอกจากนี้ สามเณรยังได้ฝึกการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นคณะ รู้จักการทำงานเป็นทีม รู้จักการเสียสละ มีจิตอาสา มีน้ำใจ เช่น ช่วยกันล้างจาน ช่วยกันทำความสะอาดที่พัก ช่วยกันห่มจีวร ซึ่งในการฝึกนั้น เราฝึกผ่านระบบหมู่ โดยสามเณรทุกรูปในแต่ละหมู่       มีตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบ และมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่กัน เพื่อให้แต่ละรูปได้เรียนรู้หน้าที่ของแต่ละตำแหน่งว่าทำอะไรบ้าง ซึ่งถือเป็นการฝึกความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีด้วย เพราะในอนาคตสามเณรเหล่านี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะต้องไปอยู่ในสังคม จะต้องพบเจอการกระทบกระทั่งกับผู้คน หากเราฝึกให้เขารู้จักการอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก เขาก็จะสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น และไม่ก่อปัญหาให้ผู้อื่น      เหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่สามเณรได้รับจากการอบรมที่ผ่านมา


    สำหรับพ่อแม่และผู้ปกครองนั้น ส่วนมากเมื่อมาเห็นพิธีกรรมที่เราจัดขึ้นก็รู้สึกปลื้มใจมาก พวกเขาปลื้มพิธีกรรมเป็นอันดับแรกเลย เวลาเขามาเยี่ยมสามเณรที่ศูนย์ เขาก็มีศรัทธานำไทยธรรมมาถวาย เราก็ให้เขารับศีล ก่อนที่จะรับพรก็ให้เขานั่งหลับตาระลึกนึกถึงบุญที่ได้มาถวายภัตตาหาร และให้น้อมนำภัตตาหารไปอยู่ที่กลางท้องตามหลักวิชา รู้สึกว่าเขาปลื้ม อยากมาทำบุญอีก และเมื่อเขามาทำบุญ เขาจะได้ทำครบทั้ง ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งคุณภาพของบุญจะมากกว่าแค่ทำทานอย่างเดียว แล้วเขาจะเห็นคุณค่าของศาสนามากขึ้น ที่สำคัญ เมื่อลูกเขากลับบ้านไป และเขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของลูก ๆ เขาจะอยากให้ลูกของเขามาบวชอีก และจะแนะนำให้คนอื่นส่งลูกมาบวชด้วย

 


พระเตียง ติกฺขวิชฺโช
หัวหน้าศูนย์วัดหนองไผ่แก้ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี


    สิ่งที่ครูได้รับจากการอบรมก็คือ ได้เด็กที่มีความสะอาด มีระเบียบ และมีวินัยมากขึ้นกลับไป นอกจากนี้พวกเขายัง     รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการช่วยงานโรงเรียน ซึ่งพวกเขาสามารถช่วยได้มาก เพราะเขารู้จักการทำความสะอาดที่ถูกต้องตามหลักความดีสากลที่เราฝึกให้ 


    เดิมเด็กพวกนี้หลายคนเป็นเด็กแสบ เรียนไม่ดี ติด ร. ติดศูนย์ เมื่อครูส่งเขาเข้ามาอยู่ในโครงการอบรมของเราแล้ว เขาก็ได้ฝึกความดีสากลผ่าน ๕ ห้องชีวิตเนรมิตนิสัย ทำให้หลายคนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้ครูรู้สึกภาคภูมิใจมาก 


    ที่ผ่านมา แม้ครูจะมีความเมตตากรุณาในการอบรมสั่งสอนศิษย์ทุกคนให้เป็นคนดี แต่มีเด็กบางกลุ่มที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ดีขึ้นได้ ยังคงมีความประพฤติที่เกเร ก้าวร้าว แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการบรรพชาในครั้งนี้ หลาย ๆ คนมีพฤติกรรม     ดีขึ้น เพราะตลอดโครงการเราได้ปลูกฝังคุณธรรมให้เขา โดยให้ปฏิบัติความดีสากล คือ ความสะอาด มีระเบียบ สุภาพ ตรงต่อเวลา และมีใจเป็นสมาธิ ผ่านทาง ๕ ห้องชีวิต โดยอบรมไปพร้อม ๆ กับเพื่อนสามเณรทั้งหมด ทำให้เขามีความสุขในการอยู่ร่วมกัน และกล้าที่จะทำความดี กล้าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น


    สำหรับวัดที่เราไปจัดอบรมนั้น ส่วนใหญ่ขณะที่เรายังไม่ได้เข้าไป บรรยากาศในวัดก็เงียบ ๆ มีคนเข้าวัดประมาณวันละ ๕-๑๐ คน แต่เมื่อมีการอบรมสามเณรภาคฤดูร้อน ทางวัดก็มีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนามากขึ้น ญาติโยมที่มาเห็นพิธีกรรม เช่น พิธี        ตัดปอยผม พิธีขอขมา พิธีถวายบาตร ก็รู้สึกประทับใจมากและเกิดความศรัทธา ซึ่งเป็นสิ่งที่หัวหน้าศูนย์ฯ ทุกรูปภาคภูมิใจ เจ้าอาวาสก็ชมว่า พิธีกรรมของวัดพระธรรมกาย
จัดได้ศักดิ์สิทธิ์มาก ทำให้มีคนศรัทธาพระพุทธศาสนามากขึ้น มีคนเข้าวัดเพิ่มขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่ทางวัดนั้น ๆ ได้รับ


    สำหรับเจ้าอาวาสก็มีกำลังใจในการพัฒนาวัดให้มีประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะในช่วงที่เราเข้าไปจัดอบรมนั้น หลายวัดอาจจะยังไม่ค่อยเป็นระเบียบ เราก็ไปกราบขออนุญาตจัดให้เป็นระเบียบมากขึ้น สิ่งไหนดีเราก็กราบเรียนนำเสนอ ประโยชน์ก็ตกอยู่กับวัดของท่าน ทำให้ท่านมีกำลังใจในการเผยแผ่พระพุทธศาสนายิ่งขึ้น นอกจากนี้ท่านยังได้สามเณรซึ่งเป็นหน่อเนื้อพระพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งอยู่ต่อกับท่านอีก คือ สามเณรบางรูปที่ยังไม่พร้อมจะเข้ามาเรียนที่วัดพระธรรมกาย ยังอยากอยู่ในพื้นที่ เจ้าอาวาสวัดนั้นก็ได้กำลังพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น มีสมาชิกช่วยกันดูแลทำความสะอาดและพัฒนาวัดวาอารามของท่านเพิ่มขึ้น อันนี้ก็เป็นผลประโยชน์ที่ท่านเจ้าอาวาสแต่ละวัดจะได้รับ


    นอกจากนี้ โครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทยยังเปิดโอกาสให้ ๓ สถาบันที่สำคัญ คือ บ้าน วัด และโรงเรียน ได้มาทำกิจกรรมบุญร่วมกัน เพื่อเชื่อมโยงและหล่อหลอมความสัมพันธ์ให้เป็นหนึ่งเดียว เช่น ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และนักเรียน มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรตลอดโครงการอบรม รวมทั้งให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ด้วย 

 


พระสมชาย กิตฺติชโว
หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติธรรมเย็นฤดี อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี


    สำหรับชุมชน สิ่งแรกที่ได้รับจากการอบรมสามเณรก็คือ ความสามัคคีของครอบครัว ครอบครัวไหนส่งลูกมาบวช       พ่อบ้านที่ไม่เคยเข้าวัดก็ต้องเข้าเพราะความรักลูก และเมื่อได้เห็นการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ก็เกิดความปลื้มปีติ เกิดมีใจ        ที่อยากจะมาดูแลวัดวาอาราม และความรักความสามัคคีในครอบครัวก็มากขึ้น


    สำหรับผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ซึ่งมีตั้งแต่ อบต. อสม.ชายหญิง แม่บ้าน รวมไปจนถึงนายอำเภอ เมื่อมาเห็นกิจกรรม มาเห็นการรวมตัวของหมู่คณะที่เต็มไปด้วยความเป็นระเบียบ ความสุภาพ ความสงบ และความตรงต่อเวลา ก็เกิดความปลื้มปีติ เกิดความศรัทธา ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นแก่หมู่บ้าน แก่ชุมชนนั้น  ๆ และเนื่องจากขณะทำพิธีกรรม เราสอดแทรกธรรมะเข้าไปด้วย ผู้นำหมู่บ้านและผู้นำ     ชุมชนที่มานั่งรวมกันก็ได้ฟังธรรมะจากการสอดแทรกของพิธีกรในระหว่างที่จัดงาน เมื่อบรรยากาศให้ สภาพแวดล้อมให้ ธรรมะที่ได้ฟังก็จะแทรกซึมเข้าไปในใจของบุคคล       เหล่านี้ที่มารวมตัวกัน ความปลื้มปีติก็จะเกิดขึ้น แรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้น เป็นการสร้างกระแสการทำความดีในชุมชนด้วยพิธีกรรมที่เราจัดขึ้น 


    การที่เราได้ประกอบพิธีบรรพชาสามเณรขึ้น และอบรมบ่มเพาะสามเณรด้วยคำสอนในพระพุทธศาสนา สอดแทรกธรรมะในช่วงนั่งสมาธิ เป็นการเสริมสิ่งที่ขาดไปให้เขา แม้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เมื่อเขาได้รับแล้ว เขาจะซึมซับสิ่งที่เราสอนเข้าไปในใจ ต่อไปสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือ เด็กจะมีความรักและหวงแหนพระพุทธศาสนา ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นกับเด็กซึ่งเป็นหัวใจหลักของประเทศชาติ เป็นต้นกล้าที่จะเจริญเติบโตขึ้นไปเป็นกำลังของประเทศในอนาคต

 


    การจัดโครงการอบรมสามเณรในครั้งนี้ สิ่งที่เป็นกำลังใจแก่คณะสงฆ์และทีมงานเป็นอย่างมากก็คือ ความมีน้ำใจของเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ในพื้นที่ ซึ่งเมตตาให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแก่ทีมงานเป็นอย่างมาก เพราะท่านมีความมั่นใจและประทับใจ         ในผลงานของหมู่คณะและทีมงานในโครงการที่ผ่าน ๆ มา ในเรื่องการรักษาความสะอาด รักษาสถานที่ เสนาสนะภายในวัดของท่าน เมื่อท่านเข้าใจและสนับสนุน ก็ทำให้สาธุชนที่มาวัดนั้นศรัทธาโครงการและทีมงานไปด้วย ทำให้การทำงานพระพุทธศาสนามีความก้าวหน้าไปพร้อมกับความเลื่อมใสศรัทธาของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป


    สุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ บุคลิกของสามเณรมีจุดเด่น คือ ความน่ารักน่าเอ็นดูของเด็ก เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจญาติโยมซึ่งเดิมมีความรักความศรัทธาในพระพุทธศาสนา       อยู่แล้ว เมื่อเห็นสามเณรน้อย ๆ เดินเรียงกันตามลำดับอย่างสวยงาม ความศรัทธาก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นการที่สามเณรตัวเล็ก ๆ เดินบิณฑบาตจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่สามารถปิดนรกและเปิดสวรรค์แก่คนในชุมชนได้ และจากที่เคยพาสามเณรไปเดินบิณฑบาตตามตลาด สิ่งที่เห็นเด่นชัดก็คือ อาหารบิณฑบาตล้นบาตรเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าคนไทยเรายังขาดเนื้อนาบุญ ขาดสิ่งที่จะทำให้เขาใจเปิด ขาดกิจกรรมที่ต่อเนื่อง ฉะนั้นสิ่งที่เราทำมีผลมาก เป็นสิ่งที่ประมาณค่าไม่ได้ ขอให้สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกท่านมีกำลังใจที่จะทำงานพระศาสนาต่อไป 

 

พระเดชพระคุณพระราชภาวนาจารย์ 
(หลวงพ่อทัตตชีโว)
รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย


    หลังจากพระอาจารย์ทั้ง ๓ รูป นำเสนอผลการอบรมสามเณรแล้ว พระเดชพระคุณพระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) เมตตาให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างบารมีและการอบรมสามเณรในครั้งต่อ ๆ ไป ดังนี้ ...


    พวกเราเวลาทำงานมักนึกถึงเฉพาะหน้างาน คือนึกแค่จะเอาสามเณรมาบวช ที่จะนึกเลยไปว่าบวชครั้งนี้ข้าพเจ้าจะได้อะไรไม่ค่อยมี ตรงนี้ต้องชัด ข้าพเจ้าจะได้อะไรจากการทำงานครั้งนี้ คำว่าได้อะไรไม่ได้หมายความว่าได้เป็นเงินเป็นทอง แต่หมายถึง ข้าพเจ้าจะได้แก้ไขตัวเองอย่างไร และจะแก้อะไรบ้าง หรืองานครั้งนี้สะท้อนให้เห็นอะไรในตัวเองบ้าง จะได้ปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป


    คุณยายอาจารย์ฯ สอนหลวงพ่อว่า เวลาทำงานอะไรจะต้องใช้เวลาและต้องออกแรงทั้งนั้น แต่เวลาในชีวิตของเรามีจำกัดมาก ในเมื่อเวลามีจำกัดก็ขอให้ใช้ให้คุ้ม แล้วการทำงานอะไรก็ตาม ที่ไม่ต้องออกแรงและไม่ต้องใช้งบประมาณไม่มี ต้องลงทุนทั้งสิ้น      ลงทุนด้วยเวลา แรงงาน และเงิน แล้วยังต้องไปตามใครต่อใครมาช่วยอีก

 


    ในเมื่อเสียเวลา เสียแรง และเสียทรัพย์ไปขนาดนี้ ถ้าสิ่งที่ได้ในการทำงานครั้งนี้ไม่ออกมาเป็นบุญบารมีที่เพิ่มขึ้น แล้วเราจะได้อะไร ถ้าเรามองไม่ออกว่า การทำงานเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นความรู้ความสามารถของเรา สะท้อนความประณีต ความช่างสังเกต สะท้อนให้เห็นความหยาบ ความมักง่ายของเรา ถ้าเราไม่เห็นมุมสะท้อนตรงนี้ เราจะไม่ได้พัฒนาแก้ไขตัวเราเลย


    เวลาทำงานเราจะรู้ว่า เพราะเราหยาบเกินไปจึงมีข้อบกพร่องตรงนี้ เราจะต้องแก้ เพราะเราละเอียดเรื่องนี้จึงไม่มีการกระทบกระทั่งจุดนั้น ๆ เราจะต้องละเอียดเรื่องนี้ยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราทำงานไปแล้วและได้สะท้อนให้เห็นตัวของเราชัดขึ้นมากเท่าไร นั่นคือการสร้างบุญบารมีของเรา เหนื่อยครั้งนี้ที่เราได้ก็จะคุ้มจริง ๆ


    นอกจากนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องคือสามเณรได้อะไร เขาเสียเวลามาแล้ว เขาได้อะไรบ้าง    พ่อแม่เขาได้อะไร ถ้าสามเณรมาแล้วไม่ดีขึ้น คราวหน้าจะมาบวชอีกหรือ แต่ถ้าสามเณรดีขึ้น เราก็เบาใจ แล้วสามเณรน้อย ๆ นี่อย่าดูถูก จะไปช่วยตามพรรคพวกมาบวชได้      ในคราวหน้า จะช่วยตามผู้ใหญ่มาบวชพระก็ได้ พ่อแม่ก็เช่นกัน เห็นลูกเณรดีอย่างนี้           พอสามเณรกลับบ้านไปแล้วเรียบร้อยกว่าเดิม ทำความสะอาด จัดระเบียบทั้งตัวเอง        ทั้งข้าวของในบ้านได้อย่างดี และรับผิดชอบงานในบ้านได้ พ่อแม่ก็จะสะท้อนใจ          น้ำตาซึมว่า เราคิดว่าเราเลี้ยงลูกเป็น ความจริงเลี้ยงไม่เป็น ถ้าเราเลี้ยงลูกเป็น ลูกเราคงดีอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว เพราะเลี้ยงลูกไม่เป็นจึงต้องให้พระช่วยฝึก ลูกเราถึงได้ดีขึ้น       แค่เลี้ยงลูกเรายังเลี้ยงไม่เป็น คงมีอีกหลายแง่มุมที่เราไม่รู้ แล้วลูกเราก็มีอีกตั้ง ๒-๓ คน บางคนก็เป็นผู้หญิง บางคนก็โตแล้ว เราหาข้อบกพร่องของตัวเรามานานก็เจอแล้ว ลูกเราคนนั้นคนนี้มีข้อบกพร่องที่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เดี๋ยวเราคงต้องเข้าวัด จะได้ไปหาวิธีแก้ไข แล้วลูกเรามีจุดเด่นตรงนี้เราก็ไม่รู้จะเสริมอย่างไร กลับมาคราวนี้เสริมได้เพราะหลวงพี่ท่านช่วย ฉะนั้นต่อแต่นี้ไปเราต้องเข้าวัดแล้ว เณรจะสะท้อนให้พ่อแม่เข้าวัดได้อย่างนี้


    พ่อแม่จะซึ้งพระคุณพระและพระคุณพระศาสนา งบหรือเสบียงที่จะมาอบรม      คราวหน้าท่านไม่ต้องห่วง จะมาเอง ครูก็เช่นกัน จะส่งลูกศิษย์ทั้งหลายแหล่มาให้ท่านฝึกและถ้าเราฝึกลูกเณรหรือลูกศิษย์ประเภทที่เขาคัดทิ้งแล้วให้กลับไปดีขึ้น คราวหน้าครูจะกุลีกุจอตามเด็กทั้งโรงเรียนมาให้ท่าน แล้วท่านจะไม่เหนื่อยในการไปตามคน และที่สำคัญครูบาอาจารย์เหล่านี้จะเป็นกำลังของพระพุทธศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไปในภายภาคหน้าเพราะการอบรมสามเณรของท่าน

 


    ถ้าท่านปล่อยเลยตามเลย ลูกศิษย์กลับไปซนกว่าเดิมอีก ตกลงเราเหนื่อยฟรี เสียเงินด้วย โดนดูถูกอีกด้วย แต่ถ้าท่านทำได้ดี ครูและ ผอ. จะกลับมาอีก ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่เคยมีความรู้ทางวิชาการ แต่การมาบวชของเราทำให้เรารู้วิธี     ฝึกคนให้เป็นคนดีได้ มองตรงนี้ให้ชัด แล้วเราจะรู้จักคุณค่าของเรา และรู้เป้าหมายในการ    ฝึกหรือในการบวชสามเณรชัดเจนขึ้น แล้วก็จะเห็นว่า วัดที่สนับสนุนเราจะได้แนวทางพัฒนาวัด พัฒนาคน ซึ่งวัดเหล่านี้ก็คือ วัดที่จะมาช่วยกันฟื้นฟูศีลธรรม เพราะลำพังวัดพระธรรมกาย อย่าว่าแต่มีพระแค่นี้ ต่อให้มีพระเป็นหมื่น ๆ รูป ก็ไม่สามารถฟื้นฟูศีลธรรมได้ตามลำพัง แต่ความตั้งใจในการอบรมสามเณรของเราจะทำให้หลวงพ่อหลวงพี่ที่ประจำวัดทั้งหลายเห็นวิธีที่เหมาะที่ควร แล้วท่านก็จะสามารถนำไปพัฒนาต่อ แล้วศีลธรรมจะฟื้นฟูเต็มประเทศไทย และเราก็จะไม่ต้องเหนื่อยมาก เพราะหลวงพ่อหลวงพี่ท่านปกครองวัดมาก่อนหน้าเรา ประสบการณ์ท่านเหนือกว่าเราหลายร้อยหลายพันเท่า เพียงแต่ว่าวิธีอบรมสามเณรของท่านอาจจะยังมีไม่มาก

 


    แล้วของเราได้วิธีมาจากไหน พูดตรง ๆ ว่า กว่าจะได้ความดีสากล ๕ มาฝากท่าน หลวงพ่อหมดไปปีนี้พรรษาที่ ๔๓ เข้า ๔๔ แล้ว ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ได้มาเลย ทำงานเรื่องนี้    มา ๔๐ กว่าปี แต่พวกท่านแค่พรรษาต้น ๆ ก็ได้เรื่องนี้ไปแล้ว การทำงานงวดนี้ของท่านย่นระยะเวลาในการฝึกตัวให้ท่านเป็นสิบ ๆ ปี เพราะได้เอาสามเณรเป็นภาพสะท้อน      ให้เห็นว่าตัวของท่านที่มานั่งอยู่นี้ ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้ต่างจากสามเณรเท่าไร แต่ถ้าได้รู้วิธีฝึกตัวเองอย่างที่หลวงพ่อให้เรานำไปใช้กับสามเณร ก็จะได้ย่นระยะเวลาในการฝึก      ตัวเอง เพราะฉะนั้นทำงานงวดนี้ขอให้ดีใจเถิด ท่านได้ สามเณรได้ พ่อแม่เขาได้ ครูก็ได้ วัดก็ได้ และชุมชนก็จะหันหน้ามาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ผลจากการฝึกตัวเองของท่านจะป้อนเข้าไปสู่สามเณร และจะสะท้อนไปที่พ่อแม่ ที่ครู ที่วัดต่าง ๆ ที่ชุมชน ที่ชาวพุทธทั้งประเทศ ให้ท่านมองตรงนี้ให้ชัด

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕๓ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล