DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
ท่าทีต่อสงฆ์ในยุคปัจจุบัน
พระสงฆ์ถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นหนึ่งในพุทธบริษัท ๔ ที่เป็นเสาหลักพยุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่แล้ว พระสงฆ์ยังเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยซึ่งถือว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของชาวพุทธถึงแม้คำว่า “พระสงฆ์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยจะหมายเอาอริยสงฆ์ ซึ่งมี ๔ คู่ ๘ บุรุษ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามีพระอนาคามี และพระอรหันต์ก็ตาม แต่กระนั้นพระสงฆ์ที่ยังมิได้เป็นอริยสงฆ์ก็นับว่าเป็นสังฆรัตนะ โดยเป็นสงฆ์ที่เรียกว่าสมมติสงฆ์เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้แก่ญาติโยมได้ บทบาทที่สำคัญที่สุดของพระสงฆ์ ก็คือ การปฏิบัติตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำคำสอนของพระพุทธองค์มาถ่ายทอดให้แก่พุทธบริษัท และสืบทอดคำ สอนนี้ไม่ให้สูญหายไป อาจกล่าวได้ว่า ที่พระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันตั้งอยู่ได้ก็เพราะอาศัยพระสงฆ์นั่นเอง
ในปัจจุบัน มีการเสนอข่าวในแง่ลบเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์ในสังคมไทยอยู่บ่อย ๆเกิดเป็นกระแสความคิดว่า พระสงฆ์เป็นปัญหาสังคม ทำให้ชาวพุทธเสื่อมศรัทธาไม่อยากทำบุญ และเริ่มหนักขึ้นจนกลายเป็นการจ้องจับผิดพระ ถึงขนาดด่าว่าพระอย่างเสียหายพระสงฆ์ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นที่พึ่งทางจิตใจของญาติโยม มีบทบาทและมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ถูกล่วงเกินและลดบทบาทลงอย่างเห็นได้ชัด
" พระภิกษุตามวัดต่าง ๆ มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ที่ตั้งใจรักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฝึกจิต
ยินดีในความมักน้อย สันโดษ แต่สื่อไม่ได้นำข่าว
ในด้านดีของพระมาเสนอต่อสาธารณชน
ผู้คนในสังคมจึงพากันเข้าใจว่าพระดี ๆ หาไม่ได้แล้ว"
แนวคิดสำคัญของชาวพุทธที่ดีที่พึงปฏิบัติต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็คือ การใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะตามความเป็นจริง ถ้าหากเราทำความเข้าใจโดยแยกแยะให้ดี ก็จะพบว่า พระภิกษุสามเณรในประเทศไทยมีอยู่ถึง ๓๐๐,๐๐๐ กว่ารูป จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีผู้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยบ้าง เพราะคนในโลกนี้มีทั้งคนดีและไม่ดี จึงเป็นไปได้ที่คนไม่ดีจะหลุดเข้ามาบวช แม้ในสมัยพุทธกาลก็มีพระภิกษุจำนวนไม่น้อยที่ทำผิดศีลจนขาดจากความเป็นพระ แต่ขณะเดียวกันพระภิกษุที่ตั้งใจออกบวช ฝึกตนจนเป็นพระอริยสงฆ์ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับในปัจจุบัน พระภิกษุที่ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรมก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ดังเช่น พระภิกษุในโครงการบวชแสนรูป ที่มีการฝึกตน ทนหิว บำเพ็ญตบะเพื่อเป็นพระแท้ และยังมีการเดินธุดงค์ไปพัฒนาวัดร้างทั่วประเทศ รวมทั้งพระภิกษุตามวัดต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ตั้งใจรักษาศีลปฏิบัติธรรม ฝึกจิต ยินดีในความมักน้อยสันโดษ แต่สื่อไม่ได้นำข่าวในด้านดีของพระมาเสนอต่อสาธารณชน ผู้คนในสังคมจึงพากันเข้าใจว่าพระดี ๆ หาไม่ได้แล้ว
ถ้าหากเราพิจารณาให้ดีก็จะพบว่าวัฒนธรรมการเสนอข่าวของทุกวันนี้ คือ เน้นการนำเสนอข่าวลบหรือข่าวร้าย บางข่าวก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง มีคำ กล่าวหนึ่ง ที่สะท้อนภาพของสื่อได้ชัดเจน คือ “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์” และถ้าหากเราลองไปสำรวจข่าวที่พาดหัวอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ปัจจุบัน ก็จะพบว่า ข่าวส่วนใหญ่เป็นข่าวฆาตกรรม ข่าวคนฆ่าตัวตาย ข่าวคนทำ ผิดกฎหมาย ข่าวด้านลบเรื่องส่วนตัวของดารา เป็นต้น
ดังนั้น สิ่งที่เราควรจะช่วยกันทำก็คือทำหน้าที่ของการเป็นชาวพุทธที่ดี ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงบทบาทของอุบาสกในพระพุทธศาสนาไว้ใน หานิสูตร อังคุตตรนิกายสัตตกนิบาตว่า “ธรรม ๗ ประการ เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของอุบาสก คือ อุบาสกไม่ขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุ ๑ ไม่ละเลยการฟังธรรม๑ ศึกษาในอธิศีล ๑ มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งที่เป็นเถระ ทั้งเป็นผู้ใหม่ ทั้งปานกลาง ๑ ไม่ตั้งจิตติเตียน ไม่คอยเพ่งโทษ ๑ ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอก ๑ กระทำสักการะก่อนในเขตบุญในศาสนานี้ ๑” นั่นคือ ชาวพุทธที่ดีควรเข้าวัดปฏิบัติธรรม และช่วยกันดูแลพระพุทธศาสนา อุปัฏฐากพระภิกษุสามเณรส่งเสริมยกย่องให้เป็นต้นแบบของสังคม ผู้ที่มาภายหลังจะได้เจริญรอยตาม แต่ถ้าพบพระภิกษุสามเณรรูปใดปฏิบัติตนไม่เหมาะสม ก็ช่วยกันจัดการแก้ไข ไม่นิ่งดูดาย แต่ไม่ควรนำมาประจานให้หมู่สงฆ์เสียหาย ดังที่ปรากฏในหน้าสื่อในปัจจุบัน ควรแก้ไขด้วยการแจ้งผู้ปกครองสงฆ์ หรือถวายความรู้ท่านบ้างด้วยจิตปรารถนาดี หากท่านไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงและสามารถกลับตัวกลับใจได้ ก็จะเป็นกำลังของพระศาสนาต่อไป หากชาวพุทธมีท่าทีที่ถูกต้องกับข่าวที่ปรากฏ และปฏิบัติต่อพระสงฆ์ได้เหมาะสมกับฐานะของตนเช่นนี้ พระสงฆ์ก็จะเป็นกำลังที่เข้มแข็งในการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญต่อไปอีกยาวนาน
จากหนังสือ ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา GB 101