ชวนอ่าน
เรื่อง : มาตา
IDOP รวมศรัทธานานาชาติ
โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทนานาชาติ รุ่นที่ ๑๔
พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง กว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ทรงใช้เวลายาวนานถึง ๒๐ อสงไขยกับแสนมหากัปดังนั้นหลังจากตรัสรู้แล้วจึงทรงใช้เวลาตลอดพระชนม์ชีพเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยเริ่มการเผยแผ่อย่างจริงจังเมื่อทรงมีพระอรหันตสาวก ๖๐ องค์
ในครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานโอวาทแก่พระอรหันต์ทั้ง ๖๐ องค์ ซึ่งเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรกของโลกว่า “...ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประกาศพรหมจรรย์อันงามในเบื้องต้นท่ามกลาง และที่สุด เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ...สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสน้อยมีอยู่ ผู้สามารถรู้ธรรมยังมีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม...”
ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวอันเลิศของพระพุทธศาสนา คือ เป็น ศาสนาแห่งปัญญา,ศาสนาแห่งสันติภาพ และ ศาสนาแห่งการดับทุกข์ ประกอบกับนโยบายการเผยแผ่เชิงรุกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปทั่วชมพูทวีปอย่างรวดเร็ว
ต่อมา ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชพระพุทธศาสนาแผ่ขยายมายังสุวรรณภูมิอันเป็นที่ตั้งของหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย และได้รับการทำนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองสืบมา ดังนั้นถึงแม้ว่าศาสนาพุทธในประเทศอินเดียสูญสิ้นไปแล้วก็ตาม ก็ยังมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในแถบสุวรรณภูมิและสืบทอดมาได้จนถึงปัจจุบัน
๑
สำหรับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกายนั้น ยึดตามโอวาทของพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสำคัญ คือ เป็นไปเพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งการเผยแผ่นั้น นอกจากเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้คนในประเทศแล้ว ยังมุ่งมั่นเผยแผ่ไปยังต่างประเทศ เพื่ออนุเคราะห์แก่มหาชนชาวโลกโดยผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพีซเรฟโวลูชัน (จัดนั่งสมาธิออนไลน์และลงพื้นที่จัดกิจกรรมในประเทศต่าง ๆ) โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่พระภิกษุสามเณร ณ ศูนย์สาขาต่างประเทศ, โครงการบรรพชาสามเณร (ประเทศบังกลาเทศ, ศรีลังกา,เนปาล), โครงการบวชอุบาสก-อุบาสิกาแก้ว(ประเทศอินเดีย), โครงการวิสาขบูชานานาชาติ(ประเทศอินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มองโกเลีย, อินเดีย) ฯลฯ
ด้วยความทุ่มเทของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำให้ชาวท้องถิ่นเกิดความสนใจพากันมาฝึกสมาธิเป็นจำนวนมาก บางคนเกิดศรัทธาถึงกับเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ บางคนเข้ารับการบรรพชาอุปสมบท และที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งก็คือ บางท่านซาบซึ้งในรสพระธรรมบวชต่อยังไม่มีกำหนดสึก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นที่ต้องการของผู้คนมากมาย และขณะนี้พวกเขากำลังรอเราอยู่
๒
โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทนานาชาติ ที่เรียกกันว่า IDOP หรือInternational Dhammadayada Ordination Program หรือ 国际佛法薪传者短期出家活动 เป็นอีกโครงการหนึ่งของวัดพระธรรมกายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้มหาชนชาวโลกได้มาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดพระธรรมกายประเทศไทย จะได้ฝึกฝนกายใจให้เป็นพระแท้โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การทำพระนิพพานให้แจ้ง
กิจกรรมระหว่างการอบรมของธรรมทายาทมีหลากหลายประการ เช่น ทำสมาธิ ศึกษาหลักธรรม สวดมนต์ บิณฑบาต เดินธุดงค์ ฝึกความดีสากล (สะอาด ระเบียบ สุภาพ ตรงเวลาและสมาธิ) ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อธรรมทายาททั้งขณะอยู่ในโครงการและเมื่อลาสิกขาออกไปแล้ว
๓
โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทนานาชาติเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยมีการจัดอบรมทุกปี ปีนี้เป็นรุ่นที่ ๑๔ รวมจำนวนธรรมทายาทในโครงการนี้ตั้งแต่ปีแรกถึงปัจจุบัน ๙๖๘ คน
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ นี้ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนาจากนานาชาติสมัครเข้าร่วมโครงการ ๕๗ คน ๑๑ สัญชาติ โดยแบ่งเป็นกลุ่มภาษาอังกฤษ ๑๕ คน จากประเทศ ออสเตรเลีย อเมริกา มองโกเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย จีน ไทย และ กลุ่มภาษาจีน ๔๒ คน จากประเทศจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง
ผู้เข้าร่วมโครงการนี้มาจาก ๕ วิธีหลัก ๆ คือ ๑) ศูนย์สาขาในต่างประเทศแนะนำมา ๒) เคยไปปฏิบัติธรรมกับโครงการมิดเดิลเวย์หรือโครงการพีซเรฟโวลูชัน ๓) ทราบข่าว การอบรมจากผู้ที่เคยบวช IDOP ๔) ผู้นำบุญที่รู้จักโครงการ IDOP ชักชวนมา ๕) บุคคลทั่วไปสมัครออนไลน์มาเอง
๔
โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทนานาชาติ รุ่น ๑๔ อบรมระหว่างวันที่ ๓ กรกฎาคม - ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
พิธีอุปสมบทจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ อุโบสถวัดพระธรรมกาย โดยมีพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เมตตาเป็นพระอุปัชฌาย์
๕
สำหรับเหตุผลหลักที่ธรรมทายาทเหล่านี้ตัดสินใจมาบวชมีอยู่หลายประการ อาทิ เหตุผลของ ธรรมทายาท Sarut Uttraphan นักธรณีวิทยาจากประเทศมาเลเซีย ที่กล่าวว่า
“...อาตมามีคำถามในใจว่า ทำไมผู้คนจำนวนมากถึงศรัทธาวัดพระธรรมกาย คงจะมีบางสิ่งที่วัดนี้ทำได้ดี นี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาตมามาบวช เพราะอาตมาอยากมาหาคำตอบที่คนอื่นได้ค้นพบแล้ว
“...นอกจากนี้อาตมายังต้องการบวชให้พ่อแม่ และอยากศึกษาคำสอนในพระพุทธ-ศาสนา การไปวัดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เรียนรู้คำสอนได้มากเท่ากับการมาบวช”
ส่วนธรรมทายาทท่านอื่น ๆ ก็มีเหตุผลแตกต่างกันออกไป เช่น อยากค้นหาความสุข, อยากเป็นพระ, อยากหาคำตอบของชีวิต, สนใจศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนา, อยากนำวิธีการทำสมาธิไปสอนคนอื่น ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ล้วนสรุปให้เห็นถึงความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในใจของทุกท่านทั้งสิ้น
๖
หลังจากผ่านการอบรมในโครงการนี้ระยะหนึ่งแล้ว ธรรมทายาทต่างรู้สึกประทับใจและรักชีวิตสมณะเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีหลายท่านมาบวชในโครงการนี้มากกว่า ๑ ครั้ง
ต่อไปนี้คือความรู้สึกของ ธรรมทายาท Chankarankumarat ปริญญาเอกด้านปรัชญาศาสนาจากประเทศอินเดีย ที่มีต่อโครงการนี้
“...สิ่งที่อาตมาชอบมากที่สุด คือ การได้ฝึกตัวแบบพระ เริ่มตั้งแต่ก่อนบวช พวกเราได้ฝึกทำกิจวัตรกิจกรรมร่วมกันอย่างเข้มงวดได้ฝึกระเบียบวินัย รวมไปถึงมีการฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำให้มีสติมากขึ้น อาตมารู้สึกชอบเพราะต้องการพัฒนาตัวเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป...
“...การสอนของวัดมุ่งเน้นให้เรียนรู้ความจริงของชีวิตผ่านบทฝึกเรื่องวินัย เคารพ อดทนสอนให้เห็นคุณค่าของทุกชีวิต ให้ใจเย็น สงบคำสอนเหล่านี้ถ้าหากเรานำมาปฏิบัติจะทำให้เราเข้าใจชีวิตได้ดีขึ้นมาก หากแนวคิดนี้ถูกเผยแผ่ไปสู่ชาวโลก และให้ชาวโลกเข้าใจเรื่องการทำสมาธิ โลกจะน่าอยู่ขึ้นเยอะเลยครับ...
“...ที่วัดสอนให้เราเรียนรู้คำสอนของพระพุทธองค์และน้อมนำมาปฏิบัติ ถ้าอาตมาไม่ได้มาวัดพระธรรมกาย อาตมาก็คงเป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่รู้จักพระพุทธศาสนาเหมือนคนทั่วไป แต่ที่วัดสอนเรื่องศีลธรรม และวัฒนธรรมชาวพุทธอย่างเข้มข้น ทำให้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีตัวตน...”
๗
เมื่อผ่านการอบรมไปได้ระยะหนึ่ง บรรดาพระภิกษุธรรมทายาทต่างได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการทำสมาธิ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็น “อกาลิโก” คือ อยู่เหนือกาลเวลา ไม่เคยล้าสมัย และไม่เคยตกรุ่น ถ้าหากผู้คนไม่ว่ายุคสมัยไหนหรือเชื้อชาติอะไรตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์เขาย่อมจะได้รับผลดีดังที่ธรรมทายาทเหล่านี้ได้พิสูจน์ด้วยตนเองแล้ว
ขอกราบอนุโมทนาบุญพระภิกษุธรรมทายาทนานาชาติทุกรูป และกราบอนุโมทนาบุญทีมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกรูป/ทุกคนที่เพียรพยายามสืบต่อลมหายใจพระพุทธศาสนาเอาไว้ เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งนอกจากเป็นการปฏิบัติตามโอวาทของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นการวางรากฐานพระพุทธศาสนาเอาไว้ในต่างแดนเพื่อความไม่ประมาทอีกด้วย