๗๐ ปี
พระบารมีประทับในหทัยราษฎร์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงรับคำกราบบังคมทูลพระกรุณาอัญเชิญขึ้นครองสิริราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะมีพระชนมายุ ๑๘ พรรษา
ในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และทรงถือพระปฐมบรมราชโองการนี้เป็นพระบรมราชปณิธานว่าทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์เพื่อรับใช้ประเทศชาติ มิใช่เพื่อประโยชน์ของพระองค์เอง จากนั้นทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณอันสูงสุด เพื่อนำความมั่นคงก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติและประชาชน
ผลงานตลอดเวลา ๗๐ ปี ที่ทรงครองราชย์เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ทรงปฏิบัติตามพระปฐมบรมราชโองการนี้อย่างดีที่สุดจวบจนเสด็จสู่สวรรคาลัย
๑
ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษาด้านวิทยาศาสตร์-วิศวกรรมศาสตร์เมื่อเสด็จดำรงสิริราชสมบัติแล้ว ทรงเน้นศึกษาด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ เพื่อประโยชน์แก่การทรงเป็นพระประมุขของชาติ อย่างไรก็ตาม พระองค์ยังทรงพระปรีชาสามารถในวิทยาการด้านอื่นด้วย และทรงนำวิทยาการเหล่านั้นมาใช้ในการพัฒนาประเทศให้มีความอุดมสมบูรณ์ มั่นคง และก้าวหน้า เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฎร์โดยมิได้ทรงเลือกเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์แต่อย่างใด
๒
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้ พระองค์ทรงพระวิริยอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในชนบทอย่างต่อเนื่องปีละ ๘ เดือนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อทรงศึกษาปัญหาของพสกนิกรจนกระทั่งทรงประจักษ์ถึงความเดือดร้อนของประชาชนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอันเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ดำรงชีวิตด้วยความลำเค็ญและด้อยโอกาส
จากนั้น ทรงมุ่งมั่นค้นคว้าหาวิธีขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากของราษฎร โดยมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกิดขึ้นกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๘ ประเภท ดังนี้ ๑) โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ ๒) โครงการพัฒนาด้านการเกษตร ๓) โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ๔) โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ ๕) โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข ๖)โครงการพัฒนาด้านการคมนาคมการสื่อสาร ๗) โครงการด้านสวัสดิการสังคมการศึกษา ๘) โครงการพัฒนาแบบบูรณาการอื่น ๆ
นอกจากนี้ ยังพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นความสมดุล ความพอประมาณเหมาะกับฐานะของตน และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์
๓
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายเหลือคณานับเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรทรงอุทิศกำลังพระวรกาย กำลังพระปัญญากำลังพระราชทรัพย์ เพื่อขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงสิริราชสมบัติ ทั้งนี้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดไม่ได้ จนกระทั่งราษฎรในชนบทได้รับการพัฒนาทางด้านอาชีพสุขภาพอนามัย และเศรษฐกิจ ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและมีรายได้เลี้ยงครอบครัวตามอัตภาพ อีกทั้งยังทรงขจัดปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนในเมืองด้วย เช่น ทรงแก้ปัญหาการจราจร อุทกภัย และปัญหาน้ำเน่าเสีย ฯลฯ
พระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่สายตาชาวโลก จึงทรงได้รับการสดุดีและทูลเกล้าถวายปริญญากิตติมศักดิ์เป็นจำนวนมากทุกสาขาวิชา นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติยังทูลเกล้า ถวายรางวัลแด่พระองค์นับสิบรางวัล รวมทั้ง “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” หรือ “UNDP Human Development Lifetime Achievement Award ซึ่งเป็นรางวัลของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ที่ริเริ่มจัดทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯถวายเป็นพระองค์แรก ในฐานะที่ทรงทุ่มเทให้แก่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยโดยมี นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เดินทางมาขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ณ วังไกลกังวล หัวหิน
๔
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปกครองประเทศชาติด้วยทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร และสังคหวัตถุซึ่งเป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงสนพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ดังที่ครั้งหนึ่งเคยมีกระแสพระราชดำรัสในท่ามกลางมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยว่า “โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเองก็เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล ซึ่งเคยคิดอยู่ว่า ถ้าโอกาสอำนวยข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่ง...”
ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ทรงแสดงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ยิ่ง ด้วยการเสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) เป็นพระราชอุปัชฌาย์และมีพระสมณนามว่า “ภูมิพโล”
เมื่อทรงพระผนวชแล้ว ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดระยะเวลา ๑๕ วัน พระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจเช่นพระภิกษุทั้งหลาย เสด็จทำวัตรเช้า-เย็นที่พระอุโบสถร่วมกับพระภิกษุ-สามเณรมิได้ขาดแม้วันเดียวเสด็จพระราชดำเนินออกบิณฑบาตโปรดพสกนิกรทุกวัน นอกจากนี้ยังทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดด้วยความเคารพ ดังที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเล่าว่า “...พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงพระผนวชตามราชประเพณีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้แต่ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้ทรงเป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า "หัวใหม่" ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนาฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า "บวชด้วยศรัทธา" เพราะทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธา ประกอบด้วยพระปัญญา และได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด”
๕
หลังจากทรงลาสิกขาเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาตลอดมา และทรงน้อมนำมาใช้ในการปกครองแผ่นดิน อีกทั้งยังนำไปเผยแผ่เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอยู่เนือง ๆ อาทิ พระบรมราโชวาทที่พระราชทานไปอ่านในพิธีเปิดประชุมของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ว่า “...ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมจะมีชีวิตและกิจการงานที่ประกอบด้วยความสว่าง สะอาดและสงบ ที่ว่า "สว่าง" นั้น คือมีปัญญา รู้เหตุ รู้ผล รู้ผิดชอบชั่วดีโดยกระจ่างชัด ที่ว่า "สะอาด" นั้น คือไม่มีความทุจริตทั้งกาย วาจา ใจ มาเกลือกกลั้ว เพราะเห็นจริงชัดในกุศลและอกุศล ที่ว่า "สงบ" นั้น คือ เมื่อไม่ประพฤติทุจริตทุก ๆ ทางแล้ว ความเดือดร้อนจากบาปทุจริตก็ไม่มาแผ้วพาน คนที่ประพฤติตนและปฏิบัติงานโดยตั้งอยู่ในธรรมอย่างเคร่งครัด จึงเป็นผู้มีปกติสุขร่มเย็น ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง แก่ผู้อื่น และสังคมส่วนรวม...”
นอกจากนี้พระองค์ยังพอพระราชหฤทัยในการสนทนาธรรมกับสมเด็จพระสังฆราชและพระสงฆ์ผู้ทรงศีลเป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงปู่ฝัน อาจาโร, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่ดูลย์ อตุโล, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ,หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ฯลฯ ทำให้ทรงรอบรู้หลักธรรม และทรงตระหนักถึงคุณค่าอันลึกซึ้งของพระพุทธศาสนา ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานไปอ่านในพิธีเปิดประชุมของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ว่า “...ธรรมะในพระพุทธศาสนามีความหมดจดบริสุทธิ์และสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยเหตุผล ซึ่งบุคคลสามารถจะศึกษาและปฏิบัติด้วยปัญญา ความเพ่งพินิจ ให้เกิดประโยชน์ คือความเจริญผาสุกแก่ตนเองได้อย่างเที่ยงแท้ตั้งแต่ประโยชน์ขั้นพื้นฌาน คือการตั้งตัวได้เป็นปกติสุข จนถึงประโยชน์ขั้นปรมัตถ์ คือหลุดพ้นจากเครื่องเกาะเกี่ยวร้อยรัดทุกประการ ข้อนี้เป็นลักษณะพิเศษในพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้พระพุทธศาสนามีคุณค่าประเสริฐสุด...”
๖
ในฐานะองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงให้การอุปถัมภ์และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกศาสนาภายใต้พระบรมโพธิสมภารโดยทั่วถึงกัน และเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมงานของศาสนาต่าง ๆ ตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญ
นอกจากนี้ยังพระราชทานพระราชทรัพย์อุปถัมภ์บำรุงตามสมควร ซึ่งมีผลให้ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันในประเทศไทยอย่างราบรื่น
ในฐานะพุทธมามกะ นอกจากทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการที่เกื้อหนุนพระพุทธศาสนา เช่น พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่สามเณรที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค อุปสมบทเป็นพระภิกษุนาคหลวงทุกปี, พระราชทานพระราชทรัพย์ทำนุบำรุงวัดวาอารามและปูชนียสถานทางศาสนา, โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "พระพุทธนวราชบพิตร" เพื่อพระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดต่าง ๆ, โปรดเกล้าฯ ให้จดั สร้าง "พุทธมณฑล" เป็นศูนย์กลางอุทยานทางพระพุทธศาสนาในวาระเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ, ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนาเป็นนิจ, พระราชทานเทียนพรรษาแก่วัดต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด, เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินตามวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด, โปรดเกล้าฯ ให้จัดประกวดการแต่งหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชาและจัดพิมพ์จำหน่ายในราคาถูกเพื่อเผยแผ่แก่สาธารณชน, โปรดเกล้าฯ ให้จัดรายการธรรมะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทางสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อเผยแผ่ศีลธรรม, ฯลฯ
นอกจากพระราชกรณียกิจดังกล่าวแล้วยังเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีทางศาสนาตามที่ประชาชนกราบบังคมทูลอัญเชิญอีกด้วย เช่น พิธีฝังลูกนิมิต, พิธีผูกพัทธสีมา, พิธียกช่อฟ้า, พิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ, พิธีเททองหล่อพระประธาน, พิธีหล่อเทียนพรรษา ฯลฯ
พระราชกรณียกิจมากมายทั้งทางโลกและทางธรรมแสดงให้เห็นชัดว่า พระองค์ทรงมอบเวลาเกือบทั้งพระชนม์ชีพให้แก่ประชาชนประเทศชาติ และพระศาสนา จนแทบไม่เหลือเวลาไว้เป็นส่วนพระองค์เลย
๗
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลา ๑๕.๕๒ น. ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมพรรษา ๘๙ พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติได้ ๗๐ ปี
การเสด็จสวรรคตของพระองค์มิเพียงเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศเท่านั้น แต่กษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขของประเทศต่าง ๆ ยังทรงตระหนักถึงความสูญเสียนี้ และทรงส่งพระราชสาส์นมาร่วมถวายความอาลัย อาทิ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร, สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ ๑๖ กุสตาฟแห่งสวีเดน, สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ ๒ แห่งเดนมาร์ก, สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลมอเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์, สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ ๕ แห่งนอร์เวย์ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม, พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา, สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ฯลฯ
นอกจากนี้ ผู้นำประเทศต่าง ๆ ยังพากันร่วมถวายความอาลัย อาทิ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา, ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ แห่งสหราชอาณาจักร, นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล แห่งสาธารณรัฐเยอรมนี, นายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ แห่งนิวซีแลนด์, นายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เทิร์นบุลล์ แห่งออสเตรเลีย, นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะแห่งญี่ปุ่น, นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง แห่งสิงคโปร์ ฯลฯ รวมทั้งยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกมากมายร่วมถวายความอาลัยแม้กระทั่งที่ประชุมองค์การสหประชาชาติก็ยืนสงบนิ่งถวายความอาลัยและมีผู้แทนกล่าวสดุดีถวายพระเกียรติ
สำหรับประชาชนชาวไทยนั้น ต่างพากันไปต่อแถวเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทพระบรมมหาราชวัง อย่างมืดฟ้ามัวดิน ส่วนชาวไทยในต่างประเทศ ก็มุ่งหน้าไปลงนามถวายความอาลัยที่สถานทูตไทย บ้างก็ไปร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมถวายพระบรมศพ ณ วัดไทย หรือไปร่วมพิธีถวายความอาลัยตามชุมชนต่าง ๆ
๘
สำหรับวัดพระธรรมกาย มูลนิธิธรรมกาย และวัดสาขาทั่วโลก รวมทั้งคณะกัลยาณมิตรทั่วโลก แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณถวายความอาลัยด้วยการจัดพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรวมทั้งเชิญชวนชาวไทยสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตรวันละ ๙ จบ และเจริญจิตตภาวนาน้อมถวายเป็นพระราชกุศลด้วย
พิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมถวายพระบรมศพ จัดขึ้นทุกวันในเวลา ๑๕.๕๒ น. ณ ศาลาประชาคม หน้าอุโบสถวัดพระธรรมกายตลอดระยะเวลา ๑ เดือน
อนึ่ง ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลา ๑๕.๕๒ น. วัดพระธรรมกายประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลสัตตมวาร (ครบ ๗ วัน) ถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ห้องแก้วสารพัดนึกสภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ โดยมีพระเดชพระคุณพระภาวนาธรรมวิเทศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นประธานสวดพระอภิธรรม และมีพระภิกษุ-สามเณร อุบาสก-อุบาสิกา รวมทั้งคณะกัลยาณมิตร เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
ต่อมา ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ มีพิธีบำเพ็ญกุศลปัณรสมวารถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ห้องแก้วสารพัดนึก สภาธรรมกายสากล
นอกจากนี้ วัดพระธรรมกายและมูลนิธิธรรมกาย พร้อมทั้งเครือข่ายคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายทั่วโลก ร่วมกับภาคีเครือข่ายตลาดสดน่าซื้อ ชมรมรังสิตรวมใจ ศูนย์การค้าตลาดรังสิต ร้านขายยาศิริเวช และสถานีวิทยุโทรทัศน์ DMC ฯลฯ ยังเปิดจุดบริการอาหารและน้ำดื่มแก่ประชาชนที่ไปร่วมถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ บริเวณท้องสนามหลวงอีกด้วย
สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมบำเพ็ญบุญ ณ วัดใกล้บ้าน ด้วยการสวดมนต์เจริญจิตตภาวนา รักษาศีล ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ตลอดระยะเวลา ๑ ปี
วัดพระธรรมกายในต่างประเทศทุกวัด
จัดพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระบรมศพ
(ภาพบางส่วนของวัดพระธรรมกายในต่างประเทศ)
วัดพระธรรมกายลอนดอน
วัดพระธรรมกายชิคาโก
วัดพระธรรมกายโอซาก้า
วัดพระธรรมกายแคลิฟอร์เนีย
วัดพระธรรมกายซีแอตเติล
วัดพระธรรมกาย ดี.ซี.
วัดพระธรรมกายออเรกอน
วัดพระธรรมกายมิเนโซตา
วัดพระธรรมกายบอสตัน
วัดพระธรรมกายจอร์เจีย
วัดพระธรรมกายฟลอริดา
วัดพระธรรมกายเทนเนสซี
วัดพระธรรมกายบาวาเรีย
วัดพระธรรมกายเถาหยวน
วัดพระธรรมกายชวาร์ซวัลด์
วัดพระธรรมกายแฟรงก์เฟิร์ต และวัดพระธรรมกายไรน์แลนด์
วัดพุทธไฮล์บรอนน์
วัดพระธรรมกายแมนเชสเตอร์
วัดพุทธไอซ์แลนด์
วัดพระธรรมกายออสเตรีย
วัดพุทธเวียนนา
วัดพระธรรมกายเบเนลักซ์
วัดพระธรรมกายสวิตเซอร์แลนด์
วัดพระธรรมกายปารีส
วัดพระธรรมกายนอร์เวย์
วัดพุทธมอลตา
วัดพระธรรมกายนอร์ทสวีเดน
วัดพระธรรมกายโตเกียว
วัดพระธรรมกายอิบาราขิ
วัดพระธรรมกายโอคแลนด์
วัดพระธรรมกายโทชิหงิ
วัดพระธรรมกายยามานาชิ
วัดพระธรรมกายนางาโน่
วัดภาวนาหยางจู
วัดพระธรรมกายดันนีดิน
วัดพระธรรมกายฮ่องกงและวัดภาวนาเกาลูน
ศูนย์ปฏิบัติธรรมยูเออี (U.A.E.)
วัดพระธรรมกายอัลบูรี
ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า วัดพระธรรมกายมูลนิธิธรรมกาย และคณะกัลยาณมิตรทั่วโลก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ประสูติ
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พระราชบิดา
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
พระราชมารดา
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระเชษฐภคินี
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
การศึกษา
สาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง
พระบรมราชินี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระราชโอรส พระราชธิดา
๑. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
๓. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
๔. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
สวรรคต
วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ (๘๙ พรรษา) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย