วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ต้นบัญญัติมารยาทไทย ตอนที่ ๑ บ่อเกิดของมารยาทไทย

ต้นบัญญัติมารยาทไทย
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

ต้นบัญญัติมารยาทไทย
ตอนที่ ๑ บ่อเกิดของมารยาทไทย

 

    เรามักเข้าใจกันว่า มารยาทเป็นเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับสังคม เพื่อความงดงามน่าดู เพื่อการยอมรับเข้าเป็นหมู่คณะเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วมีเรื่องเบื้องหลังลึกซึ้งเกี่ยวกับต้นบัญญัติมารยาทที่เรายอมรับกันอยู่ในปัจจุบันนี้


    ถ้าเราย้อนกลับมาสำรวจตัวเอง เราจะพบว่า ในตัวของเรานั้นมีแต่      สิ่งที่ไม่งามทั้งสิ้น ของเสียที่ขับออกจากร่างกายทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่         ไม่น่าพิสมัยทั้งนั้น จึงเป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ความไม่น่าดู เหล่านั้นไปรบกวนผู้ที่อยู่รอบข้างเรา และจะทำอย่างไรจึงจะป้องกัน     การกระทบกระทั่งอันเกิดจากความไม่งามของสิ่งเหล่านั้น


    จากปัญหานี้จึงได้มีการบัญญัติมารยาทขึ้น เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ใช้สืบต่อกันมา ซึ่งต้นบัญญัติของมารยาทต่าง ๆ ที่เก่าแก่และถือเป็นต้นแบบของมารยาทในปัจจุบันก็คือ “เสขิยวัตร” ซึ่งเป็นหมวดพระวินัยในพระพุทธศาสนานั่นเอง


    ความงามสง่าในศีลาจารวัตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า    ได้ยังความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้ที่พบเห็น และพระพุทธองค์ทรงอบรมสั่งสอนพระภิกษุสงฆ์ให้มีศีลาจารวัตรงดงามเรียบร้อย โดยทรงบัญญัติหมวดพระวินัย “เสขิยวัตร” ขึ้น


    ครั้นพระภิกษุสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัยหมวดนี้แล้ว ทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบ สำรวม งามสง่า และทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย


    ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในประเทศไทย ชนชาติไทยคุ้นเคยกับศีลาจารวัตรอันงดงามของพระภิกษุสงฆ์ จนซึมซับและถ่ายทอดกิริยามารยาทที่นุ่มนวลนั้นไปอบรมสั่งสอนลูกหลานสืบต่อกันมา


    “เสขิยวัตร” จึงเปรียบเสมือนเพชรน้ำหนึ่ง ที่ทำให้คนไทยเป็นคน พิเศษ มีความน่ารัก นุ่มนวล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีในชนชาติอื่น จึงสมควรที่ ลูกหลานไทยยุคปัจจุบันจะต้องกลับมาทบทวนฝึกตนเองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าและเป็นเอกลักษณ์ของชนชาวไทย

 


ต้นบัญญัติของมารยาทไทย


    เรื่องที่นำมาฝากในวันนี้ คือ “บ่อเกิดของมารยาทไทย” 


    เราสงสัยกันมานานว่า มารยาทไทยตลอดจนขนบธรรมเนียมที่เราใช้กันอยู่ ซึ่งมีความแตกต่างไปจากชนชาติอื่นและมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา แล้วยังเป็นที่ประทับใจของคนทั่วโลกนี้ ได้มาจากไหนกันแน่ ก็พบว่า มารยาทและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยได้มาจากพระพุทธศาสนา


    มารยาทไทยที่จะกล่าวถึงในวันนี้เป็นการยกเอา “หมวดพระวินัย” หมวดหนึ่งในวินัยของ        พระสงฆ์ ที่เรียกว่า “หมวดเสขิยวัตร” ว่าด้วยมารยาทอันงดงามของพระภิกษุ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงนำมาจากมารยาทของกษัตริย์ เพราะพระองค์ทรงเป็นเจ้าชายในราชวงศ์ของกรุงกบิลพัสดุ์ มาก่อน


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมารยาทของกษัตริย์ที่ดีงามมารวมกับมารยาทของนักบวช          ที่ดีงามในยุคนั้น ซึ่งพระองค์ทรงพิสูจน์มาแล้วว่าดีจริง ๆ แล้วทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม จนกลายเป็นมารยาทของพระภิกษุ จากนั้นได้กลายมาเป็นมารยาทของชาวไทยเราด้วย 


    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ทำไมจึงต้องฝึกมารยาทกัน เหตุผลในขั้นพื้นฐานก็คือ


    ๑. เพื่อปกปิดความไม่งามในร่างกายของเรา
    ๒. เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกัน


    ในตัวของเรานี้ไปดูเถิด ไม่ว่าของแข็ง ของเหลว ไม่ว่าลมที่ออกจากตัวเรา แม้เสียงที่ออกจากตัวเรา จริง ๆ แล้วไม่น่ารักสักอย่าง และน่าสะอิดสะเอียนทั้งนั้น


    น้ำที่ออกมาจากตัวเรา เช่น น้ำมูก น่าดูเสียเมื่อไร หรือน้ำลาย ลองใครบ้วนน้ำลายให้เรากินสักถ้วย จ้างก็ไม่เอา เคืองตายเลย ที่เห็นจะพอดูได้ก็น้ำตาของบางคน ดูสวยดี หยดเหมือนน้ำค้าง แต่พอเข้าไปใกล้ไม่ไหว ยิ่งน้ำปัสสาวะเลิกพูดกัน นี้คือของเหลวที่ออกจากร่างกาย เอาเข้า จริง ๆ จัง ๆ แล้ว น่าสะอิดสะเอียน ของแข็งที่ออกจากร่างกายยิ่งไม่ต้องอธิบาย ของตัวเอง       ยังรังเกียจ ยังรำคาญเลย ออกมาแล้วต้องรีบล้างรีบเช็ด


    กลิ่นที่ออกจากตัวเราก็ไม่มีดี พอเหงื่อออกแล้วต้องหาน้ำอบน้ำหอมมาชโลมกันเอาไว้ มิฉะนั้นกลิ่นไม่ดีในร่างกายเป็นต้องรบกวนชาวบ้าน สีของตัวเราก็เหมือนกัน ไม่ค่อยมีดี ยิ่งพอโกรธแล้ว หน้าเขียว หน้าดำ ปากสั่น หน้าเป็นผีเลย เห็นเป็นยักษ์ไปเลย ทั้งเนื้อทั้งตัวเรานอกจากคุณธรรมแล้ว จะเอาของดี ๆ หายาก


    ทั้งเนื้อทั้งตัวเรามีของไม่ดีอย่างนี้ ถ้าเราไม่ระวังก็ไปก่อความรำคาญให้ชาวบ้าน เมื่อก่อ      ความรำคาญให้ ใครล่ะจะรัก ความน่ารักหมดไปเลย แม้ไม่ได้ทำอะไร แค่นั่งอยู่เฉย ๆ แต่นั่งไปท้องร้องจ๊อก ๆ ไป คนข้าง ๆ ก็รำคาญ นี้คือเสียงที่ออกจากตัวเราก็ไม่ใช่เสียงที่ไพเราะอะไร       บางคนยิ่งเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เราไม่อยากเข้าใกล้ หายใจเข้าหายใจออกเสียงดังครืดคราด คล้ายเสียงแมวกรน ยิ่งบางคนนอนกรนเสียงเหมือนโรงสีไฟ ครืดคราด ๆ 


    เสียง กลิ่น ของแข็ง และของเหลวที่ออกจากตัวเราไม่ต้องมากหรอก อาหารที่ตั้งบนโต๊ะ แหม!  น่ากิน หอมเชียว ตักใส่ปากเคี้ยวสัก ๓-๔ ที พอคายออกมาใหม่ แล้วบอกให้ตักเข้าไปอีกที ไม่เอาแล้ว กลายเป็นสิ่งที่ไม่น่ากิน ไม่น่าดู นี้คือตัวของเรา เพราะฉะนั้นที่ส่องกระจกทุกวันว่า แหม! …ฉันนี่สวยจริง หมุนอยู่หน้ากระจก ๕ รอบ ๑๐ ตลบน่ะ หลงตัวเอง


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงมองทะลุปรุโปร่งหมดเลย ทรงบัญญัติมารยาทให้พระภิกษุหมวดหนึ่ง เรียกว่า “เสขิยวัตร” เพื่อป้องกันความน่าสะอิดสะเอียนในตัวของเราให้หมดไป แล้วในเวลาเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมบุคลิกให้ดี ให้น่าเคารพรักขึ้นมา


    หมวดธรรมหมวดนี้ ต่อมากลายเป็นพื้นฐานของมารยาทไทย ฉะนั้นวันนี้เรามาศึกษา         “เสขิยวัตร” เพื่อว่าถ้าเรามีข้อบกพร่องอะไรในตัว จะได้รู้และแก้ไขทัน


    คนบางคนทำงานเก่ง พูดจาก็เพราะ พรรคพวกเพื่อนฝูงก็รักในเชิงของการทำงาน ในการพูดจา แต่พอถึงเวลากิน มีงานเลี้ยง เขาไม่เคยเชิญเราไปเลย เราก็อดนึกเคืองไม่ได้ อะไรกัน ทีงานหนักมาตามเรา ทีจะกินไม่ตาม ชักโมโห แท้ที่จริงมารยาทในการรับประทานอาหารของเราแย่จริง ๆ กินเหมือนหมูกิน เขาเลยไม่เชิญไป เอ๊ะ! ความรู้เราก็ดี ความสามารถก็ดี แต่ทำไมพวกเพื่อน ๆ ไม่รักเรา เข้าไปคุยกับเขาทีไรหนีทุกทีเลย อ๋อ! กลิ่นตัวของเราแรงจริง ๆ หรือเวลาพูดน้ำลายกระเซ็นเชียว เพื่อนทนไม่ไหวจริง ๆ หนีหน้าหมด บางคนอะไร ๆ ก็ดี ท่านั่งก็ดี ท่ายืนก็ดี แต่เวลาเดิน     เสียบุคลิกหมด ไม่น่าดู เดินขาถ่าง ๆ หมาวิ่งลอดได้สบาย ฯลฯ


    เพื่อแก้ความไม่น่าดู ควรมาศึกษา “เสขิยวัตร” ซึ่งมีอยู่ ๔ หมวดด้วยกัน แม้เป็นมารยาทของพระภิกษุ แต่จะขยายความว่าจะนำเอามาใช้กับประชาชนได้อย่างไร
    
    หมวดที่ ๑ เรียกว่า “สารูป” แปลว่า ธรรมเนียมที่ควรประพฤติเวลาเข้าบ้าน ตามธรรมดา      พระอยู่ในวัด แต่ถึงเวลาจะเข้าบ้านประชาชนหรือไปในหมู่บ้านต่าง ๆ ควรจะปฏิบัติอย่างไร 


    เรื่องนี้นำมาใช้ปรับปรุงตัวเราเองได้ เวลาอยู่บ้านเราจะทำตัวอย่างไรก็ได้ แต่ออกนอกบ้าน    จะต้องทำอย่างไรบ้าง เอามาเปรียบเทียบกันกับพระภิกษุ

 

    หมวดที่ ๒ เรียกว่า “โภชนปฏิสังยุต” แปลว่า ธรรมเนียมในการรับบิณฑบาตและการฉันอาหาร ซึ่งจะเอามาปรับใช้เป็นมารยาทในการกินอาหาร

 

    หมวดที่ ๓ “ธัมมเทสนาปฏิสังยุต” ว่าด้วยธรรมเนียมของการแสดงธรรม ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิธีที่จะอบรมลูก ๆ หลาน ๆ หรือตักเตือนคนให้ได้ผลอยู่ตรงนี้ ใครที่อบรมลูกอบรมหลานไม่ค่อยได้ผล ลองศึกษาดูว่าพระท่านทำอย่างไร ใครเตือนพรรคพวกเพื่อนฝูง เตือนลูกน้องไม่ค่อยได้ผล มาดูสิว่า พระท่านทำอย่างไร แล้วแก้ไขเสีย 

 

    หมวดที่ ๔ “ปกิณณกะ” ว่าด้วยธรรมเนียมในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ทรงสอนหมด ขออภัยไม่มีศาสดาที่ไหนในโลกจะมาสอนลูกศิษย์ว่า การถ่ายอุจจาระควรทำอย่างไร การถ่ายปัสสาวะควรทำ อย่างไร ไม่มีศาสดาไหนในโลกสอน แต่พระพุทธเจ้าทรงสอน สอนละเอียดด้วย ซึ่งต่อมากลายมาเป็นธรรมเนียมในการใช้ห้องน้ำห้องท่า และการรักษาความสะอาดบ้านเรือนของพวกเรารวมไปในนั้นด้วย 
 

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕๕ เดือนกันยายน ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล