วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว... ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง

บทความน่าอ่าน     
เรื่อง : Tipitaka (DTP)


พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว...
ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง

 


ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอก

วัดประจำรัชกาลที่ ๔ แสดงวิถีชีวิตของชาวสยามที่ผูกพันกับพระพุทธศาสนา

 

    แผ่นดินสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลางเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี เป็นยุคที่สยามเปิดประเทศสู่อารยธรรมตะวันตกและเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อปรับตัวให้ประเทศรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ แต่สิ่งที่ยืนหยัดคู่แผ่นดินทั้งยามสุขสงบและยามเผชิญวิกฤตมิเปลี่ยนแปลง คือ พระพุทธศาสนา อันเป็นที่เคารพนับถือสูงสุดและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติมาแต่บรรพกาล

 

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็น           พระมหากษัตริย์ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงเปี่ยมไปด้วย      พระปรีชาสามารถทั้งทางโลกและทางธรรม อันสอดผสานกันนำพาประเทศให้ก้าวผ่านยุคที่อิทธิพลตะวันตกเริ่มเข้ามาในแผ่นดิน โดยเฉพาะความรู้ในด้านการพระศาสนา ทรงเป็น    พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีที่มีความรู้เรื่องพระไตรปิฎกอย่างลึกซึ้ง และเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ ๒ ที่มีความรู้แตกฉานในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ ถัดจากพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย ทั้งนี้เพราะทรงผนวชเป็นภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาอยู่นานยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดๆ ตั้งแต่เจริญพระชนมายุได้ ๒๑ พรรษา จนพระชนมายุ ๔๗  พรรษา จึงทรงลาผนวชเพื่อสืบทอดราชบัลลังก์ รวมระยะเวลาครองสมณเพศได้ ๒๗ พรรษา  

 


    เจ้าฟ้ามงกุฎทรงดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดรัชสมัยแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ มีฉายาว่า วชิรญาโณ  ทรงเอาพระทัยใส่ศึกษาทั้งวิปัสสนาธุระและคันถธุระอย่างลึกซึ้ง ความแตกฉานในภาษามคธ    ของพระองค์เป็นที่เลื่องลือ แม้ขณะนั้นจะทรงสอบพระปริยัติธรรมได้ชั้นประโยค ๑-๕ แต่ก็ทรงพระปรีชาสามารถแปลพระปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ถวายต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชมั่นพระราชหฤทัยในความรู้  ของพระองค์ และมีพระราชศรัทธาถวายพัดเปรียญ ๙ ประโยค เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และโปรดเกล้าฯ     แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะและกรรมการในการสอบไล่พระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร                ในเวลาต่อมา 


        ความเชี่ยวชาญในภาษามคธทำให้เจ้าฟ้ามงกุฎทรงสามารถศึกษาพระไตรปิฎก   ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เมื่อพิจารณามาถึงพระวินัยปิฎก ทรงเล็งเห็นว่าแบบแผน    ความประพฤติของคณะสงฆ์ในขณะนั้นมีความวิปลาสคลาดเคลื่อนไปจากพุทธบัญญัติเดิมอยู่มาก จึงทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมและวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้เคร่งครัดบริสุทธิ์ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เช่น การครองผ้าของพระภิกษุสามเณรตามเสขิยวัตรแห่งพระวินัย การแสดงอาบัติ    การทำพินทุ เป็นต้น และทรงพระราชนิพนธ์บทสวดภาษาบาลี         ตั้งธรรมเนียมทำวัตรเช้าและเย็นขึ้น ซึ่งบทพระราชนิพนธ์นี้ยังคง     ใช้มาจนถึงปัจจุบัน แบบแผนธรรมเนียมที่ฟื้นฟูขึ้นนี้ทรงปฏิบัติ     เป็นแบบอย่างตั้งแต่ยังทรงผนวชจนกระทั่งขึ้นเถลิงราชสมบัติ      นับเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาในประเทศไทยให้รุ่งเรืองขึ้น     อีกวาระหนึ่งสมดั่งพระราชหฤทัยที่ตั้งไว้อย่างแน่วแน่

 


พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องทรงศีล ทรงฉายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐

 

    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สำรวจคัมภีร์พระไตรปิฎก     ในหอพระมณเฑียรธรรม และตรวจสอบคัมภีร์พระไตรปิฎกในแผ่นดิน เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่ ทรงรับเป็นธุระสำคัญในการจัดส่งสมณทูตไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากลังกากลับมาแผ่นดินสยามเพื่อนำมาคัดลอกให้สมบูรณ์ ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์        รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สำรวจคัมภีร์พระไตรปิฎกในหอพระมณเฑียรธรรมเช่นเดียวกัน หากพบคัมภีร์ฉบับใดสูญหายหรือไม่ครบถ้วนก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างซ่อมแซมจนครบบริบูรณ์ และ  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก “ฉบับล่องชาด” สำหรับหอหลวงขึ้นใหม่ คัมภีร์           พระไตรปิฎกหลวงที่สร้างใหม่สำหรับรัชกาลนี้ จะปรากฏรูปสัญลักษณ์ประจำรัชกาลอยู่ด้านซ้ายและขวาของใบลาน แต่หากเป็นคัมภีร์ที่สร้างซ่อมเพิ่มเติมจากรัชกาลก่อน จะปรากฏตราสัญลักษณ์รัชกาลก่อนทางด้านซ้าย และตราสัญลักษณ์รัชกาลหลังทางด้านขวา

คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์                                             ใบปกหน้าและปกหลัง ฉบับรดน้ำดำ
คัมภีร์ใบลานฉบับล่องชาด                                           และรดน้ำแดง ในรัชกาลพระบาท
ไม้ประกับลายกำมะลอ                                                สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   

 

 

รูปสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๓ อยู่ด้านซ้าย                          รูปสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๔ อยู่ด้านขวา
เป็นภาพปราสาท ๓ ห้อง มีฉัตร ๕ ชั้น                                   เป็นภาพมงกุฎวางอยู่บนแป้น มีฉัตร ๕ ชั้น
ขนาบซ้ายขวา                                                                    ขนาบซ้ายขวา


    ทั้งยังทรงเผยแผ่พระสัทธรรมแห่งองค์พระบรมศาสดาให้ไปงอกงามยังดินแดนอื่น ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือ “The Status of P?li in Cambodia : from Canonical to Esoteric Language” โดย Olivier de Bernon ว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๙๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ส่งพระไตรปิฎกฉบับครบถ้วนสมบูรณ์ไปยังสมเด็จพระหริรักษ์รามสุริยะมหาอิศวรอดิภาพ       (นักองด้วง) ปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาสมัยใหม่ ซึ่งถือเป็นเอกสารด้านการสืบทอดภาษาบาลีฉบับสมบูรณ์ของประวัติศาสตร์กัมพูชาเลยทีเดียว


    นอกจากเจ้าฟ้ามงกุฎจะทรงมีส่วนสำคัญในการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกในสมัยรัชกาลที่ ๓ แล้ว ช่วงที่พระองค์ทรงปกครองวัดบวรนิเวศวิหาร โปรดเกล้าฯ ให้นำเทคโนโลยีการพิมพ์มาใช้    เพื่อประโยชน์ทางพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกของประเทศขึ้นภายในวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำสื่อสิ่งพิมพ์ตอบโต้คำสอนของคริสต์ศาสนาที่โจมตีพุทธศาสนาผ่านสิ่งพิมพ์อย่างต่อเนื่อง และให้มีการเผยแผ่คำสอนทางพระพุทธศาสนา    ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการเผยแผ่คำสอนของมิชชันนารีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเพื่อลดความซับซ้อนของอักขรวิธีในการเขียนและการพิมพ์ ทรงประดิษฐ์อักษรขึ้นใหม่ เรียกว่า อักษรอริยกะ หมายถึง อักษรของผู้เจริญ โดยทรงดัดแปลงอักษรโรมันของชาวตะวันตกมาใช้  ในการบันทึกภาษาบาลีแทนอักษรขอมไทยที่ใช้มาแต่เดิม รูปสัณฐานคล้ายคลึงกับอักษรโรมัน มีรูปพยัญชนะ ๓๓ ตัว สระ ๘ ตัว สระและพยัญชนะวางอยู่บนบรรทัดเดียวกัน คล้ายคลึงกับอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่อักษรนี้มีความแตกต่างจากอักษรไทยอยู่มาก จึงไม่เป็นที่นิยมและเลิกใช้ไปในที่สุด
    

ลายพระหัตถ์พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามพระองค์เจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ พระราชโอรส เป็นคาถาภาษาบาลีอักษรอริยกะซึ่งภายหลังได้ทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสังฆราชเจ้าพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

โรงพิมพ์แห่งแรกของแผ่นดินสยามภายในวัดบวรนิเวศวิหารตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓

 

        พระปรีชาสามารถในสรรพวิชาที่เจ้าฟ้ามงกุฎได้จากประสบการณ์ตลอด ๒๗ พรรษาภายใต้ผ้ากาสาวพัสตร์ ประกอบกับสายพระเนตรที่ยาวไกลจากการปฏิสัมพันธ์กับนานาอารยประเทศ    นับเป็นคุณประโยชน์ยิ่งในการปกครองราชอาณาจักรให้สงบร่มเย็นเมื่อเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระเชษฐาธิราชในกาลต่อมา พระราชภารกิจสำคัญในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ ๔ แห่งสยามประเทศ ตลอดระยะเวลา ๑๘ ปี คือ การดำเนินวิเทโศบาย นำพาประเทศชาติ  ให้รอดพ้นจากภัยคุกคามในยุคล่าอาณานิคม คงความเป็นเอกราชด้วยความสวัสดี ทั้งยังแสดง   ให้อารยประเทศทั้งหลายได้ประจักษ์ว่า แผ่นดินสยามเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนาที่พรั่งพร้อม  ไปด้วยอารยธรรมอันงดงาม 

 


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า    เจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกรับราชทูตฝรั่งเศส ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์


ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.


สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. พัฒนาการของอักษรไทย. กรุงเทพฯ :                โรงพิมพ์พระพุทธศาสนา, ๒๕๕๖.


สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. วิวัฒน์การอ่านไทย. กรุงเทพฯ :                        โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๖.


แก้ไขข้อมูลภาพประกอบหน้า ๗๙ วารสารอยู่ในบุญประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นภาพสมเด็จ-     พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชโอรสพระองค์ที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว มิใช่ภาพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงผนวช

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕๓ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล