ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว”
วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑
ตอนที่ ๑๙
จรรยาข้อที่ ๓๔
“ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อ ผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา” โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน
๓๔
จงถือภาษิตว่า
“ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ”
ก่อนที่จะขึ้นมาเป็น “หัวหน้า” ได้นั้น
เราต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ความเป็น “ลูกน้อง” ให้ถ่องแท้เสียก่อน
สั่งสมความรู้ สั่งสมประสบการณ์ สั่งสมความอดทน
เป็นความรู้จากการทำงานหนักโดยไม่ปริปากบ่น
เมื่อเรามีความพร้อมทุกอย่างก็จะทำงานใหญ่ได้สำเร็จ
อันเป็นรางวัลที่เกิดจากความพากเพียร
ฝึกฝนมายาวนานโดยไม่ย่อท้อ
ไม่ยอมล้มเลิกไปกลางคัน
๓๔. จงถือภาษิตว่า “ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ”
กับ อนึ่ง บ่าวที่จะเดินไปสู่ความเจริญที่รอบคอบดีนั้น ย่อมจะเป็นบ่าวที่ติดสอยห้อยตาม รับทุกข์ยากกรากกรำมาแล้วโดยมาก ก็เพราะพี่แกรู้รสอดทนหนักเอาเบาสู้ ไม่ผันแปรแย่ตารักรู้จักดี
และชั่วเป็นลำดับมา เมื่อสมควรแก่เวลาก็ได้รับเกียรติยศสมประสงค์ดำรงตำแหน่งได้เป็นอันดี ก็ด้วยสมบัติความดีความอุสาหของออเถ้า ที่อดทน
คนชนิดนี้มักจะดียืดยาว เพราะเขารู้ทางหนีทีไล่ความประพฤติแห่งไพร่ ๆ รอบคอบ ว่านักเลงอย่างนั้น ๆ ประพฤติอย่างไร คนชั่วทุจริตประพฤติอย่างไร ย่อมรู้สึกได้ดี เมื่อมีกิจจำเป็นใช้ ก็ได้ใช้ ฤๅรู้หลบหลีกหนีภัยได้การงาน
และผู้ที่ได้รับผลเร็วนักนั้น ย่อมจะมีเหตุอันตรายหลายอย่าง กล่าวคือ สมบัติ์ความรู้ประเพณี และธรรมเนียมยังไม่พอ เมื่อไป ถูกที่คับขันเฉภาะตัวเข้าก็จนแต้ม ฤๅไปเจอเข้าที่ต้องทำอย่างทรมานกาย ก็ทำไปไม่ตลอด ด้วยตนไม่เคยกระทำการหนักเช่นนั้น อีกประการหนึ่ง วางท่าทลึ่งไม่รู้จักขีดคั่นที่ควรของตนแค่ไร เข้าทางไหนก็ไม่ใคร่สนิทกับใครได้ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็มักจะทำให้เสียคนไปได้ น่าเสียดาย ก็ด้วยที่ดีเร็วไปเกินส่วนที่ควรจะได้รับ ถ้าเช่นนี้จะเปรียบเทียบว่า “สุกก่อนห่าม” ก็งามอยู่ ฤๅจะเข้าในหมู่ว่า “ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ” เช่นนี้ก็อย่างหนึ่ง
มีเรื่องที่เขาวิจัยกันว่า ผู้ที่จะเป็นอธิบดีกรมกองใดก็ตาม ผู้นั้นเมื่อเริ่มทำงานจะต้องเป็น ผู้ติดตามรับใช้อธิบดีคนก่อนอย่างใกล้ชิดมาก่อน จึงได้รับถ่ายทอดประสบการณ์มามาก แต่ผู้นั้น ก็จะต้องทำงานหนักชนิดที่เรียกว่าเหนื่อยแทบขาดใจ เพราะในฐานะเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย เข้ามาใหม่ เมื่อต้องมีหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดท่านอธิบดี ซึ่งมีข่ายงานครอบคลุมไปทั่วเมือง จึงทำให้ต้องตรากตรำมาก สุดท้ายผลจะออกมา ๒ ประการ คือ
๑. ผู้นั้นทนไม่ไหว ต้องออกไป
๒. ผู้นั้นถูกเคี่ยวจนกระทั่งเก่งตั้งแต่อายุยังน้อยและได้ดีไปในที่สุด
หลวงพ่อก็เช่นกัน ถ้าไม่ได้มาพบคุณยาย ถึงแม้จบการศึกษามาสูงเพียงใด ก็ไม่สามารถ สร้างวัดได้ดังที่เป็นอยู่ แต่เพราะได้ใกล้ชิดคุณยายซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์มาก ด้วยถูกพระเดช-พระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำฝึกมาอย่างหนัก ฉะนั้นเพียงระยะเวลา ๑-๒ ปี ที่หลวงพ่อมาอยู่กับ คุณยาย ก็สามารถรับการถ่ายทอดประสบการณ์ทางด้านการงานต่าง ๆ จากคุณยาย ซึ่งได้เรียนรู้มาตลอดชีวิตจากหลวงปู่วัดปากน้ำ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณยายมาสร้างวัดให้พวกเราได้ อย่างที่เห็นนี้
นอกจากหลวงพ่อจะได้รับการฝึกอย่างหนักจากคุณยายแล้ว หลวงพ่อธัมมชโยซึ่งท่านเข้าวัดมาก่อน ก็ได้รับการฝึกอย่างหนักจากคุณยายมาก่อนเช่นกัน จึงได้มาฝึกหลวงพ่อต่อจากคุณยาย เพราะบางอย่างคุณยายท่านเหนื่อย ท่านไม่พูดแล้ว ท่านให้หลวงพ่อธัมมชโยรับหน้าที่ต่อ ถ้าให้หลวงพ่อไปเรียนรู้เองโดยลำพังคงไม่มีทางทำได้ จึงช่วยกันสร้างวัดมาได้เพราะเหตุนี้
คนเราถ้ารักที่จะก้าวหน้า ต้องเรียนรู้ประสบการณ์โดยการใกล้ชิดผู้ใหญ่ เตรียมใจที่จะผ่านการฝึกหนักโดยยอมให้ท่านโขกสับ
หลวงปู่วัดปากน้ำเคยกล่าวไว้ว่า คนที่จะเจริญก้าวหน้าได้นั้นจะต้องอดทนให้ครูบาอาจารย์ก็ดี พี่เลี้ยงที่ฝึกเราก็ดี หรือผู้บังคับบัญชาของเราก็ดี ฝึกเรา โขกเราให้เต็มที่ โดยปฏิบัติดังนี้
๑. ทำตัวให้เหมือนผ้าเช็ดเท้า
๒. ทำใจให้เหมือนแผ่นดิน
๓. ทำตาให้เหมือนตาไม้ไผ่
๔. ทำหูให้เหมือนหูกระทะ
ข้อที่ ๑ ทำตัวให้เหมือนผ้าเช็ดเท้า ผ้าเช็ดเท้าที่เราวางไว้หน้าบันได ใครเข้าบ้านก็ต้องใช้เท้าเช็ดแล้วเช็ดอีก เราก็เช่นกัน เจ้านายจะเรียกเราใช้งานบ่อยเพียงใดก็ไม่ควรปริปากบ่น ยินดีรับใช้ท่านเหมือนผ้าเช็ดเท้า ยิ่งท่านใช้เรามาก แสดงว่าท่านเห็นว่าเรามีประโยชน์มาก
ข้อที่ ๒ ทำใจให้เหมือนแผ่นดิน ไม่ว่าจะมีเรื่องอันใดมากระทบ ขอให้ทำใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน แผ่นดินนั้นใครจะเอาของสะอาด ของหอมไปราด มันก็เฉย ใครจะถ่ายของปฏิกูลลงไป มันก็เฉย
คนที่จะได้ดีนั้นต้องไม่หวั่นไหวในคำสรรเสริญและนินทา ตั้งใจทำงานพร้อมทั้งรักษาใจ ให้ผ่องใส และหนักแน่นเหมือนเป็นแผ่นดิน
ข้อที่ ๓ ทำตาให้เหมือนตาไม้ไผ่ ไม้ไผ่นั้นเป็นลำยาว มีแขนงยื่นออกมาจากตา แขนงที่ยาวปล่อยไว้ไม่มีประโยชน์ ต้องตัดให้แขนงสั้น ๆ เรียกตาพะอง ไม้ไผ่ที่มีตาพะองนี้ เขาเรียกโดยย่อว่า “พะอง” ใช้รัดติดกับต้นมะพร้าวหรือต้นตาลเอาไว้เหยียบแทนบันได คนเรามีตา ควรทำตาเหมือนตาไม้ไผ่ ใช้ตาให้เป็นประโยชน์ คือมองในสิ่งที่ควรมอง บางอย่างที่รู้เห็นแล้วก็เฉยไว้ อย่าไปรับเข้ามาให้กระเทือนใจ รักที่จะทำงานใหญ่ต้องรู้จักทำโง่ทำฉลาดให้เป็น มิฉะนั้นจะไป ไม่ถึงไหน
ข้อที่ ๔ ทำหูให้เหมือนหูกระทะ หูกระทะมีไว้สำหรับหิ้ว ไม่ใช่มีไว้สำหรับไปตะแคงฟังเสียงนินทา ใครนินทาหูกระทะก็เฉย ใครจะชมหูกระทะก็เฉย ดังนั้นหูของเราควรเลือกฟังในสิ่งที่ควรฟัง ได้ยินได้ฟังอะไรมาก็ให้เพียงแค่รู้ แต่อย่าไปรับมาให้กังวล
หากใครทำได้เช่นที่หลวงปู่วัดปากน้ำสอนไว้ดังที่กล่าวมา จึงจะอยู่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ได้ ยอมอดทนรับใช้ท่านไปเถิด จะเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ ถึงแม้บางครั้งจะต้องเป็นที่รองรับอารมณ์ของท่านก็ทนเอา เพราะท่านมีเรื่องขัดข้องใจ จึงต้องมาระบายกับคนใกล้ชิด พยายามนึกถึงพระคุณที่ท่านมีแก่เรา อย่าไปคิดโกรธแค้นท่าน เพราะต่อไปภายหน้า ตราบใดที่เรายังไม่หมดกิเลส เราอาจจะเป็นเช่นท่านก็ได้ ความรู้หลายอย่างเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากตำรา นอกจาก เรียนรู้จากประสบการณ์ในการติดตามรับใช้ผู้ใหญ่ เมื่อเราพร้อมไปด้วยความสามารถและประสบการณ์ ต่อไปภายหน้า เราจะทำงานใหญ่ได้
ข้อที่สำคัญที่สุดในการรับใช้ใกล้ชิดผู้ใหญ่คือ “ห้ามบ่น” เมื่อเราถูกเรียกใช้บ่อยเข้า อย่าไปบ่นว่า “ทำไมท่านใช้แต่เรา” เพราะโชคดีแล้วที่ท่านเรียกใช้ เปรียบเสมือนเวลาเข้าครัว มีดเล่มไหนคม เราจะชอบใช้แต่มีดเล่มนั้น ส่วนมีดเล่มไหนที่ไม่คมก็จะปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้รับความสนใจ
คนเราก็เช่นกัน ใครที่ถูกเจ้านายเรียกใช้ประจำ แสดงว่าท่านเห็นความคม คือ ความสามารถของเรา ยิ่งท่านเรียกใช้เรามาก เราก็ย่อมมีผลงานมากขึ้นตามลำดับ ยิ่งกว่านั้น ขณะที่เราทำงานรับใช้ท่าน ถ้าจิตของเราเป็นกุศลเท่าใด เราก็จะได้บุญมากขึ้นเท่านั้น เกิดมาชาตินี้จะมาสร้างบุญไม่ใช่หรือ พอเขาเอาบุญมาให้ก็บ่น แล้วจะได้บุญอย่างไร
สรุปความจรรยาข้อนี้ได้ว่า ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายได้นั้น เราต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ความเป็นบ่าวให้ถ่องแท้เสียก่อน สะสมความรู้และประสบการณ์จากผู้ใหญ่ไว้ให้มาก รู้จักอดทน ดังภาษิตที่ว่า “ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ” เพื่อที่วันหนึ่งข้างหน้า เราจะได้ก้าวจากบ่าวมาเป็นนาย ที่ดีได้อย่างเต็มภาคภูมิ
(อ่านต่อฉบับหน้า)