บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๓๐)
ในฉบับก่อน ผู้เขียนได้กล่าวถึงเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง นั่นคือการสรุปสาระสำคัญของปีแห่งการครบรอบ ๑๐๐ ปี ของการค้นพบวิชชาธรรมกายของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ตลอดปีที่ผ่านมา เหล่าลูกศิษย์หลานศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ทั่วโลกต่างก็ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงโอกาสอันสำคัญนี้อย่างทั่วถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านวิชาการหรือในด้านกิจกรรมบุญต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) เองนั้น นอกจากการมุ่งศึกษารวบรวมหลักฐานธรรมกายที่มีอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆทั่วโลกให้เข้ามารวมกันเป็นหมวดหมู่ เป็นกลุ่มก้อน มาอย่างต่อเนื่องแล้ว การดำเนินงานตามพันธกิจ ๗ ประการ เช่น การมุ่งสถาปนาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยให้เป็นการถาวรเพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้ารวบรวมหลักฐานธรรมกายให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งให้เป็นสถานที่ประสานความร่วมมือ จัดการเรียนการสอน การพัฒนางานวิชาการทางพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด ฯลฯ
สำหรับในรอบปีที่ผ่านมา เป็นที่น่าปีติใจว่า บรรดานักวิชาการและนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยเองก็ยังมีความเคลื่อนไหวในเวทีวิชาการให้ปรากฏออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง อาทิ การที่ทีมงานวิจัยของสถาบันฯ ในทุกภูมิภาคมีผลงานทางวิชาการร่วมกับนักวิชาการระดับโลก เช่น ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล บ.ศ.๙ ที่มีผลงานวิจัยร่วมกับท่านศาสตราจารย์ริชาร์ด ซาโลมอน และคณะแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาจนมีบทความตีพิมพ์ในหนังสือ Buddhist Manuscripts in the Schoyen Collection Volume 4 อุบาสิกาสุทธิสา ลาภเพิ่มทรัพย์ ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตของสำนักพิมพ์ที่ประเทศอินเดีย โดยได้รับการรับรองจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย Gautam Buddha University ประเทศอินเดีย
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทีมงานวิจัยรุ่นใหม่ของสถาบันฯ ที่นำโดย ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล บ.ศ.๙ กัลฯ ดารณี นันติวานิช กัลฯ กิตติพงษ์ วงศ์อักษร ไปเข้าร่วมการประชุมมหาขโรษฐีคลับในที่ประชุมนานาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มวิชาการที่รวมเฉพาะผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญภาษาคันธารีมารวมกันจากทั่วทุกมุมโลก และในเวลาเดียวกันนั้น นักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย ๒ ท่าน คือ พระอาจารย์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺ โญ และ ดร.ณัฐปิยา สาระดำ ยังได้มีโอกาสนำผลงานทางวิชาการไปนำเสนอในที่ประชุมนานาชาติ IABS ที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาด้วย ซึ่งก็ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดีสำหรับพระอาจารย์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺ โญ นั้น ท่านยังผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการในด้านการอ่านและการแปลคัมภีร์จีนที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยจะเป็นสถาบันที่มีนักวิจัยที่พร้อมสำหรับการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพและมีเครือข่ายความร่วมมือที่มีคุณภาพยิ่งในอนาคต
และโดยเฉพาะในครั้งล่าสุด คือ การได้รับเชิญให้เข้าร่วมเสนอผลงานวิชาการในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ (International Conference) ที่มหาวิทยาลัยโอทาโก เมืองดันนิดิน ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นงานที่มหาวิทยาลัยโอทาโกและองค์กรนักวิจัย The New Zealand Asian Studies Society (NZASIA) ร่วมกันจัดขึ้น ซึ่งในการนี้นักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยก็ได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานศึกษาวิจัยด้วยกัน ๓ ท่าน คือ
๑) ดร.กิจชัย เอื้อเกษม นักวิจัยผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันฯ ได้เป็นตัวแทนนำเสนอผลงานการศึกษาเรื่อง “The Abbot Manuals : A Meditation Text in the Vijja Dhammakaya” ซึ่งคัดมาจากบางส่วนของงานแปล “คู่มือสมภาร” โดยคณะนักวิชาการของสถาบันฯ (หนังสือต้นฉบับเดิมเรียบเรียงขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ โดยอุบาสิกานวรัตน์ หิรัญรักษ์ และคณะ)1 ในส่วนของดร.กิจชัยนั้น ตัวท่านเองเคยเป็นผู้นำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยเรื่อง “พระธรรมกายในหลักฐานทางโบราณคดีของไทย”2 ที่ศาสตราจารย์ Kate Crosby แห่ง King’s College London จัดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา ท่ามกลางนักวิชาการที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งยวดในวงการการศึกษาด้านปฏิบัติธรรมสมาธิของเถรวาทจำนวนมากทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ในอดีตนั้นคนไทยทุกชนชั้นต่างรู้จัก “พระธรรมกาย” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจวบจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ (ดังปรากฏในการนำเสนอของ ดร.กิจชัย เอื้อเกษม เกี่ยวกับหลักฐานการปฏิบัติธรรมในศิลาจารึกไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัยเป็นต้นมา) ทั้งนี้ ความเป็นที่รู้จักเกี่ยวกับ “พระธรรมกาย” ดังกล่าวนี้ ยังมีแบบแผนสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และสามารถเชื่อมโยงไปถึงความหมายที่แท้จริงด้วยว่า “พระธรรมกาย” นี้มิใช่สิ่งอื่น หากแต่เป็นจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติธรรมสูงสุดนั่นเอง
๒) ดร.เจฟฟรีย์ วิลสัน (Dr.Jeffrey Wilson) นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “Narrative Form in the Writing of Meditation Manuals” (รูปแบบของการพรรณนาในคัมภีร์การปฏิบัติธรรม) ซึ่ง ดร.เจฟฟรีย์ วิลสัน ได้กล่าวในที่ประชุมสัมมนาว่า “เป็นการยากที่จะอธิบายประสบการณ์ภายในให้เข้าใจ (ด้วยเหตุนี้) ในคัมภีร์ต่าง ๆ จึงได้พรรณนาเปรียบเทียบประสบการณ์ภายในเหล่านั้นให้ออกมาในรูปของนิทานหรือคัมภีร์ต่าง ๆ” ซึ่งจากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ท่านพบว่า คัมภีร์การปฏิบัติธรรมต่าง ๆ ทั้งจากศรีลังกา กัมพูชา และไทยในสมัยล้านนานั้น ต่างก็ได้อธิบายประสบการณ์ภายในจากการปฏิบัติธรรมที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่สำคัญก็คือบรรดาคำอธิบายเรื่องประสบการณ์ภายในที่หลากหลายเหล่านั้นต่างระบุเหมือน ๆ กันหมด ว่า “ประสบการณ์ภายในจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อใจหยุดเท่านั้น” ซึ่งก็นับว่าสอดคล้องกับคำสอนของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่ว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” อย่างยิ่ง
๓) ดร.ณัฐปิยา สาระดำ ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “การรักษาโรคด้วยวิชชาธรรมกายของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) The Esoteric Healing Technique of Luang Pho Wat Paknam (Sot Candasaro Bhikkhu) : A Translation from his Teaching Manuals” โดยผู้วิจัยแนะนำประวัติความเป็นมาของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ และวิชชาธรรมกาย รวมทั้งเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพานให้ที่ประชุมฟังโดยย่อ ก่อนนำเสนอเรื่องวิธีการรักษาโรคด้วยวิชชาธรรมกาย ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักวิชาการเป็นอย่างมาก
สำหรับผู้เขียนเองยังคงปลื้มปีติใจยิ่งกับการที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยของเราเพิ่งได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยมุมไบ ประเทศอินเดีย, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ โดย Faculty of Asian Middle Eastern Studies, ความร่วมมือเบื้องต้นกับสถาบันวิจัยในจีนแผ่นดินใหญ่ที่เมืองซีอานและกรุงปักกิ่ง ตลอดจนที่ประเทศเยอรมนี เป็นต้นซึ่งจะมีผลต่อการขยายผลการทำงานร่วมกันในแวดวงวิชาการที่กว้างขวางขึ้นหลาย ๆ ด้านและเมื่อเร็ว ๆ นี้ (วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐) สถาบันฯ ได้เปิดโอกาสให้ทีมงานวิจัยของสถาบันฯ ไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ด้านอักษรพราหมีในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่มหาวิทยาลัยมุมไบ ซึ่งกำลังส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูองค์ความรู้ และสร้างผู้เรียนที่เป็นชาวท้องถิ่นแห่งดินแดนพุทธภูมิให้สว่างไสวขึ้นมาอีกครั้ง ฯลฯ ในการนี้ทางสถาบันฯ ยังมอบหมายให้พระอาจารย์อดุลย์ จนฺทูปโม เป็นตัวแทนของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยเดินทางไปมอบรางวัลหนังสือวิชาการด้านพระพุทธศาสนาดีเด่นแก่รองศาสตราจารย์ Dr.Anand Singh คณบดีแห่ง School of Buddhist Studies and Civilization มหาวิทยาลัย Gautam Buddha แห่งประเทศอินเดีย จากหนังสือเรื่อง “Dana : Reciprocity and Patronage in Buddhism” เพื่อเป็นการยกย่องและเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างเครือข่ายทางวิชาการในแถบทวีปเอเชียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก เป็นต้น
ที่จะลืมไม่ได้เลยคือ การเพิ่มศักยภาพของสายงานด้าน Information Technology เพื่อส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ต่อการทำงานของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยให้เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและสาธารณชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น ซึ่งนักวิชาการและผู้สนใจทั่วไปสามารถติดตามผลงานของสถาบันฯ ได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้นจาก Facebook หรือเว็บไซต์ของสถาบันฯ หรือในสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ฯลฯหรือการให้การสนับสนุนส่งเสริมและยกระดับการศึกษาพระพุทธศาสนา ดังที่เห็นได้ชัดเจนในช่วง ๑๐ ปีมานี้กับมหาวิทยาลัยโอทาโกจากปีแรกที่มีการจัดการเรียนการสอนด้านพระพุทธศาสนาร่วมกันเพียงวิชาเดียว (ทั้งยังต้องไปทำการสอนร่วมกับวิชา Hinduism ด้วย) แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในปัจจุบันทางสภามหาวิทยาลัยโอทาโกได้อนุมัติให้ภาควิชาเทววิทยาและศาสนศาสตร์สามารถทำการสอนในระดับปริญญาโท (Master of Arts) ในปีการศึกษา ๒๐๑๘ (พ.ศ. ๒๕๖๑)
การมีความเคลื่อนไหวทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่องของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยดังที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ เป็นเพราะวิสัยทัศน์อันยาวไกลขององค์ผู้สถาปนาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย ที่ต้องการให้มีการศึกษารวบรวมองค์ความรู้และประวัติศาสตร์ของหลักฐานธรรมกายที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกให้เข้ามารวมกัน เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงการมีอยู่จริงและการปฏิบัติให้เห็นผลได้จริงของวิชชาธรรมกายเป็นสำคัญ ซึ่งด้วยความจำเป็นอันยิ่งยวดนี้ ทำให้เกิดผลงานชิ้นสำคัญที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา คือ การสถาปนาอาคารสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยขึ้นในที่สุดเป็นการฉลองครบ ๑๐๐ ปีแห่งการค้นพบวิชชาธรรมกายของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) โดยวัตถุประสงค์ของการสถาปนานั้น ก็เพื่อความชัดเจนในการอนุรักษ์คัมภีร์พุทธโบราณ รวมทั้งร่องรอยประวัติและหลักฐานธรรมกายที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปให้บริบูรณ์ ฯลฯ และใช้เป็นสถานที่ส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาจากคำสอนดั้งเดิมที่เป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างถาวร ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังคงดำเนินการจัดหาทุนสนับสนุนในด้านอุปกรณ์ การบริหารจัดการต่าง ๆ อยู่อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ อาคารสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยนี้ ในอีกด้านหนึ่งนั้นก็นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของลูกศิษย์หลานศิษย์ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ทุกท่านทุกคนนับแต่นี้ไปอีกตราบนานเท่านาน
ในท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านทุกท่าน นักสร้างบารมีทุกท่าน พุทธศาสนิกชนทุกท่าน จงมีความสุขสวัสดี มีความองอาจกล้าหาญในการร่วมกันรักษามรดกแห่งวิชชาธรรมกายเอาไว้ตลอดไปเทอญ
ขอเจริญพร