วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ก้าวต่อไปบนเส้นทาง ที่เลือกเดิน

ลูกหลวงพ่อ
เรื่อง : กลุ่มดาวมีน

 

ก้าวต่อไปบนเส้นทาง ที่เลือกเดิน

 

ก้าวต่อไปบนเส้นทาง ที่เลือกเดิน,เนื้อนาใน ,อยู่ในบุญ

    พระภิกษุผิวพรรณผ่องใสที่นั่งข้างหน้าเราขณะนี้ มีดีกรีถึง ๒ ดอกเตอร์ คือ ดอกเตอร์ในฐานะนายแพทย์ (M.D.) และดอกเตอร์จากการเรียนจบปริญญาเอก (Ph.D.) แต่ท่านกลับละทิ้งทุกอย่างอกบวช     หลังจากได้สนทนากันแล้ว เราพบว่าท่านมีอุดมการณ์ที่จะทำเพื่อส่วนรวมตั้งแต่ยังเยาว์วัย ต่อมาเมื่อท่านได้พบหมู่คณะที่มีเป้าหมายและอุดมการณ์ชัดเจนที่จะทำประโยชน์แก่มหาชน ท่านจึงตัดสินใจเลือกทางนี้ และก้าวเดินอย่างมั่นคงมาเป็นเวลาถึง ๒๖ ปีแล้ว(อุบาสก ๑๗ ปี & พระ ๙ พรรษา)      พระภิกษุรูปนี้ คือ พระ ดร. นพ. ปวิทัย  วชิรวิชฺโช  

 

   “ตั้งแต่เริ่มโตมา หลวงพี่มีความฝัน มีอุดมการณ์ อยากเป็นคนดี ซึ่งการเป็นคนดีนั้นต้องทำทั้งประโยชน์

ตนและประโยชน์ท่านดังนั้นนอกจากการเรียนแล้ว หลวงพี่จึงทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมด้วย เช่น เป็นหัวหน้า

ชั้นเป็นประธานรุ่นของโรงเรียน ร่วมกิจกรรมกับวงโยธวาทิต รับบริจาคเสื้อผ้าไปมอบแก่ผู้ยากไร้ ฯลฯ”

 

  เรียนจบแล้วทำไมไม่ไปเป็นหมอคะ ทำไมเลือก มาอยู่วัด ?

  “กว่าจะตัดสินใจมาอยู่วัด หลวงพี่ใช้เวลาศึกษาเส้นทางนี้อยู่หลายปีโดยเริ่มตั้งแต่ตอนจบชั้น ม.๖ หลวงพี่เข้าอบรมธรรมทายาท(รุ่นที่ ๑๓) โดยมีคุณแม่เป็นกัลยาณมิตรชวนเข้าวัด

 “การอบรมธรรมทายาทเปิดโลกใหม่ให้แก่หลวงพี่ ทำให้ได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาในรูปแบบวิทยาศาสตร์ที่มีหลักการ เหตุผลสามารถอ้างอิงได้ หลวงพี่พบว่าพุทธศาสตร์สามารถอธิบายหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้ จากที่เราเคยคิดว่าวิทยาศาสตร์คือองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก หลวงพี่ได้เห็นว่า สิ่งที่เหนือกว่าวิทยาศาสตร์ก็คือพุทธศาสตร์

 

“การอบรมธรรมทายาทหล่อหลอมให้หลวงพี่รักพระพุทธศาสนา รักบุญ และยังสร้างมุมมองใหม่ๆให้ด้วยซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ปีถัดมา หลวงพี่จึงเข้าอบรมอีกครั้ง“หลังการอบรมครั้งนี้ หลวงพี่สมาทานศีล ๘ กลับไปด้วย ซึ่งสร้างความแตกตื่นแก่เพื่อน ๆ พอสมควร

“จากนั้นมาหลวงพี่ใช้ชีวิตเหมือนเปลี่ยนไปเป็นคนใหม่ เลิกเรียนก็ไปสวดมนต์ทำวัตรนั่งสมาธิและทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ในชมรมพุทธฯ ในปีต่อมาก็เข้าอบรมอีกเป็นครั้งที่ ๓

 “หลังจากนั้น หลวงพี่ยังออกไปชวนคน มาอบรมธรรมทายาทด้วย เพราะอยากให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น และเมื่อได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพวกเขา หลวงพี่ก็ปลื้มใจมากๆ“เมื่อนึกถึงภาพการสร้างความดีในช่วงนั้นเมื่อใด ในใจหลวงพี่ก็มีแต่ความสุข”

  “เมื่อนึกถึงภาพการสร้างความดีในช่วงนั้นเมื่อใด ในใจหลวงพี่ก็มีแต่ความสุข”

   พระอาจารย์ปวิทัยขึ้น-ล่องเชียงใหม่-ปทุมธานีอยู่หลายปี เพื่อสานฝันทางโลกคู่ไปกับทางธรรม เมื่อจบการศึกษาแล้ว ท่านก็ชั่งใจดูว่าจะเลือกทางไหนดี

  "ถ้าออกไปเป็นหมอ ก็ได้รักษาคนไข้ ได้ทำอาชีพที่ทางโลกยอมรับนับถือ ถ้าไม่เป็นหมอก็ยังมีหมออีมากมาย แต่คนที่มาทำงานลดกิเลสในใจมนุษย์มีไม่มาก เมื่อหลวงพี่เห็นว่าที่วัดพระธรรมกายมีบัณฑิตกลุ่มหนึ่งสละความสะดวกสบายและความก้าวหน้าทางโลกมาช่วยกันทำงานด้านนี้ โดยมีมโนปณิธานแน่วแน่ที่จะนำคำสอนของพระพุทธเจ้าไปสู่ใจชาวโลก เพื่อสร้างสันติสุขในใจของผู้คน และสืบทอดพระพุทธศาสนาไว้เป็นมรดกล้ำค่าแก่โลก หลวงพี่ก็รู้สึกเลื่อมใส นี้เป็นประเด็นหนึ่ง

  “และหากมองในมุมของพระพุทธศาสนาหลวงพี่ก็ยังไม่รู้อะไรอีกมากมาย พระพุทธศาสนายังมีความรู้ที่ลึกซึ้งให้ศึกษาอีกมากพระพุทธเจ้าก็บอกว่าให้มาพิสูจน์

  “นอกจากนี้ หลวงพี่ยังคิดว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญมาก ถ้าจะเอาดีทางไหน เราต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตัวเองเรื่องนั้นถ้าจะเอาดีเรื่องจิตวิญญาณ ก็ควรไปในที่ที่ผู้คนมีคุณภาพทางจิตวิญญาณสูง

 “ที่สำคัญ หลวงพี่รู้สึกศรัทธาและชื่นชมหลวงพ่อธัมมชโยมาก ท่านเป็นต้นบุญต้นแบบในการทำความดี สติปัญญาที่ท่านมี ภูมิรู้ภูมิธรรม การวางตัว การสอน ความเมตตาท่านเหนือกว่าบุคคลทางโลกที่หลวงพี่รู้จัก
ทั้งหมด ทำให้เราอยากทุ่มชีวิตจิตใจ ความรู้ความสามารถ และอุทิศกำลังสนับสนุนงานของท่าน หลวงพี่จึงตัดสินใจมาเป็นอุบาสกถือศีล ๘ ช่วยงานอยู่ที่วัด”

  หลังจากเป็นอุบาสกแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างคะ?

  “รู้สึกมีความสุขและประทับใจในชีวิตที่เรียบง่าย สันโดษ มีระเบียบวินัย มีความเป็นหมู่คณะ ซึ่งเหมาะแก่การฝึกฝนตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นคือ การบวชอุทิศชีวิตแด่พระพุทธศาสนาเป็นลูกที่ดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 “ชีวิตของอุบาสกเป็นชีวิตที่มีคุณค่า ทางสายนี้ดีงามและมีค่าเกินกว่าจะไปเปรียบกับลาภ ยศ สรรเสริญ หรือเงินทอง เพราะเราสามารถทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านได้เต็มที่ ประโยชน์ตนคือเราได้ฝึกตัวได้สั่งสมคุณธรรม ได้ฝึกใจตามคำสอนของพระพุทธเจ้าส่วนประโยชน์ท่านนั้น ตั้งแต่เข้าวัดมา เราก็เห็นว่าสิ่งที่หมู่คณะเราทำเป็นประโยชน์แก่ผู้คน สามารถเปลี่ยนชีวิตเขาให้ดีขึ้นได้จริงเหมือนที่ตัวเราเองก็เปลี่ยนไป”

 หลังจากเป็นอุบาสกรับใช้พระศาสนาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา ๗ ปี หลวงพ่อเมตตาให้ท่านเป็นหนึ่งในทีมงานไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทวีปยุโรป โดยไปทำหน้าที่ในประเทศเบลเยียม ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลีอีกทั้งยังมีโอกาสศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์จากมหาวิทยาลัยหลุยส์ ปาสเตอร์ สตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ (หัวข้อวิทยานิพนธ์ : ประโยชน์ของสมาธิต่อการลดความเครียดที่เกิดจากการทำงาน ศึกษากรณีนักปฏิบัติธรรมชาวพุทธเซนในประเทศฝรั่งเศส) ทั้งนี้เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถให้พร้อมต่อการทำงานเผยแผ่แก่ชาวต่างชาติ

 

  เมื่อกลับจากต่างประเทศแล้ว หลวงพ่อทั้งสองเมตตาให้ท่านบวชอุทิศชีวิต เปลี่ยนฐานะจากอุบาสกผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัยมาเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑หลังจากนั้น พระอาจารย์ปวิทัยก็ตั้งใจเผยแผ่พระพุทธศาสนาในฐานะพระภิกษุรูปหนึ่ง เอื้อประโยชน์แก่มหาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตลอดมา

 

     อะไรคือความภาคภูมิใจของหลวงพี่บนเส้นทางสายนี้คะ ?

    “การได้ทำงานรับใช้พระศาสนา ช่วยงานหลวงพ่อ คือสิ่งที่หลวงพี่ปลาบปลื้มภาคภูมิใจเพราะหลวงพ่อคือที่สุดของบุคคลที่เราอยากเคารพ ท่านเสียสละทุ่มเททำเพื่อชาวโลก มากมาย แม้อายุมากแล้วท่านก็ยังทำงานอยู่ทั้งงานหยาบ งานละเอียด

    “ท่านสร้างวัดใหญ่เพื่อรองรับพระและผู้คนจากทั่วโลก ปัจจัยที่ได้มาก็เอาไปใช้เพื่องานพระศาสนา หลวงพี่ไม่เคยเห็นหลวงพ่ออยากได้นั่นได้นี่เป็นการส่วนตัว กุฏิของท่านเรียบง่ายที่สุด เป็นอาคารไม้ ไม่เห็นมีอะไรพิเศษมีแต่รูปบวชพระ บวชเณร บวชอุบาสิกาแก้วเพราะท่านปลื้มที่เห็นคนมาบวช ปลื้มที่ทำให้ผู้คนมากมายได้มาอยู่ในเส้นทางนี้

    “หลวงพี่เห็นชีวิตความเป็นอยู่ วัตรปฏิบัติความคิด และการกระทำทุกอย่างของท่านแล้วรู้สึกชื่นชม จะหาคนในโลกสักกี่คนที่เป็นแบบนี้หลวงพ่อเป็นบุคคลที่หลวงพี่เชื่อมั่นว่าใจของท่านบริสุทธิ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ที่ผ่านมาแม้จะมีใครวิพากษ์วิจารณ์ ก็ไม่เห็นท่านเอามาเป็นสาระ และไม่เคยคิดจะทำให้บุคคลเหล่านั้น
ต้องเจ็บปวด เสียหาย หรือเดือดร้อนใดๆ เลยตรงกันข้ามท่านกลับให้พวกเราแผ่เมตตาให้ เขาพ้นทุกข์ ให้เขามีความสุข นี้คือหลวงพ่อของเรา

    “นอกจากนี้ หลวงพ่อยังเป็นผู้ที่แสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมะ ท่านเชื่อมั่นว่าสันติภาพโลกเกิดขึ้นได้ด้วยพระพุทธศาสนาด้วยวิชชาของพระพุทธเจ้า และท่านพยายามทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น

     “ตลอด ๕๐ ปีที่ผ่านมา ท่านตั้งหน้าตั้งตาอบรมศีลธรรมแก่ประชาชนตามคำสอนของพระพุทธเจ้า นำหลักธรรมมาเป็นภาคปฏิบัติให้สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ และนำทำกิจกรรมต่างๆซึ่งล้วนผูกอยู่กับพระรัตนตรัยทั้งสิ้น จนกระทั่งผู้คนมากมายประสบความสุขความสำเร็จ และอยู่ในศีลในธรรม เนื่องจากปฏิบัติตามที่ท่านสอน

    “หลวงพี่จึงภูมิใจมากที่ได้มาเป็นลูกของท่าน ได้ทำภารกิจที่ท่านมอบหมาย ซึ่งทุกภารกิจไม่ว่าน้อยหรือใหญ่ต่างเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และมีผลต่อการพลิกผันชีวิตของมวลมนุษยชาติทั้งสิ้น”

      การบวชไม่ใช่เรื่องง่าย แต่บวชนานๆ ยิ่งยากกว่า ทำไมหลวงพี่และพระวัดพระธรรมกายถึงบวชได้นานคะ ?

      “การบวชเป็นสิ่งที่หลวงพี่และพระหลายรูปที่วัดตัดสินใจขอเดินบนเส้นทางนี้เพราะเป็นเส้นทางที่ประเสริฐ หากอยู่ทางโลกเราคงหาความสุข ความสำเร็จ ความพึงพอใจในชีวิตได้อีกแบบหนึ่ง แต่ในทางธรรมนั้นให้
ความสุขที่ลึกซึ้งและยั่งยืนกว่า

      “ทุกคืนก่อนนอน เรามีความสุขที่พบว่าหนึ่งวันที่ผ่านไปมีคุณค่ามาก เพราะเรามีโอกาสทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคมและโลกอย่างเต็มที่

      “อีกทั้งชีวิตของเราก็เป็นชีวิตที่เรียบง่าย    ปราศจากกังวล ไม่ต้องคอยห่วงสมบัติ ไม่ต้องห่วงครอบครัวเล็ก ๆ พ่อ แม่ ลูก แต่มีความสุข ในการเกื้อกูลครอบครัวใหญ่ คือ คนทั้งโลกทั้งวัฏสงสาร ชีวิตแบบนี้เอื้อต่อการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา เอื้อต่อการไปสู่ความหลุดพ้นความเป็นอริยะ ตามคำสั่งสอนอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

   “นอกจากนี้ การที่เรามีเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมมากขึ้น ทำให้เราเกิดปัญญา เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตเช่นนี้ยิ่งขึ้น และค่อย ๆ ดื่มด่ำซึมซาบในคุณค่าของความเป็นนักบวชมากขึ้น

 

    “ดังนั้น ทุกรูป ทุกคน ทั้งที่ยังบวชอยู่และตั้งใจจะบวช จึงต่างมีข้อสรุปที่ตรงกันว่าวิถีของความเป็นพระนี้แหละ ที่ทำให้การเกิดมาเป็นมนุษย์มีคุณค่าสูงสุด และยิ่งอยู่นาน เราก็ยิ่งพบ ยิ่งรู้ ยิ่งเข้าใจคุณค่าของความเป็นพระมากขึ้น นี้จึงทำให้พระที่บวชที่วัดพระธรรมกายต่างมุ่งมั่นรักษาวิถีความเป็นพระของท่านไว้และในที่สุดแล้ว หลาย ๆ รูป ก็ตั้งใจที่จะอยู่เป็นพระไปตลอดชีวิต”

 

      การเดินบนเส้นทางสายนี้ แม้ไม่สะดวกสบายเหมือนทางโลก แต่ก็สามารถตอบโจทย์การพัฒนาคุณค่าชีวิตและจิตวิญญาณได้ดีที่สุดดังนั้น พระ ดร. นพ. ปวิทัย วชิรวิชฺโช และเพื่อนสหธรรมิกอีกมากมายจึงไม่คิดจะหันหลังกลับ

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗๔ เดือนมิถุนายน ๒๕๖๐

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล