วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ สร้างปัญญาเป็นทีม ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา ตอนที่ ๕ การบริหารจัดการองค์กรของพระบรมศาสดา

สร้างปัญญาเป็นทีม
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

สร้างปัญญาเป็นทีม
ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
ตอนที่ ๕ การบริหารจัดการองค์กรของพระบรมศาสดา

 

สร้างปัญญาเป็นทีม ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร,เนื้อนาใน,อยุ่ในบุญ

    การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระบรมศาสดาและเหล่าพระอรหันต์ ในช่วงแรกบุกเบิกนั้น ดำเนินไปในลักษณะสมบุกสมบันคือ ค่ำไหนนอนนั่น นอนกลางดินกินกลางทรายดำรงชีวิตเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่กินน้ำน้อย ทรหดอดทนเหมือนต้นกระบองเพชรกลางทะเลทราย
    ครั้นต่อมาเมื่อมีผู้ศรัทธาเข้ามาบวชเป็นจำนวนมาก มียอดรวมสมาชิกใหม่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆทุกปี จากเดิมที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละไม่กี่ร้อยคนก็ทยอยเพิ่มขึ้นเป็นพันคนเป็นหมื่นคนต่อปี
    ๑.ปัญหาองค์กรขยายตัวอย่างรวดเร็ว
       เมื่อฐานสมาชิกขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ปัญหาการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะใหญ่ จึงขยายตัวอย่างรวดเร็วตามไปด้วย เช่น ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาการใช้สอยปัจจัย ๔ ปัญหาการกระทบกระทั่งกันเอง ปัญหาการเผยแผ่ธรรมะซึ่งขยายตัวตามจำนวนของสมาชิกใหม่ที่เพิ่มขึ้นปีละพันคนหมื่นคนต่อปี
     ด้วยเหตุนี้ การบริหารจัดการแบบองค์กรใหญ่จึงถูกนำมาใช้งาน โดยพระองค์ยังทรงให้ยึดหลักการดำรงชีวิตแบบต้นไม้ใหญ่กินน้ำน้อยตามเดิม แต่ทรงเพิ่มการบริหารจัดการองค์กรให้เหมาะสมแก่การฝึกปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ให้เป็นนิสัยแบบเป็นทีม เข้ามาใช้ในองค์กรด้วย
    ขั้นต้นพระองค์ทรงบัญญัติพระธรรมวินัยในด้านการบริหารปกครอง ด้านการบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ ด้านธรรมเนียมปฏิบัติของสงฆ์ ด้านการฝึกอบรมสมาชิกใหม่ เพิ่มเข้ามาอีกหลายประการ ทั้งนี้เพื่อลดการกระทบกระทั่งระหว่างสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เพื่อหล่อหลอมให้หม่สูงฆ์มีความสมัครสมานสามัคคี และเพื่อวางระบบการฝึกปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้เป็นนิสัยร่วมกัน เป็นทีมอย่างยั่งยืน
   สิ่งที่น่าสนใจในการบริหารจัดการองค์กรใหญ่ก็คือ การผลักดันสมาชิกในองค์กรให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ทรงบัญญัติเอาไว้ เพราะเป็นที่รู้ๆกันอยู่ในแวดวงนักบริหารว่าการผลักดันสมาชิกองค์กรให้ปฏิบัติตามนโยบายนั้นเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหน ยิ่งถ้าเป็นการขับเคลื่อนองค์กรที่มีสมาชิกเป็นหมื่นเป็นแสนคนด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสโดนต่อต้านอย่างสาหัสสากรรจ์จากสมาชิกที่ปรับตัวเข้ากับกฎระเบียบไม่ได้

 

   ๒.การผลักดันองค์กรสู่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
     ในการผลักดันองค์กรให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น พระองค์ทรงใช้วิธีผลักดันผ่านแนวทาง ๒ ประการ คือ
     ประการที่ ๑ การหมุนธรรมจักรด้วยกำลังของพระองค์เอง นั่นคือ พระองค์ทรงผลักดันด้วยการแสดงธรรมพร่ำสอนอบรมสมาชิกองค์กร ด้วยพระองค์เองโดยตรง
     ประการที่ ๒ การหมุนธรรมจักรด้วยกำลังของกองทัพธรรม นั่นคือพระองค์ทรงผลักดันงานเผยแผ่ผ่านพระอรหันต์ชั้นผู้ใหญ่ที่เรียกว่า พระอสีติมหาสาวก ๘๐ รูป เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะพระอานนท์ พระอนุรุทธะ เป็นต้น
      ด้วยวิธีหมุนธรรมจักรทั้ง ๒ ประการนี้ได้ส่งผลให้การประดิษฐานพระพุทธศาสนาเสร็จสมบูรณ์ในเวลาเพียง ๔๕ ปี แต่กลายเป็นการวางรากฐานให้พระพุทธศาสนามีอายุยืนยาวนับพันปี

 ๓.บทบาทหน้าที่ของพระอสีติมหาสาวก
    พระอสีติมหาสาวกทั้ง ๘๐ รูป คือกำลังสำคัญในการผลักดันองค์กร ให้ดำเนินไปตามพระธรรมวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ทุกประการ ทั้งนี้เพราะพระอรหันต์ชั้นผู้ใหญ่ทุกรูปเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะตัวเพียบพร้อม
ที่สำคัญคือ

  ๑) ท่านเป็น ต้นแบบ ความประพฤติที่ดีงามให้แก่สมาชิกองค์กรได้
  ๒) ท่านเป็น นักบริหาร จัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แทนพระองค์ได้อย่างยอดเยี่ยม
  ๓) ท่านเป็น ครูบาอาจารย์ ฝึกอบรมบ่มนิสัยรักการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ แก่สมาชิกองค์กรแทนพระองค์ได้
  ๔) ท่านเป็น ที่ตั้งแห่งศรัทธา ของประชาชน ใครเห็นก็อยากทำบุญ ทำให้เกิดกองเสบียงเลี้ยงสมาชิกองค์กรที่อยู่ประจำวัดในแต่ละท้องถิ่นนั้น
  ๕) ท่านหมั่น ตรวจตราดูแลสุขทุกข์ ของประชาชนในท้องถิ่นนั้น เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคมพุทธและความมั่นคงปลอดภัยให้แก่พระพุทธศาสนา

    จากความสามารถเฉพาะตัวเหล่านี้ของพระอสีติมหาสาวกทั้ง ๘๐ รูป ทำให้การผลักดันนโยบายต่าง ๆ กฎระเบียบต่างๆ ให้สมาชิกในองค์กรปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ได้รับความร่วมมืออย่างดี และหากมีปัญหาใดเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ท่านก็สามารถเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์จัดการแก้ไขได้อย่างมีหลักเกณฑ์และทันท่วงที ส่งผลให้การบรรลุธรรมของสมาชิกองค์กรทั้งเก่าและใหม่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และงานเผยแผ่ก็ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วเป็นร้อยเท่าพันเท่าของยุคบุกเบิก

   ๔.ขั้นตอนการบริหารจัดการองค์กรโดยย่อ
       หากกล่าวโดยสรุปก็คือ การที่พระองค์ทรงหมุนธรรมจักรได้ด้วยกำลังของกองทัพธรรมโดยไม่มีอุปสรรคปัญหาใดจะมาหยุดยั้งลงได้นั้นก็ล้วนเป็นผลมาจากการบริหารจัดการที่ดีนั่นเอง ซึ่งพอจะสรุปภาพรวมเป็นขั้นตอนโดยย่อได้ดังนี้
   ๑) ทรงวางเป้าหมายการเผยแผ่ไว้ที่การดับทุกข์ให้ชาวโลก
   ๒) ทรงวางระเบียบวินัยในการปกครององค์กรไว้อย่างครบถ้วนและชัดเจน
   ๓) ทรงวางระบบฝึกสมาชิกใหม่ให้มีนิสัยรักการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ร่วมกันเป็นทีมอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
   ๔) ทรงปลูกฝังให้สมาชิกองค์กรมีความเคารพในธรรมวินัยเสมือนเป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะความเคารพเป็นคุณธรรมสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนามีอายุยืนยาว หากขาดคุณธรรมนี้เมื่อใด อายุพระพุทธศาสนาจะสั้นลงทันที
   ๕) ทรงติดตามเคี่ยวเข็ญอบรมสมาชิกองค์กรทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ให้ทุ่มเทฝึกปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้เป็นนิสัยต่อไปไม่หยุดจนกว่าจะบรรลุธรรม
  ๖) ทรงกระจายงานให้พระอสีติมหาสาวก ทำหน้าที่บริหารจัดการและตรวจตรางานต่างๆแทนพระองค์ ทำให้ธรรมจักรหมุนไปด้วยแสนยานุภาพของกองทัพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่าการหมุนธรรมจักรไปโดยกำลัง
ตามลำพังของพระองค์เพียงผู้เดียว
  ๗) เมื่อใดที่เกิดปัญหาร้ายแรงซึ่งเกินกำลังของหมู่คณะ พระองค์จะทรงลงมาจัดการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ด้วยพระองค์เอง
       ด้วยวิธีบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพเช่นนี้ แม้พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว สาวกรุ่นหลังก็ยังคงสามารถอาศัยการบริหารจัดการองค์กรของพระองค์ เป็นแนวทางผลักดันสมาชิกองค์กรให้
ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่บัญญัติไว้ดีแล้วธรรมจักรของพระองค์จึงยังคงหมุนต่อไปไ ม่หยุดด้วยกำลังของกองทัพธรรมที่สร้างขึ้นมาทดแทนกันได้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งนั่นเอง

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗๔ เดือนมิถุนายน ๒๕๖๐

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล