ชวนอ่าน
เรื่อง : พระกิตติพงศ์ เหมวํโส
แสงแห่งพระรัตนตรัยนำทางสว่าง
ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่มีภัยพิบัติและทุพภิกขภัยเกิดขึ้นที่เมืองเวสาลี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังเวสาลีพร้อมด้วยเหล่าสาวก ๕๐๐ รูป เพื่อขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากแก่มหาชนให้หมดสิ้นไปด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ และสังฆานุภาพ
ในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศเนปาลซึ่งเป็นดินแดนประสูติของพระพุทธองค์เกิดเหตุแผ่นดินไหว และเกิดความไม่สงบทางการเมืองเป็นเหตุให้ประเทศถูกปิดด่านการค้า ทำให้ไม่สามารถนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงได้ จึงต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงานครั้งใหญ่ ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพงตามมาเป็นทับทวี
เมื่อคณะสงฆ์ไทยทราบข่าว จึงพากันเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ ประเทศเนปาล ด้วยการเยียวยาทางด้านร่างกายแก่พวกเขาด้วยปัจจัยสี่ และฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วยธรรมโอสถ ทั้งนี้เพื่อตอบแทนคุณดินแดนประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นการดำเนินตามรอยบาทพระศาสดาในการขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยของมหาชน
ภารกิจสำคัญในครั้งนี้ มีพระเดชพระคุณพระเทพโพธิวิเทศ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล และคณะ เป็นผู้แทนของคณะสงฆ์ไทย
คณะสงฆ์ไทย : วีรบุรุษในใจของชาวเนปาล
จากการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องระยะยาวของคณะสงฆ์ไทย ทำให้คณะรัฐบาลเนปาลนำโดยท่านนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงภาครัฐและเอกชน ต่างให้ความเคารพยกย่องสรรเสริญในเมตตาจิตและความเสียสละของคณะสงฆ์ไทยในฐานะตัวแทนของชาวไทยทำให้พระสงฆ์เปรียบเสมือนวีรบุรุษในใจของประชาชนทุกศาสนาในเนปาล คือ เป็นทั้งที่เคารพศรัทธาและต้นบุญต้นแบบที่ชาวเนปาลอยากเข้าใกล้ ใคร่ฟังธรรม และประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่าง
โครงการปฏิบัติธรรมตลอดปี สร้างความดีฟื้นฟูศีลธรรม
ด้วยเหตุนี้ วัดพระธรรมกายซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวเนปาล จึงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมขึ้น ๒ ศูนย์ คือ ศูนย์ปฏิบัติธรรมประจำเมืองธัมมัสถาลิ ซึ่งมีพระอาจารย์ถาวร ถาวโร เป็นหัวหน้าศูนย์ และศูนย์ปฏิบัติธรรมประจำเมืองโกดาวารี มีพระอาจารย์รณภพ โชติลาโภ เป็นหัวหน้าศูนย์โดยมีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศเนปาลให้กลับมารุ่งเรืองดังเช่นครั้งพุทธกาล เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณบรรพบุรุษชาวเนปาลที่นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ จนกระทั่งเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน
ศูนย์ปฏิบัติธรรมทั้ง ๒ แห่งนี้ ได้จัดโครงการปฏิบัติธรรมตลอดปีสำหรับชาวบ้านและนักศึกษาในเมืองโดยไม่จำกัดเพศและวัยหรือแม้กระทั่งศาสนา เพื่อฟื้นฟูศีลธรรมผ่านกิจกรรมการอบรมความดีสากล ๕ ประการ (สะอาด เป็นระเบียบ สุภาพ ตรงต่อเวลา จิตตั้งมั่น) นอกจากนี้ยังมีการสวดมนต์ ฟังธรรมและนั่งสมาธิด้วย
สำหรับสถานที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติธรรมทั้ง ๒ ศูนย์นี้ เดิมเคยเป็นศูนย์ช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวมาก่อนเมื่อภัยพิบัติเริ่มเบาบางลง ทั้ง ๒ ศูนย์จึงจัดโครงการปฏิบัติธรรมดังกล่าวขึ้น รวมทั้งจัดโครงการอบรมความดีสากลแบบรายวันประมาณ ๓๐ คนต่อวัน โครงการอบรมอุบาสก-อุบาสิกาแก้ว และโครงการอบรมอาสาสมัครสนับสนุนงานบวชเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ทุกเดือนโดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการละประมาณ ๕๐ - ๗๐ ท่าน
นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติธรรมธัมมัสถาลิยังจัดกิจกรรมรวมใจผู้มีบุญชาวไทยและเนปาลด้วยพิธีทอดกฐินและพิธีทอดผ้าป่ารายเดือนโดยมีผู้เข้าร่วมงานบุญครั้งละประมาณ ๓๐๐ - ๕๐๐ ท่าน
บรรพชาหมู่ : มหัคคตกุศลที่ส่งผลน่าปลื้มใจ
ต่อมา ในระหว่างวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ คณะสงฆ์ไทยและเนปาลร่วมกันจัดโครงการบรรพชาหมู่ ๑๕๐ รูป เพื่อฉลองศักราชใหม่ตามดำริของพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ปรารภเหตุให้มีการสร้างบุญบารมีเพื่อขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากและสิ่งไม่ดีให้หมดไปจากประเทศเนปาล
ในการนี้ พระดร.ญาณะปุณณิกะ ประธานคณะสงฆ์และประธานมหาเถรสมาคมแห่งประเทศเนปาล เจ้าอาวาสวัดวิสุทธิ์สันติ พรรษา ๕๗ เมตตาให้ใช้วัดของท่านเป็นสถานที่จัดบรรพชาหมู่ ๑๕๐ รูป โดยมีพระเดชพระคุณพระกิตติโสภณวิเทศ เจ้าอาวาสวัดนาคปรกประเทศไทย เมตตาไปเป็นพระอุปัชฌาย์
สำหรับสถานที่ในการอบรมสามเณรนั้นพระเดชพระคุณพระศรีโพธิวิเทศ ประธานสงฆ์วัดไทยลุมพินี เมตตาให้ใช้วัดไทยลุมพินีเป็นสถานที่อบรม นอกจากนี้ท่านยังเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแก่พระอาจารย์ คณะพระพี่เลี้ยงสามเณรธรรมทายาท และคณะทำงานตลอดการจัดงาน รวมทั้งเมตตามาเป็นประธานสงฆ์ในทุก ๆ พิธีกรรมที่จัดขึ้นในลุมพินีวัน
การบรรพชาหมู่ครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากชาวเนปาลอย่างดียิ่ง ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างร่วมใจกันสร้างมหัคคตกุศลให้แก่ประเทศผ่านกิจกรรมบุญต่าง ๆ ได้แก่ พิธีปลงผมนาคธรรมทายาท, พิธีแห่นาคประกาศพระพุทธศาสนากลางเมืองมรดกโลกปาตันที่เสียหายจากแผ่นดินไหว, พิธีบรรพชาหมู่ ๑๕๐ รูป,พิธีสวดมนต์ข้ามปีและตักบาตรฉลองปีใหม่ ณ วัดไทยลุมพินี, พิธีจุดโคมประทีปและเวียนประทักษิณรอบวิหารมายาเทวี และธุดงค์ลุมพินีถวายเป็นพุทธบูชา โดยมีคณะพระภิกษุและสามเณรจากนานาชาติ (เนปาล ศรีลังกา จีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว ไทยและอเมริกา) ร่วมเดินธุดงค์ ซึ่งนับเป็นการเดินธุดงค์ของพระภิกษุและสามเณรถึง ๒๐๐ รูป ครั้งแรกในลุมพินีวัน
“ยุวโพธิสัตว์” ขอบรรพชาเป็นต้นกล้าพันธุ์พุทธภูมิ
ภาพอันเป็นทัสนานุตริยะ ณ สถานที่อันเป็นมงคลซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งสันติภาพโลกดังกล่าว ถูกเผยแพร่ไปทั่วประเทศเนปาลและนานาชาติ ผ่านทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และ Social Media สร้างความชื่นชมยินดีแก่องค์กรภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ต่อการท่องเที่ยวในประเทศเนปาลที่กำลังซบเซาอย่างหนักนอกจากนี้ยังทำให้กระแสธรรมของการบวชและการปฏิบัติธรรมแผ่ขยายไปสู่ใจชาวเนปาลทุกเพศทุกวัย จนกระทั่งมีเหล่ายุวโพธิสัตว์ ๑๕ คน ขอบรรพชาตามอย่างรุ่นพี่บ้าง ทำให้เกิดโครงการบรรพชาสามเณรยุวโพธิสัตว์ ๑๕ รูป ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมธัมมัสถาลิ ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ และเนื่องจากเมือง “ธัมมัสถาลิ” ซึ่งมีความหมายว่า “ธรรมสถาน” นี้ ตั้งอยู่ในเส้นทางสายไหมที่พระโพธิสัตว์ถังซำจั๋งจาริกแสวงบุญผ่านมาพักระหว่างทาง ณ เจดีย์ ๒,๓๐๐ ปี ที่ชื่อ “ธัมมธุระ” และปลูกต้นโพธิ์คู่ไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์จวบจนถึงปัจจุบัน
ทีมงานจึงจัดพิธีแห่องค์พระ เดินธุดงค์ และขบวนผ้าป่าสัมฤทธิ์ในเส้นทางสายไหม ตามรอยพระโพธิสัตว์ รวมทั้งมีพิธีทอดผ้าป่าสัมฤทธิ์ยุวโพธิสัตว์ ต้นกล้าพันธุ์พุทธภูมิ ที่จะเจริญเติบโตไปเป็นอนาคตของดินแดนพุทธภูมิต่อไปกิจกรรมดังกล่าวมีประชาชนสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมากด้วยความเบิกบานในบุญ
ไปบวชที่ประเทศไทย ด้วยจิตเลื่อมใส ด้วยใจศรัทธา
นอกจากโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทีมงานยังได้จัดโครงการอบรมความดีสากลสำหรับอาสาสมัครสนับสนุนงานบวช จำนวน ๔๐ ท่าน ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้ก็คือ แกนนำนักศึกษาที่มาช่วยจัดงานบรรพชาหมู่ ๑๕๐ รูป แล้วเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในจริยวัตรอันงดงามของพระอาจารย์พระพี่เลี้ยง และสามเณรธรรมทายาท ต่อมาเมื่อพวกเขามีโอกาสได้อุปัฏฐากสามเณรยุวโพธิสัตว์ ความศรัทธาเลื่อมใสที่มีอยู่แล้วก็ยิ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้น ทำให้หลายท่านจากดินแดนต้นแหล่งกำเนิดพระพุทธศาสนา เกิดความรู้สึกอยากไปบวชที่ต้นแหล่งแห่งการสร้างพระแท้ที่โลกต้องการ คือ ประเทศไทย
เมื่อความศรัทธาเลื่อมใสทวีขึ้นจนกระทั่งเต็มเปี่ยมในใจ ลูกผู้ชายหัวใจพระจากดินแดนพุทธภูมิรวม ๙ ท่าน จึงตัดสินใจทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง แล้วบินลัดฟ้ามาแสวงหาแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ด้วยการบวชเป็นพระภิกษุที่วัดพระธรรมกาย ในโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทนานาชาติ (IDOP) ระหว่างวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ขอบพระคุณหลวงพ่อที่เมตตา มาฆบูชาขอมาร่วมงาน
จากผลงานอันทรงคุณค่าของคณะสงฆ์ไทยที่มีต่อประเทศเนปาล ทำให้คณะสงฆ์เนปาล นำโดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อญาณะปุณณิกะ เดินทางมายังวัดพระธรรมกายเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อร่วมงานวันมาฆบูชา และแสดงความขอบคุณต่อพระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างคุณูปการและทำความสว่างไสวให้แก่ประเทศเนปาล ซึ่งในโอกาสนี้ท่านเค. พี. โอลิ นายกรัฐมนตรีเนปาล มอบหมายให้คณะผู้ทนรัฐบาลจำนวน ๓๐ ท่าน นำโดยท่านจันกา บาฮาดู กูรุง อุปทูตเนปาลประจำประเทศไทย เดินทางมาร่วมงาน โดยมีมารดาและครอบครัวของท่านนายกรัฐมนตรีให้เกียรติมาร่วมงานด้วย
นอกจากนี้ ท่านนายกรัฐมนตรียังให้เกียรติลงนามในโล่วัชรเกียรติยศ เพื่อให้ผู้แทนรัฐบาลเนปาลนำมามอบแก่ผู้ชนะเลิศในการสอบตอบปัญหาธรรมะทางก้าวหน้าในวันมาฆบูชาด้วย
ในร้ายย่อมมีดี พุทธวิธีช่วยพ้นภัย
ในยามที่ประเทศเนปาลมืดมนหนทางสิ้นไร้ซึ่งทางออก ก็ยังมีสิ่งที่มีคุณค่าเกิดขึ้นกับประเทศเนปาลเช่นกัน ดังคำพูดที่ว่า “ในร้ายย่อมมีดี” นั่นคือ คณะสงฆ์ไทยได้นำแสงสว่างแห่งพระรัตนตรัยเข้าไปขับไล่ความมืดมิดในประเทศเนปาล ด้วยการสอนให้ชาวเนปาลเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดสำหรับตนเอง และสอนให้รู้จักหลักในการนำบุญบารมีมาขจัดสิ่งเลวร้ายที่เป็นบาปอกุศล จนกระทั่งพ้นทุกข์จากกิเลส ได้พบความสุขที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นการนำพุทธวิธีมาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างงดงาม