DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
ศีลกับเป้าหมายชีวิต
ในพระพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์ตั้งเป้าหมายชีวิต ซึ่งเป้าหมายชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น มีอยู่ด้วยกันถึง ๓ ระดับ คือเป้าหมายบนดิน (ปัจจุบันชาติ) เป้าหมายบนฟ้า(ภพชาติเบื้องหน้า) และเป้าหมายเหนือฟ้าหรือเป้าหมายสูงสุด (พระนิพพาน)
เป้าหมายบนดิน คือ การดำเนินชีวิตที่มีความสุข มีความสงบ ไม่เดือดร้อนทุกข์กายหรือทุกข์ใจ
เป้าหมายบนฟ้า คือ การได้บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์หรืออย่างน้อยได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง ไม่ต้องพลัดตกไปสู่อบาย คือเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน
เป้าหมายเหนือฟ้า คือ การกำจัดกิเลสอาสวะ เพื่อบรรลุมรรค ผล นิพพาน
การจะบรรลุถึงเป้าหมายทั้ง ๓ ระดับได้นั้น สิ่งที่ต้องกระทำเป็นอันดับแรก คือ ต้องทำทาน เพราะทานเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สมบัติซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตให้มีความสุขสบายลำพัง การทำทานนั้นก็ยังไม่เพียงพอ จะต้องรักษาศีลด้วย ซึ่งศีลนั้นมีความสัมพันธ์กับเป้าหมายชีวิตทั้ง ๓ ระดับ ดังนี้
ศีลกับเป้าหมายบนดิน
เมื่อมีสมบัติไว้หล่อเลี้ยงกาย สิ่งที่จำเป็นต้องได้ถัดมา คือ การมีชีวิตที่สงบสุข ปราศจากทุกข์โทษภัยหรือเบียดเบียนกัน ซึ่งสิ่งที่จะเป็นเครื่องป้องกันมิให้คนในสังคมเบียดเบียนกันก็คือศีลนั่นเอง เพราะศีลเป็นเครื่องควบคุมกายและวาจาของคนเราให้เรียบร้อย ทำให้ไม่มีการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินซึ่งกันและกัน ดังนั้นเพื่อความสุขและความปลอดภัยแต่ละคนจะต้องรักษาศีลของตนเองไว้ให้มั่นคง
ศีลกับเป้าหมายบนฟ้า
นอกจากศีลจะเป็นเครื่องควบคุมความประพฤติของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขแล้ว ศีลยังเป็นหลักประกันที่จะทำให้ไม่ต้องตกไปส่อบาย หรืออย่างน้อยก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง
มีอายุขัยยืนยาว เพราะว่าไม่ได้ไปเบียดเบียนทำร้ายใคร จึงทำให้ได้ร่างกายที่เหมาะสมสำหรับทำความดี และยังสามารถใช้ทรัพย์ที่มีให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
ศีลกับเป้าหมายเหนือฟ้า
การรักษาศีลไม่เพียงเป็นเหตุให้ได้บรรลุเป้าหมายของชีวิตในภพชาตินี้ คือการมีชีวิตที่สงบสุข ปราศจากทุกข์โทษภัยใดๆ หรือบรรลุเป้าหมายในภพชาติเบื้องหน้า คือการได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์เท่านั้น แต่ศีลยังเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณธรรมทั้งหลายของมนุษย์ประดุจแผ่นดินเป็นที่รองรับของการงานทั้งปวงดังที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปฐมพลกรณียสูตร ว่า“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การงานที่บุคคลต้องทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาอาศัยแผ่นดิน ยืนอยู่บนแผ่นดินทั้งนั้นจึงจะทำได้การงานที่ต้องทำเหล่านี้ เขาย่อมทำด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ภิกษุอบรมอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล ฉันนั้น”
นอกจากนั้น ศีลก็ยังเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรมเบื้องสูง คือ สมาธิและปัญญาดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ภิกขุสูตร ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงทำเหตุเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมให้บริสุทธิ์ก่อน เหตุเบื้องต้นของกุศลธรรม คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดีและความเห็นตรง เมื่อใดศีลของเธอบริสุทธิ์ดีแล้วและความเห็นของเธอก็ตรงดีแล้ว เมื่อนั้นเธอ
อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล แล้วจงเจริญสติปัฏฐาน๔ (วิปัสสนา) ต่อไป
เพราะศีลมีความสำคัญกับเป้าหมายชีวิตทั้ง ๓ ระดับเช่นนี้ ควรที่เราชาวพุทธจะต้องสมาทานตั้งมั่นอยู่ในการรักษาศีล โดยเฉพาะในการรักษาศีล ๕ ซึ่งหลายท่านเข้าใจว่าเป็นข้อห้าม แท้จริงแล้วศีลนั้นเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ ที่เรียกว่า “มนุษยธรรม”อันทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ทั้งหลายซึ่งไม่มีมโนธรรม ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณดังนั้นการที่มนุษย์ขาดจากการรักษาศีล ๕ ข้อนี้แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง ความเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูงมีสามัญสำนึกผิดชอบชั่วดี ก็จะลดน้อยถอยลงและการพัฒนาคุณธรรมความดีต่างๆ ที่มนุษย์สามารถจะพัฒนาให้ได้ยิ่งๆขึ้นไป จนกระทั่งหมดกิเลสก็จะทำได้ยาก
ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องสร้างเจตนาในการสมาทานประพฤติศีลในการดำเนินชีวิตประจำวัน ยามที่ต้องประสบกับเหตุการณ์หรือโอกาสที่อาจล่วงละเมิดศีล ก็พยายามหลีกเลี่ยงเสียด้วยการนึกตอกย้ำถึงมนุษย์สัญญาสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แบบที่เราจะต้องรักษาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์และหากเรา สามารถศีล ๕ เป็นคุณธรรมประจำใจ การดำรงชีวิตในชาตินี้ก็จะมีความสุข ชีวิตในภพเบื้องหน้าก็จะไปสู่สุคติ และนำไปสู่การบรรลุมรรค ผล นิพพานในที่สุด ดังบทสรุปตอนท้ายที่พระท่านกล่าวในเวลาให้ศีลว่าสีเลนะ สุคะติง ยันติแปลว่า ศีลทำให้ไปสู่สุคติ สีเลนะ โภคะสัมปะทาแปลว่า ศีลทำให้มีโภคทรัพย์สีเลนะ นิพพุติง ยันติแปลว่า ศีลทำให้ไปพระนิพพาน