วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ต้นบัญญัติมารยาทไทย ตอนที่ ๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อรับบิณฑบาตเราจักแลดูแต่ในบาตร หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต (ข้อ ๒)

ต้นบัญญัติมารยาทไทย
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

ต้นบัญญัติมารยาทไทย
ตอนที่ ๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อรับบิณฑบาตเราจักแลดูแต่ในบาตร
หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต (ข้อ ๒)

ต้นบัญญัติมารยาทไทย ตอนที่ ๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อรับบิณฑบาตเราจักแลดูแต่ในบาตร หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต (ข้อ ๒)

      ข้อนี้ ท่านห้ามไม่ให้แลดูหน้าญาติโยมที่มาตักบาตร แม้แลเหม่อไปทางอื่นก็ไม่ควรเวลาออกบิณฑบาตต้องสำรวมอยู่ตลอดเวลาเพราะตามพระวินัย การบิณฑบาตของพระภิกษุเป็นการขอ แต่เป็นการขอที่แตกต่างจากการขอของขอทานโดยสิ้นเชิง พวกเราจึงควรทำความเข้าใจให้ดี เดี๋ยวจะพลาด

       การขอของขอทานเป็นการขอชนิดที่อ้างเอาความน่าเวทนาของตัวเองยกขึ้นมาเพื่อให้เขาสงสาร แล้วก็ให้ทานมา เช่น รำพันว่า “ช่วยผมทีเถิด พ่อก็ตาย แม่ก็ตาย เจ็ดชั่วโคตรตายหมด เหลือผมอยู่คนเดียว นี่ก็กำลังจะตายเป็นคนสุดท้ายอยู่แล้ว ช่วยทีเถิด…”

        หรือไม่อย่างนั้นก็ลากสังขารอันน่าเวทนามาให้เขาเห็น ตาก็บอด หูก็หนวก ขาก็เป๋มือก็แป คร่ำครวญคลุกฝุ่นอยู่ข้างทาง เขาสงสารก็ให้เงินให้ของมา นี้เป็นลักษณะของขอทานทั่ว ๆ ไปด้วยอาการสงบสำรวม ให้ก็ได้ ไม่ให้ก็แล้วไปไม่บ่น ไม่ว่า ไม่ด่า ไม่ขอ ถือเป็นการขอแบบพระอริยะ คือ ผู้เจริญแล้ว มีบางคนไม่เข้าใจเอาไปเปรียบเทียบกันแล้ววิจารณ์ว่า พระภิกษุนี่แย่จริง ๆ สู้ขอทานก็ไม่ได้ ครั้นซักไซ้ไล่เลียงว่าสู้ไม่ได้อย่างไร เขาก็อธิบายว่า   “ขอทานน่ะ เวลาผมให้มัน มันไหว้ผมทุกทีแต่เวลาผมตักบาตรให้หลวงพ่อหลวงพี่ นอกจาก
หลวงพ่อหลวงพี่จะไม่ไหว้ขอบคุณผมแล้วผมยังต้องไหว้หลวงพ่อหลวงพี่อีก เอาเปรียบกันจังเลย”

      เอาละสิ เกิดมีคนอุตริคิดอย่างนี้ขึ้นมาแม้เมื่อไม่กี่วันมานี้ไปอ่านนิตยสารของญี่ปุ่นก็เจอเข้าเล่มหนึ่ง เขาวิจารณ์ในทำนองนี้เหมือนกัน เขาเขียนว่า มีชาวญี่ปุ่นมาเที่ยวเมืองไทยแล้วกลับไปเล่าว่า ธรรมเนียมของชาวไทยนี่แปลก เวลาเอาข้าวให้พระแทนที่พระจะไหว้ แล้วกล่าวคำ ขอบคุณ คนให้กลับต้องไหว้พระอีก เล่าเรื่องนี้ที่ไหน คนฟังก็หัวเราะกันที่นั่น เขาหัวเราะขำกันทั้งประเทศว่าเรื่องตลกกลับตาลปัตรแบบนี้เกิดขึ้นในโลกได้อย่างไรชาวญี่ปุ่นเขานึกอย่างนี้

        เด็ก ๆ ของเราหลายคนไม่สบายใจ มาถามหลวงพ่อว่าจะอธิบายเขาอย่างไรดี หลวงพ่อก็แนะนำว่า เรื่องนี้อธิบายไม่ยาก บอกเขาไปเลยว่า ตามธรรมดาเวลารับสิ่งของของผู้ใด แน่นอนเราต้องตอบแทนเขา ถ้าเรารับของมาจากร้านค้าเราก็ให้เงินเขาไปตามราคาที่ตั้งไว้ ใครเอาของมีค่ามากำนัล เราก็หาโอกาสตอบแทนเขาด้วยของที่มีค่าใกล้เคียงกัน

        แล้วพระภิกษุตอบแทนอะไรหรือเปล่า?ความจริงท่านก็ให้ตอบแทนกลับไปเช่นกัน แต่เราบางคนดูไม่ออก เพราะท่านตอบแทนกลับไปแบบพระอริยะ เรื่องการตอบแทนนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดว่า เมื่อพระภิกษุรับบิณฑบาตแล้ว ไม่ให้ตอบแทนด้วยสิ่งของ แต่ทรงเคี่ยวเข็ญพระภิกษุทางอ้อมด้วยวัตรปฏิบัติที่ว่า

       เมื่อรับข้าวปลาอาหารของเขามา จะมากน้อยเพียงไรก็ตาม เมื่อฉันเข้าไปแล้ว ท่านต้องอุทิศกำลังกายกำลังใจทั้งหมดของท่านเพื่อปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ ศึกษาพระไตรปิฎกให้เชี่ยวชาญ ตั้งใจรักษาศีล เจริญภาวนาให้มาก ๆจนกระทั่งใจผ่องใส เมื่อใจผ่องใสเกิดปัญญาแล้ว ก็ให้เค้นความรู้ความสามารถที่ฝึกมาได้เอามาเทศน์ให้ญาติโยมฟังเป็นการให้ธรรมทานซึ่งจัดว่าเป็นทานอันสูงสุด

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ตอบแทนญาติโยมกลับไปด้วยธรรมทาน ซึ่งมีค่ายิ่งกว่าค่าข้าวปลาอาหารที่เขาให้มา ยิ่งกว่าค่าสบงจีวรตลอดจนหยูกยาที่เขาถวาย ค่ากุฏิ ค่าศาลาที่เขาสร้างถวายจะมีราคาสูงมากมายเพียงไรต้องตอบแทนให้หมดและให้ยิ่งกว่า

      นี้คือเงื่อนไขที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงผูกเอาไว้ เพราะฉะนั้นพอตักบาตรปุ๊บ ญาติโยมเขาก็ไหว้ เขาไหว้ด้วยวัตถุประสงค์ ๒ อย่างคือ
อย่างที่ ๑. เพื่อเตือนว่า เมื่อหลวงพ่อหลวงพี่ฉันอาหารของโยมเข้าไปแล้ว ต้องไปศึกษาค้นหาความรู้ทางธรรมเอามาบอกโยมด้วยโยมไม่มีเวลาไปศึกษาธรรมะ หลวงพ่อหลวงพี่มีเวลาปฏิบัติมาก รู้แล้วช่วยเอามาบอกกันด้วยแล้วก็ไหว้ขอบคุณล่วงหน้า

อย่างที่ ๒. เขาประนมมือไหว้ด้วยความเคารพในทาน เพราะเขารู้ว่าทานที่เขาให้แม้เป็นข้าวทัพพีเดียว แกงช้อนเดียว ก็สามารถส่งเสริมคุณธรรมให้เกิดขึ้นมาในโลกได้ เขาต้องการส่งเสริมให้คุณธรรมครองโลก ต้องการยืดอายุพระพุทธศาสนา ไม่ได้คิดเป็นเงินเป็นทอง และไม่ได้เป็นเพราะสงสารว่าพระจะอด

     พระภิกษุก็เช่นกัน พอฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ไม่ได้นึกว่าข้าวปลาอาหารนั้นมีมูลค่ากี่บาทกี่สตางค์ เพราะได้บวกศรัทธาเข้าไปด้วยแล้ว เลยตีราคาไม่ถูก ฉะนั้นพระภิกษุจึงต้องรับเงื่อนไขว่า จะต้องปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ เมื่อรู้แล้วก็เอามาสอน มาแจกจ่ายกัน ไม่ใช่ฉันเช้าไปแล้วก็เอน ฉันเพลแล้วก็นอน พอบ่ายก็พักผ่อน กลางคืนก็จำวัด อย่าให้เขาพูดประชดได้ว่าถือศีลหมู พอเรามองออกอย่างนี้แล้วก็ต้องทำให้ถูกต้อง

      เวลาพระภิกษุรับบาตรจึงถูกห้ามเด็ดขาดไม่ให้มองญาติโยมหรือมองเหม่อออกไปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตีกันลูกของท่านไว้อย่างรอบคอบ ขืนปล่อยให้มองเพลินไป เอ๊ะ!มือก็ขาว เล็บก็สวย ขอดูหน้าสักหน่อยเถิดเดี๋ยวจะยุ่ง เพราะฉะนั้นไม่ว่าโยมผู้หญิง โยมผู้ชาย สวยไม่สวย แก่เฒ่าอย่างไรห้ามมองเด็ดขาด มองแต่ในบาตรเท่านั้น เป็นการฝึกสติให้เคารพในทานของเขาด้วย

      สมัยเมื่อหลวงพ่อบวชใหม่ ๆ ออกบิณฑบาตครั้งแรกก็ได้ข้อเตือนสติมาหลายอย่าง ยังจำได้ไม่ลืมออกบิณฑบาตครั้งแรกก็เขินเอาการอยู่เพราะเกิดมาเป็นผู้เป็นคนไม่เคยไปง้อขอใครกิน วันนี้เป็นวันแรกที่ต้องมาถือบาตรขอเขากินตะขิดตะขวงใจพิกล อาศัยเดินตามพระพี่เลี้ยงไปก็พอก้าวขาตามไปได้   รับบาตรรายแรกจากโยมผู้ใหญ่หน่อยก็ไม่นึกอะไร รายที่ ๒ ที่ ๓ ก็ยังเฉย ๆ แต่มาเจอรายหนึ่งหลวงพ่อต้องสะท้านใจ แกเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ขี้มูกยืด ๆ เสื้อก็ไม่ใส่นุ่งกระโปรงนักเรียนเก่า ๆ สีซีด ๆ ฟ้องถึงฐานะว่าไม่ดีเลย ขันที่ใส่ข้าวมาตักบาตรก็มัวซัวคงไม่ได้ขัดมานาน ข้าวก็สีหม่น ๆ กับข้าวก็ใส่ถุงมานิดหนึ่ง ขนมห่อใบตองไม่รู้ว่าเป็นอะไรดูแล้วก็ไม่ใช่ของประณีต

       แกมารอพระนานเท่าไรก็ไม่รู้ พอตักบาตรเสร็จก็ยกมือไหว้ เสร็จองค์หนึ่งแล้วข้าวก็ยังไม่หมดขัน แกก็รออยู่ กระโดดโลดเต้นไปตามประสาเด็ก พอพระอีกองค์มาถึง แกก็รีบไปคว้าขันมาตักอีก

      ที่หลวงพ่อเก็บเอามาคิดหนักก็ตรงที่ว่าแหม…แกยากจนอย่างนี้ ยังอุตส่าห์แบ่งอาหารมาให้เราฉัน เหมือนเราบีบเอาข้าวเอาขนมจากลูกเขามา ถ้าฉันเข้าไปแล้วขี้เกียจนั่งสมาธิขี้เกียจศึกษาพระไตรปิฎกละก็ ชาติต่อไปคงต้องเกิดมาเป็นควายให้เด็กคนนี้ใช้งานแน่ ๆ

      อีกอย่างเด็กขนาดนี้ยังมีวิริยะ มีความเพียรพระมาก็ตัก ยังไม่มาก็วิ่งเล่นไปก่อน เมื่อเราเป็นเด็กขนาดนี้ ขืนให้มารอตักบาตรแบบนี้ประเดี๋ยวก็กินหมดเท่านั้น แต่เด็กคนนี้น่าเลื่อมใสจริง ๆ ไม่รู้ว่าลูกเต้าเหล่าใคร   กลับถึงกุฏิ พอฉันเสร็จแล้วรีบนั่งสมาธิทันทีวันนั้นสติดีมากจริง ๆ พอเมื่อยก็นึกถึงหน้าเด็กคนนั้น เมื่อยไม่ได้ ต้องนั่งต่อ

      เคยเล่าเรื่องนี้ให้ธรรมทายาทฟังว่า ออกบิณฑบาตบ่อย ๆ จะได้ข้อเตือนสติหลายอย่างทำให้ได้คิดแล้วสติดีมาก แต่ในเวลาเดียวกันถ้าองค์ไหนไม่เคยฝึกสมาธิมาก่อน ไม่ฝึกสติให้ดีเห็นนิ้วโยมสวย ๆ อดใจไม่ได้เหลือบดูหน้าเดี๋ยวก็สึกจนได้

      ทีนี้มาพูดถึงพวกเราชาวบ้านบ้าง ต่อไปภายหลังเมื่อเราจะทำงานอะไร ไม่ว่ารับราชการงานเมืองหรือเป็นลูกจ้างเอกชน ขอให้เคารพทั้งค่าจ้างแรงงานและเคารพศักดิ์ศรีของตัวเองรับผิดชอบหน้าที่ให้ดี ชนิดที่ “หลบ ๆ อู้ ๆพอสู้กันไป ไม่หลบไม่อู้ก็สู้ไม่ไหว” อย่าไปจำเอามาใช้ เพราะนายจ้างก็จะถือคติว่า “หลบ ๆเลี่ยง ๆ ก็เลี้ยงไม่ไหว ไม่หลบไม่เลี่ยงก็เลี้ยงกันไป”

       พระภิกษุรับบาตรแล้วต้องตั้งใจปฏิบัติธรรมให้เต็มที่จึงจะถูกต้อง เราชาวบ้านก็เหมือนกันอยู่ในโลกนี้รับปากทำงานให้ใครก็ต้องทำให้เต็มที่ อย่าออมแรง  ร่างกายคนเรานี้แปลก ยิ่งออกแรงยิ่งได้แรง เหมือนนักกีฬาที่ยิ่งออกแรงกำลังก็ยิ่งดีถ้าเอาแต่กินกับนอนละก็แรงจะค่อย ๆ หายไปนักศึกษายิ่งอ่านหนังสือ ยิ่งท่องหนังสือ ยิ่งอดตาหลับขับตานอนยิ่งได้ปัญญา

       อยู่ที่ไหนอย่าออมแรง โบราณท่านว่า “คนที่เกียจคร้านไม่ชอบออกแรง ทำงานไม่เต็มแรง มักจะมีข้อเสีย คือ เหงื่อจะตกใน เมื่อตกมาก ๆ เข้าก็เอ่อขึ้นท่วมหัวใจ แล้วไหลล้นทะลักออกมากลายเป็นน้ำตา” ขี้เกียจแล้วมักต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่าในภายหลัง พวกเราอย่าไปเป็นกันนะ

       พวกผัดวันประกันพรุ่งก็เช่นกัน แหม…ยังเช้านัก สายนัก เอาไว้ก่อนเถอะ บ่อยเข้าจะติดนิสัยจับจด เลือกงาน ท้องาน อยู่ที่ไหนก็รกที่นั่น แม้งานส่วนตัวก็พลาดไปหมดพวกเช้าชามเย็นชาม เลิกเสีย ใครแก้ไขตัวเองได้อย่างหลวงพ่อว่า อยู่ที่ไหนก็จะเป็นที่รักของคนที่นั่น เขาจะรักเอง ถึงไม่หล่อ รูปร่างอย่างกับรถถังก็ยังน่ารัก ถึงไม่สวย ผิวพรรณหน้าตาไม่น่าดู ดำอย่างกับอีกา เขาก็ยังรักเรา

       ขอย้อนกลับมาอธิบายเรื่อง “ธรรมเนียมการรับบิณฑบาต” อีกหน่อย เพื่อว่าพวกเราฆราวาสจะได้ปฏิบัติต่อพระภิกษุให้ถูกต้องบุญกุศลจะได้เกิดแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

       พระภิกษุท่านมีธรรมเนียมของท่าน แต่ญาติโยมไม่ค่อยรู้กัน เมื่อลูกชาย น้องชาย พี่ชาย หรือสามี มาบวชแล้วออกบิณฑบาตด้วยความเป็นห่วงเกรงจะลำบากเรื่องอาหารการขบฉัน พอตักบาตรเสร็จก็รีบถามเลย “หลวงพี่ต้องการอะไรบ้าง...” หรือไม่ก็ “หลวงพี่ขาดเหลืออะไรก็บอกนะ…แหม!บิณฑบาตเจ็บเท้าแย่เลย…ฯลฯ” ชวนคุยไปโน่นบางทีก็เซ้าซี้จะให้ท่านตอบให้ได้   อย่างนี้อย่าทำ พระวินัยกำหนดให้ท่านสำรวม แลดูแต่ในบาตร ไม่มีสิทธิ์พูดคุยกับญาติโยมเวลารับบาตร เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายห้ามชวนพระคุยเวลาตักบาตรเด็ดขาดแมหน้าท่านกอย่าจ้องมอง ตางคนต่างทำภาระของตัว เราเป็นคนตักบาตรก็ตักไป ส่วนพระท่านรับบาตร ท่านก็แลดูในบาตร ไม่จนใจจริง ๆท่านไม่พูดด้วยหรอก ใครที่เคยหลงโกรธพระว่า “เอ๊ะ…พูดด้วยหนหนึ่งก็แล้ว สองหนก็แล้วยังทำเฉยไม่ยอมตอบสักที ไม่เต็มใจรับบาตรหรือไง…” คราวนี้คงรู้คำตอบแล้วนะ

       อีกกรณีหนึ่ง เวลาตักบาตร บางครั้งข้าวสุกติดทัพพีเหนียวหนับ ใส่ไม่ลงบาตร ไม่รู้จะทำอย่างไร เห็นหลวงพี่ประคองบาตรแน่นอยู่ก็เลยเอาทัพพีเคาะกับบาตรหลวงพี่ เล่นเอาหลวงพี่ผวา พูดไม่ออก อย่าทำอย่างนั้นนะ ของที่ใส่ลงในบาตรก็เช่นกัน ถ้าเป็นข้าวก็แล้วไป แต่ถ้าเป็นกับข้าวควรหาถุงพลาสติกใส่ไว้สักชั้นหนึ่ง จะได้ไม่ไปปนอยู่กับข้าวสุกหลายคนคงนึกถึงสภาพออก สงสารพระบ้างเถิดนะ

    พวกผลไม้ เช่น มะม่วงสุก ถ้าใส่ลงไปในบาตรปนกับข้าวร้อน ๆ พระท่านฉันไม่ได้หรอกเพราะมะม่วงนอกจากจะสุกตามธรรมชาติแล้วยังถูกนึ่งด้วยข้าวอีก กลายเป็นมะม่วงตายนึ่งไปเลย น่าเสียดาย

       พวกอาหารกระป๋อง เช่น เนื้อกระป๋องหรือปลากระป๋องก็เช่นกัน ช่วยใส่ถุงพลาสติกให้เรียบร้อยด้วย เพราะบางทีกระป๋องเป็นสนิมหรือสีอันตรายจากสลากติดกระป๋องมีอยู่ เมื่อใส่ลงไปในบาตร ของในบาตรเลยเปื้อนหมดพระก็พูดไม่ออก ผลสุดท้ายต้องไปเลือกทิ้งกลายเป็นว่าทำความลำบากให้พระโดยไม่รู้ตัว

        บุญกุศลเป็นเรื่องที่ต้องการความละเอียดอ่อน จึงควรรอบคอบกันสักหน่อย อย่าเห็นเป็นเรื่องจุกจิกจู้จี้เลย

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๖๑ เดือนมีนาคม ๒๕๕๙

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล